AAR การประชุมวิชาการจัดการความรู้ ครั้งที่ 20 (1)


บางคนบอกว่า ผิดคาดมาก นึกว่า ตลาดนัดความรู้จะมีการจัดเป็นซุ้มๆ มีเอกสารหรือความรู้วางอยู่ในซุ้ม ให้แต่ละคนเข้าไปหยิบ จับ และนำกลับบ้านได้
          เมื่อวานนี้ (26  มกราคม  2549)  สคส.  ได้จัดกิจกรรม การประชุมวิชาการจัดการความรู้ ครั้งที่  20  “ตลาดนัดความรู้การศึกษานอกโรงเรียน”  ที่โรงแรมกานต์มณี พาเลซ 
          สคส.  ใช้ชื่อว่า “ตลาดนัดความรู้”  เนื่องจากเห็นว่า  กศน.  มีการทำงานที่แตกต่างหลากหลายบทบาท  ดังนั้น  หากจัดเป็นรูปแบบ “ตลาดนัดความรู้”  จะทำให้ได้เกิดการแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมาก โดยใช้เชิญ กศน.  ที่มีผลงานเด่น  จำนวน  4  แห่ง  คือ  กศน.ชุมพร,  กศน. นครศรีธรรมราช,  กศน. อุบลราชธานี  และ  กศน. แม่ฮ่องสอน  (เชื่อว่าน่าจะมี กศน. อื่นๆ  ที่มีผลงานเด่นอีกมากมาย  แต่เนื่องจาก  สคส. ได้รู้จักภาคีเหล่านี้ จากการลงพื้นที่จับภาพบ้าง  จากการแนะนำของภาคีอื่นๆ  บ้าง  ทำให้อาจจะไม่ครอบคลุมพื้นที่มากนัก)
          การประชุมวิชาการจัดการความรู้ ของ สคส.  ในระยะหลังเริ่มมีการคัดกรองผู้เข้าร่วม  โดยใช้วิธีการลงทะเบียน และมีการเสียค่าใช้จ่าย  (เป็นค่าเอกสารประกอบการประชุม  ค่าอาหารว่าง และอาหารกลางวันเท่านั้น) ซึ่งวิธีการนี้ ทำให้ สคส.  ได้ผู้เข้าร่วมที่มีความสนใจในแต่ละประเด็นจริงๆ  และผู้เข้าร่วมก็จะได้เรียนรู้จากการประชุมแบบนี้ในเชิงคุณภาพมากๆ  คือ  การใช้รูปแบบ  Two way  communication  นั่นเท่ากับว่า สคส.  ไม่เน้นการประชุมในเชิงปริมาณที่มีคนมามากมาย  แต่ไม่ได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันอย่างแท้จริง การประชุมครั้งนี้  มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมดประมาณ  30  คน   ซึ่งกำลังดี เหมาะกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เชิงคุณภาพ  
          คุณวรรณา  เลิศวิจิตรจรัส  เป็นหัวหน้าทีมในการจัดประชุมวิชาการฯ  ครั้งนี้  ได้แจ้งกับผู้เข้าร่วมประชุมว่า  แม้ทาง สคส. จะเชิญวิทยากรหลักมา 4  ท่าน  แต่ทุกคนก็ถือว่าเป็นวิทยากรเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์เช่นกัน 
          โดยเริ่มแรกที่ประชุมได้ ขอให้แต่ละคนแนะนำตัวเอง และบอกเป้าหมายหรือความคาดหวังของการเข้าร่วมประชุมครั้งนี้  ผู้เข้าร่วมประเภทลงทะเบียนเข้ามา ค่อนข้างตื่นเต้นกับวิธีการประชุมแบบนี้  เพราะแต่ละคนล้วนคิดว่า จะ  “แอบ”  มาเก็บหรือรับความรู้จากตลาดนัดความรู้  ไม่คิดว่า ตนเองจะต้องเป็นวิทยากรแลกเปลี่ยนด้วย  บางคนบอกว่า ผิดคาดมาก  นึกว่า ตลาดนัดความรู้จะมีการจัดเป็นซุ้มๆ  มีเอกสารหรือความรู้วางอยู่ในซุ้ม  ให้แต่ละคนเข้าไปหยิบ จับ  และนำกลับบ้านได้  ซึ่ง ดร.ประพนธ์  ผาสุขยืด  ได้บอกว่า  ตลาดนัดความรู้ของ สคส.  คือ  ตลาดนัด Tacit  Knowledge  ไม่ใช่ตลาดนัด  Explicit  Knowledge  ที่จะอยู่ในรูปของหนังสือ แผ่นพับ  โปสเตอร์ ฯลฯ  และผู้เขียนคิดในใจว่า  ซุ้มก็คือคน  ความรู้ของแต่ละซุ้ม คือ  ความรู้ที่อยู่ในตัวคนแต่ละคน ซึ่งเป็นความรู้ที่มีชีวิตจริงๆ   เพราะสัมผัสได้ด้วยตา  หู  ปาก  (การซักถามแลกเปลี่ยน)  และมือ  (เขียนบันทึกสิ่งที่แต่ละคนเล่าออกมา)  ซึ่งตัวผู้เขียนก็เริ่มสนุกตื่นเต้นกับบรรยากาศของการประชุมนี้ไปด้วย  ซึ่งผู้เขียนไม่ได้ตื่นเต้นแบบกลัว  แต่ตื่นเต้นเร้าใจในบรรยากาศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่มีพลังมากกว่า  จะตื่นเต้นเร้าใจแค่ไหน  โปรดติดตามตอนต่อไป
หมายเลขบันทึก: 13597เขียนเมื่อ 27 มกราคม 2006 11:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท