ป้าเจี๊ยบ
น้อง พี่ อา ป้า ครู อาจารย์ คุณ นางสาว ดร. รศ. ฯลฯ รสสุคนธ์ โรส มกรมณี

อาหารเป็นยา


เรื่อง..อาหาร...ชีวบำบัดทางเลือก..ในนิตยสาร Spice

     เพื่อนซี๊ตีหน้าทรงภูมิแถลงว่า “รู้มั๊ย อาหารเป็นยาได้ด้วยนะ”
     เราได้ทีถล่มทับว่า “เค้ารู้กันทั้งน้าน  มีนายคนเดียวมั๊งที่ตกข่าว”
     หน้าเพื่อนหุบลงนิด  แล้วพลันลอยหน้ายียวนถามกวนๆว่า
     “แล้วรู้อ๊ะปล่าวว่ารักษาอะไรโรคอะไร”
     เราปรับสีหน้าให้เคร่งขรึมก่อนตอบอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า “โรคหิว”   แล้วรีบย้ายตัวเองให้พ้นจากรัศมีการประทุษร้าย  

     หลังจากแหย่เพื่อนพอได้อารมณ์แล้ว เราเองกลับต้องเอาเรื่องที่พูดเล่นมาทบทวน   เพราะกระแสเรื่องอาหารเพื่อชีวบำบัดกำลังเฟื่องฟูเหลือประมาณ ยิ่งเมื่อมีคนตั้งตนเป็นแพทย์ทางเลือก  รักษาโรคสารพัดด้วยน้ำผัก  จนเกิดคดีกลายเป็นหัวข้อโต้เถียงกันทางสื่อมวลชน  ก็ยิ่งทำให้กลุ่มต่างๆที่มีแนวปฏิบัติคล้ายๆกันได้รับความสนใจไปด้วย
 
     นึกย้อนไปประมาณสามสิบปีที่แล้ว   พบหนังสือเล่มหนึ่ง  เก่าฝุ่นจับ  กระดาษกรอบเหลือง  เป็นเรื่องแปลอัตชีวประวัติของชายผิวดำคนหนึ่งชื่อว่า ยอร์จ วอชิงตัน คาวเวอร์
     ชายผู้นี้ทุ่มเทชีวิตในการศึกษาทดลองเกี่ยวกับเรื่องพืชที่ใช้เป็นอาหาร   จำได้ว่าในนั้นมีสูตรอาหารที่ระบุชัดเจนว่าเป็นยาอายุวัฒนะ
     ส่วนผสมมีธัญญพืชและผักนานาชนิด เอามาปั่นร่วมกัน ?!?  
     มีอะไรบ้างนั้น  จำไม่ได้แล้ว  แต่จำได้แม่นว่า ในนั้นมีคำว่า เซเลอรี่ (Celery) ด้วย เพราะตอนสมันนั้นเป็นอย่างเดียวที่ไม่รู้ว่าหน้าตามันเป็นอย่างไร   เลยไม่ได้ทดลองทำตามสูตรที่ว่า  พอได้โอกาสไปเรียนเมืองนอก  จัดแจงไปหาเซเลอรี่มากินซะให้หายคาใจ เดี๋ยวนี้มีขายให้เกร่อในซุปเปอร์มาร์เกต  
     กลับไปหาหนังสือเล่มนั้น  ก็ไม่เจอซะแล้ว เรียกว่าบุญไม่ถึงจะได้สูตรยาอายุวัฒนะ  แต่ก็มีอานิสงส์จากขยันกินเจ้าเซเลอรี่หรือคึ่นช่ายฝรั่ง  เพราะโรคความดันโลหิตสูงไม่เคยมาเยี่ยมกรายเหมือนพรรคพวกเพื่อนฝูงวัยเดียวกัน 
 
     ต่อมาเมื่อสิบปีก่อน  อ่านเรื่องแปลทฤษฎีอาหารเป็นยาของแพทย์แผนโบราณจีน  มีรายการอาหารทั้งที่เป็นสัตว์และพืช  บอกคุณสมบัติทางยาอย่างละเอียดพร้อมกับวิธีการในการนำไปใช้รักษา
     จำติดใจได้ว่า ถั่วลิสงเป็นยาแก้ปวดหัว  เพราะหลังจากนั้นมา เวลาให้ของขวัญสหายช่างคิดทั้งหลาย  จะเป็นถั่วกระป๋องใหญ่พร้อมฉลากบ่งบอกว่า  รับประทานครั้งละ 4-5 เม็ด เมื่อมีอาการปวดศีรษะ ?!?  
     การใช้อาหารเป็นยาแบบจีนนั้น  อยู่ที่ความเป็นสมดุลร้อนเย็นหรือหยินหยางของอาหาร  อาหารที่เป็นหยินกินแล้วร่างกายจะเย็น  ตรงกันข้ามกับหยางกินแล้วร้อน  อย่างเช่น โรคหวัด  มีแบบร้อนและแบบเย็น  ถ้ามีไข้ น้ำมูกข้น ครั่นเนื้อครั่นตัว  แบบนี้มีลักษณะร้อนมากกว่าเย็น ต้องลดความร้อนด้วยน้ำมะนาว แตงโม หรือสาลี่  ขืนกินน้ำขิง จะยิ่งแย่  แต่ถ้ารู้สึกหนาวสะท้าน น้ำมูกใส ซึม  อ่อนเพลีย   ซึ่งเป็นลักษณะเย็นมากกว่าร้อน  ดื่มน้ำขิงได้   หรือจะซดน้ำซุปหัวหอมกระดูกหมู โรยเกลือพริกไทย  จะช่วยให้อาการดีขึ้น
     นี่คือการกินเพื่อรักษาสมดุลของร่างกาย
     อาหารโต๊ะจีนดั้งเดิมมีการจัดสมดุลของหยินหยางไว้ถูกต้อง  หากมี 10 อย่าง  คนกินต้องกินให้ครบ   และกินในปริมาณ 1 เสริฟ  ซึ่งก็ประมาณเท่ากับถ้วยแบ่งที่จัดให้   พอจบก็จะอิ่มพอดี  
เดี๋ยวนี้ ขืนขอรายการอาหารแบบสมดุลหยินหยางเวลาจัดโต๊ะจีน  มีหวังอดกิน
 
     คนไทยก็มีวิธีกินแบบความสมดุลเช่นกัน   สภาพสังคมเกษตรกรรมทำให้เรารู้จักสรรพคุณทางยาของสมุนไพร และพืชผักต่างๆ มานาน   พอรับอารยธรรมตะวันตกเข้ามา  ก็ลืมๆกันไป 
ตอนนี้กลับมารื้อฟื้นใหม่   แต่ดีกว่าเก่าตรงที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น  ไม่ใช่แค่ตำราผีบอกหรือตำรับตกทอดกันมาเจ็ดชั่วโคตร  จนคนรุ่นหลังไม่กล้าเสี่ยงกินเข้าไป
     อาหารไทยมีเครื่องปรุงหลายอย่าง  จะมีส่วนผสมที่เป็นของร้อนและของเย็นแก้กันไว้เสร็จสรรพ   อย่างน้ำพริกกะปิ  มีพริก กระเทียม เป็นของร้อน  ก็ใช้มะเขือพวงหรือมะอึกเป็นของเย็น  ทำให้เกิดความสมดุล  
     อาหารไทยตามสูตรดั้งเดิม จัดสมดุลไว้ดี  กินแล้วร่างกายสบาย  มาสมัยนี้  คนกินว่าไอ้โน่นก็ยี้ไอ้นี่ก็กินไม่ได้   เขี่ยทิ้ง ตักออก  หรือแต่งองค์ทรงเครื่องใหม่   อ้างซะหรูว่า  รู้จักพัฒนาให้ทันสมัย   กินเข้าไปแล้วร่างกายเสียสมดุล  เกิดอาหารปวดหัว ปวดท้อง ไม่สบายตัว
 
     ยุคที่กรุงเทพมหานครได้พ่อเมืองเสพมังสะวิรัติ  อาหารผักก็ดังเปรี้ยงปร้างขึ้นมา  ร้านอาหารปลอดเนื้อสัตว์เกิดขึ้นหนาตา   เป็นทางเลือกใหม่ของคนกรุง   ตอนนี้ก็เรื่อยๆ  ใครใคร่กินกิน  
แต่ที่กลับมาคึกคักคือเทศกาลกินเจช่วงเดือนตุลาคม  ปีนี้คิดว่าน่าจะเฟื่องมากกว่าเดิมขึ้นไปอีก  เพราะเข้ากระแสพอดี กลุ่มนี้พยายามชี้ให้เห็นว่ามนุษย์เราเป็นสัตว์โลกที่โดยสรีระแล้วต้องกินพืช  ไม่ใช่กินสัตว์   เมื่อกินอาหารที่ไม่สอดประสานกับธรรมชาติของตน   ร่างกายจึงเกิดอาการเจ็บป่วย
 
     ข้ามไปทางยุโรป  ชนชาติที่มีอายุยืนยาว  แถมยังแข็งแรงไม่เจ็บไม่ไข้  คือพวกแถบทะเลเมอร์ดิเตอร์เรเนียน  พวกนี้มีสูตรอาหารเฉพาะตัวเหมือนกัน สรุปง่ายๆ คือ อาหารหลักทุกมื้อทุกวันคือ  ธัญญพืช พวกข้าวชนิดต่างๆ  ถั่ว และเมล็ดพืชสารพัด  
     ตามด้วยการกินผักและผลไม้ที่เกิดขึ้นตามฤดูกาล   เวลาปรุงอาหารก็ใช้น้ำมันมะกอก หรือน้ำมันดอกทานตะวัน   กินเนื้อสัตว์และของหวานแต่น้อย   เนื้อสัตว์ที่กินคือปลากับไก่เท่านั้น
     ข้อสำคัญคือ กินอาหารในลักษณะที่เป็นธรรมชาติที่สุด  หากต้องปรุงหรือผ่านกรรมวิธีใดๆ ก็ให้ทำเท่าที่จำเป็น
          
     ความคิดในเรื่องอาหารบำบัดโรค  ทำให้เกิดกลุ่มผู้ศึกษา ทดลอง และนำไปปฏิบัติเพิ่มขึ้น  แต่ละกลุ่มล้วนแสวงหาแนวร่วม  
     กลุ่มธรรมชาติบำบัด  ซึ่งมีนายแพทย์บรรจบ ชุณหสวัสดิกุลเป็นผู้นำ  เน้นเรื่องการใช้อาหารเป็นยาเช่นกัน    มีสูตรการล้างพิษจากร่างกาย  แนะนำรายการอาหารที่เหมาะสม  ซึ่งปราศจากเนื้อสัตว์   เพื่อให้ร่างกายปรับสมดุล ปรัชญามีอยู่ว่า  ชีวิตคือองค์เอกภาพของมวลสารและพลังงาน  ตราบเท่าที่องค์เอกภาพนี้ดำรงอยู่ได้โดยไม่เสียสมดุล พลังแห่งชีวิตยังโคจรไหลเวียนได้เป็นปกติ ชีวิตก็เป็นสุขไม่เกิดโรค  สำหรับผู้สนใจ  มีหนังสือและเอกสารของกลุ่มนี้ให้ศึกษามากมาย  ทั้งยังมีการจัดบรรยาย   การพบกลุ่มอย่างสม่ำเสมอ  บทความประจำก็มีให้ติดตามในมติชนสุดสัปดาห์
     กลุ่มชีวจิต  ศึกษารายละเอียดได้จากผลงาน 4 เล่มหนาของ ดร.สาทิศ อินทรกำแหง  ข้อมูลเด่นคือ  เสนอทางเลือกใหม่สำหรับคนเป็นโรคมะเร็ง ที่ไม่ชอบวิธีการแพทย์แผนใหม่
น้ำอาซีของชีวจิตฮิตขนาดที่ว่าเดินไปตลาดไหน  ต้องมีวางจำหน่ายให้เห็น แนวการกินก็เน้นอาหารจำพวกพืชผักผลไม้เช่นกัน  ผสมผสานกับการรักษาจิตใจให้สงบ  การทำสมาธิ 

     จะเห็นว่า  ทุกกลุ่มมีความเห็นตรงกันที่ความสมดุลของอาหารในร่างกาย    เมื่อใดที่ร่างกายเสียสมดุล   ความเจ็บไข้ได้ป่วยก็แวะเวียนมาหา  ถ้าจะรักษาก็ต้อง กินอาหารเพื่อปรับสมดุล การเอาใจใส่เรื่องอาหารอย่างเดียว  คงไม่ใช่ข้อสรุปของสุขภาพดี   มีผู้ให้องค์ประกอบอื่นที่ต้องปฏิบัติด้วยอีก 4 'อ' คือ อารมณ์ดี  อากาศดี  ออกกำลังกายพอเหมาะ  และอุจจาระสม่ำเสมอ  
     ทุกกลุ่มล้วนปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยการหาหนทางให้ทุกคนมีร่างกายที่เป็นสุข   ความหลากหลายทำให้เรามีทางเลือก  ใครสนใจทางเลือกไหน  ควรศึกษาเพิ่มเติมให้เข้าใจจริงๆ  ก่อนใช้ตัวเองเป็นหนูลองยา อย่าทำเพราะเป็นโรคเห่อของฮิต   แต่จงปฏิบัติอย่างมีสติ  มีวิจารณญาณ  จริงจัง และต่อเนื่อง

     ขอส่งแรงใจให้ผู้แสวงหาได้พบทางเลือกที่เหมาะกับตน   เพื่อร่างกายที่ปราศโรคาพยาธิ 

หมายเลขบันทึก: 13185เขียนเมื่อ 24 มกราคม 2006 12:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 18:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท