พายุ
นาง สุภาภรณ์ บุตรดีวงษ์ มีเงิน

บุคลิกภาพกับการทำงาน


บุคลิกภาพมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำงาน กล่าวคือ บุคคลจะมีความสุขในการทำงาน และประสบความสำเร็จในการทำงานได้ตามความปรารถนานั้น

บุคลิกภาพกับการทำงาน

                John L. Holland ( 1964 ) นักจิตวิทยาทางด้านอาชีพเน้นความสำคัญของบุคลิกภาพว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำงาน กล่าวคือ บุคคลจะมีความสุขในการทำงาน และประสบความสำเร็จในการทำงานได้ตามความปรารถนานั้น ควรได้ทำงานประกอบอาชีพที่สอดคล้องต้องกันกับบุคลิกภาพของเขา ตัวอย่างเช่น บุคคลที่มีบุคลิกภาพชอบสังคม ชอบทำงานกับคน (Human oriented) มักจะมีความสุขที่ได้ทำงานประกอบอาชีพที่มีโอกาสพบปะผู้คน ได้ทำงานร่วมกันกับผู้อื่น ได้พบปะสังสรรค์ หรือทำอะไรให้ผู้อื่นในลักษณะที่มีจิตใจบริการเช่น งานประชาสัมพันธ์ งานฝึกอบรม งานเลขานุการ งานต้อนรับ หรืองานบริการอื่นๆ ในทางตรงข้ามบุคคลที่มีบุคลิกภาพที่มุ่งเน้นงานเป็นหลัก (Task oriented) ก็จะมีความสุขที่ได้ทำงานตามลำพัง ไม่ต้องพบปะสังสรรค์กับผู้ใดมากนัก เช่น ทำงานในห้องปฏิบัติการ ทำงานกับเครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องจักรหรือวัสดุต่างๆ ที่ พูดไม่ได้ เป็นต้น ถ้าเขาต้องทำงานอะไรที่ขัดแย้งกับบุคลิกภาพของเขา เขาก็จะมีแนวโน้มที่จะขาดความสุข แสดงความเบื่อหน่ายเฉื่อยชา ไม่ประสบความสำเร็จในการทำงาน ไม่พึงพอใจในการทำงาน ซึ่งนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ได้อีกมากมาย

                อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมการทำงานของผู้คนส่วนใหญ่ก็คือ เขามักจะไม่มีทางเลือกมากนักในการที่จะเลือกงานที่สอดคล้องกับตนเองทางด้านความสามารถทางสมอง หรือ เชาวน์ปัญญา ทางด้านบุคลิกภาพ  ความสนใจ  หรือความถนัดของเขา ทั้งนี้เพราะเกิดความไม่สมดุลกันระหว่าง ตำแหน่งงานและจำนวนผู้ต้องการทำงาน นั่นคือ ตำแหน่งงานมีจำกัดแต่จำนวนผู้สมัครงานมีมาก ผู้คนจึงจำเป็นต้องเลือกงาน (อะไรก็ได้) ที่สามารถทำได้เอาไว้ก่อน ถ้าหากว่าเขาสามารถปรับตัวเข้ากับงานที่เขาเลือกแล้วนั้นได้ ก็อาจจะไม่มีปัญหาอะไรมากนัก แต่ถ้าเขาไม่สามารถปรับตัวได้ เขาย่อมหาโอกาสแสวงหางานใหม่ หรือจำเป็นจำใจต้องทำต่อไป อย่างไร้ประสิทธิภาพเท่าที่ควรจะเป็น ซึ่งย่อมเป็นผลเสียอย่างยิ่งต่อองค์กร


                ปัญหาต่อมาในการคัดเลือกบุคลากรมาเข้าทำงานก็คือ องค์กรส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญ ต่อผลการศึกษา หรือคะแนน GPA เป็นหลัก แต่ให้ความสำคัญน้อยมากต่อตัวแปรที่เกี่ยวกับบุคลิกภาพ หรือคุณลักษณะภายในของบุคคล ซึ่งไม่สามารถสังเกตได้อย่างผิวเผินจากการสัมภาษณ์บุคคลผู้นั้นเพียง 5-10 นาที เท่านั้น ทั้งนี้เพราะในเวลาอันจำกัดของการสัมภาษณ์ บุคคลผู้ถูกสัมภาษณ์ และต้องการได้งานทำมักมีแนวโน้มที่จะพยายามสร้างภาพลักษณ์ของตนเองให้ “ดูดีและน่าประทับใจ” ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ไม่ยากนัก และส่วนมากมักจะเป็น “ภาพลวงตา” มากกว่า “ภาพจริง” ของบุคคลผู้นั้น วิธีการใช้แบบสำรวจบุคลิกภาพ ซึ่งเป็นแบบสำรวจทางจิตวิทยาที่เป็นมาตรฐานและน่าเชื่อถือได้ น่าจะเป็นกระบวนการหนึ่งที่ช่วยให้ฝ่ายบุคคลมีข้อมูลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับบุคลิกภาพของผู้สมัครว่าเหมาะสมสอดคล้องกับตำแหน่งงานที่จะมอบหมายให้เขาเข้าไปทำหรือไม่ ซึ่งอาจจะช่วยลดปัญหาของการเปลี่ยนงาน โยกย้ายงานหรือออกจากงานโดยไม่รู้สาเหตุที่แท้จริงได้ในระดับหนึ่ง


                แบบสำรวจบุคลิกภาพที่จะนำมาใช้นี้เป็นแบบสำรวจบุคลิกภาพที่แปล เรียบเรียงและดัดแปลงมาจากแบบสำรวจบุคลิกภาพ ชุด   The  Edwards   Personal   Preference   Schedule    (EPPS)   ของ   Allen  L. Edwards     นักจิตวิทยาด้านการทดสอบจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน     ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่ง รองศาสตราจารย์ ดร. พรรณราย ทรัพยะประภา เป็นผู้ดำเนินการแก้ไขดัดแปลง (โดยได้รับอนุญาต) ให้เหมาะสมกับวัฒนธรรมไทย แม้ว่าจะไม่สามารถกระทำได้ทั้งหมดเพราะว่าจำเป็นต้องคงไว้ซึ่งโครงสร้างเต็มทุกประการและสร้างเกณฑ์มาตรฐานไว้ให้ตรวจสอบ ซึ่งได้ดำเนินการศึกษาวิจัยมาเป็นเวลานานพอสมควร จึงสามารถนำออกมาใช้สำรวจบุคลิกภาพ  โดยมุ่งเน้นการนำผลการตรวจสอบไปใช้เพื่อการแนะแนวการศึกษาและอาชีพ รวมทั้งใช้ในการคัดเลือกบุคคลเข้าทำงานหรือเพื่อการพิจารณาเลื่อนตำแหน่ง


                บุคลิกภาพทั้ง 15 ด้านที่จะเกี่ยวข้องกับการทำงาน สรุปได้ดังนี้         
 

1.    ความต้องการสัมฤทธิผล  (Achievement)    เป็นความต้องการทำงานต่างๆ ให้ประสบความสำเร็จในงานที่มีความสำคัญทั้งงานส่วนตัวและงานที่ได้รับการยอมรับทางสังคม  เป็นความขยันหมั่นเพียร  ทำงานเพื่องาน  (task  oriented)

2.    ความต้องการเป็นผู้ตาม  (Deference)   เป็นความต้องการปฏิบัติตนตามขนบธรรมเนียมประเพณี และทำตามคำแนะนำ / สั่งสอนของผู้อื่น


3.    ความต้องการเป็นระเบียบ  (Order)    เป็นความต้องการเน้นการจัดระบบระเบียบและความสะอาดเรียบร้อยในการทำกิจกรรมหรือการงานต่างๆ

4.    ความต้องการแสดงออก  (Exhibition)     เป็นความต้องการสร้างความสนใจจากผู้อื่นด้วยการแต่งกายหรือการแสดงพฤติกรรมต่างๆ


5.   ความต้องการพึ่งตนเอง (Autonomy)   เป็นความต้องการความเป็นอิสระในตนเองและจากผู้อื่นทำอะไรได้ตามตนเองต้องการ มีความเป็นตัวของตัวเอง เชื่อมั่นในตนเอง


6.   ความต้องการผูกไมตรีกับผู้อื่น (Affiliation)  เป็นความต้องการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ  กับผู้อื่น  การพบปะสังสรรค์กับผู้อื่น และการสร้างมนุษยสัมพันธ์กับผู้อื่น  เน้นการทำงานกับคนเป็นหลัก  (human  oriented)


7.   ความต้องการเข้าใจตนเองและผู้อื่น   (Intraception)   เป็นความต้องการคิดถึงแรงจูงใจต่างๆ ที่อยู่ภายใต้การแสดงพฤติกรรมของตนเองและของผู้อื่น


8.    ความต้องการขอความช่วยเหลือ  (Succorance)  เป็นความต้องการได้รับการสนับสนุนให้กำลังใจ ความสงสาร และความรักจากผู้อื่น

9.    ความต้องการเป็นผู้นำ (Dominance)  เป็นความต้องการทำหน้าที่เป็นผู้นำ หรือมีบทบาทเป็นผู้นำผู้อื่น


10.   ความต้องการยอมรับโทษ   (Abasement)   เป็นความต้องการยอมรับผิดที่ได้กระทำความผิดลงไป  หรือเมื่อมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งผิดพลาด มักขี้อายและมีปมด้อยในตนเอง

11.   ความต้องการช่วยเหลือผู้อื่น   (Nurturance)   เป็นความต้องการให้ความช่วยเหลือผู้อื่น ให้ความสงสารเห็นอกเห็นใจ และความรักแก่ผู้อื่น

12.   ความต้องการเปลี่ยนแปลง  (Change)   เป็นความต้องการแสวงหาประสบการณ์ใหม่ ๆ  และหลีกเลี่ยงการ        ทำงานที่ซ้ำ ๆ ซาก ๆ  เป็นประจำ
    
13.   ความต้องการอดทน (Endurance)  เป็นความต้องการทำงานหนัก และจดจ่ออยู่กับการทำงานจนกว่าจะทำงานนั้นเสร็จ

14.   ความต้องการคบเพื่อนต่างเพศ (Heterosexuality) เป็นความต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม         หรือการทำงานที่มีคนต่างเพศอยู่ร่วมกัน
       
15.   ความต้องการก้าวร้าว  (Aggression)   เป็นความต้อง การโจมตี วิพากษ์วิจารณ์ หรือการล้อเลียนผู้อื่น


                จากองค์ประกอบทั้ง 15 ประการนี้ อาจตั้งสมมุติฐานได้ว่าบุคคลผู้มีบุคลิกภาพที่เหมาะสมจะเข้ามาทำงานอย่างน้อยที่สุดจะต้องมีบุคลิกภาพทางด้านความต้องการสัมฤทธิผล  (Achievement) ความต้องการเป็นระเบียบ (Order)  ความต้องการพึ่งตนเอง  (Autonomy)  ความต้องการเป็นผู้นำ  (Dominance)  ความต้องการยอมรับโทษ (Abasement)  และความต้องการอดทน  (Endurance)  สำหรับด้านอื่น ๆ  นั้น ให้พิจารณาเพิ่มเติมจากลักษณะงานที่เขาทำ  เช่น  เป็นงานที่ติดต่อกับผู้อื่น  เน้นคนเป็นหลัก  (Human Oriented)  หรือเป็นงานที่เน้นงานเป็นหลัก  (Task Oriented)  เป็นต้น ซึ่งแต่ละตำแหน่งงาน จะต้องการลักษณะบุคลิกภาพที่แตกต่างกัน

ที่มา : http://www.rsu.ac.th/education/index.php?option=com_content&task=view&id=88&Itemid=106

หมายเลขบันทึก: 134899เขียนเมื่อ 4 ตุลาคม 2007 17:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • สวัสดีครับ
  • แวะมาเกี่ยวความรู้ครับ
  • ขอบพระคุณครับ
  • ขอขอบพระคุณยิ่ง ด้วยใจจริงที่กรุณา ชื่นจิตเป็นหนักหนา ขอขอบพระคุณ ขอขอบพระคุณ (กรุณาร้องให้เป็นเพลงนะคะ)
  • ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมชมคะ 

ขอบคุณมากครับ กับเนื้อหาความรู้ มีประโยชน์มากครับ

  • ยินดีคะ และดีใจที่มีประโยชน์กับคนอื่น

อาจารย์สุภาภรณ์ ที่นับถือ

ขอบคุณสำหรับบทความดีๆ ค่ะดิฉันกำลังทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับการพัฒนาความสามารถของบุคลากรสายสนับสนุนในหน่วยงานราชการ แถวๆอีสานตอนล่าง เห็นว่าข้อมูลอาจารย์เป็นประโยชน์ เลยมาขออนุญาตนำไปอ้างอิงไว้ในวิทยานิพนธ์ค่ะ

ถ้าอาจารย์มีคำชี้แนะเพิ่มเติม ขอน้อมรับด้วยความยินดีค่ะ

ขอขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท