ระหว่างหน้าที่กับความปราณีอ่อนโยน : ควันหลงจากการประชุมกับ UNEP ที่กรุงโซล


อะไรที่ทำให้มนุษย์มุ่งมั่นต่อหน้าที่ จนลืมความอ่อนโยนเมตตาปราณี เช่นนี้

ไม่บ่อยครั้งนักที่ผมจะเข้าร่วมเวทีประชุมระดับนานาชาติ  ด้านหนึ่ง เป็นเพราะความสามารถด้านภาษาอังกฤษของตัวเอง ยังไม่ถึงขนาดที่จะเขียนอะไรเป็นเรื่องเป็นราว

และอีกด้านหนึ่ง ผมก็ไม่ค่อยชอบบรรยากาศการประชุมเท่าไรนัก เพราะการประชุมระดับนี้ค่อนข้างจะจริงจัง และเครียด  และถ้าบริหารการประชุมไม่ดี ก็คุยกันสูญเปล่า วนเวียนซ้ำซากแบบเดิมๆ แถมมีการเมืองวาระซ่อนเร้นให้หวาดระแวงกันอีก

 

             สู้นั่งจิบชา กาแฟ อ่านรายงาน ช่วยเมียดูแลลูกอยู่ที่บ้านไม่ได้ ไม่ต้องเดินทางไกลให้เมื่อยตุ้ม

ถ้าจะคุยกับนักวิชาการ ผมชอบใช้วิธีไปเยี่ยม ไปคุยกันที่บ้านมากกว่า

 

            อย่างไรก็ตาม ก็มีหลายสิ่งดีๆที่เราได้จากการประชุมเหล่านี้ด้านหนึ่งก็คือ เครือข่ายงาน อีกด้านหนึ่งคือ ประสบการณ์ที่อาจารย์หลายท่านมักจะบอกผมว่า  แม้จะทำงานระดับท้องถิ่น แต่ก็ต้องมองภาพกว้างในสถานการณ์ภูมิภาคใหญ่ไว้ด้วย

 

            อันที่จริง ผมก็ไม่ได้เป็นคนสำคัญอะไรที่เจ้าภาพ (United Nations Environment Program : UNEP ) จะเชิญหรอกนะครับ เผอิญว่าเดิมทีเขามี โควต้าให้ทางฟิลลิปปินส์มา แต่คนที่ฟิลิปปินส์วีซ่าไม่ผ่าน  และหลายๆคนไม่มีพาสปอร์ต UNEP ก็เลยประสานมาที่เมืองไทย ทาง ดร.อำไพ จากสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยซึ่งรู้จักกับ UNEP มาก่อน แกเพิ่งมารู้จักผมในช่วงเดือนที่แล้ว คงเห็นผมหน่วยก้านไม่เลว ก็เลยโทรมาถามผมว่าสนใจจะไปไหม

 

            ก่อนไปผมก็โทรไปถาม ดร.อำไพ  อยู่เหมือนกันว่า ผมเองไม่เคยรู้จักกับงานของ UNEP มาก่อน และเรื่องแรงงานกับสิ่งแวดล้อม นี่ผมเองก็เริ่มเพิ่งเคยทำ  ไปแล้วจะแชร์อะไรกับบรรดาผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้นได้  แกก็บอกว่าผมมีมุมของทางมานุษยวิทยาอยู่ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการแลกเปลี่ยนความเห็นในห้องย่อย และผมน่าจะได้มีประสบการณ์ในการร่วมเวทีระดับนานาชาติอย่างนี้  และทางเจ้าภาพก็ยินดีจ่ายค่าเดินทางให้ทั้งหมดรวมถึงเบี้ยเลี้ยงรายวันอีกส่วนหนึ่ง

ผมก็คิดในใจว่าก็ดีเหมือนกัน เผื่อจะได้ความรู้ในเชิงเปรียบเทียบ นำกลับมาใช้พัฒนางานในท้องถิ่นของเรา แถมน่าจะเหลือเงินติดกระเป๋ากลับมาให้ลูกเมียชื่นใจ ก็เป็นอันว่าตกลง แต่ก็ฉุกละหุกมาก เพราะรู้ล่วงหน้าก่อนเดินทางเพียงไม่กี่วันเท่านั้น

 

            เดินทางถึงสนามบินที่กรุงโซลวันแรกก็เจอปัญหาซะแล้วเพราะผมโดนเรียกเข้าไปพูดคุยที่ห้องตรวจคนเข้าเมือง เจ้าหน้าที่ก็ซักผมหลายข้อทีเดียว โดยเฉพาะเหตุผลที่มา มาประชุมที่ไหน มีใครมาด้วยบ้าง แถมยังค้นดูในอินเตอร์เน็ตว่ามีการประชุมที่ว่านี้จริงหรือเปล่าอีก ขนาดว่าผมมีสำเนาหนังสือเชิญจาก UNEP รวมถึง  E-ticket  เที่ยวบินต่างๆที่เดินทางครั้งนี้มาด้วย ก็ต้องเสียเวลาคุยกับเจ้าหน้าที่ร่วมชั่วโมงกว่าจะผ่านออกมาได้

 จริงๆผมเองก็ไม่ได้กลัวอะไรเพราะว่าเรามีเอกสารหลักฐานและกรอกรายละเอียดต่างๆถูกต้องแต่เกรงใจเพื่อร่วมคณะที่เดินทางมาด้วยมากกว่า ที่ต้องเสียเวลา รอเราเพียงคนเดียว  แถมเราก็ไม่ใช่คนสำคัญอะไร อย่างไรก็ตาม ก็ไม่มีคำขอโทษอะไรจากเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองที่ทำให้เราเสียเวลา

ซึ่งอันนี้ถ้าเขาคิดถึงความรู้สึกของแขกบ้านแขกเมืองสักนิด ว่าถ้าเราบริสุทธิ์ แล้วต้องมาทำให้เราเสียเวลาอย่างนี้ ก็น่าจะมีการแสดงน้ำใจ ขอโทษหรือทำอะไรอย่างอื่นให้คนที่เข้ามาเยือนแผ่นดินของเขา รู้สึกดีขึ้นบ้าง  แถมยังไม่บอกว่าเรามีอะไรผิดพลาดถึงโดนเรียกเช่นนี้            

จริงๆผมก็ไม่รู้สึกโกรธอะไร ก็คิดว่าเจ้าหน้าที่เขาก็คิดว่าต้องทำตามหน้าที่  และเรื่องนี้ก็ไม่เกี่ยวว่าจะเป็นคนเกาหลี หรือคนประเทศใดๆ 

เพียงแต่ได้แง่มุมตั้งคำถามว่า อะไรที่ทำให้มนุษย์มุ่งมั่นต่อหน้าที่ จนลืมความอ่อนโยนเมตตาปราณี เช่นนี้              

น่าเสียดายที่มนุษย์เราถูกจ้างด้วยเศษเงิน  ให้ละเอียดอ่อนต่อความเป็นเพื่อนมนุษย์อย่างนี้น้อยลงทุกนาที

หมายเลขบันทึก: 143136เขียนเมื่อ 30 ตุลาคม 2007 22:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 เมษายน 2012 14:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • สวัสดีน้องยอดดอย
  • มีอะไรดีดีก็มาเล่าให้ฟังบ้างนะครับ
  • การ Immigation ทำเช่นนั้นเป็นหน้าที่เขา แต่เมื่อพิสูจน์ว่าทุกอย่างถูกต้องตามหลักการเข้าเมืองเขาน่าจะขอโทษ พี่เห็นด้วย น้องยอดดอยน่าจะ ทำ paper complain ได้เลยนะครับ
  • พี่จะรออ่านตอนต่อไปครับ

สวัสดีค่ะคุณยอดดอย

ตัวเองเป็นอีกคนหนึ่งที่ไม่ค่อยชอบการประชุม เพราะมักจะเครียดกับมันเป็นส่วนใหญ่ และหลายครั้งรู้สึกเสียเวลาเปล่า ไม่ได้อะไร

เรื่องไปเกาหลีเพิ่งมีประสบการณ์กับตัวเอง เมื่อ2-3เดือนที่แล้วไปเที่ยวกรุ๊ปทัวร์ โดยเลือกแบบถูกสุดๆ ไกด์ชาวไทยบอกก่อนขึ้นเครื่องที่สุวรรณภูมิเรื่องความเขี้ยวของ ต.ม.ที่เกาหลี พร้อมแจกตั๋วเครื่องบินขากลับให้ลูกทัวร์ทุกคน ไปถึงเกาหลี กรุ๊ปที่ไปไม่ผ่าน 2 คนต้องถูกส่งตัวกลับเมืองไทยรอเที่ยวบินถัดไปค่ะ ส่วนอีกกรุ๊ปคนไทยที่ไปพร้อมกันไม่ผ่าน 4 คนค่ะ  เวลาไกด์เช็คยอดสมาชิกลูกทัวร์ขึ้นรถ หายไป อีก3 คน ทำให้รู้ว่ามีแรงงานไทยลักลอบเข้าไปทำงานที่เกาหลีจำนวนมาก(เพราะค่าแรงดีและไม่ต้องทำวีซ่า))โดยมักซื้อทัวร์ราคาถูกมาแบบนี้ไป แล้วมีคนมารับที่สนามบิน ไกด์เล่าว่าถ้าถ้าเจอหลายครั้งไกด์คนนั้นมีสิทธิ์ถูกห้ามเข้าประเทศค่ะ  และช่วงไปเดินเที่ยวในเมืองเจอน้องคนไทยที่ไปทำงานโรงงานที่นั่น เล่าให้ฟังว่ามาทำงานได้ 2 ปีแล้วได้ค่าแรงเดือนละ 4 หมื่นส่งกลับบ้านที่เมืองไทยสบายๆแต่ต้องหลบ ต.ม.ดีๆ

  • ขอบคุณครับพี่บางทรายเรื่องความคิดเกี่ยวกับ paper complain ถ้าเป็นเมืองไทยผมก็คงจะทำอยู่ แต่ทำเรื่องถึงเมืองนอกนี่ค่าใช้จ่ายก็หลายอยู่ เอาเป็นว่าแลกเปลี่ยนกันไปอย่างนี้ก่อน เผื่อชาวบล็อกคนใดได้เป็น รมต.ต่างประเทศ ขึ้นมาก็วานนำไปฝากคนแดนโสมด้วย
  • ส่วนคุณพี่พัชรา ไม่ได้คุยกันนานเลยนะครับ  ผมก็เดาๆอยู่ว่าน่ะจะเป็นอย่างที่พี่บอก ขอบคุณเช่นกันสำหรับการแบ่งปันประสบการณ์ครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท