บัณฑิตที่พึงประสงค์ของมหาวิทยาลัยราชภัฎนครสวรรค์


บัณฑิตที่พึงประสงค์ของมหาวิทยาลัยราชภัฎนครสวรรค์จะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ดีทั้งความรู้ที่เป็นศาสตร์สากลและศาสตร์ท้องถิ่น มีความรู้รอบเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม สามารถนำความรู้ไปปฎิบัติได้อย่างมีทักษะ มีคุณธรรมและจริยธรรม มีภาวะผู้นำ และมีบุคลิกภาพดีทั้งบุคลิกภาพภายนอกและบุคลิกภาพภายใน

            จากที่ได้ทำงานในแวดวงวิชาการหลายสถาบันการศึกษาในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษานั้น สิ่งหนึ่งที่ได้รับทราบนโยบายจากสถาบันก็คือ การสร้างบัณฑิตให้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามที่กำหนดไว้ของแต่ละสถาบัน โดยคุณลักษณะที่พึงประสงค์นี้จะสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยหรือของแต่ละสถาบัน ซึ่งเป็นสิ่งที่บอกถึงความชัดเจนหรือประกาศให้ผู้ที่ต้องการมาศึกษาและสำเร็จการศึกษาเป็นบัณฑิตตามที่ตนต้องการ

            ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฎนครสวรรค์ก็ได้กำหนดคุณลักษณะของบัณฑิตที่พึงประสงค์ของมหาวิทยาลัยและประกาศให้ประชาคมของมหาวิทยาลัยทุกภาคร่วมได้รับรู้ ตระหนัก และร่วมมือกันสร้างบัณฑิตให้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามที่กำหนด จึงขอคัดลอกบัณฑิตที่พึงประสงค์ของมหาวิทยาลัยราชภัฎนครสวรรค์ จากจดหมายข่าวรายสัปดาห์ nsru.news ปี่ที่ 22 ฉบับที่ 87 ประจำวันที่ 18-24 ก.ย. 2550 คอลัมน์ ตึก 14 ชั้น 2 โดย รศ.ดร.ประเทือง ภูมิภัทราคม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ เรื่อง "บัณฑิตที่พึงประสงค์ของมหาวิทยาลัย" จะต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

"...

1. มีความรู้ หมายถึง ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ จะต้องมีความรู้ดีในสาขาวิชาที่ตนเลือกเป็นรายวิชาเอกหรือวิชาโท มีความรู้รอบในเรื่องต่างๆ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม นอกจากนี้ ยังต้องรู้เรื่องท้องถิ่น และนำความรู้ไปประยุกต์แก้ปัญหาของท้องถิ่นหรือของประชาชนในท้องถิ่นได้ สรุปก็คือ บัณฑิตของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์นั้นจะต้องมีความรู้ดีทั้งความรู้สากล และความรู้ที่เป็นเรื่องท้องถิ่น และนำความรู้ไปใช้ในการแก้ปัญหาหรือพัฒนาท้องถิ่นได้ ซึ่งเป็นไปตามปรัชญาของมหาวิทยาลัยที่ว่า "มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์เป็นมหาวิทยาลัยของชาวบ้านนำวิชาการสู่ชุมชน"

2. มีทักษะในการปฏิบัติงาน บัณฑิตของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ นอกจากจะต้องมีความรู้ รู้รอบ ทั้งความรู้สากลและความรู้ที่เป็นศาสตร์ท้องถิ่นตามข้อ 1 แล้ว บัณฑิตจะต้องมีทักษะในการปกิบัติตามสาขาวิชาเอกและวิชาโทที่ตนเลือกเรียน การรู้ทฤษฎีแต่ทำอะไรไม่เป็น จะไม่มีคุณค่าหรือความหมายใดๆ ฉะนั้น บัณฑิตที่พึงประสงค์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ต้องมีความรู้และทักษะในการปฏิบัติงานเป็นอย่างดี

3. มีคุณธรรมและจริยธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ต้องการให้บัณฑิตทุกคนเป็นคนดี คือเป็นคนที่มีคุณธรรมและจริยธรรม เป็นพลเมืองดีของชาติ ในเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมนั้น อย่างน้อยบัณฑิตจะต้องเป็นผู้ที่ประพฤติดอยู่ในศีลธรรมอันดีงามตามหลักศาสนาที่ตนนับถือ มีความซื่อสัตย์ สุจริต มีความขยันหมั่นเพียร มานะ หนักเอาเบาสู้ ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก มีจิตสาธารณะ เป็นคนที่มีระเบียบวินัย มีความจงรักภักดีต่อหน่วยงาน และมีความเสียสละ ไม่เห็นแก่ตัว นอกจากนี้ บัณฑิตจะต้องมีจรรยาบรรณในวิชาชีพ

4. มีภาวะผู้นำ บัณฑิตของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์จะต้องมีภาวะผู้นำ เพราะมหาวิทยาลัยเห็นว่าบัณฑิตเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถสูงกว่าประชาชนโดยทั่วไปที่ไม่ได้สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษา บัณฑิตจะต้องเป็นที่พึ่งของประชาชนได้ ดังนั้น บัณฑิตจะต้องมีภาวะผู้นำสามารถชี้นำสังคมได้

5. มีบุคลิกภาพดี บัณฑิตของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์จะต้องมีบุคลิกภาพดีทั้งลักษณะภายนอกและลักษณะภายใน เพราะบุคลิกภาพเป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่งในการสร้างศรัทธาเชื่อถือแก่ผู้พบเห็น หรือผู้ที่มีส่วนปฏิสัมพันธ์กับบัณฑิต การมีบุคลิกภาพดีจะช่วยทำให้บัณฑิตเป็นที่ศรัทธาเชื่อถือแก่ผู้พบเห็น เป็นที่ชื่นชมแก่คนทั่วไป ฉะนั้น การพัฒนาบัณฑิตให้เป็นผู้ที่มีบุคลิกภาพดีเป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยจะต้องทำในทุกด้าน ทั้งบุคลิกภายนอกตั้งแต่การแต่งกาย กิริยามารยาท รู้ร่างหน้าตา ค่านิยม รสนิยม ไปจนถึงบุคลิกภาพภายใน เช่น ความคิดอ่าน เจตคติต่อสิ่งต่างๆ รวมทั้งทักษะทางสังคมทั้งหลาย

..."

           จากคุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ข้างต้นนี้ ในฐานะอาจารย์ผู้สอนแล้วสิ่งหนึ่งที่อาจารย์ผู้สอนควรส่งเสริมให้เพิ่มขึ้นคือ "การยกตัวอย่างจากท้องถิ่น" เสริมจากตัวอย่างจากบทเรียนหรือตัวอย่างจากต่างประเทศด้วย เพื่อที่นักศึกษาจะได้นำไปประยุกต์เพื่อการแก้ปัญหาท้องถิ่นได้โดยง่ายขึ้น รวมทั้งทำให้อาจารย์ผู้สอนได้ศึกษาให้ลึกถึงแก่นความรู้และเห็นสภาพที่แท้จริงของท้องถิ่นยังผลให้เกิดแนวคิดการวิจัยเพื่อประโยชน์แก่ท้องถิ่นได้อีกด้วย

               ส่วนทักษะในการปฏิบัติงานนั้น อาจารย์ผู้สอนทุกท่านได้ให้แบบฝึกทักษะทั้งในชั้นเรียนและนอกชั้นเรียนแล้ว แต่ปัญหาคือนักศึกษาไม่ค่อยที่จะทำหรือฝึกทักษะนอกชั้นเรียน ดังนั้น สิ่งหนึ่งที่เป็นแรงกระตุ้นให้นักศึกษาทำก็คือ "ความใส่ใจในผลงานของนักศึกษา" เพราะอาจารย์บางท่านจะตรวจการส่งเท่านั้น แต่ไม่ได้ให้ผลสะท้อนกลับแก่นักศึกษามากนัก ซึ่งในปัจจุบันความเป็นตัวตนในการเรียนของนักศึกษามีมากขึ้น ต้องการผลการตอบรับเป็นส่วนตนมากกว่าผลตอบรับของกลุ่ม เพราะฉะนั้น อาจารย์ผู้สอนต้องเพิ่มความสนใจในตัวนักศึกษาแต่ละคนมากยิ่งขึ้นด้วย

                 การสอนแบบสอดแทรกคุณธรรมและจริยธรรมที่ได้รับการส่งเสริมจากหน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการฯ นั้นเป็นสิ่งที่ดีอย่างยิ่ง ซึ่งต้องเน้นย้ำในทุกครั้งที่มีการเรียนการสอนโดยผู้สอน การยกสถานการณ์ในปัจจุบันหรือข่าวแล้ววิเคราะห์โดยนักศึกษาจะเป็นการแทรกซึมเข้าในจิตใจของนักศึกษาได้อย่างลึกซึ้งด้วยตัวของนักศึกษาเอง

                 ส่วนภาวะผู้นำนั้น นักศึกษาในสมัยนี้ทุกคนมีภาวะผู้นำสูงมาก เพียงแต่ขาดโอกาสในการแสดงออกและยังขาดความเชื่อมั่นในตนเอง การที่อาจารย์ผู้สอนเปิดโอกาสให้นักศึกษาทำงานกลุ่มและให้ผลัดเปลี่ยนผู้รับผิดชอบงานกลุ่มทุกครั้งจะทำให้นักศึกษาได้พัฒนาการเป็นผู้นำที่ดีและผู้ตามที่ดีด้วย

                 นอกจากนี้ การมีบุคลิกภาพที่ดีของนักศึกษานั้น นักศึกษาส่วนใหญ่มีกิริยามารยาที่ดีอยู่แล้ว การแต่งกายก็อยู่ในกรอบของระเบียบวินัยของมหาวิทยาลัยฯ หากแต่เป็นความใส่ใจของอาจารย์ผู้สอนที่จะตักเตือนและลงโทษตามความเหมาะสมของอาจารย์ที่ในปัจจุบันปฏิบัติตนได้อย่างยอดเยี่ยมดีแล้ว สำคัญที่ว่าอย่าหย่อนยานเท่านี้เราในฐานะอาจารย์ผู้สอนก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยในการสร้างบัณฑิตที่พึงประสงค์ของมหาวิทยาลัยได้เช่นเดียวกัน...

หมายเลขบันทึก: 131803เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2007 09:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 08:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท