ชนบทจีนในมุมมองจากการเดินเท้า


เขาหาบเอาดินมาจากก้นหุบเขาด้านล่างที่อยู่ห่างลงไปเกือบร้อยเมตร ขึ้นมาวางเป็นกองๆ แล้วปลูกข้าวสาลีบนนั้น

(๑) ปฐมบท: ชาวจีนเสฉวนยอดคนขยัน

นั่งดูรายการเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิคเมื่อคืน ออกอากาศเรื่องเขื่อนยักษ์ในจีน ชื่อเขื่อนสามผา ที่สร้างขวางแม่น้ำแยงซีเกียงเป็นเขื่อนใหญ่ที่สุดในเอเชีย นั่นแหละก็ต้องโยกย้ายชาวบ้านมากกว่าหนึ่งแสนครอบครัว

ทำให้ผมรำลึกถึงบรรยากาศของเมืองแถบนั้น ที่ได้มีโอกาสไปยุ่งเกี่ยวในฐานะมดงานตัวเล็กๆ ที่ไปทำหน้าที่เสาะหาพื้นที่รองรับชาวบ้านที่ต้องโยกย้ายถิ่นฐาน ในช่วงเตรียมโครงการ

ลักษณะงานสำรวจดิน จำเป็นต้องเดินเท้า ตะลุยไปตามซอกหลืบของชนบทที่ห่างไกลใช้เวลาร่วมเดือน ทำให้ได้พบเห็นวิถีชีวิตในมุมมองที่มีรายละเอียดค่อนข้างมาก และแตกต่างจากการท่องเที่ยว จึงถือโอกาสนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครับ 

พื้นที่ทำงานอยู่ตำบลซินลี่ อำเภอโซ่งเฉียน จังหวัดเสฉวน

การเดินทางต้องนั่งเครื่อง ไปต่อเครื่องอีกทีที่ฮ่องกง ไปลงที่เมืองฉงจิ้ง(จุงกิง)จากนั้นนั่งเรือด่วนล่องไปตามแม่น้ำแยงซีเกียงอีกประมาณสี่ชั่วโมงไปขึ้นฝั่งที่เมืองโซ่งเฉียน  แล้วนั่งรถไต่ขึ้นไปตามไหล่เขาอีกประมาณสองชั่วโมงจนถึงตำบลซินลี่

เข้าเรื่องความขยันของพี่น้องคนจีนเสียที

ขอแสดงด้วยการบรรยายภาพระบบการเกษตรที่พบเป็นน้ำจิ้มไว้ก่อนดังนี้ครับ:

·       ชาวเสฉวนดูแลข้าวโพดทีละต้น มีการพรวนดิน ดายหญ้า พูนโคน ใส่ปุ๋ยทีละต้นทีละต้นไป  ไม่เหมือนบ้านเราที่ปลูกแบบพืชไร่เป็นแปลงใหญ่

·       บนที่ดอนปลูกพืชเหลื่อมฤดู เริ่มที่ข้าวสาลีพอใกล้เก็บเกี่ยวก็เริ่มหยอดเมล็ดข้าวโพด และก่อนเก็บเกี่ยวข้าวโพดก็เริ่มปลูกมันเทศ เป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างคุ้มค่า

·       ที่นาปลูกข้าวในฤดูฝน แต่บนคันนาปลูกถั่วเหลือง ตามด้วยแตงกวาหรือแตงโมหรือมะเขือในฤดูแล้ง

·       ทุกที่ทุกตารางนิ้วทำการเพาะปลูกหมด บนยอดเขาก็ยังทำนาขั้นบันไดลดหลั่นเป็นขั้นๆ

 ·       ที่น่าประทับใจคือ บนลานหินที่ไม่มีดินอยู่เลย เขาหาบเอาดินมาจากก้นหุบเขาด้านล่างที่อยู่ห่างลงไปเกือบร้อยเมตร ขึ้นมาวางเป็นกองๆ แล้วปลูกข้าวสาลีบนนั้น น่านับถือความขยันของเขาจริงๆ

ความเห็นของผู้บันทึก

·       น่าจะเป็นเพราะเมืองจีนมีคนมากที่ดินมีน้อย

·       เป็นการปรับตัวตามสภาพแวดล้อม และทรัพยากรเพื่อความอยู่รอด

·       เป็นวิถีนิเวศเกษตรอีกรูปแบบหนึ่ง

หมายเลขบันทึก: 131419เขียนเมื่อ 25 กันยายน 2007 09:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤษภาคม 2012 22:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • ขอบคุณค่ะที่นำเรื่องดีดีมาเล่าให้ฟัง
  • ยอมรับว่าคนจีนขยันอดทนมากจริงๆ  อาจจะเป็นด้วยเหตุผลที่คุณบอกมา  และกลายมาเป็นวัฒนธรรมการดำเนินชีวิต  สั่งสมตกทอดกันมา
  • สวัสดีค่ะ

 

สวัสดีครับคุณP

ขอบคุณที่แวะมาครับ

ผมว่าการเรียนรู้จากการสังเกตสิ่งที่ผ่านพบ

รวมถึงการย้อนรำลึกถึงเรื่องราวที่ผ่านพ้น

เป็นเรื่องที่ดีครับ

และจะดีที่สุดคือการนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันครับ

มาเยี่ยมบันทึกครับ ตามอ่านปกติกับกาแฟรสเยี่ยมตอนเช้า

กลับมาที่เมืองไทยหรือยังครับ???

สวัสดีครับคุณPเอกครับ

ขอบคุณสำหรับการแวะมาทักทาย

ผมยังอยู่กัมพูชาครับ

อยู่กับความรู้สึกแปลกเปลี่ยว และกับโรคภาวะอับจนทางปัญญา

คำทักทายจากคน "จริตเดียวกัน" มีค่าดังทองครับ

คุณเอกหายป่วยแล้วนะครับ เห็นเป็นดีเจเปิดเพลงได้แล้ว

สวัสดีครับคุณP

           ผมแวะมาอ่านบันทึก น่าสนใจครับ ผมไปจีนหลายครั้ง อยากไปเที่ยวที่เขื่อนสามผาเหมือนกัน มีคนกล่าวว่า  นี่คือสิ่งมหัศจรรย์ในศตวรรษที่ 21 ฝรั่งยังทึ่งเลยครับ  ถ้าอย่างไรเชิญแวะไปอ่านเรื่องจีนของผมด้วยนะครับ กำลังจะเขียนอยู่แต่ตอนนี้ยังหาช่วงจังหวะว่างอยู่ครับ

สวัสดีครับท่านอาจารย์P

ขอบพระคุณที่แวะมาอ่านบันทึกครับ

อย่างที่เรียนว่าเป็นเพียงบันทึกจากมุมมองของคนเดินเท้าอาจเห็นเป็นมุมแคบ แต่เห็นในรายละเอียดครับ

โดยเฉพาะห้องน้ำนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเซ้าอีสต์ไชน่าในเมืองจุงกิง มีหน้าตาที่แปลกไปจากบ้านเรามากๆ

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท