แค่คนอีกคน....


คงหวังสูงเกินไป จะให้เธอให้ความสำคัญ

ชีวิตฉันมันเพียง ฝุ่นดิน

เพียงสักครั้งสักคราว แค่เธอมาทักทายให้ได้ยิน

มองแล้วยิ้มให้กัน ก็ดีแล้ว...

บอกกับตัวเองให้ฝัน แค่พอประมาณ

แค่ให้พอชื่นใจ บอกเอาไว้ ว่าควรพอแค่นี้...

แค่เป็นอีกคน คนอีกคน คนหนึ่งคน คนที่รักเธอไกลๆ

คนที่ไร้ตัวตนในสายตา แค่คนอีกคน เป็นอีกคน

คนที่มองอยู่ทางนี้ หวังดีต่อเธอเรื่อยมา

ไม่แคร์ว่าเธอ ไม่เคยเห็นค่าความสำคัญ

คนรอบๆ ตัวเธอ แต่ละคนเขาช่างดูดี

มีพร้อมแล้วที่เธอ ต้องการ

มองแล้วฉันเข้าใจ ได้แต่คอยเฝ้าดูและรับฟัง

วันไหนที่เธอเจอคนที่รัก..

เพลง แค่คนอีกคน

Ost. เพลงประกอบละคร อภิมหึมามหาเศรษฐี

ปราโมทย์ วิเลปะนะ

                    

                   สวัสดีค่า ทุกท่านเวลาขับรถหรือนั่งรถชอบฟังเพลงกันไหมคะ....

                  มีอยู่วันหนึ่งผู้เขียนบันทึกขับรถแล้วได้ยินเพลงข้างบนนี้คะ.... คิดว่าหลายท่านคงเคยฟังกันแล้ว อ่านจากเนื้อเพลงหรือจากที่ทุกท่านเคยได้ยินได้ฟัง หรือแม้แต่เคยร้องกันมาบ้างแล้ว รู้สึกอย่างไรกับเพลงนี้บ้างคะ...

                 ฟังแล้วก็พลอยรู้สึกว่า...... เอ!!! จะรู้สึกอย่างไรบ้างนะ กับความรู้สึกของการไม่มีตัวตน  และได้แต่เฝ้าปลอบประโลมใจตัวเองว่า "ก็เป็นแค่คนอีกคน"  ความรู้สึกที่ว่าตัวเองไม่ได้สลักสำคัญอะไรในสายตาใคร ยิ่งถ้าความรู้สึกนี้ (การไม่มีตัวตนในสายตาของคนอีกคน) เกิดกับคนที่เรารู้สึกดีๆ ด้วยแล้ว คงเศร้าน่าดูนะคะ....

                 ฟังเพลงนี้ครั้งแรก รู้สึกชอบคนแต่งเพลงนี้ขึ้นมาจับใจเลยคะ ทำไมหนอ.... เค้าช่างปั้นแต่งเพลงได้ฟังแล้วเห็นภาพชัดเจนขนาดนี้หนอ.... เห็นภาพ ผู้ชาย แสนดีคนหนึ่งที่มีทั้งความรู้สึกอบอุ่นและแสนเศร้าปนอยู่ด้วยกันเลยคะ น่ารักดีนะคะ.....

                ท่านผู้อ่านทุกท่าน อย่าเพิ่งแปลกใจนะคะ ว่าคราวนี้ผู้เขียนบันทึกมาแปลก เพียงแต่จับใจกับคำๆ นี้นะคะ.....

"แค่คนคนหนึ่ง"

                ผู้เขียนบันทึกไม่แน่ใจนักว่าความรู้สึกอย่างที่เขียนไว้ข้างต้น ถ้านอกเหนือจากอารมณ์และความรู้สึกของความรักแล้ว เจ้าความรู้สึกของการเป็น "แค่คนคนหนึ่ง" มันจะเข้ามาเกาะกุมในความรู้สึกของคนเรายามชีวิตอยู่ในช่วงปกติที่ไม่ได้ตกอยู่ในห้วงของความรักได้หรือไม่.....

                 คำตอบที่ผู้เขียนบันทึกได้รับไม่นานและไม่ต้องไปหาที่ไหนไกลเลยคะ ไม่ต้องหาจากครูท่านไหน หรือจากตำราหรือ Text book เล่มใดๆ คำตอบนี้อยู่ตรงหน้าของผู้เขียนบันทึกมาตลอดช่วงเวลาที่ตัวผู้เขียนบันทึก ก้าวข้ามมาเป็นอาจารย์ตั้งแต่ต้นแล้วคะ แต่ตัวผู้เขียนกลับมองไม่เห็น (หรืออาจจะบอกอีกอย่างว่า ไม่พยายามมองหรือค้นหาก็คงไม่ผิดคะ....) คำตอบนั้นอยู่ที่ "นิสิต" ของเราเองคะ....

                บ่อยครั้งที่ตัวผู้เขียนบันทึกสงสัยมาก ว่าอะไรจึงทำให้ "นิสิต" บางคน (อาจจะเป็นส่วนใหญ่...) ขาดความมั่นใจ ขาดความภาคภูมิกับตัวเอง.... มีอยู่หลายครั้งที่เมื่อผู้เขียนบันทึกต้องเข้าคุมกลุ่มในรายวิชาทันตกรรมชุมชน 5 ซึ่งเป็นรายวิชาที่มุ่งเน้นในการลงทำงานภาคปฏิบัติในเรื่องการส่งเสริมสุขภาพในชุมชน บ่อยครั้งที่ต้องมีการพูดคุย และอภิปรายกันในหัวข้อ และประเด็นต่างๆ ที่นิสิตได้ข้อมูลมา แล้วนำมาแลกเปลี่ยน พูดคุย และวางแผน กับอาจารย์ การเริ่มต้นในกระบวนวิชานี้จะมีการพูดคุยกันระหว่างนิสิตและอาจารย์ถึงพื้นฐานความรู้ ตลอดจนทัศนคติ ความคิดและความรู้สึกของนิสิต....

               สิ่งหนึ่งที่ได้จากทุกกลุ่ม จะต้องมีนิสิตของเราอย่างน้อยหนึ่งคนที่จะพูดประมาณว่า "หนู/ผม ก็เป็นแค่คนธรรมดาๆ คนหนึ่ง ไม่ได้ดูโดดเด่น ไม่ได้สำคัญอะไร ไม่ได้มีบทบาทอะไร" ถ้าจะพูดนิยามให้เห็นภาพชัดอีกนิด ตัวผู้เขียนบันทึกขออนุญาตใช้คำว่า "เป็นตัวประกอบ" ให้กับความรู้สึกของ นิสิต เหล่านี้ก็แล้วกันนะคะ...

                ตัวผู้เขียนบันทึกแปลกใจมากๆ กับความรู้สึกดังกล่าว แต่ทุกท่านเชื่อไหมคะว่า..... บ่อยครั้งที่นิสิตกลุ่มนี้แหละที่มักนิยามตัวเองว่าเป็นเพียง "ตัวประกอบ" กับแสดงออกทางความคิดและความเชื่อบางอย่าง ที่บ่งบอกชัดเจนเลยว่า เค้าเหล่านี้ ไม่ได้เป็นเพียงแค่ "ตัวประกอบ" แต่กลับฉายแววของการเป็น คนที่มีความโดดเด่น อย่างชัดเจน บางคำตอบที่นิสิตกลุ่มนี้ตอบหรือแสดงความคิดเห็น บางครั้งมันช่างทั้งชัดเจน ทั้งตรงประเด็น และคมคายอย่างมาก หรือมีแนวคิดที่แปลกและแตกต่างจากคนอื่นๆ หรือบางครั้งความคิดที่แสดงออกมาเหล่านั้นก็บ่งบอกถึงความคิดที่ผ่านการวิเคราะห์ และแสดงให้เห็นถึงความคิดที่เป็นอีกชั้นหรืออีกขั้นหนึ่งขึ้นไปแล้วด้วยซ้ำ และหลายครั้งอีกเช่นเดียวกันที่นิสิตกลุ่มนี้แหละที่เป็นผู้จุดประเด็นบางอย่างให้ทั้งกลุ่มได้ขบคิด และบางทีก็สามารถใช้เป็นแนวทางที่จะดำเนินงานต่อไปได้ด้วยซ้ำ....

                 แล้วอะไรหนอ... ที่ปิดกั้น นิสิต กลุ่มนี้ หรือ อะไรหนอ.... ที่ทำให้ นิสิต กลุ่มนี้จึงปิดกั้นตัวเองด้วยความรู้สึกเช่นนั้น

                 แล้วหลายสิ่งก็ผุดขึ้นในความคิดของผู้เขียนบันทึก มันอาจจะเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้..... แต่แล้วก็ได้หวนกลับมานั่งนึกถึงเมื่อครั้งที่ได้พูดคุยกับอาจารย์ผู้เป็นวิทยากรเมื่อการอบรม นพลักษณ์ จำได้ว่าได้ลองพูดคุยกันถึงแนวคิดว่าจะเอาการเข้าใจตัวเองและผู้อื่น เช่น นพลักษณ์ นี้มาให้นิสิตได้เรียนรู้และหวังว่าจะทำให้เค้าคิดและมีภูมิบางอย่างในการตอบรับกับสถานการณ์ต่างๆ ได้  ด้วยตัวเค้าเอง ท่านวิทยากรได้ให้ข้อคิดอย่างหนึ่งไว้ว่า ถึงอย่างไรการที่เราคิดว่าจะให้เจ้าตัว (นิสิต) เค้าปรับแต่เพียงที่ตัวเค้าเองเพียงอย่างเดียวก็อาจไม่เพียงพอ มันคงมีความจำเป็นมั้ง ที่เราเอง (อาจจะหมายถึง อาจารย์ หรือระบบบางอย่าง...) ก็ต้องสร้างบางอย่างให้เค้า (นิสิต) ด้วย เพื่อให้เค้าพร้อมก่อน..... อันนี้ผู้เขียนบันทึกตีความและเข้าใจเองนะคะว่าก่อนที่เค้า (นิสิต) จะมีภูมิบางอย่างมันก็ต้องผ่านกระบวนการบางอย่างที่จะก่อให้เค้า (นิสิต) เกิดภูมิได้....

                  สิ่งนี้ทำให้ผู้เขียนบันทึก นึกถึง Empowerment (การสร้างความเข้มแข็ง - การสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจ) ขึ้นมา  บางครั้งการที่เรา (อาจารย์) เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการเรียนรู้ของนิสิต นอกเหนือจากบทบาทของการสอนวิชาการ อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ เรา (อาจารย์) จะทำอย่างไร ให้ นิสิต กลุ่มนี้ของเราที่เค้าอาจจะขาดความมั่นใจแต่แน่แท้คือเค้าไม่ได้ขาดความคิด หรือสติปัญญาใดๆ ทั้งนั้น  เพียงแต่หนทางในการแสดงออกซึ่งสิ่งเหล่านั้นสำหรับเค้า (นิสิต) มันยากลำบากเหลือเกิน ด้วยความจำกัดที่ความรู้สึกของเค้า (นิสิต) เอง มันคงเป็นหน้าที่อย่างหนึ่งที่เรา (อาจารย์) จะต้อง Empower เค้า (นิสิต) ให้เค้ารู้สึกฟูในหัวใจ พร้อมและกล้าที่จะเผชิญ กล้าที่แสดงออก ด้วยตัวของเค้าเอง และศักยภาพที่ซ่อนเร้นอยู่ของ นิสิต กลุ่มนี้ก็คงจะฉายออกมาให้คนอื่นๆ ได้ประจักษ์เอง......

                

"บางครั้งคุณอาจจะรู้สึกว่า "เป็นแค่คนคนหนึ่ง" แต่บางทีคุณอาจไม่ได้เป็น "แค่คนคนหนึ่ง" สำหรับคนอีกคนหนึ่งก็ได้นะคะ......" 

หมายเหตุ : งงหน่อยนะคะ... แต่เชื่อเถอะคะว่า ทุกคนเป็นคนสำคัญสำหรับคนอีกคนหนึ่งอย่างแน่นอนคะ......

 

หมายเลขบันทึก: 137985เขียนเมื่อ 13 ตุลาคม 2007 00:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 18:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • เค้าอาจ​จะ​ขาด​ความ​มั่นใจแต่​แน่​แท้คือเค้า​ไม่​ได้​ขาด​ความ​คิด​ ​หรือ​สติปัญญา​ใดๆ ชอบประโยคนี้จัง อ.แนน
  • เพลงบางเพลงแทนความรู้สึกหลายๆอย่างบางครั้งบางสถานการณ์ทำห้เราคิดว่าไม่สำคัญ
  • แต่ก็อย่างที่อ.แนนว่า ยังไงเราก็ต้องสำคัญกับใครอีกคนบนโลกใบนี้ อย่างน้อยก็คนหนึ่งแหละ...เน้อ

บาดดดดดด มากเลยน้องเอ๊ย....

 ขอบคุณสำหรับบทความดีๆ เพราะทำให้พี่นึกขึ้นมาได้ว่า "เรามัวแต่สอนให้นิสิตไป Empowerment ชาวบ้าน แต่ (บ่อยครั้ง) ที่เราเองกลับลืมที่จะ Empowerment นิสิตของเรา" พรุ่งนี้เจอกัน

ขอบคุณทุกท่านน่าค่า ที่เข้ามาอ่านและให้ข้อคิดเห็นกัน

ถึง อ.หนิง คะ ถ้าว่างหลังจาก Empowerment ชาวบ้าน และนิสิตแล้ว ช่วยมา Empower ผู้เขียนบันทึกต่อด้วยนะคะ.......5555

  • อ.แนน สุดยอดจริงๆ ด้วย
  • อบรมนพลักษณ์มาแล้วก็ได้เห็นผลดีของโครงการแล้ว
เราเห็นด้วย แนน เราเองก็เป็นคนนึง มีหลายครั้งรู้สึกว่าตัวเองเป็นตัวประกอบในคณะ  อาจจะเกิดจากการที่เราอาจจะเรียน หรือทำกิจกรรมไม่เก่งเท่าคนอื่นๆ ก็เลยรู้สึกด้อยๆบ้าง หรืออาจจะเป็นเพราะด้วยลักษณะวิธีการเรียนการสอนของเรา (เราคิดเอาเองนะ) ไม่ได้ว่าคณะเรานะ แต่ที่คุยกับเพื่อนเป็นเหมือนกันทุกมหาลัย รวมทั้งที่เรามาเป็นอาจารย์เองด้วย  การเรียนการสอนของเรา เหมือนจะจำกัดความคิดนักศึกษาอยู่เหมือนกัน ถ้าใครคิดต่างจากที่ อ. สอน ก็ถือว่าผิด ทุกอย่างเหมือนอยู่ในกรอบ ก็ไม่กล้าที่จะแสดงออก หรือแสดงความเห็นออกไป นศ.เราก็จะท่องเก่งเท่านั้นแหละ ไม่ใช่คิดเก่ง ไม่รู้ตรงประเด็นหรือเปล่านะคับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท