ทำไมถึงเรียกออสเตรเลียว่า ประเทศที่พัฒนาแล้ว


ความเจริญของประเทศพัฒนา คืออะไร

    คนที่นี่เรียกการแบ่งประเทศออกเป็นกลุ่มๆ ด้วยคำเรียกที่ต่างกันครับคนทั่วๆไปเขาเรียก กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว, กลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา

    ก็จะมีคนถามไล่หลังมาอีกนั้นล่ะว่า พัฒนา หมายถึงอะไร ด้านวัตถุ หรือด้านจิตใจหลายๆ คน โดยเฉพาะในวงการการศึกษา เลยเปลี่ยนคำเรียกเป็น กลุ่มประเทศอุตสาหกรรม กับ กลุ่มประเทศที่เหลือ

    แน่นอนครับ ออสเตรเลียเป็นประเทศในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม หรือเป็นประเทศพัฒนาแล้ว

    ขออนุญาตแสดงมุมมองของคนที่มาอยู่ในเมือง  Adelaide รัฐ South Australia เมืองบ้านนอกๆ ของประเทศนี้ สักหน่อย ว่ามัน เจริญ หรือ พัฒนา จริงหรือเปล่า

     Adelaide เป็นเมืองที่มีคนอยู่เพียงล้านกว่าคนครับ เล็กมาก พื้นที่ของเมืองทั้งเมืองอาจจะพอๆ กับเขตปทุมวันของเราเท่านั้นเอง แต่การพัฒนาเมืองนี้มีความน่าสนใจมากครับ

     ก่อนมาที่นี่ผมมักจะคิดว่า ความเจริญ มักจะวัดกันที่ "ความมี" หรือความเจริญทางวัตถุ พอมาอยู่ได้สักพัก ได้เริ่มเห็นมิติอื่นๆ ของประเทศอุตสาหกรรมที่อาจจะพอบอกได้ว่า "เจริญ"  กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ แค่ความเจริญทางวัตถุ ไม่เพียงพอที่จะบอกได้ว่าประเทศนั้นๆ เจริญ มันมีความเป็นนามธรรมหลายๆ อย่างที่ประกอบกับความเจริญทางวัตถุนั้นๆ ขออนุญาตมาเล่าให้ฟังเป็นข้อๆ ดังต่อไปนี้ครับ

1.การให้ความสำคัญกับ "คน" ของรัฐ

   คนเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของประเทศ ประเทศเจริญแล้วจึงให้ความสำคัญกับคนมาก เริ่มตั้งแต่ระบบการรักษาความปลอดภัยเลยครับ การกั้นรั้วรอบขอบชิดในการก่อสร้างทุกแห่ง การจัดทางเดินให้คนเดินแยกจากบริเวณก่อสร้างข้างถนน การจัดเลนโดยเฉพาะสำหรับจักรยาน กฎหมายการจำกัดความเร็วรถยนต์ที่เข้มงวดโดยใช้กล้องถ่ายจับรถที่ขับเร็ว ฯลฯ

   นอกจากเรื่องความปลอดภัยแล้ว การให้ความสำคัญกับคนพิการด้วยการทำทางลาดสำหรับรถเข็นในการข้ามถนนในทุกๆ แยกไฟแดง อุปกรณ์สำหรับยกรถเข็นขึ้นรถเมล์ หรือทางเดินถนนที่ช่วยให้คนตาบอดรู้ว่าแยกนี้อยู่ที่ไหน แม้กระทั้งอักษรเบลล์ในปุ่มลิฟต์, ในห้องน้ำสาธารณะ ฯลฯ อุปกรณ์เหล่านี้ใช้ได้จริง ทำให้คนพิการมีอิสระภาพในการไปไหนมาไหนในเมืองได้ไม่ลำบากยากเข็ญนัก

    การให้ความสำคัญกับคนยังครอบคลุมถึงเรื่องการจัดระบบสวัสดิการสังคม การศึกษา การนันทนาการ การขนส่งมวลชน การจัดพื้นที่สีเขียวในเมือง แม้จะต้องใช้เงินในการนี้เยอะๆ ไปกับการพัฒนาโรงเรียน พิพิธภัณฑ์ สวนสัตว์ หอศิลป์ โรงละคร สวนสาธารณะ หรือระบบขนส่งมวลชน แต่ผมก็เชื่ออีกว่าเงินเป็นปัจจัยรองลงมาครับ ปัจจัยหลักคือ การให้ความสำคัญกับคน เพราะถ้าไม่ได้คิดบนฐานปัจจัยนี้แล้ว มีเงินมากเท่าไหร่ ก็เอาไปลงกับการสร้างถนนหมด

 2.ทางเลือก

    ผมมองว่าคนในประเทศที่เจริญแล้วมีทางเลือกในการดำรงชีวิตมากกว่าในประเทศที่ยังไม่เจริญครับ มีทางเลือกในการศึกษา มีทางเลือกในการประกอบอาชีพ (เงินรายได้ของช่างประปา, ช่างก่อสร้าง ไม่ต่าง หรือบางทีอาจจะมากกว่าเงินรายได้ของอาจารย์มหาวิทยาลัย, ทำงานเป็นคนงานก่อสร้างก็มีเงินพอจะซื้อรถเปิดประทุนขับได้) ทางเลือกในการเดินทาง สามารถเลือกวิธีเดินทางมาทำงานได้หลายทาง (เดิน, รถเมล์, รถไฟ, รถราง, รถเมล์เอกชน, รถเมล์ฟรีของเทศบาล หรือแม้กระทั่งจักรยาน)   

  3.กฎหมายคือ "คุณค่าร่วมของสังคม"

    ออสเตรเลียเป็นประเทศที่มีคนจากกว่าสองร้อยประเทศอพยพมาอยู่ร่วมกัน ดังนั้นหนึ่งเดียวที่เป็นคุณค่าร่วมของออสเตรเลีย (นอกจาก ฟุตบอลกับคริกเกต) คือ "กฎหมาย" ครับ เรามั่นใจได้ว่าหากเราใช้ชีวิตอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย ไม่มีใครมาทำอะไรเราได้ เพราะเราเคารพกฎหมาย เราเลยมีสิทธิตามที่กฎหมายกำหนดไว้

    สามข้อนี้แหละครับที่ผมมองว่าเป็นจุดผลักดันให้ประเทศ พัฒนา (แม้ว่าจะไม่ทันสมัยก็ตาม) หากจะมองกันในแง่ศีลธรรม วัฒนธรรม หรือความเจริญทางด้านจิตใจ ผมว่าคนในประเทศนี้ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากบ้านเมืองของเราครับ แต่ และเป็นความ "เจริญ" ทางนามธรรมที่สร้างขึ้นมากบนฐานของการให้ความสำคัญของคน การสร้างทางเลือกในการดำเนินชีวิต และการทำให้ทุกคนเคารพกฎหมาย สามข้อนี้แหละ ที่ทำให้เราพอจะเรียกมันว่าเป็นบ้านเมืองที่พัฒนาได้

หมายเลขบันทึก: 133868เขียนเมื่อ 2 ตุลาคม 2007 04:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 01:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท