ทำไมจึงต้องไหว้ครู ตอนจบการแสดง


เป็นการขอขมาลาโทษ หากศิษย์ได้กระทำสิ่งที่ผิดพลาด

 

ทำไมจึงไหว้ครู

 

ตอนจบการแสดง

(ชำเลือง  มณีวงษ์  ผู้มีผลงานดีเด่นศิลปะการแสดงเพลงพื้นบ้าน  2547) 

พิธีการไหว้ครู มีจุดมุ่งหมายหลายประการ  ได้แก่     

   1. เพื่อให้ศิษย์ได้เกิดความมั่นใจในการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี เมื่อได้ผ่านพิธีกรรมมาแล้ว   

   2. เพื่อเป็นการถวายเครื่องสักการะ แก่ ครู อาจารย์ ผู้ที่ประสิทธิ์ประสาทความรู้ให้   

   3. เพื่อเป็นการขอขมาลาโทษ หากศิษย์ได้กระทำสิ่งที่ผิดพลาดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์   

   4. เพื่อเป็นสิ่งเตือนสติให้ศิษย์ระลึกถึงครู อันเป็นเครื่องเตือนใจให้ประพฤติแต่ในสิ่งที่ดี

   5. เพื่อที่จะให้เกิดเป็นสิริมงคลทั้งแก่ผู้สอนและผู้เรียน

         

          เมื่อได้ผ่านพิธีการไหว้ครู เสมือนว่าเราได้รับความคุ้มครอง หรือมีครูคอยให้ความช่วยเหลืออยู่ใกล้ ๆ เราตลอดเวลา เมื่อตอนที่เรานึกอะไรไม่ออกก็ยกมือไหว้ขอความช่วยเหลือ ขอให้ครูมาช่วยให้เรานึกได้ ทำได้ มีผู้ชม คนดูรักใคร่ชอบพอเราด้วย 

         ครู มาจากคำว่า ครุแปลว่าหนักครูมีความรับผิดชอบในการอบรมสั่งสอน การถ่าย ทอดความรู้ให้แก่ศิษย์ให้มีความรู้และเป็นคนดีของสังคม  ครูจึงต้องเป็นผู้ที่ทุ่มเทแรงใจ แรงกายอย่างมากในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้เรียน หรือศิษย์ ไปสู่หนทางแห่งความก้าวหน้า หรือการพัฒนาผู้เรียน          

         ศิลปะการแสดงเพลงพื้นบ้าน โดยเฉพาะ เพลงอีแซวที่ผมสืบสานอยู่กับเด็ก ๆ จำนวน 20 กว่าคนในขณะนี้ ผมมองไปที่ครูเพลงรุ่นเก่า ตั้งแต่ ครูเคลิ้ม ปักษี ครูศรีนวล  ครูป้าอ้น จันทร์สว่าง  พ่อไสว แม่บัวผัน จันทร์ศรี มาจนถึงพี่ขวัญจิต ศรีประจันต์ พี่สุจินต์ ศรีประจันต์ ต่อเนื่องกันมายาวนานสำหรับการแสดงที่ผมเฝ้าติดตามดูท่านเหล่านั้นแสดงบนเวทีหรือบนพื้นที่เรียบ ๆ  เช่น ลานหน้าศาลเจ้า  ลานหน้าศาลาวัดเกาะ วัดใหม่ (ราษฎรบำรุง) วัดบ้านคอยเหนือ  วัดบ้านคอยใต้ ศาลเจ้าพ่อต้นแค ศาลตาปู่หมื่น งานปิดทองหลวงพ่อโต ที่วัดป่าเลไลยก์ และอีกหลาย ๆ ที่ ผมไปดูการแสดงเพลงพื้นบ้านเพราะความสนใจ ดูในรายละเอียดทุกสิ่งทุกอย่างที่ผมจะสามารถเก็บรวบรวมความรู้ได้จากการแสดงตั้งแต่ต้นจนจบการแสดง 

         เพลงพื้นบ้านสุพรรณบุรีทุกคณะ เมื่อเล่นบนเวทีแสดงที่เจ้าภาพจัดให้ บนเวทีเพลงพื้นบ้านจะมีเสื่อผืนยาว ๆ ปูรองรับนักแสดงเอาไว้เมื่อเริ่มต้นการแสดง นักแสดงจะออกมานั่งกันอย่างพร้อมหน้า  ผู้แสดงคนหนึ่งจะถือพานหมาก พลู ดอกไม้ ธูป เทียน บุหรี่ 1 ซอง เหล้าขาว 1 ขวดและเงินค่ากำนล 12 บาท บางคณะ 24 บาท (อาจจะมีเงินในพาน 6, 12, 24 บาท) เทียน 1 เล่ม ส่วนธูปแล้วแต่ความเชื่อ แต่ว่าอย่างน้อยจะใช้ธูป 3 ดอก (สำหรับบางคณะใช้ 9 ดอก) จากนั้นผู้แสดงก็จะร้องไหว้ครูก่อน โดยร้องเพลงไหว้พระศาสดา พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไหว้พระธรรม และไหว้พระสงฆ์ ต่อมาก็จะเป็นการไหว้บิดา มารดา (ผู้ให้กำเนิดเกิดมาเป็นกาย) ผู้ที่ชุบเลี้ยงเรามา และในช่วงสุดท้ายจะเป็นการไหว้ครู ผู้ที่สั่งสอน แนะนำวิธีการแสดง การร้อง รำ  เล่นเพลงอีแซว เพลงพื้นบ้านให้ เป็นการระลึกถึงบุญคุณที่ท่านได้ให้วิชาความรู้ และขอให้ครูมาช่วยเหลือในตอนที่เล่นเพลง ขออย่าให้มีการติดขัดเมื่อเวลาร้องเอื้อนเอ่ยออกไป ขอให้มีผู้ชมรักใคร่ชอบพอ ติดตามดู ให้กำลังใจมาก ๆ ตลอดไป

        

         จบจากพิธีการไหว้ครูแล้วจึงทำการแสดงไปตามที่ได้วางโครงเรื่องเอาไว้ จนมาถึงตอนเล่นเพลงประ (ปะทะคารมกันระหว่างชาย-หญิง) ตอนนื้ทั้งฝ่ายชาย และฝ่ายหญิง ใครมีอะไรดี ๆ ก็นำเอามาใส่กันอย่างเต็มที่ เรียกว่าเป็นการประชันฝีปากกันเลยทีเดียว เปรียบได้กับคนไม่ถูกกัน มีคน 2 ฝ่ายกำลังโต้เถียง ทะเลาะกันอย่างเอาเป็นเอาตาย (ผู้ชมที่ติดตามดูก็จะสนุกสนานไปด้วย) เพราะการแสดงในตอนนี้ เป็นการโต้คารม ด้วยฝีปากที่แหลมคม ตอบโต้กันอย่างเผ็ดมัน จนบางครั้งมีการพาดพิง เสียดสี ล่วงเกินกันด้วยคารมที่เต็มไปด้วยศิลปะ ลีลา ท่าทางอันสะเทือนอารมณ์ จนลืมตัวไปว่า นี่คือการแสดง (เล่นถึงบทบาทมาก) ผู้ชมก็ลืมตัว ให้กำลังใจ ส่งแรงเชียร์กันอย่างหมดใจ บรรยากาศอย่างนี้ หาดูไม่ได้ง่ายนักในมหรสพอย่างอื่น แต่มีให้เห็นในการแสดงพื้นบ้าน โดยเฉพาะเพลงอีแซว 

         เมื่อการแสดงมาถึงช่วงสุดท้าย นักเพลงก็จะพูดฝากข้อคิด กราบขออภัยในข้อบกพร่อง ผิดพลาดในการแสดง หรืออาจจะร้องเป็นเพลงลา จบแล้วนักแสดงทุกคนทำความเคารพท่านผู้ชม และท่านเจ้าภาพ เป็นอันเสร็จสิ้นการแสดงในคืนนั้น 

         แต่ภาพที่ท่านจะให้เห็นบนเวทีในตอนสุดท้ายนี้ บางท่านหรือหลายท่านไม่ได้อยู่ชมตอนนี้ บ้างก็ต้องกลับไปเสียก่อน (ดูไม่ถึงตอนจบการแสดง) จึงทำให้ไม่ได้เห็นความสวยงาม และวัฒนธรรมที่ดีงามบนเวทีของการแสดงเพลงพื้นบ้าน โดยนักแสดงที่มีอาวุโสน้อยกว่า จะไปยกมือไหว้หรือกราบขอขมานักแสดงรุ่นพี่   รุ่นพี่ยกมือขึ้นไหว้ตอบรับให้อภัยนักแสดงรุ่นน้อง  นักเพลงทุกคนไปนั่งลงกราบครูเพลง ครูเพลงยกมือขึ้นพนมแล้วให้ศีลให้พรลูกศิษย์ ขอให้มีความเจริญก้าวหน้าในอาชีพการงานยิ่ง ๆ ขึ้น 

           

         ทั้งหมดนั้นเป็นจารีต เป็นประเพณีที่ดีงาม  ที่นักแสดงรุ่นน้องพึงที่จะกระทำต่อรุ่นพี่ และศิษย์พึงกระทำต่อครูผู้สั่งสอนพวกเขามาเป็นอย่างยิ่ง  จึงเป็นที่มาของ การไหว้ครู ตอนจบการแสดง 

            ถ้าจะให้เล่าถึงความสำคัญ ความจำเป็นที่จะต้องกระทำก็คือ เพื่อเป็นการขอขมาลาโทษ หากรุ่นน้อง หรือศิษย์ได้กระทำสิ่งที่ผิดพลาดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ในระหว่างที่กระทำหน้าที่การแสดงให้สมบทบาท เมื่อจบการแสดง ก็จะต้องกลับมาเป็นตัวของตัวเอง  ทิ้งบทบาททั้งหลายเอาไว้บนเวที กลับมาเป็นครู เป็นศิษย์ เป็นรุ่นพี่รุ่นน้องให้ความเคารพ นับถือกันอย่างเดิมตลอดไป 

คุณค่าของการไหว้ครู


   1. ทำให้เกิดความรัก ความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในฐานะที่เป็นศิษย์มีครู
   2. ทำให้เกิดความมั่นใจในการถ่ายทอด โดยไม่ต้องกลัวว่า จะผิดครู
   3. ทำให้มีความเชื่อมั่นในวิชาความรู้ที่ได้เรียนมา กล้าแสดงออก
   4. ทำให้มีความรู้และมีความเข้าใจในพิธีกรรมเช่นนี้ อย่างชัดเจน
   5. ทำให้เกิดความสบายใจ หากได้ทำสิ่งใดผิดพลาดไป เป็นการขอขมาครู
  

(ชำเลือง  มณีวงษ์. ทำไมจึงต้องไหว้ครูตอนที่จบการแสดง  2550.)

 

หมายเลขบันทึก: 136006เขียนเมื่อ 7 ตุลาคม 2007 21:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 17:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ช่วส่งวิธีการทำพานไห้วครูขั้นตอนแรกถึงขั้นตอนสุดท้ายเพราะที่ต้องขอแบบนี้เพราะว่าต้องการเข้าประกวดระดับจังหวัดช่วยส่งมาให้หน่อย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท