http://gotoknow.org/blog/


ขันโตกของพื้นเมืองภาคเหนือ

ขันโตก หรือ โตก ภาชนะสำหรับวางสำรับอาหาร บ้างเรียก สะโตก มีรูปทรงกลม ความกว้างมีเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 30 เซนติเมตรขึ้นไป มีเชิง สูงประมาณ 1 ฟุต มีทั้งขันโตกไม้ และขันโตกหวาย

การใช้งาน
ใช้เป็นภาชนะที่วางถ้วยอาหารกับข้าว เมื่อใส่กับข้าวแล้วยกมาตั้งสมาชิกในครอบครัวหรือแขกที่มาบ้านจะนั่งล้อมวงกันกินข้าว
ใส่ดอกไม้ธูปเทียนแทนขันดอก
ใส่เครื่องคำนับเป็นขันตั้ง
ใส่ผลหมากรากไม้
ทั้งนี้ภาชนะที่วางถ้วยกับข้าวนอกจากจะใช้ขันโตกแล้วยังใช้กระด้งหรือถาดแบนแทนและเรียกว่า ขันเข้าขันโตกถ้ายังไม่ได้วางถ้วยอาหารเรียกว่า ขันโตก เมื่อวางถ้วยอาหารแล้วก็มักจะเรียกว่า ขันเข้า หรือสำรับอาหาร

การแบ่งประเภท
ขันโตกแบ่งออกเป็น 3 ขนาด ดังนี้

1. ขันโตกหลวง หรือ สะโตกหลวง ทำด้วยไม้ขนาดใหญ่ ตัดท่อนมากลึงหรือเคี่ยนเป็นขันโตก มีความกว้างประมาณ 25 - 50 นิ้ว ตามขนาดของไม้ที่หามาได้ และนิยมใช้การในราชสำนักในคุ้มในวังของเจ้านายฝ่ายเหนือทั่วไป รวมทั้งใช้ในวัดวาอารามทั่วไปด้วย ทั้งนี้เพื่อให้เหมาะสมกับยศศักดิ์ และความยิ่งใหญ่ของชนชั้นผู้ปกครองในการที่จะใช้เลี้ยงแขกบ้านแขกเมืองด้วย ส่วนวัดนั้นพระสงฆ์เป็นผู้ควรแก่การเคารพนพนอบ มีประชาชนนำอาหารไปถวายมากดังนั้นประชาชนจึงนิยมทำขันโตกหลวงไปถวายวัด
2. ขันโตกฮาม หรือ สะโตกทะราม เป็นขันโตกขนาดกลางประมาณ 17-24 นิ้ว (คำว่า ฮาม หรือ ทะรามนี้ หมายถึงขนาดกลาง) ใช้ไม้ขนาดกลางมาตัดและเคี่ยนหรือกลึงเหมือนขันโตกหลวง ลงรักทาหางอย่างเดียวกัน ผู้ที่ใช้ขันโตกขนาดนี้ มักได้แก่ครอบครัวขนาดใหญ่ เช่น คหบดี เศรษฐีผู้มีอันจะกิน หรือถ้าเป็นวัด ผู้ที่ใช้ขันโตกขนาดนี้คือ พระภิกษุ ในระดับรองสมภาร
3.ขันโตกหน้อย เป็นขันโตกขนาดเล็ก ขนาดประมาณ 10 - 15 นิ้ว วิธีทำมีลักษณะเช่นเดียวกับขันโตกหลวงและขันโตกฮาม ใช้ในครอบครัวเล็ก เช่น หญิงชายพึ่งแต่งงานใหม่ หรือ ผู้ที่รับประทานคนเดียว อาหารที่ใส่ก็มีจำนวนน้อย

หมายเลขบันทึก: 136632เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2007 14:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 20:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท