วัฒนา ศรีจักร์


มองอนาคต
วางแผน ควบคู่กับ การมองไปในอนาคต

ถ้าใช้วิธี การมองไปข้างหน้า ว่า ณ จุดนั้นเราจะมี หรือเราจะเป็นอย่างไร แล้วแก้ไขวันนี้ ตามเป้าหมายที่เราจะเป็นนั้น

หากมองย้อนกลับไปถึงคนที่ประสบความสำเร็จจะพบว่า การที่จะทำเช่นนั้นได้ ต้องอาศัย พื้นฐานต่างๆอีกเล็กน้อย ถ้าต้องการทำให้ดี คนบางคนมีเพราะเขามีนิสัยเหล่านั้น แต่คนบางคนกลับไม่มี เลยไม่รู้ว่า จะทำอย่างไรให้ไปถึงจุดหมาย สามารถคิดถึงจุดหมายได้แล้ว แต่จะทำอย่างไรหละให้ไปถึงที่ๆต้องการ

การตั้งเป้าหมาย ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย การไปให้ถึงก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ทั้งสองอย่างนั้น สามารถทำไปพร้อมๆกันได้ ต้องมีแผนการดำเนินการ ดังนี้

1.
คุณจะตั้งเป้าหมาย และ ไปให้ถึงเป้าหมายได้นั้น สิ่งแรก และเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การตัดสินใจอย่างแน่นอนว่า คุณต้องการอะไรจริงๆ ซึ่งน่าจะมีเพียงเดียวที่คุณต้องการมากที่สุด จากนั้นเขียนรายละเอียดของเป้าหมายที่คุณต้องการลง แล้วหาตัวตรวจวัดที่สามารถเอามาวัดผลได้ เช่น "ฉันจะมีรายได้มากกว่าปัจจุบัน 10 เท่า" เป็นต้น

2.
เมื่อคุณมีเป้าหมายแล้ว ถ้าเป็นเป้าหมายขนาดใหญ่ ก็ต้องแตกย่อยเป็นเป้าหมายขนาดเล็กลง แบ่งย่อยออก เหมือนการสร้างบันไดสู่ความสำเร็จ ทีละขั้นๆ เพื่อส่งให้คุณไปยังจุดหมายที่ปลายทางได้

3.
จากนั้น คุณต้องกำหนดขอบเขตของเวลา ซึ่งมีวิธีการกำหนดได้ 2 แบบคือ
. 3.1
กำหนดเส้นตายของเป้าหมายใหญ่ แล้วแตกเป็นเวลาของเป้าหมายย่อย
. 3.2
กำหนดเวลาของแต่ละเป้าหมายย่อยอย่างต่อเนื่อง แล้ว ทำให้เห็นว่าเป้าหมายใหญ่เราจะเสร็จเมื่อใด

การกำหนดเวลานี้ จะทำให้คุณมีเป้าหมายที่จะทำให้เสร็จเป็นเรื่องๆ ถ้าคุณสามารถทำได้ตามเป้าหมาย หรือ ก่อนเป้าหมายก็ตาม ความสำเร็จในแต่ละขั้นตอนตามกำหนด ก็จะกลายมาเป็นแรงผลักดันให้คุณรู้สึกถึงความสำเร็จในอนาคตของคุณได้มากขึ้นเท่านั้น

4.
คุณต้องจดบันทึก สิ่งต่างๆที่จะทำให้คุณสำเร็จตามเป้าหมายต่างๆ รวมทั้ง บันทึกสิ่งที่คุณอาจจะเพิ่งคิดได้ว่า คุณควรจะทำอะไรเพิ่มเติม เพื่อทำให้เป้าหมายหลักของคุณประสบความสำเร็จได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงแผนของคุณให้เหมาะสม และ ใกล้เคียงกับความเป็นจริงอยู่เสมอ เพื่อจะได้มองเห็นภาพรวมของการเปลี่ยนแปลงของคุณ และใช้มันในการตอกย้ำจิตใจและความมุ่งมั่นของคุณว่า ต้องทำเช่นใด อย่างไร และมีอะไรบ้างที่จะทำให้คุณประสบความสำเร็จ

5.
แบ่งแยกเป้าหมายย่อย ออกมาเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่เป็นสิ่งที่มีความสำคัญ เป็นกลุ่มพื้นฐาน ที่หากทำเรื่องเหล่านี้แล้ว จะทำให้เรื่องอื่นๆดีขึ้น กับกลุ่มที่เป็นผลลัพธ์ที่เราจะต้องทำในตอนนี้ แต่มันอาจจะแก้ไขเพียงปลายเหตุ

ในการจัดลำดับความสำคัญนั้น คุณจะใช้หลักของเหตุและผลก็ได้ว่า อะไรเป็นเป็นสาเหตุของอีกหัวข้อหนึ่ง จะเป็นสิ่งที่คุณควรให้ความสนใจมากกว่า อะไรที่เป็นเราปรับปรุงเพียงอย่างเดียว สามารถทำให้อีกหลายๆเรื่องดีขึ้น ก็จะควรจะมีความสำคัญมากกว่า เหตุเดียวทำให้เกิดผลเดียว หรือคุณอาจจะใช้หลัก 20/80 หมายถึง ถ้าคุณแก้ไขเรื่องใดโดยใช้แรงสัก 20% แต่คุณได้เห็นว่าผลของมันส่งให้เห็นว่าได้แก้ไขไปได้ถึง 80% ของภาพรวม ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ควรจะต้องทำโดยทันที เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ เป็นต้น เมื่อทำดังนี้แล้ว ก็ต้องกำหนดลำดับความสำคัญของแต่เรื่องอีกครั้งหนึ่ง ส่วนเพื่อนที่เรียนกับผมเรื่องวิธีการคิดหาหลักเหตุและผล คุณจะใช้การโยงเส้นข้ามกันไปมาหาจำนวนเหตุและผลของแต่ละหัวข้อได้เลย ซึ่งผมคิดว่าง่ายกว่าการมาวิเคราะห์เอง และ อาจจะผิดพลาดได้

การแยกย่อย และกำกับลำดับนั้น ทำให้คุณไม่พลาด หรือ ทุ่มเวลากับงานที่ไม่จำเป็นมากเกินไป ทำให้คุณบริหารเวลาที่มีอย่างจำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

6.
ค้นหาอุปสรรคที่จะขัดขวางการทำให้เป็นไปตามเป้าหมายทั้งที่เกิดจากภายในใจของคุณเอง หรือ นิสัยที่คุณต้องเพิ่ม หรือสิ่งแวดล้อมรอบๆตัวคุณก็ตาม จากนั้น หาวิธีกำจัด หรือ ลดความรุนแรงต่ออุปสรรคเหล่านั้น เพื่อไม่ให้มันมาหน่วงแผนงานของคุณออกไป อย่าทำให้เป้าหมายย่อยที่ยังไม่ผ่าน กลายเป็นคอขวดของความสำเร็จของคุณ เพราะ ถ้าเป้าหมายย่อยใดเกิดติดขัดขึ้นแล้ว เป้าหมายย่อยที่ตามมา อาจจะล่าช้าออกไปอย่างมาก การกำจัดปัญหาก่อนที่ปัญหาจะเกิด การขยายคอขวด ก่อนที่จะล่าช้านั้น จึงต้องทำในขณะวางแผน และ ในขณะเริ่มเห็นผล หรือส่อเค้าว่าจะเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้นในทันที เพื่อจะได้แก้ไขภาพรวมได้ทันท่วงที

7.
เมื่อวางแผนแล้ว ให้เริ่มลงมือปฏิบัติทันที หากงานใด สามารถทำไปพร้อมๆกันได้ ก็ให้ทำควบคู่กัน แต่อย่าทำมากเกินกว่า 3 เป้าหมาย เพราะจะทำให้คุณไม่มุ่งมั่นกับเป้าหมายต่างๆมากพอ หรือ คุณอาจจะทำทีละเป้าหมายให้สำเร็จหากเป็นเป้าหมายที่ต่อเนื่อง คุณต้องชื่นชมกับความสำเร็จในแต่ละขั้นของคุณทุกครั้ง เชื่อมั่นว่า การดำเนินไปแต่ละขั้นตอนนี้ จะทำให้คุณประสบความสำเร็จ และ มองหาว่า คุณต้องเพิ่มอะไรอีก หรือเปลี่ยนแปลงอะไรอีก เพื่อทำให้คุณประสบความสำเร็จได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

8.
คุณต้องวางแผนการทำงานของคุณทุกวัน และ ดำเนินตามแผนงานของคุณทุกๆวัน หาสมุดมาจดบันทึกสิ่งที่คุณกระทำไป รวมทั้ง เป้าหมายที่คุณหวังไว้ หรือ อุปสรรคที่เกิดขึ้นพร้อมทั้งวิธีแก้ไขอุปสรรคเหล่านั้น หรือ หากคุณกลับไปแก้ไขได้ คุณจะแก้ไขปัญหาทีเกิดขึ้น อย่างนั้น อย่างนี้.... สิ่งเหล่านี้จะช่วยกล่อมเกลาความคิดของคุณ ให้มีความคิดเชิงบวก และ ส่งผลให้คุณมีจิตใจ และ กำลังใจที่กล้าแข็งที่จะเผชิญต่อปัญหาต่างๆ อีกทั้งยังจะช่วยให้คุณแก้ไขปัญหาในอนาคตได้รวดเร็วยิ่งขึ้น อันเนื่องจากคุณได้สร้างประสบการณ์เสมือนไว้เป็นทุนในการตัดสินใจไว้ด้วยแล้ว

คิดให้รอบคอบ เรียนรู้ว่าต้องมีอะไรทำให้เราประสบความสำเร็จ วางแผน สร้างลำดับขั้นของความสำเร็จ ลงมือทำทีละขั้นๆ ขจัดปัญหา และ วิเคราะห์ปรับปรุงให้การกระทำเราดีขึ้น มันจะทำให้คุณวิ่งไปสู่จุดหมายของคุณได้ แต่ก็ขึ้นกับความมุมานะของคุณว่า คุณจะใส่ใจกับเป้าหมาย และ แผนประจำวันของคุณมากน้อยเพียงใด

คำสำคัญ (Tags): #การวางแผนอนาคต
หมายเลขบันทึก: 135946เขียนเมื่อ 7 ตุลาคม 2007 16:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 20:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท