พุทธศาสตร์สาธารณสุข


การดูแลสุขภาพตามวิถีพุทธ

พุทธศาสตร์สาธารณสุข

 ในแวดวงคนทำงานด้านการแพทย์หรือทางการสาธารณสุขแล้ว  ย่อมไม่มีใครไม่เคยได้ยินคำว่า   องค์รวม.  คำ ๆ นี้ผู้เขียนจำได้ว่าเคยได้ยินครั้งแรกสมัยเรียนหนังสือเมื่อประมาณปี 2536   ซึ่งเป็นวิชาสังคมศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุข  ซึ่งพวกเราเหล่านักศึกษามักจะเรียกวิชานี้ว่า  วิชาหมอผี   เพราะอาจารย์ที่มาบรรยายแต่ละท่านจะนำองค์ความรู้ด้านสังคมศาสตร์ที่เกี่ยวเนื่องกับการดูแลสุขภาพของชาวบ้าน ซึ่งแน่นอน ย่อมไม่พ้น เรื่อง  หมอมด  หมอผี หมอแหก  หมอเป่า  และอีกสารพัดหมอ  มาบรรยายให้พวกเราฟัง   แต่สิ่งที่น่าจะเป็นข้อสรุปของวิชาสังคมศาสตร์การแพทย์ตามความรู้สึกของผู้เขียนในสมัยนั้น ก็คือว่า   สังคมวิทยาการแพทย์ได้เพิ่มมิติของการดูแลสภาวะด้านจิตวิญญาณ (Spiritual)  เข้ามา   ซึ่งต่างจากมุมมองด้านการแพทย์และสาธารณสุขเดิม ๆ หรือที่เราเรียกว่าการแพทย์ตะวันตกนั้น มักจะดูและมิติทางกายเป็นหลัก ( แม้จะมีเรื่องของจิตใจอยู่ด้วย  แต่มักจะเป็นเรื่องโรคจิตประสาท หรือจิตเวชมากกว่า)  การดูแลสุขภาพทุกมิติหรือที่เรียกว่า การดูและสุขภาพแบบองค์รวม   จึงเป็นแนวคิดและวิธีการที่มองมนุษย์เป็นคนเต็มคน  ที่ประกอบไปด้วยกายและจิตใจ   ซึ่งการมองกายคนเต็มคนนั้น  ในฐานะที่เราเป็นชาวพุทธ  หลักการมองคนแบบเต็มคนนั้น  พระพุทธองค์  ท่านได้จำแนกแยกแยะคนออกเป็นองค์ประกอบย่อยถึง 5 ส่วน   หรือ 5 ขันธ์    คือ  รูปขันธ์  เวทนาขันธ์  สัญญาขันธ์   สังขารขันธ์  และวิญญาณขันธ์  ( ท่านที่สนใจลองหาความหมายในหนังสือธรรมทั่วไป )  โดยในส่วนที่เป็นด้านกายหรือรูปธรรมนั้น ท่านจัดเป็น  รูปขันธ์ทั้งหมด  ส่วนอีก 4 ขันธ์ที่เหลือ ท่านจัดไว้เป็นส่วนด้านจิตใจหรือนามธรรม   นี่ย่อมแสดงให้เห็นว่าศาสตร์การดูแลคนครบทั้งคนนั้น   พุทธองค์ท่านได้ทรงสั่งสอนมาก่อนการแพทย์ตะวันตก กว่า 2600 ปีมาแล้ว   และพิสูจน์ให้พวกเราได้เห็นว่าสัจธรรมที่พระองค์ค้นพบและนำมาเปิดเผยนั้น  สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ไม่จำกัดเวลา    หากเรามองดูเป้าหมายอันสูงสุดของพุทธศาสนาแล้ว  คือการถึงที่สุดแห่งทุกข์  หรือ นิพพาน  อันถือว่าเป็นสภาวะความสมบูรณ์แห่งจิต   ที่หลุดจากเครื่องร้อยรัดทั้งหลายนั่นคือกิเลสนั่นเอง บุคคลที่ถึงสภาวะสมบูรณ์ของจิตนั้นเรียกว่าพระอรหันต์    พระพุทธองค์ท่านได้ทรงยังได้ทรงสอนวิธีปฏิบัติให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ก็คือ  มรรค  อันมีองค์ 8   พระพุทธองค์ท่านได้มองความทุกข์ของคนอยู่ที่สภาวะจิตเป็นหลัก  จนถึงกับมีพุทธพจน์ว่า   คนเรานั้นไม่ป่วยทางกายเลยนับ 10 ปี ก็มี 20 ปีก็มี ร้อยปีก็มี  แต่คนไม่ป่วยทางใจเลยนั้นไม่มี  ยกเว้นเพียงพระอรหันต์เท่านั้น

                ที่ผู้เขียนได้กล่าวชักแม่น้ำทั้ง 5 ขึ้นมา ก็เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า  หากคนทำงานแวดวงการแพทย์และสาธารณสุข  ที่พยายามโปรโมต การดูและสุขภาพแบบองค์รวม  ยังไม่มีความเข้าใจเนื้อแท้ของพระพุทธศาสนาเราก็จะพยายามลากจูงแนวความคิดที่เป็นองค์รวมนี้ไปตามพวกตะวันตกเหมือนในอดีตที่ผ่านมา  ซึ่งของเขาเรียกว่า holistic care  ในขณะที่กระแสของทางตะวันตกเองนั้น  กำลังหันมาเร่งศึกษาองค์ความรู้การดูและคนครบทั้งคนจากตะวันออก  โดยเฉพาะปรัชญาของเราชาวพุทธ เองด้วยซ้ำไป  

            วงการแพทย์และสาธารณสุข  เราตามก้นฝรั่งมานาน  ฝรั่งเขามีการประยุกต์ความรู้ด้านอื่น ๆ เข้ามากับการแพทย์และสาธารณสุขและเรียกศาสตร์เหล่านี้  ซึ่งก็มีการนำมาสอนในบ้านเรา  เช่น       สังคมศาสตร์การแพทย์      วิทยาศาสตร์การแพทย์     จิตวิทยาการแพทย์     นิติเวชศาสตร์      เศรษฐศาตร์สาธารณสุข   บริหารสาธารณสุข เป็นต้น  แต่ที่แน่ ๆ  การแพทย์ตะวันตกไม่มี วิชา   พุทธศาสตร์สาธารณสุข   แน่นอน                ดังนั้นจึงอยากเชิญชวนนักการแพทย์และสาธารณสุข  ได้หันมาศึกษาเข้าใจพุทธศาสนาของเราอย่างถ่องแท้  เข้าใจถึงอะไรคือทุกข์   อะไรคือทีมาของทุกข์  อะไรคือ ที่สุดแห่งทุกข์ และทำอย่างไรให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์   ให้เห็นชีวิตทั้งชีวิต  และนำมาประพฤติปฏิบัติ  แล้วเราจะได้ดูแลคนครบทั้งคนได้อย่างสมบูรณ์แบบ   ศาสตร์แห่งการดูและสุขภาพแบบคนเต็มคนจึงน่าจะเรียกว่าเป็น    พุทธศาสตร์สาธารณสุข    และหากเราได้ศึกษาเข้าใจให้ถ่องแท้แล้ว คำสอนของพระพุทธองค์สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการดูแลคนครบคน  ได้ทุกเรื่อง  เช่นหลักของพรมวิหาร  ที่สอนให้เรา  มีความเมตตา  กรุณา มุทิตา  อุเบกขา    เป็นต้น โดยไม่จำเป็นต้องสนใจทฤษฏี  ของฝรั่งอย่าง  Service Mind หรือ  Best Practice   ด้วยซ้ำไป     

หมายเลขบันทึก: 137218เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2007 22:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 19:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

    อ่านข้อเขียนของคุณแล้วบอกถึงจิตวิญญาณของเด็ก สคม. เด๊ะเลย  ดิฉันก็เป็นเด็ก สคม. เหมือนกัน อยู่วงการสา'สุขเหมือนกัน น่าจะรุ่นไล่เลี่ยกันด้วยนะ แต่นึกไม่ออก ไม่เป็นไรถือว่าได้เจอกันแล้ว

   ตั้งแต่จบมาก็หาทางอยู่ตลอดเวลานะคะที่จะผนวกสิ่งที่คุณว่าเข้าไปกับงาน  ยิ่งทำงานด้านจิตใจด้วย โจทย์ยากมากเวลาจะแปลงให้เป็นรูปธรรมสำหรับคนที่ยืนบนหลักในวิทยาศาสตร์จ๋า แต่จิตใต้สำนึกเป็นแบบเอเชียไง

   แล้วสิ่งที่ทำได้ ณ ปัจจุบันคือ นำเสนอแทรกเข้าไปในข้อเขียนต่างๆ  แบบบูรณาการ ซึ่งก็แล้วแต่เรื่องว่าจะเป็นแบบไหน   แล้วก็มักเจอทางตันเวลาที่ต้องเขียนแหล่งอ้างอิง จนน้องๆ ที่ทำงานด้วยกันต้องบอกว่าสงสัยต้องอาศัยบารมีทางวิชาการที่สะสมมานานแล้วมั๊ง เช่น ตัวเลขห้อยท้ายตำแหน่ง เขาถึงจะเชื่อ ฮ่าฮ่า..

      สิ่งหนึ่งที่ได้เรียนรู้มาก็คือ เราต้องมีประสบการณ์ตรงเราจึงจะสื่อให้คนอื่นเข้าใจได้  ซึ่งประสบการณ์ที่ว่าต้องไม่ใช่แค่การคิดได้  แต่ต้องรับรู้และรู้สึกได้กับสิ่งที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการเห็นทุกข์ ทำความเข้าใจทุกข์และจัดการกับทุกข์โดยใช้ปัญญา

    อ้อ...ลืมอีกอย่าง  กรุณาให้ความเห็นเรื่องการใช้หลักศาสนาในการช่วยเหลือทางจิตใจกับคนมีปัญหาสุขภาพจิต แต่ขี้เกียจหน่อยสิคะ  (พวกชอบของสำเร็จรูปน่ะ)

 

ขอขอบคุณมากครับ ที่ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณสกุลรัตน์ นับว่าหนทางสายนี้มิได้เปล่าเปลี่ยวเดียวดายจริง ๆ ถือว่าเป็นกัลยาณมิตรร่วมอุดมการณ์เดียวกันนะครับ ผมเห็นด้วยครับกับกรณีที่คุณสกุลรัตน์พยายามที่จะสอดแทรกเนื้อหาต่าง ๆ เข้าไปในงานที่ทำ และก็ยากจริง ๆที่จะชักชวนชี้นำให้หลายคนได้เข้าใจ คุณสกุลรัตน์ย้ำ โดยเฉพาะคนที่ยึดถือแนววิทยาศาตร์จ๋าแต่หัวใจเอเชีย

ผมขอร่วมแสดงความคิดเห็นและให้รายละเอียดเพิ่มเติมกรณีที่คุณสกุลรัตน์ได้ขอแนวคิดไว้เป็นคำตอบเดียวกันครับ

โดยหลักของศาสนาพุทธแล้ว การจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทั้งหลายอันเนื่องจาก อวิชชา นั้น ท่านก็ได้วางหลักไว้โดยชัดเจน ตามวิถีทางแห่งการหลุดพ้น หรือ มรรคาทั้ง 8 นั่นเอง โดยลำดับแรกอริยมรรค คือ สัมมาทิฏฐิ หรือ ความเห็นชอบ ซึ่งเป็นองค์ประกอบด้านปัญญา อะไรคือความเห็นชอบ หากเรามองพวกฝรั่งเขาจะสอนเรื่อง Paradigm Shift มีคนไทยเขาแปลว่าการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ ต้องเปลี่ยนความคิด แค่ไม่ได้บอกต้องเปลี่ยนอย่างไร ในขณะที่พุทธศาสนาสอนว่าต้องเปลี่ยนจากมิจฉาทิฏฐิ เป็นสัมมาทิฏฐิ จากความเห็นผิด เป็นความเห็นชอบ ซึ่งมีองค์ประกอบที่เป็นเหตุปัจจัยของการเปลี่ยนแปลง 2 องค์ประกอบ คือ ปรโตโฆสะ และ โยนิโสมนสิการ ( ลองหารายละเอียด จากหนังสือพุทธธรรม ของท่าน ป.. ปยุตโต เพิ่มเติมครับ )

ปรโตโฆสะ หมายถึงการได้สดับฟัง จากกัลยาณมิตร อาจเป็นการถ่ายทอด ชี้แนะ ชักนำ ชี้ให้เห็นจนเกิดความประจักษ์แจ้ง หรือการเรียนรู้จากผู้อื่น ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยภายนอก ในขณะที่ โยนิโสมนสิการ หมายถึง การคิดพิจารณาโดยแยบคาย ( ขบให้แตก ) อันถือเป็นปัจจัยภายใน ทั้งสององค์ประกอบย่อมสนับสนุนซึ่งกันและกัน คนธรรมดาสามัญที่ปัญญายังไม่แก่กล้า ย่อมอาศัยการชี้แนะจากผู้อื่น จนพัฒนากระบวนการคิดด้วยตนเองจนก้าวหน้าไปในที่สุด

 

หากเราทำหน้าที่เพื่อพัฒนาคนอื่น เราก็ทำหน้าที่อย่างกัลยาณมิตร ที่คอยชักชวน ชี้แนะ ให้รายละเอียดข้อมูล จนเขาสามารถนำไปขบคิดพิจารณา

เห็นแจ้งด้วยตนเอง และก็เป็นคำตอบ ( ที่ไม่สำเร็จรูป ) ว่าสำหรับคนขี้เกียจนั้น หากเขามีสัมมาทิฏฐิ แล้ว สัมมาวายามะ หรือ ความเพียร ย่อมเกิดขึ้นได้แน่นอน

 

ยินดีที่ได้รู้จักครับ

บันทึกน่าอ่านครับ

ตามมาอ่านความคิด ...และร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในโอกาสต่อๆไปครับ

ให้กำลังใจในการเขียนบันทึกดีๆครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท