เรื่องนี้ต้องขยาย


ภาษาพาสนุก

  ภาษาพาสนุก

        เรื่องของภาษาไทยเป็นอะไรที่สนุก...บางคนจะงงว่าเกิดอะไรขึ้นภาษาพากันออกมาเต้นหรือ......ไม่ใช่หรอกแต่นึกขำขณะนั่งอ่านเรื่องที่ ผอ.ชนะ   สุ่มมาตย์ท่านเขียนเล่าเรื่องใน KM อยู่   แล้วลูกสาวเข้ามาข้างหลังถามว่า...แม่อะไรเนี่ย....จอ....หง....วน   เลยถามว่าหนูไม่รู้หรือว่าอ่านอย่างไร  จอหงวน  ไม่ใช่อย่างที่ลูกอ่านครั้งแรก  นี่แสดงว่าไม่ค่อยได้ดูหนังจีนซินะ เลยไม่รู้ว่าจอหงวนมีความหมายอย่างไร  

         การไม่รู้ความหมาย  การพูดหรืออ่านออกเสียง ลงน้ำหนักพยางค์หนักเบาผิดกัน  การพูดหรืออ่านแบ่งวรรคตอนของข้อความ  การลงน้ำหนักพยางค์  และการรวบพยางค์ผิด  แล้วทำให้ข้อความนั้นผิดความหมายไปได้   เช่น  

หนังสือเล่มนี้มันดี   กับ  หนังสือเล่มนี้...มันดี  ความหมายก็จะเปลี่ยนไป   สรุปหนังสือดี   หรือหนังสือสนุกดี

 กาแฟเย็น   หมด    กับ  กาแฟ    เย็นหมด   ความหมายก็เปลี่ยนไปอีก 

เมื่อจะผ่าตัด      ตอนเช้าต้องให้งดอาหาร  กับ 

เมื่อจะผ่าตัดตอนเช้า    ต้องให้งดอาหาร  สรุปให้งดอาหารตอนไหน

ยานี้ดี    กินแล้วแข็ง   แรงไม่มี   โรคภัยเบียดเบียน   กับ

ยานี้ดีกินแล้วแข็งแรงไม่มีโรคภัยเบียดเบียน ข้อความหลังนี้คงมีคนอยากซื้อกินมากกว่ายาข้อความแรกเป็นแน่  

         เป็นข้อคิดอย่างหนึ่งว่าการพูดหรืออ่านต้องระวังเพื่อมิให้ความหมายนั้นเปลี่ยนหรือผิดพลาดได้ เลยทำให้นึกถึงนิทานอยู่เรื่องหนึ่ง

          กาลครั้งหนึ่ง..ยังมีพระเจ้าซาร์  ผู้ครองประเทศรัสเซีย  และที่ ประเทศรัสเซียนี้มีทหารม้าที่มีชื่อเสียงกองหนึ่ง คือ กองทหารม้าคอสแซค    ทหารม้านี้ส่วนมากมีความชำนาญในการขี่ม้ามาก เป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าซาร์ และพระราชินีมาก    และยังมีทหารม้าที่มีศักดิ์เป็นพระประยูรญาติคนหนึ่งของพระราชินี  ความที่เป็นพระญาติของพระเจ้าแผ่นดิน นายทหารคนนี้ก็กระทำการไม่เป็นที่เหมาะสมต่อพระเจ้าซาร์  พระเจ้าซาร์ทรงกริ้วมาก   จึงออกคำสั่งให้ทหารนำราชสาสน์ของพระองค์ไปดำเนินคดีกับทหารม้าพระญาติพระราชินี  ตามเอกสารนั้นเขียนว่า    อภัยให้ไม่ได้ประหารชีวิต 

          เมื่อพระราชินีทราบข่าว  จึงหาทางช่วยเหลือญาติสนิท  โดยเปลี่ยนแปลงข้อความในพระราชสาสน์เสียใหม่  แต่มิได้ขีดฆ่า หรือทำลายลายพระหัตถ์ หรือปลอมคำสั่งในสาสน์ของพระเจ้าซาร์เลย       

          ดังนั้นเมื่อ เมื่อทหารวังนำนายทหารม้าผู้นี้ไปศาลทหาร  ผู้พิพากษาก็จำเป็นต้องปล่อยนายทหารม้าผู้นั้นไป เพราะเข้าใจว่าพระเจ้าซาร์ทรงอภัยโทษให้   เนื่องจากเป็นประยูรญาติสนิทของพระราชินี 

          คราวนี้ใครอยากรู้บ้างว่าพระราชินีทรงทำอย่างไรกับสาสน์ของพระเจ้าซาร์  ทหารม้าจึงรอดตาย    ลองตอบดู......นะ    เดี๋ยวมีรางวัลให้สำหรับผู้ตอบถูก 

หมายเลขบันทึก: 138262เขียนเมื่อ 13 ตุลาคม 2007 22:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีครับคุณครูสกาย

               อ่านเรื่องการใช้คำในภาษาไทย เป็นกังวลเหมือนกันนะครับ เพราะอาจสื่อความเข้าใจผิดได้  ผิดทั้งความหมาย  ผิดทั้งความรู้สึก ถ้าคนที่มีความรู้สึกที่ไม่ดีต่อกันเป็นทุนเดิม อ่านหรือฟังก็จะตีความเพี้ยนไปได้ แทนที่จะเป็นบวกกลับกลายเป็นลบ..การวิเคราะห์ความหมายของคำ ประโยคในภาษาไทย เป็นเรื่องที่เราต้องศึกษาเยอะมาก  แม้กระทั่งการเขียนภาษาไทย  เขียนผิด เขียนถูก  ผมเองยังต้องพึ่งพจนานุกรมไทย วางอยู่ใกล้ตัว แต่ก็เผลอผิดจนได้

              เรื่องพระเจ้าซาร์ อ่านแล้วเพลินดีครับ  ผมตอบคำถามนะครับ  ใช้คำเดิม แต่เน้นคำ อภัยให้ ไม่ได้ประหารชีวิต  

                มีเรื่องดีๆมาเล่าสู่ฟังอีกนะครับ  สวัสดีครับ

สวัสดีครับ

ขอบคุณครับ ผมจะพยายามปรับปรุงการเขียน และตรวจสอบ ก่อนส่งทุกครั้งครับ

สวัสดีค่ะ  ท่าน ผอ. ที่ตอบว่า เน้น  อภัยให้   ไม่ให้ประหารชีวิตนั้น  คำว่าเน้น  หมายถึงอย่างไร  เขียนใหม่เน้นคำให้เข้มหรือเขียนแยกคำ  ถ้าเป็นแบบนั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงลายมือไม่ถูกตามกติกา  ลองคิดดูใหม่ว่าจะทำอย่างไรไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงดังที่กล่าวมา 

สวัสดีค่ะ ท่าน ผศ.เพชรากร  .....งง....ว่าท่านแสดงความคิดเห็นด้วยเรื่องอันใด  

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท