วันนี้มีงานเทศกาลบุญจุมบนที่เมืองเขมร


เทศกาล “บุญจุมบน” เริ่มตั้งแต่วันแรมหนึ่งค่ำจนถึงแรมสิบห้าค่ำเดือนสิบ

วันนี้ระหว่างที่นั่งรถจากที่พักไปทำงานในกรุงพนมเปญขณะที่ผ่านวัดทุกแห่ง สังเกตเห็นผู้คนคึกคักล้นหลาม หน้าวัดมีแม่ค้ามานั่งขายดอกไม้ส่วนมากเป็นดอกบัว และช่อมาลัยดอกมะลิที่ปักไว้เป็นพุ่มบนมะพร้าวอ่อน

จึงเก็บไปสอบถามเพื่อนร่วมงานชาวเขมร เขาบอกว่าช่วงนี้เป็นเทศกาล บุญจุมบน

เทศกาล บุญจุมบน เริ่มตั้งแต่วันแรมหนึ่งค่ำจนถึงแรมสิบห้าค่ำเดือนสิบชาวเขมรจะไปทำบุญตักบาตรที่วัดทุกวัน เพื่ออุทิศบุญกุศลถึงญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว   ผู้เฒ่าผู้แก่จะพากันนอนค้างที่วัด กลางคืนจะพากันทำข้าวกระยาสารท แล้วนำไปวางไว้รอบๆวัด เพื่อให้เปรตมากิน(คนเขมรเรียกเปรตเหมือนไทย)

ในวันแรมค่ำเดือนสิบถึงสิบห้าค่ำ ซึ่งถือเป็นวันสุดท้ายของเทศกาล คนจะไปที่วัดมากที่สุด เพื่อสวดภาวนาถึงญาติที่วายชนม์ และนิยมไปทำบุญให้ครบเจ็ดวัดญาติจะได้บุญมาก

ถือเป็นวันหยุดราชการของเขมรด้วยครับ      ในปีนี้ให้หยุดสามวันสำหรับเทศกาลบุญจุมบน คือตั้งแต่วันที่สิบถึงวันที่สิบสองตุลาคม เห็นบอกว่าปกติหยุดสองวันคือวันที่สิบสี่และสิบห้าของบุญ แต่ปีนี้มีแถมพิเศษในวันศุกร์ ซึ่งเป็นวันหยุดต่อเนื่อง    อันนี้ทำให้นึกถึงบ้านเราสมัยก่อนที่หยุดโรงเรียนในวันพระครับ

เดือนตุลาในกัมพูชามีวันหยุดราชการอีกสองวันคือวันที่ 29 ตุลา เป็นวันเฉลิมพระชนม์ของกษัตริย์พระองค์ปัจจุบัน(พระบาทสมเด็จฯสีหมุนี) และวันที่ 31 ตุลา เป็นวันเฉลิมพระชนม์ของกษัตริย์พระองค์ก่อน(พระบาทสมเด็จฯสีหนุ)

สำหรับเทศกาลบุญจุมบน เมื่อเทียบกับทางบ้านเราแล้ว คงเหมือนกับบุญข้าวสากข้าวประดับดินของภาคอีสาน บุญเดือนสิบ(กระยาสารท)ของภาคกลาง งานชิงเปรตของภาคใต้   บุญทานกว๋ยสลาก(เขียนคำว่า สะ หลาก กะ พัด ไม่เป็น)ของภาคเหนือ และของพี่น้องฝั่งลาว รวมถึงวันสารทจีนด้วยครับ เพราะจัดอยู่ในช่วงเดียวกัน

ผมมานั่งวิเคราะห์ดูกับเพื่อนๆ คิดกันว่าล้วนมาจากรากเหง้าเดียวกัน คือคติความเชื่อจากพุทธประวัติที่ว่า พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ในช่วงเดือนนี้ ผิดถูกอย่างไรไม่ว่ากันนะครับ เพราะในกลุ่มที่นั่งคุยกัน มีแต่วิศวกร และนักวิชาเกินอย่างผมอีกคน

ที่เขมรมีหลายอย่างเหมือนบ้านเรา เช่นมีศาสนาพุทธนิกาย ธรรมยุติ และมหานิกาย แต่มีสมเด็จพระสังฆราชแยกกันแต่ละนิกาย การนับปีเกิดสิบสองนักกษัตร ก็นับ ชวด ฉลู ขาล เถาะ วอก ระกา มะโรง มะเส็ง มะเมีย มะแม กุน เหมือนบ้านเรา อันนี้ไม่ทราบใครยืมใคร แต่คิดว่ามาจากอินเดียแหล่งเดียวกัน

เขียนเรื่องพระเรื่องเจ้าทางฟากตะวันออกของประเทศไทย และชวนให้นึกถึงพระในอีกฟากหนึ่งของประเทศไทยที่กำลังเดินขบวนกันอยู่ครับ 

หมายเลขบันทึก: 132721เขียนเมื่อ 28 กันยายน 2007 16:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 เมษายน 2012 16:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ไม่มีรูปด้วยรึ หรือว่าถ่ายไม่ทัน

มันมีรากเดียวกันอย่างว่าแหละ แต่ละแห่งก็แตกต่างกันในรายละเอียดบ้าง นี่คือความหลากหลายแต่เนื้อแท้ข้างในคือการศรัทธาพุทธศาสนา

  • สวัสดีค่ะ คุณ paleeyon
  • แถบๆนี้ควมีอะไรที่คล้ายๆกันนะคะ
  • พี่สาวป้าแดง บอกว่า ต้องไปทำบุญข้าวสากนะ แม่ถึงจะได้มีอะไรกิน ป้าแดง ก็เพิ่งรู้ว่า เป็นงานบุญที่ทำให้คนเปรตหรือคนตาย หรือบางคนก็บอกว่า ทำไว้เผื่อสำหรับเราเมื่อตายไปแล้ว
  • เสียดายที่ป้าแดง ได้แค่ใส่บาตรไม่ได้ เอาข้าวไปให้เปรตเลย
  • รู้สึกว่า ป้าแดงไม่รู้จักประเพณีท้องถิ่นตัวเอง เอามากๆคงต้อง ลื้อกันอีกนานเลย
  • ขอบคุณค่ะ ที่สร้างแรงบันดาลใจให้ค่ะ

ผมอยากไปงานชิงเปรต

 ติดต่อได้ที่ไหนครับ

งานชิงเปรตต้องไปที่ นครศรีธรรมราชนะจ๊ะ แต่ถ้างานทำบูญใหญ่ให้กับคนที่ล่วงลับไปแล้ว ไปแถวสุรินทร์นะคะ งานจะมีก่อนวันออกพรรษา 15 วัน เป็นพิธีที่ถือว่่าสำคัญมากของพุทธศานิกชนชาวสุรินทร์ เรียกว่า พ่อแม่ ขอร้องลูก ๆ ที่ทำงานกรุงเทพฯ ว่าอย่างไรเสีย วันนี้ต้องกลับมาทำบูญที่บ้าน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท