การส่งเสริมการเรียนรู้ "ตลอดชีวิต"


หัวใจของการเรียนรู้ตลอดชีวิต จะช่วยจัดการ "ความไม่รู้"

อ.ประพนธ์ ได้ทิ้งคำถามไว้

ในการประชุมวิชาการจัดการความรู้ ครั้งที่ 20 "ตลาดนัดความรู้ กศน."

เกี่ยวกับ "เรื่องการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของแต่ละคน"

ซึ่ง อาจารย์ หลายๆท่านในที่ประชุมวันนั้น ก็ได้เล่าเรื่องการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่แต่ละคนได้สัมผัสและปฏิบัติมากับมือ...เช่น

            อาจารย์สุรีย์ นาคนิยม ครูชำนาญการพิเศษ กศน.จ.ชุมพร บอกว่า การจัดการความรู้จะเป็นตัวชี้วัดของจังหวัด ที่ช่วยในการบริหารบ้านเมืองให้เป็นระบบดีขึ้น ซึ่ง กศน. จ.ชุมพร กำลังอยู่ในขั้นเริ่มต้นของการ “จัดการความไม่รู้” โดยเริ่มจากวิสัยทัศน์  ทำควบคู่กันไป ทั้งการพัฒนาองค์กร , การพัฒนาบุคลากร  ซึ่งใช้การเล่าเรื่อง เป็นรูปแบบของการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความสำเร็จในการทำงานกัน และผลจากการได้เรียนรู้นี้เอง ทำให้ มีการพบปะพุดคุย เอื้อเฟื้อกันมากขึ้น ไม่หวงความรู้ ลดความเห็นแก่ตัวและทำให้งานเคลื่อนไปได้เร็วขึ้น
            นายสุรพงษ์ ไชยวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน จ.แม่ฮ่องสอน เล่าว่า เริ่มใช้การจัดการความรู้ส่งเสริมการศึกษาเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวของ ชุมชนบ้านห้วยปูแกง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน เนื่องจากเดิมที พื้นที่ส่วนนี้เป็นพื้นที่หนีภัยจากการสู้รบ มีชาวบ้านจำนวน 217 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนเผ่ากระเหรี่ยงคอยาว และมีความหลากหลายของชนเผ่าอื่นๆรวมกว่า 5 ชนเผ่า ทั้งนี้พื้นที่ดังกล่าวถูกกำหนดให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว แต่ชาวบ้านในชุมชนยังขาดโอกาสทางการศึกษา มีเพียงภาษาพม่าเป็นภาษากลางในการสื่อสาร  และมีจำนวนผู้ที่พูดภาษาไทยได้ไม่ถึง 10 %
            แต่เมื่อ กศน. แม่ฮ่องสอนซึ่งได้ใช้ การคัดกรอกครูชนเผ่าขึ้นมา 5-6 คน ให้ไปทำความเข้าใจกับชุมชนก่อน และสร้างความสัมพันธ์ที่ดี เป็นที่ไว้วางใจของชุมชน และนำมาจัดเวทีคุยกัน เพื่อให้ทราบความต้องการของชุมชนเป็นเวลา 2 เดือนไม่ต้องสอนหนังสือ
กระทั่งรู้ว่าปัญหาของชาวบ้าน คือ ขาดความรู้ และขาดความมั่นใจ ไม่มีความภูมิใจในชุมชนของตนเอง ซึ่งมีปัจจัยหลัก คือ การที่ไม่สามารถสื่อสารกับบุคคลที่เข้ามาในชุมชนได้ ครูจึงช่วยกันออกแบบการเรียนรู้ ทั้งการสอนภาษาไทยให้กับชนเผ่า ทั้งการพูด อ่าน เขียน ในรูปแบบการดูทีวี การร้องเพลง หรือการพูดออกหอกระจายข่าว เพื่อฝึกทักษะของการฟังและพูด และฝึกทำอาหารต่างชาติเพื่อบริการนักท่องเที่ยว ช่วยเป็นแรงกระตุ้นชาวบ้าน พัฒนาคนในชุมชน ตลอดจน ชาวบ้านยังเป็นผู้วางแผน กำหนดแนวทางของการบริหารจัดการการท่องเที่ยวของชุมชนด้วยตนเองได้ถึงปัจจุบัน  
            เช่นเดียวกับ นายจำนง หนูนิล ครูชำนาญการพิเศษ กศน.อำเภอเมือง จ.นครศรีธรรมราช บอกว่า เนื่องจากปัญหาของการศึกษาสายอาชีพของชาวบ้าน อยู่ที่หลักสูตรที่ใช้การส่งเสริมอาชีพ ไม่ตรงกับความต้อง การของชาวบ้านหรือผู้เรียน ตัวอย่างเช่น วิชาการตัดผมชาย , ทำอาหาร-ขนม , ซ่อมเครื่องมือเล็ก ฯลฯ ในขณะที่ชาวบ้านทำอาชีพอื่นซึ่งไม่ใช่วิชาเหล่านี้ และไม่ได้เชื่อมโยงกับอาชีพที่ชาวบ้านทำอยู่ อีกทั้งหลักสูตรยังเป็นหลักสูตรที่ตายตัว และเก่าแก่คร่ำครึ
            จึงตัดสินใจ สร้างการเรียนรู้อาชีพแนวใหม่ ซึ่งศูนย์ กศน. อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช เห็นว่าการทำอาชีพโดยอาศัยโครงงาน หรือโครงการ ทั้ง 2 ส่วนน่าจะได้ทั้งความรู้ และได้ทั้งงาน ทำไปเรียนรู้ไป แก้ปัญหาไป รับผลไป  จึงเกิดการเรียนรู้ด้วยการทำโครงงานอาชีพ เพราะโดยสภาพของชาวบ้านเมื่อคิดทำอาชีพ เช่น นากุ้ง เลี้ยงโค สวนมังคุด ฯลฯ มักเกิดปัญหาเรื่องของการขาดทุน และเพิ่งรู้สาเหตุว่า เป็นเพราะตนเองไม่มีความรู้
การทำโครงงาน ดังกล่าว จึงเป็นการลดความเสี่ยงในการประกอบอาชีพ  ซึ่งนับว่าเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งในการส่งเสริมการเรียนรู้อาชีพชาวบ้าน ทั้งยังนำกลุ่มอาชีพต่างๆมาเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย ซึ่งช่วยสร้างความตระหนักในบทบาทและความต้องการด้านอาชีพของชุมชนอีกด้วย
               นายนิคม ทองพิทักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน จ.อุบลราชธานี เล่าให้ฟังว่า ศูนย์กศน. จ.อุบลราชธานี เป็นองค์การเชื่อมโยงการใช้ทรัพยากรทางการศึกษา เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงการเรียนรู้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม และมีคุณภาพ
จึงจัดทำ “วารินชำราบ เมืองแห่งการเรียนรู้” โดยศูนย์ กศน.จ.อุบลฯ เป็นผู้ที่อำนวยให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และให้เทศบาลจังหวัดเป็นเจ้าของผลงาน ส่งเสริมให้ทำกิจกรรม เช่น การทำห้องสมุดประชาชน ที่เปิดตลอด 365 วันให้ประชาชนรู้สึกว่าตนเองเป็นเจ้าของ และเข้าไปใช้ประโยชน์ได้อย่างสูงสุด
“อีกทั้งการส่งเสริม ให้มีห้องสมุดรถไฟ และรถห้องสมุดเคลื่อนที่ โดยมีการจัด “ครูเดี๋ยวเดียว” เพื่อให้บริการความรู้กับประชาชนตามสถานีรถไฟ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงความรู้ทุกแง่มุมของความรู้ และเป็นการสร้างมิติใหม่ของการศึกษาที่เข้าถึงประชาชนทุกคนด้วย”
นายนิคม กล่าว 
          ด้าน ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการสื่อสารพัฒนาการเรียนรู้ สคส. กล่าวว่า หัวใจของการจัดการความรู้ คือ การบันทึก ซึ่งทำให้เกิดคลังความรู้ ทำให้เห็นร่องรอยของการเรียนรู้ หากมองในมุมมองของการจัดการความรู้ บทบาทของครูในศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ก็เริ่มมีการปรับบทบาทการเป็นครูผู้จัดบรรยากาศการเรียนรู้มากขึ้น ดังนั้นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และกระบวนทัศน์ในการทำงานในพื้นที่จริง ของครู กศน. แต่ละศูนย์ฯ และแต่ละภาค น่าจะช่วยให้ครู กศน.มีทักษะด้านการจัดการความรู้ เพื่อก้าวสู่การเป็น “ครูนักจัดการความรู้” ที่ช่วยส่งเสริมอาชีพตามความต้องการของผู้เรียน ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการเดินไปสู่เป้าหมายการจัดการศึกษาตลอดชีวิต ที่เป็นภารกิจหลักของครู กศน.ทุกคน

แต่สำหรับผม ยังไม่เคยส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับใคร เพียงแต่เท่าที่รู้ตอนนี้คือ ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ให้กับตัวเอง เพราะตั้งแต่เข้ามาทำงาน สคส. ในฐานะเป็นประชาสัมพันธ์ ก็มีความรู้สึกว่า การเรียนรู้ตลิดชีวิตอยู่ที่นี่เอง ต้องติดตามการความไหวของความรู้ดีๆอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะการจัดการความรู้ในองค์กร/หน่วยงาน เพื่อนำมาเล่าให้สาธารณะชนทราบ

ส่วนการที่ผมจะไปส่งเสริมใครนั้น คงไม่มีหรอกครับ นอกจากจะเป็นทางอ้อมมากกว่า เช่น การทำงานกับสื่อมวลชน โดยนำความรู้ดีๆ ที่ได้ไปพบเจอมา มาเขียนเผยแพร่ทางสื่อต่างๆ ซึ่งอาจจะช่วยเป็นแรงกระตุ้นในการเรียนรู้ของหลายๆคนได้บ้าง ไม่มากก็น้อย

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #ความเป็นธรรม
หมายเลขบันทึก: 13521เขียนเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2006 18:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤษภาคม 2012 16:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
ชอบจังค่ะ ... ตรงที่บอกว่า การจัดการความรู้ คือ การบันทึก ซึ่งทำให้เกิดคลังความรู้ ทำให้เห็นร่องรอยของการเรียนรู้ เพราะ รู้สึกแล้วว่า การบันทึกเรื่องราว ทำให้เรารู้ได้มากขึ้นว่า เราคิดตั้งต้นมายังไง ... บางทีคำพูดแรกของเรานั้น อาจยังไม่เข้าที่เข้าทาง เราอาจนำความรู้สึกตรงนี้มาปรับความคิดของเราได้ภายหน้าค่ะ
เพียงแค่แกะรอย...เรื่องเล่า ผ่านสือ...ตามบทบาทของคุณแขก ก็เป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับคนทั้งโลกแล้วค่ะ เพราะเรื่องราวที่จารึก...บอกความหมาย...เพื่อต่อยอดการเรียนรู้ทั้งสิ้นค่ะ

ใช่แล้วครับที่คุณแขกบอกว่าเรียนรู้ตลอดชีวิต....ไม่จำเป็นต้องเรียนอยู่ในห้องเสมอไป...การเรียนรู้คือการเอาสิ่งที่จดบันทึก

ทำให้เรารุ้จักการเรียนรู้ตัวเองได้มากขึ้น.....เพื่อที่จะต่อยอดการเรียนรู้ของตัวเองและผู้อื่น...

 

I like your very interesting article.  I think it will bne good if we both publish this one to be more well-known. 

สร้ส้ราสดัร้สนริ่รนสนว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท