การเย็บตับจาก


ภูมิปัญญาท้องถิ่น

การเย็บจาก เรื่องที่ศึกษา                        

    ภูมิปัญญาที่ได้ศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาภูมิปัญญาด้านหัตถกรรม  เนื่องจากตำบลบางแก้ว พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นน้ำเค็มทำให้มีต้นจากขึ้นอยู่โดยทั่วไปตามชายคลอง ร่องสวน เป็นพืชที่ขึ้นง่ายไม่ต้องดูแลมากนัก  ชาวบ้านบางแก้วจึงอาศัยภูมิประเทศและสภาพแวดล้อมดังกล่าวทำมาหากินโดยการเย็บจากขายมาแต่โบราณจวบจนปัจจุบัน 

ที่ตั้ง  นางอารีย์   ชุนลิ้ม  ที่อยู่ 49 ม.2 ต.บางแก้ว อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม  แม่อารีย์เป็นชาวสมุทรสงครามโดยกำเนิด มีพี่น้อง 7 คน เป็นเกษตรกรทำสวนมะพร้าวและมีอาชีพเสริมในการเย็บจากมุงหลังคา  นอกจากนี้ยังมีความสามารถหลากหลาย เช่น ทำขนมจาก ขนมมัน  และมีความรู้ด้านการเย็บจากเป็นอย่างดีเพราะสืบทอดมารุ่นต่อรุ่น ตั้งแต่ปู่ย่าตายายและสืบทอดกันมาจนทุกวันนี้ 

ประวัติความเป็นมา                แม่อารีย์เล่าว่า การเย็บจากของแม่อารีย์นั้น เริ่มจากการเรียนรู้จากพ่อ แม่ ช่วยกันทำใช้เองในครอบครัวและทำจำหน่ายแก่เพื่อนบ้านจนมีความชำนาญเพราะในสวนมีต้นจากมากมายประกอบกับมีความรักในงานที่พ่อแม่ได้สืบทอดไว้จึงทำต่อมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบันและได้ถ่ายทอดต่อยังลูกหลาน เพื่อมิให้ภูมิปัญญาการเย็บจากสูญหายไปกับโลกยุคโลกาภิวัฒน์ 

องค์ความรู้ของเรื่องที่ศึกษา รวบรวม   ด้านการปฏิบัติ/จัดทำ/การผลิต            จากเป็นพืชเศรษฐกิจ เป็นพืชที่ขึ้นง่าย ตามชายคลอง ชายป่า ในป่า  เป็นพืชสารพัดประโยชน์ของจากมีมากมาย ทั้งมุงหลังคา ทำฝาบ้าน ทำโรงเรือนเลี้ยงไก่ เพาะเห็ด เป็นต้น บ้านที่มุงหลังคาด้วยจากจะเย็นสบายไม่ร้อน อากาศถ่ายเทได้ที ผลจากหรือลูกจากก็สามารถกินสดๆได้ นำมาต้มน้ำตาลเป็นขนมได้ การเย็บจากสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษและมีการพัฒนาการเย็บจากให้มีคุณภาพ มีการคัดสรรวัสดุที่ดีมีคุณภาพ เช่น ใช้จากที่แก่ หวายที่ขาว ไม้คันต้องแกร่ง  เวลาเย็บต้องดึงให้แน่น จึงจะได้ตับจากที่ดีมีคุณภาพคงทน   

การถ่ายทอด/สืบทอด/เผยแพร่ รวมทั้งการจัดเก็บความรู้            ลักษณะการถ่ายทอดของ แม่อารีย์  เป็นการถ่ายทอดโดยการลงมือทำจริงรับให้ลูกหลานดูจากความรู้ที่บรรพบุรุษ ปู่ย่าตายาย ได้ถ่ายทอดนี้เองทำให้สืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน เพราะจากมีอยู่ในสวนรอบๆบ้าน เป็นของที่หาได้ง่าย  และมีพัฒนาจากของเดิมที่เคยมีเคยทำในอดีตให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตปัจจุบัน  ส่วนการเผยแพร่ของแม่อารีย์นั้นจะใช้วิธีการเดียวกับสมัยที่ตนเองได้รับมาคือการบอกต่อพูดคุย การลงมือทำให้เห็น แต่ไม่มีการจดบันทึกเป็นตำราที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่ชัดเจน 

ลักษณะของความรู้  ลักษณะความรู้เช่นนี้ เป็นความรู้โดยนัย หรือความรู้ฝังลึก (Tacit Knowledge) เป็นความรู้ที่อยู่ในตัวของแต่ละบุคคล เกิดจากประสบการณ์ การเรียนรู้หรือพรสวรรค์ ซึ่งยากต่อการที่จะสื่อสารหรือถ่ายทอดออกมาเป็นตัวเลข สูตร หรือเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ก็สามารถพัฒนาและแบ่งปัน (Share) กันได้ ความรู้เช่นนี้ได้แก่ ทักษะ ประสบการณ์ พรสวรรค์ สัญชาตญาณ ความคิดริเริ่ม แม่อารีย์มีความรู้ฝังลึกอย่างชัดเจน สามารถที่จะถ่ายทอดประสบการณ์ต่างๆ ที่ได้รับเกิดจากความมุ่งมั่นและสืบทอดต่อมาจากอดีตถึงปัจจุบันและขยายต่อไปถึงอนาคต พยายามถ่ายทอดสู่ลูกหลาน ทั้งการเย็บจากและการรักษาวัฒนธรรมเดิมคือการใช้วัสดุในท้องถิ่นที่หาง่าย ราคาประหยัด เกิดความภูมิใจในความสามารถของตนเอง แต่แม่อารีย์ไม่มีการจดบันทึกหรือจัดทำเป็นเอกสารมีเพียงการพูดคุยเท่านั้น

 การพัฒนา/สร้างสรรค์ ความรู้เพิ่มขึ้น  แม่อารีย์พัฒนาการเย็บจากต้นสั้นมาเป็นต้นยาว มีการคัดเลือกวัสดุที่นำมาเย็บจาก เน้นการทำที่มีคุณภาพ ใช้ฝีมือมากกว่าการเน้นที่ปริมาณหรือรายได้ 

ผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้            จากการศึกษาการเย็บจากการแม่อารีย์ทำให้ทราบว่าจากมีคุณประโยชน์มากมาย เช่น ทำให้ไม่เกิดมลภาวะหรือสารเคมี บ้านที่มุงจากสามารถรองน้ำฝนกินได้ ใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอย่างคุ้มค่า การตัดใบจากจะทำให้ต้นจากโตขึ้น และอยากเห็นคนรุ่นต่อๆไปได้รู้จักและรักษาอาชีพเย็บจากนี้ไม่ให้สูญหาย พัฒนาคุณภาพให้ดียิ่งขึ้น 

ปัญหาอุปสรรค            ปัญหาอุปสรรส่วนใหญ่เกิดจากการที่คนในปัจจุบันไม่นิยมใช้จากมุงหลังคาหรือนำมาใช้ประโยชน์ ทั้งผู้ที่สืบทอดอาชีพการเย็บจากก็นับวันแต่จะลดน้อยลงทุกที เพราะส่วนใหญ่มุ่งส่งลุกเรียนหนังสือสูงๆ จนไม่หันกลับมามองภูมิปัญญาดั้งเดิมของบรรพบุรุษและการเย็บจากเป็นอาชีพที่ต้องใช้ความอดทน เหนื่อยมาก ใช้เวลามาก ใช้ฝีมือ ใช้ประสบการณ์มากแต่รายได้กลับน้อย  หากบวกกับสภาพแวดล้อมในปัจจุบันที่ชาวสวนมักไม่นิยมปลูกต้นจากทำให้จากเป็นพืชที่เริ่มหายากเพราะต้องใช้เวลานานกว่าจากจะแก่และมีคุณภาพเหมาะสมกับการนำมาเย็บเป็นตับจาก 

                                                 ผานิต   ชุนลิ้ม

คำสำคัญ (Tags): #ตับจาก
หมายเลขบันทึก: 137974เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2007 23:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 10:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท