กิจกรรม KM Cognitive Coaching ของโครงการ EdKM


ครั้งที่ ๓ ภาคกลาง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

          ช่วงวันที่  ๑๑ –  ๑๓  ตุลาคม  นี้  ผู้เขียนเดินทางมาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา  เพื่อเข้าร่วมการประชุมปฏิบัติการ  เรื่อง  การพัฒนาการจัดการความรู้  สำหรับทีมแกนนำ  หรือ  KM  Cognitive  Coaching  ของโครงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กรทางการศึกษาด้วยการจัดการความรู้  (EdKM)  ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ปรับเพิ่มเข้ามา  หลังจากที่ได้มีการจัดมหกรรมตลาดนัดการจัดการความรู้  ๔  ภูมิภาคไปแล้ว  ทั้งนี้  เป็นการปรับกิจกรรมเพื่อให้การดำเนินโครงการวิจัยฯ  ในปีที่ ๒  บรรลุผลตามวัตถุประสงค์มากที่สุด  กิจกรรมนี้ต้องการให้กลุ่มเป้าหมายแกนนำได้ทบทวน  และเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับหลักการ  ปรัชญาแนวคิด  และกระบวนการจัดการความรู้ที่สำคัญ  เพื่อให้เกิดการนำไปใช้ในการพัฒนางานได้ถูกต้องและชัดเจนยิ่งขึ้น      
        
การประชุมปฏิบัติการ  เรื่อง  การพัฒนาการจัดการความรู้  สำหรับทีมแกนนำ  หรือ  KM  Cognitive  Coaching   มีกำหนดจัดขึ้นทั้งหมด  ๕  ครั้ง  โดยแบ่งตามภูมิภาคและกลุ่มผู้เข้าร่วม  ซึ่งครั้ง ๑ – ๔  เป็นกลุ่มโรงเรียนตามแต่ละภาค  ส่วนครั้งที่  ๕  เป็นกลุ่ม  สพท.  ทั้ง  ๑๗  เขตที่เข้าร่วมโครงการฯ
          - ครั้งที่  ๑  ภาคใต้  จัดไปแล้วเมื่อวันที่  ๑-๓  ตุลาคม  ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี  (ซึ่งผู้เขียนพลาดโอกาส  ไม่ได้เข้าร่วม  เนื่องจากติดภารกิจของ  สคส.  แต่ได้รับฟังจากทีมนักวิจัย  บอกว่า  ดีมากๆ  โดยเฉพาะโรงเรียนสุราษฎร์ธานี  ขอลำเอียงนิดหนึ่ง  เพราะเป็นศิษย์เก่าของโรงเรียนนี้ด้วย  คงไม่ว่ากันนะคะ)
         - ครั้งที่  ๒  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  จัดไปแล้วเช่นกัน เมื่อวันที่  ๗-๙  ตุลาคม  ที่จังหวัดอุดรธานี  (ซึ่งผู้เขียนก็ไม่ได้เข้าร่วมเช่นเคย  แต่ได้รับฟังการ  AAR  จากทีมวิจัย  บอกว่า  ดีเช่นกัน  บรรยากาศเป็นกัยาณมิตรมาก)
         - ครั้งที่  ๓  ภาคกลาง  (ที่กำลังจัดอยู่ในช่วงนี้คะ)  ซึ่งรายละเอียดผู้เขียนจะเล่าต่อไป
        
- ครั้งที่  ๔  ภาคเหนือ จัดวันที่  ๒๔-๒๖  ตุลาคม  ที่จังหวัดเชียงใหม่
         - ครั้งที่  ๕  จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ  และเป็นทีมแกนนำของ  สพท.  ทั้ง  ๑๗  เขต

         รูปแบบกิจกรรมของ  KM  Cognitive  Coaching  น่าสนใจมากคะ  ซึ่งผู้เขียนจะค่อยๆ  ทะยอยเล่าให้ฟัง พร้อมเก็บภาพบรรยากาศแบบกัยาณมิตรมาให้ชาว  GotoKnow  ได้ชื่นชมด้วยคะ 

         ในวันแรก ช่วงเช้า  เมื่อแกนนำทะยอยเดินทางมาถึงและลงทะเบียนเพื่อรับเอกสารประกอบการประชุมเรียบร้อยแล้ว  อ.วัฒนา  อาทิตย์เที่ยง  ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยและพัฒนาการศึกษา  จาก  สกศ.  ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดประชุมในครั้งนี้  และต่อด้วย  “ครูใหญ่”  ของเรา  คือ  ดร.สุวัฒน์  เงินฉ่ำ  ในฐานะผู้อำนวยการโครงการ  EdKM  มากล่าวทบทวนและเน้นย้ำถึงวัตถุประสงค์  ผลการดำเนินงาน  และความต้องการการพัฒนาการจัดการความรู้ขององค์กรเป้าหมายโครงการฯ 

 

"ครูใหญ่"
        

        วัตถุประสงค์โครงการฯ  คือ
         ๑. เพื่อการศึกษารูปแบบการจัดการความรู้ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
         ๒. เพื่อศึกษารูปแบบการจัดการความรู้ของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
         ๓. เพื่อศึกษาการแพร่ขยายการจัดการความรู้ไปสู่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา
        ๔. เพื่อเสนอแนะนโยบายและยุทธศาสตร์ในการนำการจัดการความรู้มาสู่องค์กรทางการศึกษา

         อ.สุวัฒน์  ได้บอกอีกด้วยว่า  การนำ  KM  ไปใช้ของภาคการศึกษา  ขณะนี้ไปเร็วกว่าที่คาดคิดมาก  และKM  ของภาคการศึกษาในปัจจุบันมี  ๓ ลู่ที่เดินคู่ขนานกัน  คือ
         ๑. โครงการ EdKM
         ๒. ก.พ.ร.  ผ่านทาง สพฐ. ซึ่งจะเน้นการประเมินตามแนวของ ก.พ.ร.
         ๓. เกิดจากการที่  สพฐ.  ปิ๊งวิธีการเช่นนี้  จึงให้นักวิจัยโครงการ  EdKM  ไปอบรมแกนนำในองค์กรทางการศึกษาในสังกัด  สพฐ.  และขยายผลไปทั่วทุกเขต  ลู่นี้เน้นที่กลุ่มศึกษานิเทศก์

         นอกจากนั้น  อ.สุวัฒน์  ได้นำข้อมูลจากการเก็บข้อมูลวิจัย  และจากแบบสอบถามงานมหกรรมตลาดนัดการจัดการความรู้  ๔  ภูมิภาค   เรียกได้ว่าเป็นการมองเหลียวหลัง  โครงการ  EdKM   ซึ่งแบ่งเป็น  ๒ ช่วง  คือ  ๗  เดือนแรก  (๑  มิถุนายน  -  ๓๐  ธันวาคม  ๒๕๔๙)    และ  ๘  เดือนหลัง  (๑  มกราคม  -  ๓๑  สิงหาคม  ๒๕๕๐)  มานำเสนอ  ใน  ๓  ประเด็น  คือ  
         ๑. เราพากันมาถึงไหน   อ.สุวัฒน์  นำเสนอด้วยกราฟ  (ซึ่งเป็นกราฟ  ณ  เดือนเมษายน  ๒๕๕๐  และเป็นช่วงเวลาก่อนงานมหกรรมตลาดนัด  KM  ๔  ภูมิภาค)  เพื่อแสดงให้เห็นว่า  ขณะนี้  KM  ของโรงเรียน  และ สพท.  ที่เข้าร่วมโครงการฯ  ได้ดำเนินการไปถึงไหนกันแล้ว  ซึ่งผลการเก็บข้อมูลของของนักวิจัย  เรียกได้ว่า   เป็นการ  “หักปากกาเซียน”  หรือ  “ล้มล้างทฤษฎี”  อย่างมาก   เพราะตามทฤษฎีหรือความเชื่อของทีมนักวิจัย  คือ  สพท.  ควรจะเป็นผู้สนับสนุนช่วยเหลือและประคับประครองให้โรงเรียนหรือสถานศึกษาได้ดำเนินการนำ  KM  ไปปรับใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพของโรงเรียนหรือสถานศึกษา  แต่จากการเก็บข้อมูลตามสภาพความเป็นจริง  เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกันเลย  (กรุณาดูรูปประกอบ)  

 กราฟ "เราพากันมาถึงไหน"


         เกณฑ์ของกราฟ  “เราพากันไปถึงไหน?”  คือ 
- ระดับ  ๒  ต่ำมาก
- ระดับ  ๒.๕  ค่อนข้างต่ำ
- ระดับ  ๓  ต่ำ
- ระดับ  ๓.๕  ปานกลาง
- ระดับ  ๔  สูง
 - ระดับ  ๔.๕  ค่อนข้างสูง
 - ระดับ  ๕  สูงมาก
         จากกราฟจะเห็นว่า  มีเพียง  สพท.  ๒  แห่ง  จาก  ๑๗  แห่ง   และโรงเรียนหรือสถานศึกษา  ๒  แห่ง  จาก  ๗๘  แห่ง ที่เข้าร่วมโครงการฯ  ที่ได้ดำเนินการนำ  KM  ไปปรับประยุกต์ใช้ในองค์กรที่อยู่ในระดับ  ๕  คือ  ได้ผลดีสูงมาก  ในขณะที่มีโรงเรียนและสถานศึกษา จำนวน  ๒๑  แห่ง  ที่อยู่ในระดับ  ๒.๕  หรือ  ค่อนข้างต่ำ  และ  สพท.  ๙  แห่งจาก   ๑๗  แห่ง  ที่ยังอยู่ในระดับ  ๒  คือ  ระดับต่ำมาก 

         ผู้เขียนทราบข้อมูลเพิ่มเติมจากทีมนักวิจัยว่า  ปัจจุบันกราฟนี้ในระดับ  ๕  ได้มีการขยับเพิ่มขึ้นแล้ว  (เป็นข่าวดีทีเดียวคะ)

         ๒. ได้อะไรบ้าง  อ.สุวัฒน์  ได้ยกกรณีตัวอย่างที่กลุ่มเป้าหมายได้นำ  KM  ไปปรับประยุกต์ใช้ในองค์กร  เช่น  การบูรณาการคุณธรรมจริยธรรม  การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม  การศึกษาเด็กพิเศษ  การพัฒนาความสามารถในการอ่านเขียน  การวิจัยในชั้นเรียน  การจัดการเรียนรู้ของแต่ละกลุ่มสาระ/สายชั้นเรียน  งานบริการ/สนับสนุนการสอน  เผยแพร่และเรียนรู้ผ่าน   Blog  เป็นต้น  และได้นำเสนอผลลัพธ์จากการที่ใช้  KM  คือ 
- เกิดความรัก/ความเข้าใจ/ความสามัคคี 
- การหวง/ปิดบังความรู้ลดลง 
- กล้าแสดงความคิดความสามารถเพิ่มขึ้น
- เกิดผู้นำในองค์กรเพิ่มขึ้น
- เพิ่มลักษณะการทำงานเป็นทีม
- เพิ่มบทบาทผู้ปกครอง/นักเรียน

         ๓. ยังต้องการอะไรอยู่อีกบ้าง  อ.สุวัฒน์  ได้นำเสนอความต้องการใน  ๒  ประเภท  คือ 
         - ความรู้ความเข้าใจ  KM  พื้นฐาน  มี  ๔๘.๔๒%  ที่ต้องการความรู้ความคิดเพิ่มเติม 
         - เครื่องมือ  KM  มีความต้องการความรู้ความคิดเกี่ยวกับเครื่องมือ  KM  จำนวน  ๕๑.๖๘% 

         และสุดท้าย เราจะพากันไปไหน  ซึ่ง  อ.สุวัฒน์  ได้กล่าวเน้นย้ำ  คือ  ทั้งทีมนักวิจัยส่วนกลาง  และทีมนักวิจัยในพื้นที่  ซึ่งก็คือ  สพท.  และโรงเรียนหรือสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการฯ  จะช่วยกันเพิ่มเติม  เติมเต็ม ความต้องการ  และวางแผน/ ทำงานเพื่อไปสู่เป้าหมายร่วมกัน

 

"ครูใหญ่"  กับของเล่นชิ้นใหม่ 
(อ.สุวัฒน์ บอกว่า  กำลังเรียนรู้การใช้  InterNet  ผ่าน  Bluetooth  ของโทรศัพท์มือถือ)

         (โปรดติดตามตอนต่อไป)

คำสำคัญ (Tags): #edkm#km cognitive coaching
หมายเลขบันทึก: 137792เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2007 14:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ทัศนีย์ ไพฑูรย์พงษ์

คุณหญิงคะ

    ลำเอียงมากไปหน่อยค่ะที่ลงรูปดร.สุวัฒน์คนเดียวตั้งสองครั้ง

     ขอบคุณมากค่ะที่ทำให้ไม่ตกข่าว

      หนาวค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท