มีอะไรให้ลุ้น เมื่อถึงเวลาตรวจสุขภาพประจำปี


กันไว้ดีกว่าแก้ แย่แล้วจะแก้ไม่ทัน

                  พรุ่งนี้ก็ถึงกำหนดวันนัดตรวจสุขภาพประจำปี ที่ กศน.สุรินทร์ ได้ประสานงานกับโรงพยาบาลสุรินทร์ จัดแพทย์ พยาบาล เดินทางมาบริการตรวจสุขภาพประจำปีของข้าราชการ เจ้าหน้าที่  ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ห้าแล้วที่จัดให้มีบริการที่ว่านี้    หลายคนรู้สึกตื่นเต้นและมีความพร้อมที่จะเข้าตรวจ และที่ตื่นเต้นกว่านั้นก็คือตอนลุ้นผลของการตรวจ  ว่าปีนี้ผลจะออกมาเป็นอย่างไร ดีหรือไม่ดีขี้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา   หลังจากตรวจเสร็จภายใน 1 เดือน ทางโรงพยาบาลจะแจ้งผลการตรวจให้ทราบ โดยบันทึกรายละเอียดไว้ในสมุดตรวจสุขภาพประจำปีของแต่ละคน   ส่วนใหญ่คนที่อายุเกิน 40 ปี จะเป็นพวกที่อยู่ในภาวะมีความเสี่ยงการเกิดภาวะผิดปกติต่าง ๆ เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง (โคเลสเตอรอล) ความดันโลหิตสูง สายตายาว  ฯลฯ  ซึ่งอายุคนใน กศน.สุรินทร์ ก็เฉลี่ยแล้วเกิน 40 ปีเป็นส่วนใหญ่  ระหว่างรอผลการตรวจ ก็จะพากันลุ้นว่า ปีนี้เราจะเป็นอย่างไรบ้าง บ้างก็ว่าปีนี้กินของมีมันมากสงสัยไขมันเกาะเพียบ  หรือบางคนก็ว่าปีนี้ปฏิบัติตัวดีออกกำลังกายมาก คงจะไม่มีอะไรน่ากลัว บ้างก็ว่าปีนี้กินสมุนไพรลดไขมันได้เยอะ    

            มีการบริการตรวจสุขภาพแบบนี้เป็นสิ่งที่ดีมาก ๆ  ทำให้หลายคนตื่นตัวที่จะดูแลรักษาสุขภาพมากขี้น   ดิฉันจำได้ว่าเมื่อมีการตรวจสุขภาพปีแรก  ๆ คนที่มีเรือนร่างกระทัดรัด บอบบาง แต่เมื่อผลการตรวจเลือดพบว่า มีไขมันในเลือดสูง เกินระดับปกติมากกก สร้างความตกอกตกใจให้เจ้าตัวและเพื่อนร่วมงาน  สอบถามจึงได้ข้อมูลว่าเจ้าตัวนั้นโปรดปรานของทอด ของมัน มาก เช่น ขาหมูพะโล้จะเลือกกินแต่หนัง  และเป็นขาประจำร้านไก่ทอดชื่อฝรั่ง เมื่อเป็นเช่นนั้น เธอก็ไม่เข้าร้านที่ว่าอีกเลย  ผู้รู้บอกว่ารูปร่างหรือน้ำหนักตัว ไม่ได้เป็นดัชนีชี้วัดปริมาณไขมัน หากแต่เป็นที่วิถีการบริโภคต่างหาก  ทำนอง you are what you eat แต่เชื่อไหม๊ยังมีบางคนไม่ยอมตรวจสุขภาพ ไม่ว่าจะกี่ปีก็ไม่ยินยอมให้หมอเอาอะไรมาจิ้มหรือสัมผัสตัว  จนดิฉันอดสงสัยไม่ได้  จึงได้ถามตรง ๆ ว่าทำไมไม่ยอมตรวจสุขภาพ (เป็นคนคุ้นเคยกัน)  แกตอบว่า พูดตรง ๆ แบบไม่อายก็คือ กลัว ถามว่า กลัวอะไร แกบอก กลัวว่าตรวจแล้วเจอว่าเป็นโรคนั้น โรคนี้ ทำใจไม่ได้    ดิฉันไม่ลดละ รุกต่อว่า  เจอแต่เนิ่น ๆ ไม่ดีเหรอ จะได้รีบรักษา หรือหาทางแก้ไขได้ทัน   ไม่เอา ยังไงก็ทำใจไม่ได้ที่ต้องรู้ว่าตัวเองเป็นโรคนั้นโรคนี้  หากจะเป็นจริงตอนอาการปรากฏแล้วก็ให้หมอรักษา แต่อย่าให้รู้ก่อน ยังไงก็ไม่ตรวจ ถ้าราชการไม่บังคับ  แกตอบฉะฉาน  ดิฉันหมดคำถาม (ยังกะทนายในศาล)   ได้แต่เก็บเอาความงุนงง สงสัยกับความคิดของเพื่อนคนนี้ไว้  แต่เอาเถอะเราไม่ละเมิดกันอยู่แล้ว ไม่ตรวจก็ไม่ตรวจ แต่สำหรับดิฉันเองคงไม่มีวันคิดอย่างนั้นแน่นอน  กันไว้ดีกว่าแก้ แย่แล้วจะแก้ไม่ทัน โบราณท่านว่าไว้

หมายเลขบันทึก: 137577เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2007 20:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 13:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

คนที่กลัวเกินไป จนทำให้ชีวิตอยู่ในความประมาท ไม่ยอมตรวจสุขภาพ นับว่าเพิ่มความเสี่ยงแก่ชีวิตนะครับ แต่ช่างเขาเถอะเรื่องของใครของมันครับ ผอ.อ๊อดคิดถูกแล้วกันไว้ดีกว่าแก้ ครับ

สวัสดีค่ะ คนที่ยอมอยู่ในความกลัว ความสงสัยว่าตัวเองจะเป็นโรคอะไรหรือเปล่าตลอดเวลา แทนที่จะให้รู้ไปเลยจะได้ใช้ความรู้มาปรับปรุงการดำเนินชีวิต อยู่อย่างมีคุณภาพ อย่างนี้มีเยอะค่ะ แสดงว่าขนาดเป็นคนมีการศึกษาก็ไม่ได้แปลว่าจะมีเหตุผล หรือใช้ความรู้ในการดำเนินชีวิต ปล่อยชีวิตไปตามความรู้สึก คงต้องปล่อยเขาไปนะคะ

ดีใจที่คุณครูอ๊อดสนใจดูแลสุขภาพของตนเองค่ะ ของอย่างนี้ทำแทนกันไม่ได้

ผอ.สำโรงทาบ มาจากเขวาฯ

ยัยคุณนาย ผลตรวจเราออกมาแล้วละ ปีนี้มีโรคเพิ่มแถมมา 1 คือพยาธิๆๆๆ วันรู้ผลแข่งกันดูใหญ่เลย ว่าใครเป็นอะไรบ้าง จะได้ปรับปรุงเรื่องอาหารการกินแต่เนิ่นๆ ปรากฎว่าเราต้องงดของคาวๆๆๆสดๆๆๆ ฮิๆๆๆๆ

แค่นี้ก่อนนะ

ผอ.เขวาฯ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท