บันทึกจากการสัมมนาเสริม ชุดวิชา การวิจัยทางการบริหารการศึกษา


นักศึกษาส่วนใหญ่ยังคงขาดเข้าใจในระบบการเรียนการสอนทางไกลในระดับบัณฑิตศึกษาของ มสธ.

วันที่ 21-22 กรกฎาคม 2550 ณ ศูนย์วิทยพัฒนา จ.ลำปาง

การมาสัมมนาเสริมในครี้งนี้ เดินทางโดยรถด่วนพิเศษสายเหนือ ขบวนที่ 9 จากกรุงเทพ - ลำปาง ซึ่งการเดินทางโดยรถไฟเที่ยวนั้ก็มีปัญหาหลายเรื่อง คือ (1) การไม่ตรงเวลาของการรถไฟ (ต้องยอมรับว่า แม้จะเดินทางโดยรถไฟมาหลายเที่ยวแล้ว ทั้งสายเหนือ อีสาน และสายใต้ แต่ยังไม่ชินสักทีกับการไม่ตรงเวลาของรถไฟ เพราะมันช่างเป็นคุณสมบัติของการบริการที่ด้อยพัฒนาเสียจริงๆ) (2) ขณะเดินทางมีเหตุที่ทำให้ต้องตกใจเล็กน้อย เพราะในขณะที่รถไฟกำลังวิ่งด้วยความเร็ว ได้เกิดมีเสียงดัง โคลมใหญ่ (ตนเองนั่งอยู่ในตู้แรกของดีเซลรางขบวนนี้) หลังจากนั้น พขร. ก็เบรคอย่างแรงเพื่อหยุดรถ ต่อมาจึงทราบว่า เสียงโครมใหญ่นี้มาจากการที่รถไฟชนวัวเข้าอย่างแรง ซึ่งก็บอกว่า โชคดีที่รถไฟไม่มีอาการเสียหลัก หรือตกราง มิฉนั้น คงไม่จืดแน่ๆ โดยเฉพาะกับผู้โดยสารตู้แรกนี้ซึ่งมีชาวต่างประเทศนั่งอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก เพราะเป็นขบวนรถไฟที่มีปลายทางที่ จ.เชียงใหม่ นั่นเอง และ (3) เกิดปัญหาแอร์ไม่เย็น ต้องหยุดซ่อมที่สถานีรถไฟพิษณุโลกอยู่พักใหญ่ ทำให้ต้องเสียเวลาเพิ่มขึ้นอีกหลายนาที ท่ามกลางผู้โดยสารซึ่งมีทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ จึงเป็นการเน้นย้ำให้เห็นถึงการด้อยพัฒนาของการรถไฟแห่งประเทศไทยอย่างแท้จริง

ในทำนองเดียวกับนักศึกษาบริหารการศึกษาในรุ่นนี้จากภาคอื่นๆ พบว่า นักศึกษาจำนวนไม่น้อยที่ยังเป็นผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในระดับปฏิบัติการ คือ เป็นครูผู้สอน ดังนั้น ประสบการณ์ ความคิดเห็น และมุมมองในเรื่องที่เกี่ยวกับการบริหารจึงมีอยู่อย่างจำกัด หลายคนไม่เข้าใจ หรือไม่ตระหนักถึงความแตกต่างในระหว่างคำว่า "หลักสูตรและการสอน" กับ "การบริหารการศึกษา" และส่วนใหญ่ก็มาเพื่อที่จะมารับฟังคำบรรยายจากอาจารย์วิทยากร โดยมิได้มีการเตรียมการมาก่อนแต่อย่างใด หรืออาจกล่าวได้ว่า นักศึกษาเหล่านี้ยังคงขาดเข้าใจในระบบการเรียนการสอนทางไกลของ มสธ. โดยทึกทักไปว่า การสัมมนาเสริมประจำชุดวิชา ก็คือ การมารับฟังคำบรรยายจากอาจารย์ผู้สอน เหมือนดังเช่นการศึกษาในระบบปิดของสถาบันอุดมศึกษาหลายๆ สถาบันในท้องถิ่น การปฐมนิเทศในเรื่องที่เกี่ยวกับรูปแบบ และระบบการเรียนการสอนทางไกลของ มสธ. จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น แม้จะเป็นการเบียดเบียนเวลาในการสัมมนาเสริมซึ่งมีอยู่น้อยนิดอยู่แล้วก็ตาม

ที่ศูนย์สัมมนาเสริมจังหวัดลำปางนี้ นักศึกษา 2 รายจากจังหวัดเชียงใหม่ มีความน่าสนใจเป็นพิเศษ กล่าวคือ นักศึกษาทั้ง 2 รายทำงานอยู่ในสถานศึกษาที่น่าจะเรียนว่า สถานศึกษานอกระบบ โดยท่านหนึ่งปัจจุบันทำหน้าที่เป็น "ครูใหญ่" ของโรงเรียนสอนภาษาจีน แต่ก็ยังคงต้องปฏิบัติหน้าที่ในด้านการสอนอยู่ด้วย ในขณะที่ อีกท่านหนึ่งเป็นครูผู้สอนอยู่ในโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม ซึ่งมีการสอนภาษาอาหรับในโรงเรียน โรงเรียนของครูทั้ง 2 นี้ สามารถเรียกได้ว่า เป็นโรงเรียนนอกระบบ ไม่ได้รับการติดต่อหรือควบคุมดูแล กำกับติดตาม โดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา นอกจากนี้ ครูทั้ง 2 ท่านก็ยังไม่มีความรู้ความเข้าในระบบการบริหารการศึกษาของรัฐแต่อย่างใดทั้งสิ้น คำศัพท์ต่างๆที่ใช้กันในกลุ่มครูและผู้บริหารสถานศึกษาที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในสถานศึกษาของรัฐล้วนแล้วแต่เป็นคำใหม่ หรืออาจเรียกได้ว่า เป็นเสมือนคำในภาษาต่างประเทศอีกภาษาหนึ่งไปโดยปริยาย

หมายเลขบันทึก: 141076เขียนเมื่อ 23 ตุลาคม 2007 09:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 12:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • แหม...อาจารย์ เปิดบันทึกมาก็เผารถไฟเสียเละเลยนะครับ
  • จากการที่เกิดอุบัติเหตุ ชนรถ ชนวัว บ่อยๆ จึงทำให้การรถดีเซลรางรุ่นนี้ไม่เพียงพอต่อการหมุนเวียนทำขบวน
  • การล่าช้าเกิดจากหลายๆสาเหตุ ครับ ธรรมชาติ อุบัติเหตุ  ความชำรุดของรถขณะทำขบวน ฯลฯ
  • แต่เราก็พยายามทำให้ดีที่สุด เพื่อบริการคนชั้นกรรมมาชีพ เน้นเรื่องประหยัด ปลอดภัย
  • ถ้าท่านนั่งรถทัวร์แล้วไปชนกับวัว ท่านอาจจะไม่ได้ไปนั่งสัมนาก็ได้นะครับ

ขอบคุณในการติชมรถไฟไทยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท