ประวัติและผลงานของนักเพลงพื้นบ้าน (ตอนที่ 5) รุ่นสืบสานเพลงอีแซว


มีนักเรียนและครูร่วมแสดงเพลงพื้นบ้านจำนวน 500 คน

 

ประวัติและผลงานที่ต้องบันทึกไว้

 ของนักเพลงพื้นบ้าน รุ่นสืบสานเพลงอีแซว 

ในจังหวัดสุพรรณบุรี (ตอนที่ 5)

          ใน 4 ตอนที่ผ่านมา ผมได้ย้อนอดีตเล่าความหลังเท่าที่เป็นประเด็นสำคัญให้ท่านผู้อ่านได้รับรู้รับทราบในเรื่องของเพลงพื้นบ้านโดยเฉพาะเพลงอีแซว ศิลปะท้องถิ่นของจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งผมเองอยากจะเรียกเพลงประเภทนี้ว่าเพลงสุพรรณฯเสียด้วยซ้ำ เพื่อที่จะได้ตัดคำว่าอีออกไปเสียที  เพราะใคร ๆ ชอบเรียกเพลงประจำท้องถิ่นของผมว่าอีแซว  บางคนเรียกเสียจนสุภาพเลยว่าเพลงคุณแซว, เพลงนางแซวก็ไม่ต้องเลยไปถึงขนาดนั้นก็ได้ คำเรียกชื่อเพลงที่ถูกต้อง จะต้องเรียกว่าเพลงอีแซว  ครูเพลงรุ่นก่อน ๆ ท่านกำหนดให้มาว่า ขอให้เรียกเพลงประจำท้องถิ่นของสุพรรณฯ เพลงนี้ว่าเพลงอีแซวครับ 

          ใครเป็นคนดัง ผู้คนก็มารุมล้อมอยากทำความรู้จัก เข้ามาทักทายสนิทสนม และอยากที่จะมีชื่อเสียงก็ตามไปรุมเกาะเกี่ยวด้วย เพื่อที่จะได้นำพาไปสู่เป้าหมายที่มุ่งหวัง มีหน้ามีตา มีผู้คนยอมรับว่า เป็นบุคคลคนหนึ่งที่มีผลงานน่าเชื่อถือ แต่ท่านทั้งหลายอาจไม่ทราบหรอกว่า บนความสำเร็จของคนแต่ละคน มีบุคคลสำคัญอยู่เบื้องหลังแห่งความสำเร็จนั้น ๆ บางคนต้องใช้เวลานานนับ 10 ปี ถึง 20 ปี ยังมี กว่าที่เขาจะเดินทางไปถึงจุดหมาย มีคนยอมรับว่า ของจริงได้            ดังนั้น ก่อนที่ผมจะเล่าประวัติและผลงานที่ต้องบันทึกไว้ของนักเพลงพื้นบ้าน รุ่นสืบสานเพลงอีแซวในจังหวัดสุพรรณบุรี ตอนที่ 5 นี้ ขอย้อนกลับไปที่ 

         ในตอนที่ 1 ผมได้ทบทวนความหลังย้อนที่มาที่ไปให้เห็นจุดเริ่มต้นของเพลงอีแซว แหล่ง กำเนิดของเพลงพื้นบ้านประเภทนี้ ที่วัดป่าเลไลยก์ ซึ่งผมได้รับฟังมาจาก น้าจำลอง รุญเจริญ 

        ในตอนที่ 2 ผมจึงได้นำเอาเรื่องราวเสี้ยวส่วนหนึ่งของครูเคลิ้ม ปักษี ยอดนักเพลงบรมครูเพลงพื้นบ้าน ต้นตำรับครูเพลงอีแซวของจังหวัดสุพรรณบุรี ที่มีนักเพลงเป็นจำนวนมากไปเอาบทเพลงของท่าน นำมาร้องเล่นเป็นอาชีพการแสดง มีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นจำนวนมาก 

        ในตอนที่ 3 ผมได้นำเรื่องราวบางส่วนที่สำคัญของนักเพลงรุ่นบรมครูที่มีชีวิต เล่นเพลง และเป็นศิษย์ของครูเคลิ้ม ปักษี เพียงบางส่วน นำเอามาเล่าเรื่องราวที่สำคัญให้ท่านได้รับทราบ  

        ในตอนที่ 4 ประวัติและผลงานที่ต้องบันทึกไว้ของนักเพลงพื้นบ้านรุ่นปัจจุบัน ในจังหวัดสุพรรณบุรี ผมได้ไปพบพูดคุยกับนักเพลงและบันทึกเสียงสนทนาลงในแถบบันทึกเสียง (เทปคาสเซท) เอาไว้ และนักเพลงพื้นบ้านรุ่นนี้น่าจะเป็นเสาหลักต้นสุดท้ายของเพลงอีแซวสุพรรณฯ ท่านเหล่านี้ นำโดย ขวัญจิต ศรีประจันต์ ศิลปินแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2539 ขวัญใจ  ศรีประจันต์     สุจินต์ ศรีประจันต์  ลำจวน  สวนแตง  นกเอี้ยง เสียงทอง  และบุญโชค ชนะโชติ (เสียชีวิต ปี 2550) ทุกท่านรับมรดกทางเพลงมาจากศิลปินพื้นบ้านตัวจริง และฝึกหัดกันมาจากหลาย ๆ ครู จนมีความสามารถสูงยิ่ง 

          มาถึงปี พ.ศ. 2537 จังหวัดสุพรรณบุรี จัดให้มีการอนุรักษ์สืบสานเพลงอีแซวขึ้น โดยใช้เวทีศิลปวัฒนธรรม ในงานอนุสรณ์ดอนเจดีย์และงานกาชาดจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นสถานที่แสดงความสามารถของนักเรียน และจัดให้มีการประกวดเพลงอีแซวนักเรียนด้วย ตรงนี้คือจุดเริ่มต้นที่ศิลปินเพลงพื้นบ้านดัง ๆ ได้มีโอกาสออกไปสอน ไปฝึกหัดนักเรียนตามโรงเรียนต่าง ๆ ให้มีความสามารถในการแสดงเพลงอีแซวเพื่อส่งขึ้นบนเวทีศิลปวัฒนธรรมในงานอนุสรณ์ดอนเจดีย์ 

          ปี พ.ศ. 2534 โรงเรียนวัดพังม่วง  ตำบลวังยาง  อำเภอศรีประจันต์ เป็นโรงเรียนหนึ่งที่มีแม่ครูเพลงอย่าง แม่บัวผัน จันทร์ศรี และขวัญจิต ศรีประจันต์ ผนึกกำลังกับ อาจารย์ประวิทย์ บุญเรืองรอด (อาจารย์ใหญ่) ทำการฝึกหัดเพลงอีแซวและให้การดูแลอย่างใกล้ชิดเพราะอยู่ใกล้บ้านท่านครูเพลงด้วย 

          ปี พ.ศ. 2535 โรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1 เริ่มต้นฝึกหัดเพลงฉ่อย และเพลงอีแซวให้กับนักเรียนยุวกาชาด ระดับชั้น ม.ต้น เพื่อเป็นตัวแทนของจังหวัด ไปแสดงในกิจกรรมชุมนุมยุวกาชาดเอเชียแปซิฟิก ที่จังหวัดชลบุรี โดยมี อาจารย์ชำเลือง มณีวงษ์ อาจารย์ 3  ศิลปศึกษา ในขณะนั้นเป็นผู้ฝึกสอนด้วยตัวคนเดียว ต่อมา พ.ศ. 2541 มี ขวัญจิต ศรีประจันต์ และครูเพลงเข้ามาให้การช่วยเหลือ จนถึงในปัจจุบัน และได้ผ่านการถ่ายทอดเพลงพื้นบ้านสู่เยาวชนไปแล้วมากกว่า 100 คน นักแสดงจำนวน 22 คน ออกรับใช้สังคมในงานต่าง ๆ ได้ตลอดเวลา

          ปี พ.ศ. 2537  โรงเรียนบ้านหนองจิกรากข่า โดยอาจารย์บรรจง พูลกำลัง (อาจารย์ใหญ่) ซึ่งท่านเป็นญาติใกล้ชิดกันมากกับ ขวัญจิต ศรีประจันต์ ได้จัดให้มีการฝึกหัดเพลงอีแซวนักเรียนขึ้นที่ บ้านหนองจิกรากข่าและมีอาจารย์เคลื่อน พวงพันธ์ดี ครูผู้ที่มีความสามารถสูงยิ่งในด้านการแต่งบทร้อง และฝึกหัดเพลงอีแซว 

         ปี พ.ศ. 2538 โรงเรียนศรีประจันต์ เมธีประมุขอาจารย์แก้วตะวัน  อาจหาญ ครูภาษา ไทย คนเก่ง เป็นผู้ที่มีความสมารถร้อง รำ แต่งบทร้อง และฝึกหัดเพลงอีแซวให้กับนักเรียนของท่าน โดยมีศิลปินพื้นบ้านในท้องถิ่นให้การดูแลหลายท่าน ทำให้เกิดนักเพลงที่มีชื่อเพิ่มขึ้นมาก 

         ปี พ.ศ. 2541 โรงเรียนบางลี่วิทยา อำเภอสองพี่น้อง โดยอาจารย์พิสูจน์ ใจเที่ยงกุล ท่านผู้นี้ผมได้พบและสัมผัสในวงวิชาการมานาน เปรียบเสมือนเพื่อนร่วมงานรุ่นน้องที่เต็มไปด้วยความสามารถ ทั้งร้อง เล่น แต่งบทร้องด้วยตนเอง ท่านกล้าที่จะจัดตั้งวงเพลงอีแซว และเป็นนักบุกเบิกที่โดดเดี่ยวแห่งสองพี่น้อง จนถึงวันนี้มีลูกศิษย์เก่ง ๆ มากมาย สมาชิกในวงเพลงประมาณ 18-25 คน ออกไปรับใช้สังคมในงานต่าง ๆ ได้ตลอดเวลา 

         ปี พ.ศ. 2546-2547 (ขออภัยถ้าปี พ.ศ.ผิดพลาด) ณ โรงเรียนสระยายโสมวิทยา และโรงเรียนอู่ทองศึกษาลัย อาจารย์นารินทร์ และอาจารย์สุวรรณา แจ่มจิตต์ สองสามี-ภรรยา ครูศิลปะผู้ที่เปี่ยมไปด้วยหัวใจรักถิ่น ดูเหมือนว่า ท่านจะเป็นคนที่มาจากจังหวัดอื่นเสียด้วยซ้ำ 1 ใน 2 คนนี้ แต่ลงทุนฝึกหัดนักเรียนจัดตั้งวงเพลงอีแซว ให้ดังกระฉ่อนไปทั่วอำเภออู่ทอง จากจุดเริ่มต้นจนมีผลงานในระดับสูงได้  

         นี่เป็นเพียงบางส่วน หรือเป็นส่วนหนึ่งที่ผมใช้ประสบการณ์ในความทรงจำ นำเอามาเล่าให้ท่านผู้ท่านได้รับรู้ หากจะพูดว่า นี่คือคนกลุ่มเล็ก ๆ ที่ห่วงแผ่นดินบ้านเกิด มีความเป็นห่วงและหวงแหนเอกลักษณ์ของแผ่นดิน ที่เป็นสมบัติทางปัญญาของชาติ กลัวว่าจะต้องสูญหายไปจึงได้ยอมเอาตัวเข้าแลก แลกด้วยความอุตสาหะ วิริยะ แลกกับความเหน็ดเหนื่อย แลกกับความยากลำบาก แลกกับการดูแคลนและที่สำคัญต้องเดินสวนทางกับกระแสคลื่นของวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไปอย่างไม่มีวันที่จะหวนคืนกลับมาอย่างเก่าได้ เพลงวงใดยังคงสภาพอยู่ได้อย่างมั่นคงเหนียวแน่น นั่นหมายถึงว่าผู้สร้างสรรค์ (ครูผู้ฝึกสอน) มีความเหนื่อยยากลำบากยิ่งกว่า ทำแล้วปล่อย ทำแล้วเลิกราไปหลาย 10 เท่า ครับ เพราะทายาททางเพลง นักเรียนที่มาสืบสานเพลงอีแซวและเพลงพื้นบ้านอื่น ๆ กับคุณครูผู้ฝึกเขามาในฐานะนักเรียนที่มีเวลาอยู่กับเราเพียง 3 ปี และอีกส่วนหนึ่ง (ส่วนน้อย) อยู่กับเรา  6 ปี เพลงทุกวงจะต้องหาคนมาแทนที่กันทุกปี ไม่มีความนิ่ง ไม่มีความคงที่ ในระดับมาตรฐานของแต่ละปีจะมีการเปลี่ยนแปลงไป ต้นปีก็สั่นสะเทือนมาหน่อย ปลายปีการศึกษาก็มีนักเรียนจบออกไป หมุนเวียนกันอยู่อย่างนี้ไม่มีวันสิ้นสุด วงใดยืนพื้นอยู่ได้ มีงานแสดงเข้ามารองรับโดยตลอด ก็จะยังคงรักษาชื่อเสียงของวงเอาไว้ได้ วงใดอ่อนแรง ถอยล้าไปเพราะเหตุผลความจำเป็น ชื่อเสียงที่เคยทำไว้ก็จางลงไปบ้างเป็นธรรมดา 

 (ภาพการแสดงละครเพลงย้อนตำนานเพลงอีแซว ที่ โรงละครแห่งชาติ)

        

         ขอบคุณ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุพรรณบุรี เขต 2 โดยท่าน ผอ.อนุสรณ์ ฟูเจริญ ท่าน ศน.ลำดวน  ไกรคุณาศัย และท่าน ศน.วินัย กระจัน ที่เล็งเห็นคุณค่า ความสำคัญของศิลปะการแสดงท้องถิ่น ได้จัดทำโครงการสืบสานตำนานเพลงอีแซวพื้นบ้านขึ้นในปี พ.ศ. 2547-2548 โดยในปี 2547 จัดให้มีการถ่ายทอดภูมิปัญญาเพลงอีแซวไปสู่ครูและนักเรียน จัดมหกรรมการประชันเพลง ส่วนในปี 2548 เป็นการจักมหกรรมการแสดงที่ยิ่งใหญ่โดยใช้ผู้แสดง นักเรียนทั้ง 3 อำเภอ (ดอนเจดีย์, อู่ทองและสองพี่น้อง) จำนวน 500 คน วิพิธทัศนาสืบสานตำนานเพลงอีแซวพื้นบ้าน ณ โรงละคนแห่งชาติภาคตะวันตก จังหวัดสุพรรณบุรี ระหว่างวันที่ 15-16 กันยายน 2548 จำนวน 5 รอบ (เป็นรอบการฝึกซ้อม 1 รอบ) โดยมีศิลปินแห่งชาติ ครูเพลง ครูผู้สอนเพลงอีแซว และคณะครูใน สพท.สพ.2 ร่วมแสดงในครั้งนี้ด้วย การลงทุนได้รับการสนับสนุนจาก อ.บ.จ.  การเตรียมงานนานกว่า 1 ปี  เป็นการให้โอกาส และยืดอายุของเพลงอีแซว ออกไปอีกช่วงเวลาหนึ่งได้อย่างภาคภูมิใจ แบบนี้คือผู้สืบสานจริง ๆ  มิใช่แค่ทำแล้วปล่อยทิ้งไป  

         อาจยังคงมีอีกบ้างในบางสถานที่ ที่ใช้เงินลงทุนในการสืบสานศิลปะท้องถิ่นอย่างไม่ถูกทางและยังคงทำกิจกรรมเดิม ๆ ด้วยเงินเป็นจำนวนมาก มีผู้แสดง มีคนดู (น้อยมาก) หรือจัดเพียงแค่ให้ได้ชื่อว่า เป็นผู้อนุรักษ์ สืบสานเพลงพื้นบ้าน ประกาศตัวเองว่า เป็นผู้ให้โอกาส ให้การสนับสนุนแล้วซึ่งก็ไม่ว่ากัน  แต่ใครจะนำเอาวิธีการสืบสานเพลงอีแซว ของ สพท.สพ. เขต 2 ไปใช้บ้างก็ยินดี ติดต่อขอศึกษารูปแบบวิธีการได้ งบประมาณที่ใช้ก็พอสมควร แต่เมื่องานสำเร็จยังคงหลงเหลือศิลปินตัวน้อย ๆ เต็มพื้นที่ไปหมด อย่างน้อย ๆ ก็ 500 คน  แบบนี้ไม่มีสูญเปล่า แน่ครับ 

(ชำเลือง มณีวงษ์ : 2550.  นักเพลงอีแซวรุ่นเยาวชน  ที่สืบสานอยู่ในโรงเรียน)

 

หมายเลขบันทึก: 130969เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2007 17:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท