โลกร้อนกระทบทรัพยากรชายฝั่ง เน้นพอเพียงสู่ชุมชน


ความรุนแรงของปัญหาภาวะโลกร้อน

โลกร้อนกระทบทรัพยากรชายฝั่ง เน้นพอเพียงสู่ชุมชน
                หลายองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกได้กล่าวถึงความรุนแรงของปัญหาภาวะโลกร้อนว่าอาจมีความรุนแรงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ดังนั้น ณ เวลานี้ ทุกคนไม่ควรละเลยความสำคัญของปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะผลกระทบโลกร้อนอาจเพิ่มปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ซึ่งมีสาเหตุจากการกระทำของมนุษย์ และจากธรรมชาติ อาจมีความรุนแรงและเกิดขึ้นรวดเร็วมากขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้
                ภาวะโลกร้อนสามารถเป็นปัจจัยเสริมความรุนแรงของสาเหตุจากธรรมชาติที่ก่อให้เกิดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล เนื่องจากผลกระทบภาวะโลกร้อนทำให้เกิดความแปรปรวนของสภาพอากาศโลก และการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล เหล่านี้ส่งผลให้พายุและคลื่นที่พัดเข้าหาชายฝั่งทะเลมีความถี่และความรุนแรงเพิ่มขึ้น และมีการเปลี่ยนทิศทาง ทำให้เกิดการกัดเซาะรุนแรงจนสูญเสียเนื้อที่ชายฝั่งและเกิดแผ่นดินทรุดตัวตามแนวชายฝั่งเพิ่มขึ้น ทำให้ชุมชนต้องอพยพย้ายที่อยู่อาศัย และรัฐต้องเสียงบประมาณป้องกันปัญหาดังกล่าวเพิ่มขึ้น
                หลายประเทศมีสภาพปัญหาที่ใกล้เคียงกันเกี่ยวกับปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลดังกล่าว เช่น ที่รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา มีการสูงขึ้นของระดับน้ำทะเลลุกล้ำเข้าสู่ปากแม่น้ำและท่วมชายฝั่ง รวมทั้งการลดลงของชายหาดในหลายแห่ง ดังนั้น สถาบัน Institute of Science and Public Affairs แห่ง Florida State University จึงได้ทำการศึกษา ในปี 2007 เพื่อคาดการณ์การสูงขึ้นของระดับน้ำทะเล ตั้งแต่ปี 2006 ถึง 2080 ในบริเวณรอบ Florida Peninsula พบว่า แนวโน้มความสัมพันธ์ของช่วงเวลาและการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลเป็นเส้นตรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการเพิ่มขึ้นของระดับก๊าซเรือนกระจก การศึกษานี้ทำให้ทราบแนวทางการวางแผนทางเศรษฐศาสตร์ และการป้องกันในอนาคต นอกจากนั้น จากการรายงานของ Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) ในปี 2007 เช่นกัน พบว่า ประเทศออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ มีระดับน้ำทะเลสูงขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยระดับน้ำทะเลทั่วโลก ประมาณ 25% ซึ่งหมายถึงระดับน้ำในมหาสมุทรอาจเพิ่มขึ้นถึงระดับ 80 เซนติเมตร ในปี 2100 ข้างหน้า นอกจากนั้น ยังพบว่ามีความถี่และความรุนแรงของพายุเพิ่มขึ้นด้วย รวมทั้งชายฝั่งถูกน้ำท่วมในหลายแห่ง โดยเฉพาะทางแถบเมือง Cairn และแถบตะวันออกเฉียงใต้รัฐควีนส์แลนด์ของออสเตรเลีย
                ประเทศไทยนับเป็นประเทศหนึ่งที่มีพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่มีความยาวค่อนข้างมาก กล่าวคือ ฝั่งอ่าวไทย มีความยาวชายฝั่งตลอดแนว 1,878 กิโลเมตร และชายฝั่งทะเลอันดามัน 937 กิโลเมตร (จากข้อมูล กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง) โดยตลอดทั้งสองแนวชายฝั่งมีทรัพยากรทางทะเลหลากหลายชนิด ทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ มากมาย อาทิ การท่องเที่ยว การทำประมงชายฝั่ง การคมนาคมทางน้ำ หากเกิดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งเพิ่มขึ้นก็อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจตามมา ดังนั้น ประเทศไทยและทุกประเทศต้องร่วมมือกันวางแผนป้องกันทั้งในระยะสั้น และระยะยาว เพราะการไหลเวียนของกระแสน้ำทะเลและมวลอากาศของโลกมีการเชื่อมโยงถึงกันอยู่ตลอดเวลา

                ดังนั้น ทางแก้ไขโลกร้อนควรยึดการดำเนินชีวิตอย่างพอเพียง ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของสังคมไทย จึงเป็นวิถีทางในการแก้ไขสาเหตุของภาวะโลกร้อนและการพัฒนาประเทศด้านอื่นๆ ไปพร้อมกันแบบบูรณาการ อาทิ การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ เมื่อมีการใช้ไม้ในป่าต้องมีการปลูกทดแทนและการเก็บเกี่ยวประโยชน์จากป่าในอาชีพอย่างพอประมาณ การประหยัดพลังงานและการหาวิธีผลิตพลังงานแบบพึ่งพาตนเอง การลดปริมาณขยะด้วยการบริโภคอย่างพอเหมาะและใช้สิ่งต่างๆ ที่จำเป็น รวมทั้งการหาวิธีการกำจัดขยะให้เกิดประสิทธิภาพและลดการเกิดมลพิษ ตลอดจนศึกษาวิธีการลดก๊าซเรือนกระจกสาเหตุของภาวะโลกร้อนจากแหล่งต่างๆ อย่างเหมาะสม และไม่เกิดผลกระทบต่อชุมชนตามทิศทางกระแสโลก
                จากข้อมูลของ IPCC (Intergovernmental Panel on Climate Change) พบว่า มีเทน เป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีความสำคัญเป็นลำดับที่ 2 รองจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ พบว่า ดินในนาข้าวมีการปลดปล่อยก๊าซมีเทน ประมาณ 15-20% ของปริมาณมีเทนที่ปลดปล่อยสู่บรรยากาศ ทั้งนี้จากรายงานการวิจัย ปี 2007 ของภาควิชา Geosciences แห่ง University of Wisconsin และภาควิชา Civil and Environmental Engineering แห่ง Princeton University สหรัฐอเมริกา ได้ทำการศึกษาแบบจำลองระบบและแนวทางการลดการปล่อยก๊าซมีเทนจากแปลงนาข้าว โดยเริ่มศึกษาตัวรับอิเล็กตรอนบางชนิดในดินที่มีสภาพน้ำท่วมขัง อาทิ ออกซิเจน ไนเตรต (NO3) ธาตุแมงกานีสในรูป Mn(IV) ธาตุเหล็กในรูป Fe(III) และสารซัลเฟต (SO4) และมีตัวให้อิเล็กตรอน คือ อะซิเตต (Acetate) และธาตุไฮโดรเจน ซึ่งได้จากการย่อยสลายอินทรียวัตถุ โดยตัวรับและตัวให้อิเล็กตรอนเหล่านี้เกี่ยวข้องกับกระบวนการถ่ายทอดอิเล็กตรอน (electron transfer processes) ของปฏิกิริยาที่ทำให้เกิดก๊าซมีเทนในแปลงนา รวมทั้งการทดสอบผลของการใช้ปุ๋ยและการระบายน้ำในพื้นที่ต่อการปลดปล่อยก๊าซมีเทนจากแปลงนา และศึกษาผลของอุณหภูมิต่อกระบวนการแพร่และจลนศาสตร์ของปฏิกิริยา (reaction kinetic) ซึ่งทดสอบทั้งภาคปฏิบัติการและแปลงนาจริง รวมทั้งศึกษาการปลดปล่อยสารอินทรีย์คาร์บอนจากราก (exudation) และการปลดปล่อยออกซิเจนจากรากของต้นข้าว และชีวมวลรากของต้นข้าว การเจริญเติบโตของต้นข้าว การกระจายของอินทรีย์คาร์บอนในดิน อาการของโรคในรากพืช การลดลงของปริมาณก๊าซ เพื่อนำข้อมูลการศึกษาดังกล่าวมาประเมินการปลดปล่อยก๊าซมีเทนในแปลงนาที่ปลูกในเมือง Chongqing และ Sichuan ของประเทศจีน ชี้ให้เห็นว่าการปลดปล่อยก๊าซมีเทนจากแปลงนาข้าวพันธุ์ลูกผสมมีมากกว่าพันธุ์พื้นเมือง (ลักษณะต้นสูง) ในระยะต้นกล้า และการปลดปล่อยก๊าซมีเทนช่วงระยะต้นกล้ามีมากกว่าช่วงฤดูการปลูกข้าว และพบว่าเมื่อใส่ปุ๋ยไนเตรต อัตรา 64 kg N/ha สามารถลดการปลดปล่อยก๊าซมีเทนได้ถึง 7% และเหล็ก (Fe) และแมงกานีส (Mn) ในรูป oxidized forms ที่พบในช่วงที่ระบายน้ำขังในแปลงนาก่อนฤดูการปลูกสามารถลดการปลดปล่อยก๊าซมีเทนได้ ประมาณ 8-10% และการระบายน้ำขังในแปลงนา 1 สัปดาห์ ในช่วงฤดูกาลปลูกสามารถลดการปลดปล่อยก๊าซมีเทนได้ถึง ประมาณ 22-23% เทคนิคนี้นอกจากเป็นการลดการปลดปล่อยก๊าซมีเทนแล้ว ยังเป็นการรักษาระดับน้ำที่เหมาะสมในแปลงนาและเพิ่มปริมาณผลผลิตข้าวอีกด้วย
                อย่างไรก็ตาม ความพอเพียงในการดำเนินชีวิตเป็นทางแก้ไขสาเหตุของภาวะโลกร้อนได้เป็นอย่างดี แต่ควรกระทำอย่างต่อเนื่องโดยเริ่มจากตนเอง ครอบครัว ชุมชนหรือหมู่บ้าน จนถึงประเทศชาติ ผนวกกับการคิดหาเทคนิควิธีการตามศักยภาพให้สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของประเทศ ก็จะทำให้ประเทศชาติมีการพัฒนาอย่างมั่นคงตลอดไป

 ที่มาข้อมูล มติชน เทคโนโลยีชาวบ้าน วันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 19 ฉบับที่ 415 หน้า 20

 

หมายเลขบันทึก: 134180เขียนเมื่อ 2 ตุลาคม 2007 17:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 20:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท