การผลิตผึ้งนางพญา


มารู้จักขั้นตอนการผลิตผึ้งนางพญากัน
การผลิตผึ้งนางพญาพรหมจรรย์

                 การผลิตผึ้งนางพญาจากถ้วยพลาสติกและถ้วยไขผึ้ง สิ่งสำคัญที่ผู้เพาะเลี้ยงหรือผู้สนใจที่จะทำการเพาะหรือผลิตผึ้งนางพญาจะต้องมีคือ ความรู้และประสบการณ์ ความรู้ในที่นี้คือ การศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่จะทำเช่นศึกษาเกี่ยวกับชีววิทยาของผึ้ง และขั้นตอนการทำต่างๆ  ประสบการณ์นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญไม่น้อยกว่าความรู้ประสบการณ์นั้นจะช่วยให้การทำงานราบรื่นยิ่งกว่าเดิม

             การผลิตผึ้งนางพญาจากถ้วยพลาสติกและถ้วยไขผึ้งนั้นก็เพื่อ เปรียบเทียบดูว่าผึ้งนางพญาที่ได้จากถ้วยพลาสติกหรือไขผึ้งอย่างไหนดีกว่ากัน ในด้านรูปร่างสัณฐานรวมไปถึงการทำหน้าที่หลักๆ เช่นการวางไข่ การจัดการรัง และอื่นๆ
มารู้จักเกี่ยวกับวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ผลิตผึ้งนางพญาพรหมจรรย์
  1. ถ้วยพลาสติกและถ้วยไขผึ้ง
  2. เข็มเขี่ย
  3. บาร์ไม้
  4. กล่องกักขังนางพญา
  5. แปรงปัดผึ้ง
  6. รอยัล เจลลี่(Royall jelly)
  7. กล่องเลี้ยงผึ้ง
ขั้นตอนการทำ
      วัสดุอุปกรณ์นั้นบางอย่างต้องสั่งทำและสั่งซื้อ  ถ้วยพลาสติกนั้นเราจะสั่งซื้อส่วนถ้วยไขผึ้งนั้นเราสามารถที่จะผลิตขึ้นมาเองได้ ขั้นตอนการผลิตถ้วยไขผึ้งนั้นก็ไม่ง่ายและไม่ยากมากนัก  เริ่มแรกต้องทำการทำแม่พิมพ์ของหลอดผึ้งนางพญา โดยการเหลาไม้สอดเข้าไปในหลอดรวงผึ้งนางพญาจากธรรมชาติแม่พิมพ์ที่ได้ต้องเหลาให้เกลี้ยงไม่มีเสี้ยน หลังจากได้แม่พิมพ์หลอดรวงผึ้งนางพญาแล้วทำการต้มไขผึ้งให้ละลายซึ่งอุณหภูมิต้องไม่ร้อนเย็นเกินไป(ในขณะเดียวกันต้องใส่น้ำลงไปด้วย) เพราะจะทำให้ไขไม่ติดหรือติดไม้แม่พิมพ์ยากเกินไป
        กล่องกักขังนางพญาที่ใช้มีความพิเศษในด้านการที่เราสามารถมองเห็นผึ้งนางพญาที่อยู่ข้างในกล่องได้  เพราะว่าใช้กระจกใสติดกับกล่องกักขัง เราสามารถใช้ในกรณีที่จะศึกษาถึงรูปร่างสัณฐานของผึ้งนางพญาได้
ขั้นตอนการตักตัวหนอน
        เริ่มแรกต้องทำการเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม และจัดทำตารางวงชีวิตของผึ้งนางพญาตั้งแต่ไข่จนถึงการออกจากหลอดรวง (อายุประมาณ 16 วัน) ก่อนซึ่งตารางที่ทำขึ้นจะช่วยทำให้การปฏิบัติงานนั้นมีความแม่นยำขึ้น  ขั้นตอนต่างๆ มีดังนี้
  1. การเตรียมรังที่จะเลี้ยง
รังที่จะเพาะเลี้ยงนั้นต้องเป็นรังที่แข็ง หมายความว่ารังนั้น ต้องมีจำนวนผึ้งงาน เกสรดอกไม้ น้ำหวานนหรืออาหารที่มากพอไม่เช่นนั้นผึ้งที่ทำการแยกและฝากเลี้ยงผึ้งนางพญาอาจจะได้หลอดนางพญาที่ไม่สมบูรณ์ก็ได้
-          รังที่จะเพาะเลี้ยงนั้นต้องเอาผึ้งนางพญาออก
-          คอนผึ้งที่แยกมี  4   คอนภายใน 4 คอนนี้ประกอบด้วย คอนอาหาร 2 คอน และคอนดักแด้ 2 คอน  ซึ่งคอนอาหารจะขนาบข้างอยู่ด้านนอกสุดและคอนดักแด้อยู่ถัดเข้ามาข้างในและเว้นที่ว่างตรงกลางสำหรับบาร์ที่จะผลิตผึ้งนางพญา
-          บาร์ที่จะผลิตผึ้งนางพญา ประกอบด้วย ถ้วยพลาสติกและถ้วยไขผึ้งประมาณ 15 – 16 ถ้วยต่อแถว

2. การเขี่ยหรือตักตัวหนอน

การตักตัวหนอนควรตักหนอนอายุไม่เกิน 24 ชั่วโมง ตักครั้งแรกจะตักหนอนที่มีอายุ 1 วัน โดยการตักหนอนมาวางใส่ถ้วยนั้นลักษณะของตัวหนอนที่ตักมาจะต้องอยู่ในรูปแบบเดียวกับที่อยู่ในหลอดรวงธรรมชาติ ซึ่งเราจะทำการตักอ้อมหลังของตัวหนอนเราจะต้องทำอย่างนิ่มนวลไม่ให้กระทบกระเทือนเพราะอาจจะทำให้ตัวหนอนตายได้
วิธีปฏิบัติ
1.       นำคอนถ้วยนางพญาที่เตรียมไว้ ใส่ลงไปในรังผึ้งที่เตรียมไว้ (รังที่ไม่มีผึ้งนางพญา) แช่ไว้ประมาณ 1-2 ชั่วโมงหรือ ประมาณ 1 คืนก็ได้แล้วแต่ความสะดวก การแช่คอนถ้วยนางพญานั้นก็เพื่อให้ผึ้งงานทำความสะอาดถ้วยที่จะผลิตผึ้งนางพญา
2.       ถ้วยนางพญาที่จะตักตัวหนอนนั้นเมื่อนำขึ้นมาตักตัวหนอนจะต้องทำการรองก้นถ้วยด้วย รอยัล เจลลี่ หรือน้ำผึ้งก็ได้ การรองก้นถ้วนั้นก็เพื่อเร่งการสร้างรอยัล เจลลี่ ของผึ้งงาน สำหรับเลี้ยงตัวหนอน
3.       การเขี่ยหรือการตักตัวหนอน ควรจะเขี่ยหนอนมาใส่ให้ลงอยู่ในระดับเดียวกับที่อยู่ในรวงธรรมชาติ โดยให้ตัวหนอนลอยอยู่บนรอยัล เจลลี่ อยู่ตรงกลางถ้วย อย่าให้หนอนติดข้างถ้วย เพราะอาจจะทำให้หนอนแห้งตายได้
4.       นำคอนถ้วยนางพญาที่เขี่ยเสร็จใส่ลงไปในรังที่เตรียมไว้แช่ไว้ประมาณ 24 ชั่วโมง
5.       ต้องทำการ  feed น้ำตาลทุกวัน จนถึงระยะดักแด้การให้น้ำหวานจึงลดช่วงเวลาได้ 3 วันต่อครั้ง ปกติถ้าผึ้งแข็งจะให้ 1 สัปดาห์ต่อครั้ง (ให้ครึ่งหนึ่งของ Feeder)
6.       หลังจาก 24 ชั่วโมง ผึ้งงานจะทำการดึงหลอดและป้อนรอยัล เจลลี่ให้กับตัวหนอน ขั้นต่อไปนำคอนถ้วยนางพญาที่แช่ไว้ออกมาตักตัวหนอนครั้งที่ 2 โดยทำการตัดหลอดที่ผึ้งงานต่อรวงออกมาจากการตักในครั้งแรกออก และทำการตักเหมือนการตักตัวหนอนเหมือนกับการตักครั้งที่ 1 แต่รอยัล เจลลี่ไม่ต้องใส่เพราะมีอยู่แล้ว  เมื่อทำการตักเสร็จเรียบร้อยแล้วก็นำคอนไปฝากเลี้ยงในรังเดิม โดยฝากไว้จนกว่าจะถึงกำหนดการ
7.       เมื่อระยะเวลาครบ 10-12 วันหลังจากการเขี่ยครั้งแรก  เราก็นำคอนดังกล่าวมาแยกหลอดผึ้งนางพญาใส่ติดกับกล่องกักขังนางพญา  โดยให้หลอดรวงอยู่ในลักษณะเดิมเมื่อทำการติดเสร็จแล้วเราก็นำไปฝากเลี้ยงที่รังเดิม จนอายุครบ 16 วัน ผึ้งนางพญาก็จะออกจากรวง
หมายเหตุ : จากข้อ 1 – 6 เราจะไม่ทำการพ่นควันหรือเขย่าคอน เพราะจะทำให้การเขี่ยผึ้งนางพญาไม่ติด ข้อมูลที่ได้นี้ได้มาจากท่านผู้มีประสบการณ์ ครูโรจน์ จ. อุตรดิตถ์
          ขั้นต่อไปคือการเตรียมผสมพันธ์และวางไข่ ยังอยู่ระหว่างการทดลอง
      ขอขอบพระคุณ

อาจารย์ สมลักษณ์, อาจารย์เสวก และ ครูโรจน์  ที่ให้ความอนุเคราะห์ด้านองค์ความรู้ อุปกรณ์การทำ ทุนทรัพย์ และสถานที่การปฏิบัติงานในครั้งนี้

เรียบเรียงโดย ธวัชชัยและสามารถ

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 13671เขียนเมื่อ 27 มกราคม 2006 17:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 13:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท