การประชุมเครือข่ายฯสัญจร (1)


ความสำเร็จ เปรียบเสมือนนำทิพย์ชโลมใจให้มีกำลังใจทำงานเพื่อรักษาความสำเร็จนี้ต่อไป ส่วนจุดบกพร่อง เปรียบเสมือนเครื่องเตือนใจที่จะคอยเตือนให้คนทำงานหาทางปรับปรุงแก้ไข เพื่อก่อให้เกิดความสำเร็จและความภาคภูมิใจยิ่งๆขึ้นไป

      ตั้งใจเอาไว้ว่าจะเล่าเรื่องประชุมเครือข่ายฯสัญจรให้อ่านไปเรื่อยๆค่ะ  เริ่มต้นตั้งแต่วันนี้เลยก็แล้วกันนะคะ  ในการประชุมครั้งนี้ถ่ายวีดีโอไว้ด้วย  กำลังรอลุ้นอยู่ค่ะว่าจะได้ยินเสียงหรือเปล่า  เพราะ  ไมล์มีอยู่ตัวเดียวตรงที่ประธานฯนั่ง  ส่วนผู้เข้าร่วมประชุมคนอื่นๆเวลาตอบคำถามหรืออภิปรายจะใช้เสียงของตัวเองสดๆเลย  แต่ดวงวันนี้ไม่รู้เป็นยังไงค่ะ  คนที่รู้เรื่องและจัดการเกี่ยวกับวีดีโอได้หายไปหมดเลย  คนหนึ่งไม่สบาย  อีกสองคนคุณพ่อป่วยพร้อมกัน (โดยไม่ได้นัดหมาย) ก็เลยยังไม่รู้ผลค่ะว่าจะเป็นยังไง  แต่ถ้าไม่ได้ยินเสียงจริงๆก็ไม่เป็นอะไรค่ะ  ดูแต่ภาพเคลื่อนไหวก็คงได้บรรยากาศไปอีกแบบหนึ่งค่ะ  ส่วนเสียงนั้นเราอัดเทปเอาไว้ด้วยค่ะ  คงจะพอแก้ขัดไปได้ (หรือว่าจะไม่ได้ก็ไม่รู้ค่ะ  เพราะว่า  ไม่รู้จะอัดเสียงที่ไม่ได้ออกไมล์ติดหรือเปล่า  วันนี้ก็ตั้งใจจะเปิดฟัง  แต่ผู้วิจัยดันลืมเทปทิ้งไว้ในรถอาจารย์พิมพ์  ซึ่งอาจารย์พิมพ์ไปกรุงเทพฯกว่าจะกลับก็วันพฤหัสค่ะ  คงต้องรอถึงวันนั้นถึงจะรู้ผล)

      สำหรับการประชุมนั้นเริ่มต้นประมาณ 09.50 น. (เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่คณะกรรมการต้องทบทวนและหาทางแก้ไขค่ะ  เพราะ  โดยปกติแล้วจะเริ่มต้นประชุมเวลา 09.00 น. ทุกครั้ง  แต่ก็ทุกครั้งอีกนั่นแหละค่ะที่ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่จะมาสาย  ทำให้เริ่มประชุมช้ากว่ากำหนด  ในขณะที่เรื่องที่ต้องเอาเข้าประชุมมีมาก  ทำให้กว่าจะเลิกก็บ่ายเกือบคำ  หรือไม่ก็ประชุมได้ไม่ครบทุกเรื่องค่ะ)  คุณสามารถในฐานะประธานเครือข่ายฯและประธานฯในที่ประชุมกล่าวทักทายผู้เข้าร่วมประชุม (เล็กน้อย) จากนั้นก็ขานชื่อกลุ่มต่างๆที่มาเข้าร่วมประชุม  ปรากฎว่าในขณะนั้นมีกลุ่มที่มาถึงแล้วประมาณ 11 กลุ่ม  ขาดไปประมาณ 9-10 กลุ่ม  (เดิมเครือข่ายฯมีสมาชิก 19 กลุ่ม  แต่เมื่อเดือนที่ผ่านมาได้สมาชิกใหม่มาอีก 2 กลุ่มค่ะ  คือ  กลุ่มบ้านศรีบุญเรือง  และกลุ่มพระบาทวังตวงซึ่งแยกออกมาจากกลุ่มบ้านแม่พริก) เป็นที่น่าสังเกตว่าในครั้งนี้กลุ่มบ้านศรีบุญเรืองมาร่วมประชุมด้วย  โดยส่งตัวแทน  คือ  ลุงมนุษย์  เดชะ  ส่วนอีกคนหนึ่งผู้วิจัยไม่ทราบชื่อจริงๆค่ะ  ตั้งใจว่าจะถามหลายครั้งแล้ว  แต่ไม่มีโอกาส (ลืม) ทุกครั้งเลยค่ะ  ส่วนกลุ่มพระบาทวังตวงไม่มีตัวแทนมาเข้าร่วมประชุมค่ะ  ทำให้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าจะเข้ามาเป็นสมาชิกของเครือข่ายฯหรือเปล่า  นอกจากนี้แล้วข้อสังเกตอีกข้อหนึ่งที่น่าชื่นชมและเป็นนิมิตรหมายที่ดีของการประชุมสัญจรก็คือ  ผู้เข้าร่วมประชุมมามากกว่าทุกครั้งค่ะ (ถึงแม้จะมาช้าก็ตาม) บางคนไม่ค่อยคุ้นหน้าเลยค่ะ  บางคนมานานๆครั้ง  ผู้วิจัย (แอบ) ได้ยินว่า  ทุกคนรู้สึกตื่นเต้นและตื่นตัวที่ได้เปลี่ยนบรรยากาศใหม่ๆ  ได้เห็นตัวอย่างที่น่าชื่นชมของกลุ่มแม่ทะ  และอยากให้มีการประชุมอย่างนี้ไปเรื่อยๆค่ะ

       พอเช็คชื่อเสร็จ  ประธานฯได้กล่าวชื่นชมกลุ่มแม่ทะ-ป่าตันเกี่ยวกับการจัดงานว่าทำได้ดีมาก  ซึ่งดูเหมือนว่าทุกคนจะเห็นด้วย  เพราะ  ต่างร่วมกันปรบมือเพื่อเป็นกำลังใจและเป็นการขอบคุณทางกลุ่มที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น  หลังจากนั้นประธานฯได้กล่าวถึงวาระการประชุมอย่างคร่าวๆก่อนการเข้าเรื่องประชุมอย่างเป็นทางการ

      วาระที่ 1 เรื่องแจ้งให้ทราบ

      สำหรับวาระนี้มีเรื่องแจ้งให้ทราบจำนวน 2 เรื่อง  คือ  เรื่องมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ  และ เรื่องตำบลละแสน  มีรายละเอียดโดยสรุปดังนี้ค่ะ

      เรื่องที่หนึ่ง  ประธานฯแจ้งว่าตนเองได้มีโอกาสไปร่วมประชุมกับทางมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ  ซึ่งขณะนี้ทางมูลนิธิฯกำลังศึกษาเรื่องนโยบายการออม  มี ศ.ดร. ดิเรก  จากมหาวิทยาลัยนเรศวร  เป็นหัวหน้าโครงการ  นอกจากนี้แล้วทางมูลนิธิฯ (มสช.) จะเข้ามาเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน "ประชาสัมพันธ์และขยายผล"  ให้กับทางเครือข่ายฯ ด้วย  ซึ่งทางอ.วิไลลักษณ์ได้ส่งโครงการไปแล้ว   สำหรับวัตุถประสงค์ของงานนี้นั้นประธานฯบอกว่าเพื่อต้องการให้เรื่องวันละบาทของลำปางขยายผล  ให้เป็นเรื่องของสาธารณะ

      เรื่องที่สอง  เรื่องตำบลละแสน  ประธานฯบอกว่าแต่ละกลุ่มต้องส่งรายงานความก้าวหน้า  คาดว่าภายในเดือนกุมภาพันธ์น่าจะมีการกระจายเงินงวดที่ 1 ลงมา  ขณะนี้ขอให้แต่ละตำบลไปเตรียมความพร้อมใน 3 เรื่อง  คือ

      1.การบริหารจัดการที่ชัดเจน  โปร่งใส  ตรวจสอบได้

      2.การขยายผล

      3.การเชื่อมประสานกับหน่วยงานสนับสนุน

      หากกลุ่มใดมีปัญหาขอให้ประสานมาทางเครือข่ายฯ  เพื่อที่ทางเครือข่ายฯจะได้ลงไปช่วยทำความเข้าใจ

      เมื่อกล่าวมาถึงส่วนนี้คุณกู้กิจเป็นบุคคลแรกในการประชุมวันนี้ที่ยกมือขึ้นถามประธานฯ  และมีการโต้ตอบไปมาอยู่ครู่หนึ่ง 

      คุณกู้กิจเริ่มต้นคำถามด้วยการถามยำความเข้าใจเกี่ยวกับการเตรียมตัวในเรื่องการสนับสนุนงบประมาณตำบลละแสน (ขอสารภาพค่ะว่าผู้วิจัยนั่งอยู่ไกลก็เลยไม่ค่อยได้ยินว่าถามว่าอะไร  แต่ก็พอจับความได้ว่าถามในลักษณะนี้  จากคำถามของคุณกู้กิจนั้นผู้วิจัยคิดว่าคุณกู้กิจนั้นมีทักษะของคุณอำนวยมากพอสมควร  เพราะ  เป็นคำถามยำในลักษณะที่ตรวจสอบว่าคำพูดของประธานฯหมายความว่าอย่างไร/หมายความว่า....หรือเปล่า)  ซึ่งประธานฯก็ตอบค่ะ  แต่ผู้วิจัยก็ขอสารภาพ (อีกครั้ง)ค่ะว่าจับความไม่ค่อยได้  ไม่รู้ว่าตัวเองไม่เข้าใจคำตอบ  หรือไม่ตั้งใจฟังก็ไม่ทราบค่ะ (แต่ไม่เป็นไรค่ะ  เพราะ  ยังไงก็ต้องถอดเทปออกมาอยู่ดี) 

       เมื่อคำถาม-คำตอบแรกผ่านไป  คำถามที่สองก็ตามมาติดๆค่ะ  โดยคุณกู้กิจได้ตั้งคำถามต่อว่า  เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมากลุ่มสวัสดิการวันละ 1 บาทของบ้านดอนไชยได้จัดเวทีร่วมกับทางอำเภอ  อย่างนี้ถือว่าเป็นการทำงานร่วมมือกันหรือไม่?  ซึ่งในคำถามนี้ประธานฯตอบว่า  การเชื่อมประสานนั้นต้องทำในรูป "บันทึกความร่วมมือ"  (ตรงนี้ผู้วิจัยไม่แน่ใจว่าประธานฯตอบในความหมายของเรื่องตำบลละแสน  หรือ  ตอบในความหมายทั่วๆไป  แต่ไม่ว่าจะตอบในความหมายใด  ผู้วิจัยคิดว่าไม่น่าจะใช่ทั้งหมด  "บันทึกความร่วมมือ" น่าจะเป็นเพียงหลักฐานทางราชการหรือหลักฐานอย่างเป็นทางการเท่านั้น  การเชื่อมประสานในความหมายของโครงการวิจัยการจัดการความรู้  หรือแม้กระทั่งในโครงการตำบลละแสนน่าจะมากกว่านั้น  ผู้วิจัยคิดว่าน่าจะหมายถึงการเคลื่อนงานหรือการทำงานร่วมกัน  การเกื้อหนุนกันมากกว่า  แต่ก็ได้แต่คิดนะคะ  ไม่ได้ออกความเห็นอะไรไป)

       คุณกู้กิจถามคำถามต่อทันทีว่าแล้วจะให้ทางกลุ่มหรือทางเครือข่ายฯเป็นผู้จัดการในเรื่องการเชื่อมประสาน?  ประธานฯให้คำตอบสั้นๆว่า  ต้องหารือกันอีกที

      ดูเหมือนว่าคุณกู้กิจจะยังไม่เข้าใจในคำตอบของประธานฯ  จึงยกมือและกล่าวต่อทันทีเมื่อประธานฯตอบจบว่า  ต้องตอบคำถามให้ชัดเจน  ถ้าทางหน่วยงานที่จะให้การสนับสนุนมีเงื่อนไขมาก  มีฐานคิดโดยเอาเงินเป็นตัวตั้ง  ทางกลุ่ม (บ้านดอนไชย) ก็อาจไม่รับเงินสนับสนุนนี้ก็ได้   ในประเด็นนี้ประธานฯได้อธิบายว่า  เงิน 1 แสนบาทนั้นเป็นเพียงปัจจัยภายนอกที่เข้ามาให้กำลังใจ  จุดประสงค์จริงๆนั้นต้องการสร้างความเข้มแข็ง  เป้าหมาย  คือ  จะทำอย่างไรให้ทำงานร่วมกันกับ อปท.  นอกจากนี้แล้วประธานฯยังได้กล่าวต่อว่า  ในการประชุมกับทางมสช. (มูลนิธิฯ)  ได้ข้อคิดอย่างหนึ่งว่า  กองทุนต้องอยู่ในชุมชน  แล้วท้องถิ่นต้องเข้ามาช่วยหนุนเสริม

     คำถาม-คำตอบทีหลังสุดนี้เป็นการจบการประชุมวาระที่ 1  จากการสังเกตของผู้ศึกษาเห็นว่า  บรรยากาศการประชุมในช่วงนี้ค่อนข้างตึงเครียดพอสมควร  แม้จะเป็นช่วงเริ่มต้นการประชุมก็ตาม  เพราะ  มีการถาม-ตอบอย่างดุเดือด (พอสมควร) ซึ่งสาเหตุหนึ่งอาจมาจากการที่คณะกรรมการยังไม่เข้าใจ  ยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้  รวมทั้งประธานฯยังไม่ได้ทำความไม่เข้าใจ  ความไม่รู้ของคณะกรรมการอย่างกระจ่าง  ที่ผู้วิจัยสรุป (เบื้องต้น)  เช่นนี้  เนื่องมาจากการที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมมาหลายครั้งแล้ว  ถ้ามีประเด็นคำถาม  หากประธานฯตอบไม่ชัดหรือยังไม่เข้าใจ  ผู้ที่เข้าร่วมประชุมคนอื่นๆที่พอจะรู้หรือเข้าใจก็จะช่วยอธิบาย  แต่ในประเด็นเรื่องตำบลละแสนนี้ดูเหมือนว่าเมื่อมีคำถามขึ้นมาไม่ว่าจะครั้งใด  มักจะไม่ค่อยมีผู้ให้คำตอบหรืออธิบายได้  ถ้าจะมีก็คงเป็นคำตอบหรือคำอธิบายจากการที่ได้ฟังการบอกเล่าหรือเห็นเอกสารเพียงบางส่วน  ซึ่งคนเหล่านั้นก็ไม่แน่ใจว่าจะใช่หรือเปล่าอีกเหมือนกัน

     ข้อคิดที่ได้จากการประชุมในวาระที่หนึ่งนั้น  ผู้วิจัยเห็นว่าปัญหาน่าจะอยู่ที่การถ่ายทอดของประธานฯที่ยังไม่ชัดเจน  แต่ปัญหาที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ  การที่คณะกรรมการขาดความรู้  ความเข้าใจในเรื่องนี้  ดังนั้น  ทางเครือข่ายฯน่าจะมีการทบทวนตัวเองในเรื่องนี้ว่าปัญหาอยู่ที่ตรงไหน  คณะกรรมการขาดในเรื่องอะไร  โดยเอาบทเรียนเก่าๆหรือบทเรียนในปัจจุบันเป็นตัวตั้งแล้วลองวิเคราะห์กันดู  เพื่อหาทางแก้ไข  ความจริงปัญหาเหล่านี้ไม่น่าจะเกิดขึ้น  ถ้าในการทำงานทุกครั้งมีการสรุปงานหลังจากที่ทำเสร็จแล้ว  ประโยชน์ของการสรุปงานก็คือ จะทำให้ทีมงานเห็นความสำเร็จและจุดบกพร่องต้องแก้ไข  ความสำเร็จ  เปรียบเสมือนนำทิพย์ชโลมใจให้มีกำลังใจทำงานเพื่อรักษาความสำเร็จนี้ต่อไป  ส่วนจุดบกพร่อง  เปรียบเสมือนเครื่องเตือนใจที่จะคอยเตือนให้คนทำงานหาทางปรับปรุงแก้ไข  เพื่อก่อให้เกิดความสำเร็จและความภาคภูมิใจยิ่งๆขึ้นไป

     ผู้วิจัยอยากบอกว่านี่เป็นเพียงความคิดเห็นหนึ่งจากผู้สังเกตกาณณ์ภายนอกเท่านั้น  อาจจะไม่ใช่อย่างที่ผู้วิจัยสันนิษฐานก็ได้  แต่ที่สันนิษฐานเช่นนี้มีฐานคิดมาจากการที่ได้ทำกิจกรรมกับเครือข่ายตลอดระยะเวลากว่า 7 เดือนที่ผ่านมา  สิ่งที่สังเกตได้อย่างกนึ่งก็คือ  เวลามีการจัดเวทีหรือกิจกรรมอไรขึ้นมาก็ตามแต่  เมื่อเสร็จงานไปแล้ว (แทบ) จะไม่มีการสรุปงานเลย  อย่างดีประธานฯก็กล่าวขอบคุณ  กล่าวสรุปกระบวนการทำงานนิดหน่อย  แล้วก็ผ่านไป  ทำให้คนทำงานไม่รู้ว่าตนเองมีความสำเร็จอย่างอะไร  จุดบกพร่องเรื่องอะไร

     วันนี้ขอจบแค่นี้ก่อนนะคะ  แล้วพรุ่งนี้ (ถ้าโอกาสอำนวย) จะเขียนตอนต่อๆไปให้อ่านค่ะ  ขอบคุณที่อุตส่าห์เสียสละเวลาอันมีค่าเข้ามาอ่านนะคะ  ถ้ามีข้อเสนอแนะก็แนะนำได้นะคะ (ข้อตำหนิ  ความคิดเห็นก็ได้ค่ะ)  ยินดีน้อมรับค่ะ    

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 13099เขียนเมื่อ 23 มกราคม 2006 19:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ผมเป็นแฟนรายการของอ.อ้อม อ่านด้วยความสนใจเสมอครับ ได้เกร็ดความรู้มากมาย อ.อ้อมเล่าบรรยากาศให้ฟังและแสดงความคิดเห็นของตัวเองประกอบ ทำให้ทราบมุมมองของอ.อ้อมและบริบทที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่เล่าด้วย

เห็นด้วยกับอ.อ้อมว่าเครือข่ายน่าจะทำAARทุกครั้ง เรื่องนี้แนะนำให้แกน1+2+6 คุยกันก่อนเสมอว่ามีเป้าหมายอย่างไรบ้างในการทำกิจกรรมแต่ละครั้งและต้องเตรียมอะไรบ้างก่อนทำกิจกรรม

สำหรับประเด็นนี้ ผู้เข้าร่วมจากกลุ่มต่างๆ เป็นบุคคลเป้าหมายในกิจกรรมประชุมเครือข่ายครั้งนี้ ถ้ามีเป้าหมายเพื่อสร้างทำความเข้าใจเงิน1แสนบาทก็ต้องเตรียมตัวคนนำเสนอและเอกสารประกอบเพราะตัวชี้วัดคือผู้เข้าร่วมเข้าใจเรื่องนี้และนำไปบอกเล่าได้อย่างถูกต้องในแกนนำกลุ่มของตนเอง(ถ้าคนมาประชุมเข้าใจไม่ถูกต้อง หรือเข้าใจถูกต้องแต่กลับไปถ่ายทอดไม่ถูกหรือไม่ถ่ายทอดต่อก็จะเป็นผลต่อการขับเคลื่อนของเครือข่ายในประเด็นนี้)คนนำเสนอต้องประเมินตนเองว่านำเสนอเรื่องนี้ชัดเจนเพียงไร โดยดูจากตัวชี้วัดในระดับต่างๆเป็นชั้นๆไป(คนฟังเข้าใจ? ถ่ายทอดต่อ?ถูกต้องหรือไม่?) การทำAARจะช่วยให้การทำกิจกรรมมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยที่ทุกคนต้องรู้บทบาทของตนเองและมองตัวเองเป็นหลักไม่ไปกล่าวโทษคนอื่น

อยากให้ข้อแนะนำนี้ได้รับการถ่ายทอดต่อไปยัง1+1+6ที่เหลือ

ผมหวังให้ช่องทางBlogเป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างกว้างขวางตรงเป้าหมายมากที่สุด ถ้าทีมอ.อ้อม1+2+6ได้อ่านBlogอ.อ้อมและได้อ่านข้อคิดเห็นของผมโดยตรงก็จะแลกเปลี่ยนพูดคุยกันด้วยสื่อที่ไม่ต้องแปรความอีกชั้นหนึ่ง(ผ่านอ.อ้อม) การเพิ่มช่องทางสื่อสารกับทีมงานเพื่อใช้เป็นเครื่องมือเรียนรู้สร้างความเข้าใจจึงมีความสำคัญ แต่ผมยังทำได้ไม่ดีเลย ไม่งั้นพวกเรา5-6พื้นที่ต้องเข้ามาคุยกันอย่างสนุกสนานมากกว่านี้แล้ว ตอนนี้มีอ.อ้อมที่คุยกันเหมือนกับอยู่ใกล้กันรู้ความเคลื่อนไหวตลอด แต่ที่อื่นๆยังเข้ามาไม่มากนัก

อ.อ้อมจะหาทางสื่อสารกับทีม1+1+6+26อย่างไรให้เข้าใจเพราะมิฉะนั้นแล้ว ความหวังในการต่อยอดของที่อื่นๆไม่ว่าจะเป็นมสช.เงิน1แสนหรือสปสช.ก็เป็นการขยายความคิดฝันที่มีแต่โครงร่างแต่ไร้ตัวตนและวิญญาณ การจัดการความรู้จะช่วยให้โครงร่างที่งดงามของเครือข่ายสวัสดิการ1บาทของลำปางมีตัวตนทั้งเลือดเนื้อและวิญญาณที่แท้จริง แต่ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายนัก นี่เป็นความท้าทายของทีมวิจัยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท