ดร.อุทัย อันพิมพ์
ดร. อุทัย ดร.อุทัย อันพิมพ์ อันพิมพ์

การจัดการความรู้เกษตรประณีต ตอนที่ 1


เกษตรประณีตเป็นมาอย่างไร? และมีการจัดการความรู้อย่างไร? ต้องติดตามในเรื่องครับ

การจัดการความรู้เกษตรกรรมประณีต ของเกษตรกรต้นแบบเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านจังหวัดบุรีรัมย์ 

เกษตรกรรมแบบประณีตคืออะไร?....หลายคนอ่านแล้วอาจจะมีข้อสงสัยว่า...เกษตรกรรมแบบประณีตนั้นเป็นอย่างไร ครั้นหากจะตีความตามพจนานุกรมแล้วก็พบว่าเกษตรกรรมแบบประณีตเป็นการปลูกพืชที่หลากหลายชนิด รวมทั้งการเลี้ยงสัตว์ การประมง และการป่าไม้ ซึ่งมีการจัดการดูแลอย่างใกล้ชิด และมีความละเอียดลออกับกิจกรรมที่ทำ... แต่สำหรับการศึกษาตามบทความนี้นั้นเป็นการนำเสนอรูปแบบการทำการเกษตรกรรมประณีตตามความหมายของเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านจังหวัดบุรีรัมย์ ประกอบด้วย ครูบาสุทธินันท์   ปรัชญพฤทธิ์ พ่อผาย   สร้อยสระกลาง และพ่อคำเดื่อง   ภาษี นับได้ว่าเป็นเครือข่ายต้นคิดของคำว่า เกษตรกรรมแบบประณีต  (Praneet Agriculture) ซึ่งได้มีการศึกษามาแล้วไม่น้อยกว่า 12 ปี จากแนวทางดังกล่าวจึงใคร่ขอสรุปดังนี้

  

เกษตรกรรมแบบประณีต  (Praneet Agriculture) หมายถึง พื้นที่การเรียนรู้ในการทำเกษตรผสมผสานอย่างเป็นระบบ เป็นวิธีการเรียนเพื่อให้เกิดความชัดเจนในอาชีพของตนที่เริ่มต้นจากจุดเล็กๆ มีการดูแลเอาใจใส่ หมั่นศึกษา หมั่นทดลอง และใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์ และคุ้มค่ามากที่สุด ในการทำเกษตรแบบประณีตนั้นต้องอาศัยแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง  หรือเศรษฐกิจพึ่งตนเองตามแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  โดยเริ่มจากการรู้จักตัวเองด้วยการรู้จักพอ  รู้จักอุดรูรั่วเพื่อลดรายจ่าย  และการรู้จักออกด้วยการออมน้ำ  ออมดิน  ออมสัตว์  ออมต้นไม้ยืนต้น  ออมเงิน  สั่งสมกัลยาณมิตร  และสั่งสมภูมิปัญญาในการแก้ปัญหา  และที่สำคัญในการที่จะทำเกษตรกรรมแบบประณีตให้ประสบผลสำเร็จนั้นเกษตรกรจะต้องมีทุน และทุนที่มีความสำคัญในการประกอบอาชีพคือทุนทางปัญญา หรือที่เรียกว่าความรู้นั่นเอง

“…การที่เกษตรกรประสบกับความล้มเหลวในอาชีพ มีหนี้สินผูกพันจนกระทั่งไม่สามารถอยู่กับอาชีพของตนในชุมชนได้นั้นอันมีผลมาจากความรู้ไม่พอใช้…” ดังนั้นคนที่จะสามารถยืนหยัดอยู่ในอาชีพของตนได้จะต้องเป็นคนที่เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ต้องเอาวิชาการ มาผนวกกับอาชีพ และสุดท้ายก็จะได้เป็นวิชาชีพที่สามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้อย่างมีความสุข  และในขณะเดียวกันจะต้องมีการจัดการความรู้อยู่ตลอดเวลา ทุกอย่างสามารถยืดหยุ่นได้ และพยายามให้เป็นไปแบบธรรมชาติ ซึ่งแหล่งของความรู้นั้นมีมาด้วยกันหลายทางได้แก่ ความรู้ในตัวคน ความรู้ในเอกสารตำรา ความรู้จาก IT  (Information of Technology) และความรู้จากธรรมชาติ และในการทำงาน หรือกระบวนการพัฒนานั้นจะต้องให้เกิดความคล่องตัว และต้องมีความยืดหยุ่น (Flexible) จึงจะส่งผลให้การทำงานบรรลุวัตถุประสงค์ และมีประสิทธิภาพ สำหรับมหาชีวาลัยอีสานได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการทำงานไว้เป็น 3 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 1) การจัดการความรู้แบบธรรมชาติ 2) การทำงานอิงระบบ และ 3)การสร้างพันธมิตรทางวิชาการ (ครูบาสุทธินันท์, 2550)               

อย่างไรก็ตามเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านทั้งสามท่านมีความเห็นตรงกันว่า เกษตรกรที่จะทำเกษตรกรรมแบบประณีตให้ประสบความสำเร็จนั้นควรที่จะมีขั้นตอนดังนี้1.       การปรับกระบวนคิด กล่าวคือเกษตรกรต้องปรับแนวคิดเสียใหม่ ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดการทำเกษตรที่พึ่งพาตนเอง พึ่งพาธรรมชาติ และภูมิปัญญาท้องถิ่น ไม่พึ่งการตลาด ปรับชีวิตให้พออยู่พอกิน ไม่หวังผลอย่างรวดเร็ว และที่สำคัญต้องเป็นคนที่ชอบเรียนรู้ ฝึกฝนตนเองอยู่เสมอ คิดถูกทำถูก


                2. ขั้นตอนการรวมพลัง เป็นการรวมพลังคนในบ้าน คนในชุมชนมาช่วยกันสร้างอาหารให้เป็นพลังของคนทั้งแผ่นดิน               

3. ขั้นตอนการตั้งมั่น คือ ต้องรู้จักตนเอง รู้จักผู้อื่นและรู้จักสิ่งแวดล้อม กล่าวคือต้องรู้จักการจัดการความรู้ด้านดิน  น้ำ  และพืชเสียใหม่ เป็นการจัดการที่ดินทุกตารางนิ้ว ให้เกิดประโยชน์สูงสุด                

 4. ขั้นตอนการตั้งใจ หมายถึงตั้งใจทำมาหากิน เกษตรกรที่ทำเกษตรกรรมแบบประณีต เมื่อมั่นใจแล้วขยายผลจากเล็กไปหาใหญ่ ซึ่งจะมีอยู่มีกิน ลดหนี้ปลดสิน มีความสุขและ มีบำนาญชีวิตในระยะยาวตลอดจนคนในครอบครัวกลับมาอยู่ด้วยกันอย่างอบอุ่น ชุมชนมีเวลามาปรึกษาหารือ เพื่อแก้ปัญหายาก ๆ ได้               

ในการทำเกษตรกรรมแบบประณีตนั้นนอกจากเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านจังหวัดบุรีรัมย์แล้ว ยังมีเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านและพหุภาคีภาคอีสานที่ดำเนินแนวทางนี้รวมทั้งหมด 12 เครือข่าย ซึ่งจะได้กล่าวในโอกาสต่อไป อย่างไรก็ตามการขับเคลื่อนแนวคิดเกษตรกรรมแบบประณีตจะเป็นไปไม่ได้ถ้าหากขาดนายแพทย์อภิสิทธิ์   ธรรมรงวรางกูร ประธานมูลนิธิพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี จังหวัดขอนแก่น ท่านเป็นบุคคลสำคัญในการประสานงานเพื่อให้เกิดเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ตลอดทั้งการจัดหางบประมาณในการขับเคลื่อนแนวคิดดังกล่าว ซึ่งนายแพทย์อภิสิทธิ์ มองว่าเกษตรกรรมแบบประณีตนั้นเป็นกระบวนการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ จากระบบการผลิตแบบเชิงเดี่ยวจำนวนมากๆ และลงทุนมากๆ มาเป็นแบบผสมผสาน กล่าวคือการผลิตในระบบนี้จะเน้นการปลูกทุกอย่างที่อยากจะกิน แล้วกินหรือใช้ทุกอย่างที่ตนเองปลูก เหลือกินแจกจ่ายเครือญาติ และเหลือจากแจกจ่ายจึงนำไปแลกเปลี่ยน (ขาย) เพื่อนำไปแลกเปลี่ยนปัจจัยอื่นๆ ต่อไป ในระบบการทำเกษตรกรรมแบบประณีต เกษตรกรจะเน้นการพึ่งพาตนเองเป็นหลัก ดังนั้นเกษตรกรที่ผลิตในระบบนี้จะให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการจัดการเรื่อง ดิน น้ำ ชนิดพืชที่ปลูก สัตว์ที่เลี้ยง แสง และการจัดการเรื่องแรงงาน เน้นการจัดการความรู้ที่ตนเองสะสมมาตลอดชั่วอายุ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคีเครือข่ายแล้วจึงนำไปปฏิบัติให้สอดคล้องกับบริบทของตนเอง เช่น ปุ๋ยจะเน้นการผลิตปุ๋ยชีวภาพ ปุ๋ยหมักใช้เอง จะไม่ซื้อปุ๋ยเคมี สารกำจัดแมลงศัตรูพืชก็เช่นเดียวกันจะทำการผลิตโดยหมักสารชีวภาพต่างๆ ใช้เองจะไม่ใช้สารเคมีโดยเด็ดขาด เมื่อทำแล้วได้ผลก็จะนำมาเล่าสู่กันฟังเพื่อหาทางออก และแนวปฏิบัติร่วมกันกับสมาชิกเครือข่าย แสดงให้เห็นว่าการใช้ปัญญานำการพัฒนาเพื่อมุ่งแก้ปัญหาของตนเองอย่างแท้จริง เกษตรกรที่ผลิตในระบบนี้นอกจากจะพึ่งพาตนเองได้แล้วยังเป็นการผลิตที่ไม่ใช้สารเคมีเลย เมื่อได้จัดการปรับปรุงบำรุงดินที่ดีแล้วพืชก็จะเจริญเติบโตได้ดี ปัญหาเรื่องโรคแมลงก็น้อย หรือหากมีเกษตรกรก็จะใช้วิธีการจัดการโดยวิธีชีวภาพ ซึ่งจะใช้น้ำหมักชนิดต่างๆ ในการป้องกันกำจัด เช่น น้ำหมักกำจัดเชื้อรา เพลี้ย และแมลงต่างๆ หรือแม้กระทั่งฮอร์โมนก็เช่นกัน และพวกจุลินทรีย์ที่ใช้ในการปรับปรุงดินอีกด้วย ดังนั้นเกษตรกรที่ผลิตในระบบนี้ก็จะได้บริโภคพืชผักที่ปลอดจากสารเคมี จึงส่งผลให้มีสุขภาพที่ดี และแข็งแรง               

อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า...เกษตรกรรมแบบประณีต หมายถึงพื้นที่แห่งการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง ทรัพยากร วิชาการ นโยบาย และแผนการพัฒนาที่ถูกต้องในการทำเกษตรผสมผสาน โดยเริ่มต้นจากพื้นที่เล็กๆ ก่อน เน้นเพื่อความพอเพียง ให้พออยู่พอกินในครอบครัว ลดค่าใช้จ่าย ส่วนที่เหลือค่อยแบ่งปัน และค่อยแลกเปลี่ยนต่อไป เมื่อมีความชำนาญแล้วจึงขยายในพื้นที่การผลิตให้มากขึ้นให้พอเพียงในระดับครอบครัว ชุมชน ซึ่งเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน และพหุภาคีภาคอีสานจะให้ความสำคัญในการจัดการความรู้เรื่องการออมดิน ออมน้ำ ออมต้นไม้ และออมสัตว์                

มีความเห็นอย่างไรโปรดชี้แนะด้วยนะครับ เพื่อจะได้ปรับปรุงให้ดีขึ้นต่อไป
 ขอบคุณมากครับ
อุทัย   อันพิมพ์
25 กันยายน 2550
หมายเลขบันทึก: 131637เขียนเมื่อ 25 กันยายน 2007 16:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท