ป้องกันมะเร็งเต้านม


มะเร็งเต้านม
ปราบมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง โรคมะเร็งเต้านมในผู้หญิงไทย พบบ่อยเป็นอันดับสอง รองลงมาจากมะเร็งปากมดลูก จากการสำรวจผู้หญิงซึ่งอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร พบว่ามีผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านมเพิ่มมากขึ้นถึง 40 คน ต่อประชากรแสนคน ขณะที่จ.ขอนแก่น สงขลา และเชียงใหม่ พบเพียง 15-16 คน ต่อประชากรแสนคนเท่านั้น (ปี 2542) สำหรับอัตราการตายด้วยโรคมะเร็งเต้านม ปี 2544 พบจำนวน 1,261 คน (อัตรา 4.1 ต่อ ประชากรแสนคน) ปี 2545 พบจำนวน 1,497 คน (อัตรา 4.7 ต่อประชากรแสนคน) ปี 2546 พบจำนวน 1,849 คน (อัตรา 5.8 ต่อประชากรแสนคน) ปี 2547 พบจำนวน 1,880 คน (อัตรา 5.9 ต่อประชากรแสนคน)ปี2548 พบจำนวน 1,910 คน(อัตรา 6.1 ต่อประชากรแสนคน) ซึ่งแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ปัจจัยเสี่ยงจะเป็นผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม โดยเฉพาะญาติใกล้ชิด ได้แก่ แม่ พี่สาว รวมทั้งผู้ป่วยที่เคยเป็นมะเร็งเต้านม ก็มีอัตราเสี่ยงที่จะกลับมาเป็นใหม่สูงกว่าคนปกติด้วย ผู้ที่มีบุตรหลังอายุ 30 ปี รวมทั้งหญิงที่ไม่เคยมีบุตร ,ผู้หญิงที่มีประจำเดือนมาตั้งแต่อายุก่อน 12 ปี หรือ ประจำเดือนหมดช้าหลังอายุ 55 ปี ,ผู้ที่รับประทานฮอร์โมนเพศหญิง รวมทั้งผู้ที่ได้รับยาคุมกำเนิดเป็นเวลานาน อาจเกิดมะเร็งเต้านมมากยิ่งขึ้น การมีพฤติกรรมที่ไม่ส่งเสริมสุขภาพ เช่นการกินอาหารไขมันสัตว์มาก การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา ภาวะเครียด และขาดการออกกำลังกาย ทำให้เพี่มโอกาสในการเกิดเป็นมะเร็งเต้านมมากขึ้น โดยสุภาพสตรีที่จะมีอาการเริ่มต้นของมะเร็งเต้านม ระยะเริ่มต้นนั้นมักจะไม่มีอาการเจ็บ แต่อาจพบความผิดปกติขึ้นที่เต้านม ซึ่งอาจจะเป็นอาการเริ่มต้นของโรคมะเร็งเต้านม คือ มีก้อนที่เต้านม มีการเปลี่ยนแปลงขนาดและรูปร่างของเต้านม ผิวหนังเปลี่ยนแปลง เช่นรอยบุ๋ม ย่น หดตัว หนาผิดปกติ บางส่วนมีสะเก็ด หัวนมมีการหดตัว หรือแดงผิดปกติ มีเลือดหรือน้ำนมออกจากหัวนม (ร้อยละ 20 ของการมีเลือดออกจะเป็นมะเร็ง) มะเร็งเต้านมส่วนใหญ่ไม่เจ็บ นอกจากก้อนโตมากแล้ว การบวมของรักแร้ เพราะต่อมน้ำเหลืองโต อย่าพึ่งตกใจ หรือหวั่นวิตกว่ามีอาการที่สอดคล้องกับข้างต้นแล้วเกรงว่าจะเป็นมะเร็งเต้านม ท่านสามารถตรวจด้วยตนเองได้ ตรวจเป็นประจำทุกเดือน จะสามารถรักษาและช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ หรือมิเช่นนั้นก็พบแพทย์ตรวจเมื่ออายุ 20-40 ปี โดยตรวจทุก 3 ปี ที่สูงขึ้นมาอีกนิด มีค่าใช้จ่ายสูงคือการตรวจด้วย การถ่ายภาพรังสีเต้านม (Mammography) ตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกบอกผลได้ถูกต้อง ร้อยละ 85-90 ดังนั้นการตรวจคัดกรองด้วยตัวเอง จึงเป็นวิธีที่ประหยัด เกิดประโยชน์สูงสุด โดยวิธีที่ 1 คือ การยืนที่หน้ากระจก ปล่อยแขนข้างลำตัว ตามสบาย เปรียบเทียบเต้านมทั้งสองข้าง ดูรูปทรง และสีผิวหนังมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ตรวจดูหัวนม มีแผล สะเก็ด หรือความมัน และมีของเหลวออกจากหัวนมหรือไม่ ต่อมาก็ประสานมือทั้งสองข้างเหนือศีรษะ มองจากด้านหน้า และมองจากด้านข้าง ตรวจสอบดูความสมดุลของรูปทรงเต้านม และมีรอยบุ๋ม หรือ รอยนูนที่ผิวเต้านมหรือไม่ วางมือที่เอว เกร็งอก และก้มลงมาข้างหน้า  ตรวจสอบตำแหน่งหัวนม ความสมดุลของรูปทรงและสังเกตว่าเต้านมทั้งสองข้างห้อยลงมาตามปกติหรือไม่ วิธีที่ 2 คือ ท่านอนราบ โดยนอนในท่าสบาย ตรวจเต้านมขวา ให้สอดหมอนหรือม้วนผ้าใต้ไหล่ขวา ยกแขนขวาเหนือศีรษะ เพื่อให้เต้านมด้านนั้นแผ่ราบ ซึ่งจะทำให้คลำก้อนเนื้อได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะส่วนบนด้านนอก มีเนื้อนมหนามากที่สุด และมีการเกิดมะเร็งบ่อยที่สุด ใช้กึ่งกลางตอนบนของนิ้วมือซ้าย (นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง) คลำโดยวนนิ้วมือทั้งสามเป็นวงกลมเล็กๆ (ก้นหอย) ไม่ต้องยกนิ้วมือขึ้น ทั่วทั้งเต้านม จนถึงรักแร้ และไหปลาร้า ที่สำคัญ คือ ห้ามหนีบเนื้อเต้านม เพราะจะทำให้รู้สึกเหมือนเจอก้อนเนื้อ ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่ และทำวิธีเดียวกันนี้กับเต้านมซ้าย วิธีที่ 3 ขณะอาบน้ำ สำหรับผู้หญิงที่มีเต้านมขนาดเล็กให้วางมือข้างเดียวกับเต้านมที่ต้องการตรวจบนศีรษะแล้วใช้มืออีกข้างคลำในทิศทางเดียวกับที่คุณใช้ในท่านอน สำหรับผู้ที่มีเต้านมขนาดใหญ่ ให้ใช้นิ้วมือข้างนั้นประคอง และตรวจคลำเต้านมจากด้านล่าง ส่วนมืออีกข้างให้ตรวจคลำจากด้านบนการตรวจตนเอง ให้กด 3 ระดับ คือ กดเบา ๆ เพื่อให้รู้สึกถึงบริเวณใต้ผิวหนัง กดปานกลาง เพื่อให้รู้สึกถึงกึ่งกลางของเต้านม และกดหนักขึ้น เพื่อให้รู้สึกถึงส่วนลึกใกล้ผนังทรวงอก ก้อนหรือ ความหนาอาจอยู่ในส่วนลึกระดับใดก็ได้ของเต้านม ช่วงเวลาที่ตรวจเต้านม ควรตรวจหลังประจำเดือนหมดแล้ว 3-7 วัน ของทุกเดือนเพราะเป็นช่วงที่เต้านมนิ่ม ไม่คัดตึงคงไม่ยากเกินไปนะครับที่ท่านสุภาพสตรี จะหมั่นตรวจเต้านมด้วยตัวท่านเอง.......................................................................... 
คำสำคัญ (Tags): #มะเร็งเต้านม
หมายเลขบันทึก: 138659เขียนเมื่อ 15 ตุลาคม 2007 09:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท