ชีวิตต้องสู้...คนกับควายทำนาประสาคน-คนกับควายทำนาประสาควาย


ชีวิตต้องสู้คนกับควายทำนาประสาคน-คนกับควายทำนาประสาควาย

ชีวิตต้องสู้...ควายไทยหนุนเศรษฐกิจพอเพียงเลี้ยงเกษตรกร เศรษฐกิจทุนนิยม (capitalism) อยู่ได้ด้วยการส่งเสริมความโลภของประชาชน นายทุนแข่งขันการผลิตโดยมุ่งกำไรสูงสุด และมักไม่คำนึงถึงการทำลายสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และการอยู่รอดของคนยากจน ยุคโลกาภิวัตน์ (globalization) คือ วิธีการล่าอาณานิคมแบบใหม่ของมหาอำนาจหน้าเดิม แต่ใช้อาวุธที่ร้ายแรงมากขึ้น ได้แก่ เงิน และความโลภของเถ้าแก่ท้องถิ่น โดยร่วมกันใช้เทคโนโลยี การเมือง การเงิน ตลาดหุ้น ฯลฯ เพื่อครอบครองเศรษฐกิจของประเทศที่อ่อนแอกว่า โดยอาศัยหลักการที่ฟังแล้วงดงามด้านคุณธรรม อาทิ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียมเสมอภาค การอนุรักษ์และพัฒนา การค้าเสรีไร้พรมแดน และข้อตกลงแบบชนะทั้งคู่ (win-win agreement) เช่น FTA , WTO เป็นต้น               

 ประเทศเล็กที่อ่อนแอ ทันสมัยแต่ด้อยพัฒนาเช่นประเทศไทย ก็ย่อมตกเป็นเหยื่อเป็นธรรมดา เพราะอยากก้าวหน้าเร็ว หลงอยากใช้คำว่า การแข่งขันตามที่นายทุนและนักเศรษฐศาสตร์ในประเทศมหาอำนาจเขาบอก เราหลวมตัวเชื่อเขามาจนสายมาก จนหมดเนื้อหมดตัว ป่าไม้สักก็หมด แร่ดีบุกก็หมด ป่าไม้ชายเลนก็หมด ผืนดินอันอุดมสมบูรณ์ก็ร่อยหรอ ตัดแผ่นดินขายให้คนต่างชาติอยู่เรื่อยๆ ด้วยกลวิธีต่างๆ ร้านโชห่วยก็เจ๊งเพราะซูเปอร์สโตร์รุกราน

ใครล่ะที่ปล่อยให้หมาป่าเข้ามากินลูกแกะ ? !  ความโลภที่ครอบงำจิตใจเถ้าแก่ จึงทำให้คิดหาหนทางรวยด้วยวิธีการใดๆ ก็ได้ คนไทยจึงยิ่งเดือดร้อนกันมากขึ้น ทั้งทางด้านการทำมาหากิน ทางเศรษฐกิจ ทางสังคม วัฒนธรรม ฯลฯ ดูเผินๆ ว่าประเทศไทยทันสมัย แต่จริงๆ แล้ว ด้อยพัฒนาลงทุกวัน โดยเฉพาะความเสื่อมทรามด้านคุณธรรมของประชาชน เพราะคนไทยยกย่องว่า เงินคือความดี               

 ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (ศกพ.) คือ ทางรอดของคนไทย คนไทยต้องคิดใหม่ ทำใหม่ อย่างจริงจัง คำถามมีว่า คนไทยคิดเป็นไหม ? คนไทยคิดเป็นแน่ แต่ไม่ค่อยได้คิด เพราะกิเลส คือ เงิน วัตถุ ฯลฯ อันรวมความว่า ความโลภเข้าครอบงำจนกลายเป็นคนที่ได้แต่ กิน ขี้ ปี้ นอนไปวันๆ   นี่คือเหยื่อของลัทธิทุนนิยม วัตถุนิยม หรือบริโภคนิยม ลัทธินี้จะรุ่งเรืองได้ก็ด้วยการยุให้คนเกิดความโลภมากๆ บริโภคมากๆ ซื้อของนอกแพงๆ ยอมก่อหนี้สินล้นพ้นตัว ขายตัว มั่วตัณหา ฯลฯ               

ปรัชญา ศกพ. เริ่มต้นด้วยการสอนให้คนรู้จักคิด คิดเรื่อง ความพอเพียง อันต้องใช้ธรรมะบริหารจัดการกับกิเลส คิดถึงทางสายกลาง อันหมายถึงหนทางที่สามารถกำจัดความทุกข์ ความโลภ ความหลง ของคน เรามาลองถอยหลังเข้าคลอง ไปพิจารณาบทบาทของควายไทยในระบบเกษตรกันอีกสักครั้งจะดีไหม   คนกรุงมักมองว่าควายโง่ เพระคนกรุงขาดความรู้ความเข้าใจที่แท้จริงเกี่ยวกับควาย คนที่ไม่รู้เขาเรียกว่าคนโง่ คนกับควายจึงฉลาดพอๆ กัน ถ้าหากไม่สนใจเรียนรู้กันและกัน แต่เดิมคนไทยเลี้ยงควายไว้ไถนาควายจึงเปรียบเสมือนเพื่อนคู่ทุกข์คู่ยาก ควายก็เหมือนคนในครอบครัวมีชื่อเสียงเรียงนาม ยามทุกข์เกิดอุทกภัย (น้ำท่วม) ข้าวเสียหาย ก็เหลือควายเป็นทรัพย์สินที่แปลงเป็นทุนได้ ควายจึงเป็นหลักประกันความมั่นคงของระบบเกษตร เรียกว่า  ภูมิคุ้มกัน ตามหลักการ ศกพ. เพราะควายช่วยบรรเทาความเสี่ยงที่เกิดจากความเสียหายของพืชผล   ควายกินหญ้ากินฟาง ไม่ต้องใช้เงินซื้ออาหารถุงมาเลี้ยง ควายจึงเป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับระบบไร่นาไทย เกษตรกรมีพื้นที่เพาะปลูกครอบครัวละ 10-20 ไร่ ก็พอเพียงกับการทำมาหากิน ใช้ควายไถนาสองสามตัวก็พอดีกับงาน พอครบปี ควายก็ออกลูกตัวใหม่ให้ เด็กๆ ก็ได้เล่นกับควายเป็นเพื่อนกับควาย ทั้งคนและควายก็เกิดความรักความผูกพัน มีชีวิตที่เป็นสุข มีความสุขตามอัตภาพ คือตามฐานะความเป็นอยู่ของครัวเรือน อันอาจไม่เหมือนคนกรุง   คนกรุงถือตัวว่าเป็นผู้เจริญ มีความรู้ทางตำรา แต่ไม่รู้เรื่องชาวบ้าน เรียกชาวบ้านว่า คนระดับรากหญ้า คือพูดตามฝรั่งที่สอนเขามา นักวิชาการส่วนมากขาดความรู้ความเข้าใจที่แท้จริงเรื่องชาวบ้าน  แต่ถือตัวว่ามีปริญญาและอำนาจทางราชการ จึงมักคิดเปลี่ยนแปลงความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ตามแบบที่ครูฝรั่งสอนมา แต่ครูฝรั่งเขาสอนความรู้จากสังคมที่แตกต่างกัน นักวิชาการไทยไม่ทันได้คิด คาบเอามาทั้งดุ้นจึงเอาความรู้ของฝรั่งมาใช้กับสังคมไทยโดยขาดความรู้เท่าทัน ขาดความรอบรู้ ซึ่งจัดว่าขัดกับหลักปรัชญา ศกพ. ลูกศิษย์ฝรั่งที่ไปเรียนมาจากเมืองนอกเมืองนา กลับบ้าน (ประเทศไทย) แล้ว ควรได้ศึกษาทำความเข้าใจเรื่องคนไทยเสียก่อน ด็อกเตอร์ทางเกษตรควรศึกษาการเกษตร และเกษตรกรไทยในสาขาที่ตนรับผิดชอบให้เข้าใจ อย่าถือว่าตนเองเก่งเพราะเรียนจบด็อกเตอร์รู้หมดแล้ว จะทำให้พลาดพลั้ง กลายเป็นนักเทคนึก สร้างความทุกข์ให้ชาวบ้าน เพราะใช้เทคนิคไม่เหมาะสม                                                         

ปรัชญา ศกพ. เน้นการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม (appropriate technology) ใช้หลักการทางสายกลาง คือรู้ทั้งภูมิปัญญาไทย และวิชาการสากล แล้วกำหนดเป็นขั้นตอนได้ว่า จะปรับปรุงภูมิปัญญาไทยให้ดีขึ้นเพียงใด ในช่วงเวลาใด และคนคือเกษตรกรจะได้รับผลดีเพียงใดจึงจะเหมาะสม ไม่ใช่ทำครั้งเดียวได้ผลสูงสุด เป็นแช็มป์ เป็นสุดยอด เป็นเสือ เป็นจิงโจ้ ฯลฯ อันเป็นความคิดที่ขัดกับหลัก ศกพ. หลักการ ศกพ. ให้ความสำคัญแก่คน และความสุขของคนและชุมชน จึงเน้น ความพอเพียง ได้แก่ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกัน ไม่ได้เน้นความโลภ คือ ให้ได้เงินมากที่สุด ได้กำไรสูงสุด ปรัชญา ศกพ. จึงเน้นที่ GDH (Gross Domestic Happiness) หรือความผาสุก ไม่ใช่ GDP (Gross Domestic Product) หรือเงินในธนาคารเท่านั้น   คนมีเงินมาก ไม่ได้หมายความว่ามีความสุขมาก คนมีเงินน้อยอาจมีความสุขมากกว่าก็ได้ เพราะมีความพอดี พอเพียง ไม่โลภ ไม่เครียด ไม่เบียดเบียนสังคม ไม่ทำลายธรรมชาติ อาทิ ป่าไม้ ดิน น้ำ อันเป็นมรดกของลูกหลาน   คนที่รู้จักชาวบ้านและการเกษตรไทย ย่อมเข้าใจได้อย่างซาบซึ้งว่า ควายไม่ใช่เป็นเพียงสัตว์เศรษฐกิจ แต่ยังเป็นสัตว์สังคม วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของชาวบ้าน เป็นทั้งทรัพย์อันล้ำค่า เป็นเงินทองสะสมระยะยาว เป็นมรดกให้ลูกหลาน เป็นหลักประกันของครอบครัวในยามยาก เป็นเพื่อนคู่ทุกข์คู่สุข เป็นแรงงาน เป็นรถไถที่ไม่กินน้ำมัน เป็นโรงปุ๋ย เป็นโรงงานเปลี่ยนฟางเป็นทอง เป็นหลักประกันความยั่งยืน (sustainability) ของวิถีชีวิตและระบบเกษตรดั้งเดิมของไทย เป็นสัตว์แห่งประวัติศาสตร์ไทยที่คนไทยไม่ควรลืมเป็นอันขาด ขอให้นึกถึงวิญญาณของนายจันหนวดเขี้ยว นายทองเหม็น ฯลฯ และเหล่าบรรพวีรชนไทย ผู้ที่สังเวยชีวิตร่วมกับควายในการสร้างวีรกรรมปกป้องบ้านบางระจัน         

การพัฒนาประเทศโดยยึดหลัก ศกพ. จึงไม่ควรลืมบทบาทของควายเป็นอันขาด และไม่ควรมองแต่เรื่องหาเงินและจีดีพีเพียงอย่างเดียว เพราะชีวิตคนไทยในหมู่บ้านนั้นร่มเย็นเป็นสุขได้ เพราะการรู้จักพอเพียง พึ่งพาตนเองได้ ได้อยู่ท่ามกลางสภาวะแวดล้อมที่ดี มีความเอื้ออาทรในชุมชน มีความมั่นใจว่ามีอาหารกินทุกมื้อ และมองเห็นเจ้าทุยและลูกหลานของมันนอนอยู่ใต้ถุนบ้านทุกค่ำเช้า น้ำมันมีราคาแพงอาจถึงลิตรละ 50 บาท ในไม่ช้า จงถอยหลังเข้าคลองมาเลี้ยงควายไว้ไถนากันเถอะ เพราะควายคือเทคโนโลยีตามกรอบของ ศกพ. อย่างหนึ่งแน่นอน วิกฤตการณ์น้ำมันแพง จงแปลงควายเป็นรถไถกันอีกครั้งเถิด !! ลองมาคิดใหม่ ทำใหม่ อย่างจริงจัง น้ำมันขาดแคลน คุยกับแฟนก็ต้องดับไฟเพลงลูกทุ่งนี้เข้าลักษณะที่เรียกว่า การแปลงวิกฤตเป็นการฉวยโอกาส ผู้เขียนขอเสนอนิทานอีสป (ดน) อีกเรื่องก็แล้วกัน จะได้เห็นว่าเวลาเจอวิกฤต ถ้ารู้จักคิด ก็อาจอยู่รอดได้

เจอวิกฤต รู้จักคิด ก็อาจรอดณ กาลครั้งหนึ่ง ราวเดือนกรกฎาคม 2540 นี้เองประเทศไทยเข้าสู่ยุคล่มสลาย เพราะความอยากเป็นเสือเศรษฐกิจนายธนารัก นักธุรกิจพันล้าน ก็พลันกลายเป็น คนเคยรวยเพราะกู้เงินญี่ปุ่นมาสองพันล้านดอลลาร์ ยังไม่ทันข้ามเดือน เงินกู้ 1 ดอลลาร์ ก็มีค่าต้องใช้คืนเป็นสองเท่า เพราะค่าเงินบาทตกต่ำคนเคยรวย เลยตัดสินใจไปกระโดดตึกตายเพื่อหนีหนี้เขาขึ้นไปบนตึกสูง ปีนหน้าต่างออกไป พร้อมที่จะกระโดด ทันใดนั้น เขามองลงไปข้างล่าง เห็นคนแขนด้วนสองข้าง กำลังกระโดดโลดเต้นอย่างสนุกสนานอยู่ที่สนามหญ้าข้างล่างพลันสติเขาก็กลับคืนมา ได้พบสัจธรรมชีวิตว่า แม้คนแขนด้วนสองข้างก็ยังไม่คิดฆ่าตัวตาย ยังมีความสุขในชีวิตได้ แล้วตัวเองที่มีร่างกายและสมองที่สมบูรณ์ทุกอย่าง จะคิดสั้นทำไมกันเขาคิดถึงบ้านและเมียอีกสี่คน ล้วนแล้วแต่สวยสดงดงามปานนางงามจักรวาล …. เขาเลยลงลิฟท์มาหาคนแขนด้วน เพื่อจะขอบคุณที่ช่วยให้เขาคิดได้เขาเดินไปหาคนแขนด้วนที่สนามหญ้า คนแขนด้วนยังเต้นสามช่าอยู่เหยงๆ ราวกับไส้เดือนโดนขี้เถ้า (?) หรือวัยโจ๋เป็นสันนิบาตคุณเต้นหนุกจัง มีความสุขอะไรหรือคนเคยรวยเอ่ยถามคนแขนด้วนมองหน้าคนเคยรวย แล้วตอบว่าเปล่าหนุกคับ มดแดงมันกัดไข่ผม ผมเลยต้องเต้นไล่มดนิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า แม้แต่คนแขนด้วนที่ถูกมดกัดไข่ก็ยังไม่คิดฆ่าตัวตายเลย ฉะนั้นตราบใดที่เรายังมีลมหายใจก็ต้องเต้นกันต่อไป”                                                       

                                                        จรัล  จันทลักขณา

สะแกกรัง... 

หมายเลขบันทึก: 137302เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2007 08:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2012 15:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท