การประเมินผลการเรียนรู้ในคลินิกสำหรับพยาบาลพี่เลี้ยง ตอนที่ 1


การฝึกปฏิบัติงานในสถานบริการสุขภาพของนักศึกษาพยาบาลจะต้องอยู่ภายใต้การนิเทศ ไม่ว่าจะเป็นของอาจารย์นิเทศ หรือพยาบาลที่อยู่ในแหล่งฝึกปฏิบัติ โดยเฉพาะพยาบาลที่อยู่ในแหล่งฝึกปฏิบัตินับเป็นบุคคลที่มีความสำคัญต่อการเตรียมบุคลากรพยาบาลเข้าสู่วิชาชีพ เพราะเป็นทั้งต้นแบบของบุคลิกภาพและต้นตอของเจตนคติทางการพยาบาล รวมทั้งเป็นพี่เลี้ยงที่ช่วยสอนและพัฒนาทักษะทางการพยาบาลให้กับนักศึกษา

เมื่อมีการจัดการเรียนการสอนเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ผู้สอนก็ย่อมต้องการจะรู้ว่าผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อะไรบ้าง มากน้อยแค่ไหน ตรงกับที่ต้องการจะให้เรียนรู้หรือไม่ จึงต้องมีการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ หรือที่เรียกว่าการประเมินผลสัมฤทธิ์ ผู้สอนย่อมต้องการจะรู้ว่าการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ในครั้งนั้นๆ สัมฤทธิ์ผลแค่ไหน หากไม่เป็นไปตามที่ผู้สอนต้องการก็คงต้องมีการปรับกลยุทธ์ในการสอนและการเรียนกันใหม่ การเรียนการสอนกับการประเมินผลจึงมีความสัมพันธ์กัน โดยมีวัตถุประสงค์ระดับต่างๆ เป็นเกณฑ์หลัก ซึ่งผู้สอนมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ส่วนผู้บริหาร อาจารย์ที่ปรึกษา และเพื่อนผู้เรียนจะมีบทบาทโดยอ้อม การเรียนรู้ในคลินิก (Clinical learning) เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับนักศึกษาพยาบาล เพราะวิชาชีพพยาบาลเป็นงานที่ต้องกระทำต่อชีวิตมนุษย์ ความรู้ความสามารถ ความชำนาญในการปฏิบัติ และเจตนคติต่อวิชาชีพเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง นักศึกษาพยาบาลจะต้องผ่านการฝึกปฏิบัติในสถานการณ์จริง จึงจะสามารถนำความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาในชั้นเรียนไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติการพยาบาล (Clinical performance) ได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งจะต้องมีเจตนคติที่ดีที่จะใช้ในการพิจารณาทางคลินิก (Clinical judgment) ได้อย่างเหมาะสม การฝึกปฏิบัติงานในสถานบริการสุขภาพของนักศึกษาพยาบาลจะต้องอยู่ภายใต้การนิเทศ ไม่ว่าจะเป็นของอาจารย์นิเทศ หรือพยาบาลที่อยู่ในแหล่งฝึกปฏิบัติ โดยเฉพาะพยาบาลที่อยู่ในแหล่งฝึกปฏิบัตินับเป็นบุคคลที่มีความสำคัญต่อการเตรียมบุคลากรพยาบาลเข้าสู่วิชาชีพ เพราะเป็นทั้งต้นแบบของบุคลิกภาพและต้นตอของเจตนคติทางการพยาบาล รวมทั้งเป็นพี่เลี้ยงที่ช่วยสอนและพัฒนาทักษะทางการพยาบาลให้กับนักศึกษา ดังนั้นเพื่อให้การเตรียมบุคลากรพยาบาลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด พยาบาลพี่เลี้ยง (Preceptor) จึงควรมีความรู้ความสามารถในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้และประเมินผลการเรียนรู้ของนักศึกษาด้วย 

การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ (Learning Measurement and Evaluation)

การประเมินผล หรือ Evaluation คือกระบวนการตัดสินคุณค่าของสิ่งของหรือการกระทำใดๆ โดยเปรียบเทียบกับเกณฑ์มาตรฐาน การประเมินผลการเรียนรู้คือการตัดสินระดับสัมฤทธิผลของผู้เรียนแต่ละคน เป็นกระบวนการที่ใช้ประเมินว่าผู้เรียนได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตามวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรมที่วางไว้หรือไม่ เช่น ในด้านพุทธิปัญญา ผู้เรียนได้เปลี่ยนจากการไม่รู้เรื่องพยาธิสภาพของโรคเป็นผู้ที่สามารถสามารถวินิจฉัยปัญหาของโรคได้ เป็นต้น ข้อมูลเหล่านี้ได้มาจากการวัดความรู้ที่ผู้เรียนได้เรียนรู้ไป แล้วนำข้อมูลที่ได้จากการวัดมาเปรียบเทียบกับเกณฑ์เพื่อพิจารณาว่าการจัดการเรียนการสอนทำให้ผู้เรียนมีความรู้ความสามารถอยู่ในระดับใด ข้อมูลที่ได้จากการวัดจึงเป็นเครื่องช่วยตัดสินประสิทธิภาพทั้งของผู้สอนและผู้เรียน

การวัด (Measurement) คือการกำหนดค่าคงที่เป็นจำนวนตัวเลขเพื่อแทนคุณสมบัติของสิ่งต่างๆ หรืออื่นๆ ตามกฎเกณฑ์ ซึ่งความถูกต้องเที่ยงตรงของการวัดขึ้นอยู่กับความถูกต้องสมเหตุสมผลของกฎเกณฑ์ที่ใช้กำหนดค่าเป็นตัวเลขแทนคุณสมบัติของสิ่งของหรือเหตุการณ์ต่างๆ และที่ง่ายต่อการปฏิบัติ โดยเฉพาะการวัดผลการเรียนรู้ซึ่งเป็นนามธรรม ซึ่งต้องวัดทางอ้อมและมีวิธีการที่ซับซ้อน ไม่ง่ายและชัดเจนเหมือนการวัดทางกายภาพ เช่น การชั่งน้ำหนักและวัดส่วนสูง การตั้งกฎเกณฑ์เพื่อกำหนดตัวเลขแทนคุณสมบัติของการเรียนรู้จึงควรง่ายต่อการปฏิบัติและถูกต้องสมเหตุสมผล การวัดเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินผลที่ดีเสมอ แต่การวัดที่ดีไม่จำเป็นต้องมีการประเมินผลก็ได้ ตัวอย่างเช่น น..สดใส ได้คะแนนการฝึกปฏิบัติวิชาการพยาบาลผู้ใหญ่ 70 เปอร์เซ็นต์ ขั้นนี้เรามีเพียงข้อมูลจากการวัด เมื่อเราประเมินผลโดยเอาคะแนนไปเปรียบเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนดขึ้น น..สดใส สามารถปฏิบัติการพยาบาลในวิชานี้อยู่ในขั้นพอใช้เท่านั้น พยาบาลจะต้องมีความรู้ความสามารถตามมาตรฐานวิชาชีพ การเรียนรู้ในคลินิกจึงต้องมีทั้งการวัดและการประเมินผลการเรียนรู้ ดังนั้นทุกครั้งที่เกิดปัญหาในการตัดสินเรามักจะหาข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจได้อย่างถูกต้องเหมาะสม การหาข้อมูลจะต้องมีเครื่องมือและเทคนิควิธีต่างๆ การวัดผลการเรียนรู้จึงต้องใช้เครื่องมือวัดการเรียนรู้ข้อมูลที่ได้จากการวัดผลมีทั้งข้อมูลเชิงปริมาณและข้อมูลเชิงคุณภาพ ข้อมูลเชิงปริมาณมีลักษณะเป็นตัวเลขที่สามารถนำมาคำนวณตามหลักคณิตศาสตร์ได้ เช่น คะแนนสอบ ส่วนข้อมูลเชิงคุณภาพเป็นข้อมูลที่แสดงถึงรายละเอียดของคุณลักษณะที่วัดได้ เช่น ภูมิลำเนา บ้านเลขที่ ข้อความที่ได้จากการสัมภาษณ์ เป็นต้น

การทดสอบ (Testing) คือการวัดผลชนิดหนึ่ง ใช้เครื่องมือวัดที่เรียกว่า แบบทดสอบเพื่อรวบรวมข้อมูลจากผู้ที่ต้องการวัด แบบทดสอบมีหลายประเภทหลายลักษณะ ได้แก่ แบบทดสอบอัตนัย แบบทดสอบปรนัย แบบทดสอบข้อเขียน แบบทดสอบปากเปล่า แบบทดสอบภาคปฏิบัติ เป็นต้น กระบวนการทดสอบด้วยแบบทดสอบใดๆ ก็ตามจะเสร็จสิ้นต่อเมื่อผู้เรียนได้แสดงพฤติกรรมที่สะท้อนความคิด ความรู้ความสามารถออกมาโดยการตอบแบบทดสอบ ไม่ว่าจะเป็นการพูด เล่า เขียน หรือปฏิบัติ 

ประเภทของการประเมินผล

1.      แบ่งตามระบบของการประเมิน

1.1    การประเมินผลแบบอิงกลุ่ม เป็นการประเมินผลเพื่อเปรียบเทียบคะแนนที่ได้จากการทำแบบทดสอบ หรือผลงานของผู้เรียนที่ทำงานหรือทำแบบทดสอบอย่างเดียวกัน จุดมุ่งหมายเพื่อจำแนกหรือจัดลำดับผู้เรียนในกลุ่มนั้นๆ โดยยึดระดับผลสัมฤทธิ์เป็นเครื่องมือในการจำแนก คือยึดที่ระดับคะแนนสูงสุดจนถึงต่ำสุด จึงเป็นการประเมินที่ตัวผู้เรียนเป็นส่วนใหญ่ เพราะเป็นความแตกต่างกันของผู้เรียน และเป็นความสามารถของแบบทดสอบที่สามารถทำให้ผู้เรียนมีความแตกต่างกันมาก คุณภาพของแบบทดสอบแบบนี้จึงต้องมีเนื้อหาที่เป็นตัวอย่างของเนื้อหาทั้งหมดได้ มีความยากง่ายพอเหมาะและมีค่าอำนาจในการจำแนกสูง เพราะต้องกระจายผู้เรียนให้แตกต่างกันเพื่อสามารถเปรียบเทียบกันได้ การประเมินลักษณะนี้จึงควรใช้กับการคัดเลือก การสอบแข่งขัน

1.2    การประเมินผลแบบอิงเกณฑ์ เป็นการประเมินเพื่อต้องการทราบว่าผู้เรียนมีความสามารถถึงเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในวัตถุประสงค์หรือไม่ จึงต้องนำคะแนนที่ได้ไปเปรียบเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ซึ่งการประเมินประเภทนี้จะใช้ได้ดีในสถานการณ์ที่ต้องการวัดสมรรถภาพเป็นรายบุคคล ดังนั้นจึงต้องกำหนดเกณฑ์เพื่อใช้ในการแปลผลจากคะแนนของผลงาน โดยทั่วไปนิยมใช้เกณฑ์ 80-90% ถ้าผู้เรียนทำแบบทดสอบได้ถึงเกณฑ์นี้ก็ถือว่าเรียนรู้ได้ตามวัตถุประสงค์แล้ว การประเมินผลแบบอิงเกณฑ์เป็นกระบวนการที่ควบคู่ไปกับการเรียนการสอนเพื่อปรับปรุงการเรียนการสอน ถ้าผู้เรียนไม่สามารถทำแบบทดสอบได้ถึงเกณฑ์ก็ต้องมีการปรับวิธีเรียนวิธีสอน มีการสอบซ่อม เช่น มีการสอบย่อยครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 ฯลฯ จนกว่าจะทำได้ตามเกณฑ์ การประเมินแบบนี้จึงเน้นที่วัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม ลำดับขั้นการสอน การสอนรายบุคคล และแบบเรียนสำเร็จรูป ซึ่งผู้เรียนที่มีความสามารถแตกต่างกันสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ทางการศึกษาได้เหมือนกัน แต่อาจใช้ระยะเวลาแตกต่างกัน ซึ่งในความเป็นจริงการจัดการเรียนการสอนมักมีระยะเวลาที่กำหนดไว้ ดังนั้นผู้เรียนแต่ละคนจึงต้องพยายามหาวิธีเรียนรู้ให้ได้ตามวัตถุประสงค์ ส่วนผู้สอนก็ต้องจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่เอื้อต่อการที่ผู้เรียนที่มีความสามารถแตกต่างกันจะสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้ ภายในระยะเวลาที่กำหนด2.      แบ่งตามวัตถุประสงค์ของการประเมินตามหลักสูตร

2.1    การประเมินผลเพื่อปรับปรุงการเรียน การประเมินผลประเภทนี้มี 2 ระยะ คือ การประเมินผลก่อนเรียน(Pre-evaluation) เพื่อตรวจสอบพื้นฐานความรู้และทักษะของผู้เรียน และ การประเมินผลระหว่างเรียนหรือที่เรียกว่า การประเมินความก้าวหน้า” (Formative evaluation) เป็นการประเมินผลระหว่างภาคเรียน หรือระหว่างที่การสอนกำลังดำเนินอยู่ เพื่อมุ่งตัดสินคุณค่าเบื้องต้นของการสอนหรือการเรียนอันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงวิธีการเรียนการสอนให้เกิดผลดียิ่งขึ้น การประเมินผลความก้าวหน้ามีจุดมุ่งหมายเพื่อค้นหาว่าผู้เรียนได้เรียนรู้อะไรไปมากน้อยแค่ไหนในเนื้อเรื่องเฉพาะตอนนี้ และมุ่งที่จะประเมินว่าผู้สอนได้จัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้เหมาะสมเพียงใด ตัวอย่างการประเมินผลความก้าวหน้า ได้แก่ การสอบย่อยประจำหน่วยเรียนหรือการสอบกลางภาคที่มุ่งให้ข้อมูลย้อนกลับ (Feedback) แก่ผู้เรียนเพื่อแก้ไขข้อบกพร่อง ตลอดจนให้ข้อมูลย้อนกลับแก่ผู้สอนเพื่อปรับปรุงวิธีการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แก่ผู้เรียนให้เหมาะสมยิ่งขึ้น การประเมินผลความก้าวหน้าควรทำอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาการเรียนการสอน หรือเมื่อสิ้นสุดการเรียนการสอนในแต่ละหน่วยย่อย 

 2.2    การประเมินผลเพื่อตัดสินผลการเรียน หรือการประเมินผลรวม (Summative evaluation) คือการประเมินผลหลังจากที่สิ้นสุดการเรียนการสอนในแต่ละรายวิชา หรือโปรแกรม โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาว่าผู้เรียนมีความรู้ทั้งสิ้นเท่าไหร่ เก่งหรืออ่อนในวิชาใด เป็นการประเมินโดยรวมในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือวิชาใดวิชาหนึ่งโดยเฉพาะ ผลจากการประเมินประเภทนี้ใช้ตัดสินผลการเรียนหรือตัดสินว่าผู้เรียนคนใดควรจะได้รับคะแนนเท่าใด และยังใช้ในการพยากรณ์ผลสำเร็จในรายวิชาที่จะเรียนต่อไปด้วย ดังนั้นในการประเมินผลรวมผู้สอนจึงต้องประเมินให้ครอบคลุมทุกวัตถุประสงค์ แต่ถ้ามีวัตถุประสงค์มาก ไม่สามารถประเมินได้หมด ผู้สอนจำเป็นต้องเลือกประเมินบางจุด โดยอาจใช้วิธีสุ่มวัตถุประสงค์ ซึ่งก็เสี่ยงว่าวัตถุประสงค์ที่สำคัญอาจไม่ได้รับเลือก หรืออีกวิธีหนึ่งโดยการสุ่มวัตถุประสงค์ที่สำคัญ วิธีนี้ผู้สอนจะต้องเรียงลำดับความสำคัญของวัตถุประสงค์เอาไว้ก่อน แล้วจึงสุ่มจากที่สำคัญๆ    

จุดมุ่งหมายของการประเมินผลการเรียนรู้

1.      เพื่อบ่งชี้ว่าผู้เรียนมีทักษะและความรู้ที่สำคัญพอเพียงหรือไม่ เป็นข้อมูลเพื่อการตัดสินใจในการเตรียมประสบการณ์การเรียนรู้ที่จำเป็นแก่ผู้เรียน ผู้สอนต้องประเมินความรู้และทักษะที่ผู้เรียนมีอยู่ก่อนรับการสอน เพื่อจัดประเภทและจัดตำแหน่งของผู้เรียน (Placement) และวางแผนการสอนให้เหมาะสม

2.      เพื่อวินิจฉัยจุดเด่นและจุดด้อยของผู้เรียน (Diagnosis) โดยสังเกตจากข้อมูลที่วัดและประเมินผลไว้ เป็นการค้นหาสาเหตุของความบกพร่องเพื่อให้ได้ข้อมูลในการตัดสินใจปรับปรุงวิธีการเรียนรู้ของผู้เรียนและกระบวนการสอนของผู้สอน เพื่อช่วยสนับสนุนคนที่เรียนเก่งและช่วยเหลือคนที่เรียนอ่อน

3.      เพื่อเปรียบเทียบระดับพัฒนาการ (Assessment) เป็นข้อมูลเพื่อการพิจารณาว่าผู้เรียนมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นหรือเลวลงเพียงใด เช่นการสอบก่อนเรียน (Pretest) และการสอบหลังจากเรียนจบบทเรียนแล้ว (Posttest)

4.      เพื่อพยากรณ์ความสำเร็จของผู้เรียน (Prediction) ซึ่งจะนำผลไปใช้ในการแนะแนวหรือการสอบคัดเลือก

5.      เพื่อบ่งชี้ระดับสัมฤทธิผลของผู้เรียนแต่ละคน (Achievement evaluation) เพื่อจัดระดับของนักศึกษา ซึ่งบ่งบอกถึงความสำเร็จของการจัดการเรียนการสอน ประเมินหลักสูตรที่ใช้อยู่ในปัจจุบันว่าเหมาะสมเพียงใด และประเมินการบริหารงานของผู้บริหารการศึกษาว่าดีหรือไม่จากจุดมุ่งหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่า การประเมินผลการเรียนรู้มีความเกี่ยวข้องทั้งกับผู้สอน ผู้เรียน และผู้บริหาร ซึ่งในการจัดการศึกษานั้น ผู้เรียนควรได้รับการประเมินผลการเรียนรู้ตามจุดมุ่งหมายทั้ง 5 ประการ โดยการประเมินผลจะมีความต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่ตามลำดับ ตั้งแต่เริ่มรับผู้เรียนมาอยู่ในความรับผิดชอบ ผู้สอนก็ต้องทราบว่าผู้เรียนแต่ละคนมีความรู้ความสามารถอยู่ในระดับใด รู้อะไร ทำอะไรได้บ้าง ต่อไปก็ต้องรู้ว่าใครเก่งใครอ่อนอะไร เพื่อจะได้จัดการเรียนการสอนให้เหมาะสม พอสอนกันไปสักพักก็ต้องรู้ว่าผู้เรียนคนไหนดีขึ้นหรือแย่ลง ต่อไปจะเป็นอย่างไร พอจบบทเรียนหรือหมดสิ้นระยะฝึกปฏิบัติแล้วผู้สอนก็ต้องรู้ว่าผู้เรียนบรรลุวัตถุประสงค์รายวิชาและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตรหรือไม่                             

หลักการประเมินผลการเรียนรู้

1.      วัดให้ตรงกับวัตถุประสงค์ เพราะถ้าไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ ผลของการวัดก็ไม่มีความหมายและก่อให้เกิดความผิดพลาดในการนำผลไปใช้ จึงต้องกำหนดจุดมุ่งหมายในการวัดให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการสอน พร้อมทั้งให้คำนิยามของสิ่งที่ต้องการจะวัดให้ชัดเจน ในรูปของพฤติกรรมของผู้เรียนทั้ง 3 ด้าน คือ สติปัญญา (Cognitive domain) อารมณ์ ความรู้สึก และทัศนคติ (Affective domain) และการปฏิบัติ (Psychomotor domain)

2.      เลือกประเภทของการประเมินให้เหมาะสมกับจุดมุ่งหมายว่าควรจะเป็นการอิงกลุ่มหรืออิงเกณฑ์

3.      ใช้เครื่องมือดีมีคุณภาพ เพราะผลการวัดจะเชื่อถือได้มากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับคุณภาพของเครื่องมือที่ต้องมีทั้งความเที่ยงตรง (Validity) และความเชื่อมั่น (Reliability) ผลการวัดที่เชื่อถือไม่ได้ย่อมไม่มีคุณค่าอะไร

4.      มีความยุติธรรม การวัดจะต้องอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่เหมือนๆ กัน และจะต้องไม่มีการเลือกที่รักมักที่ชัง การสุ่มเนื้อหาวิชาจะต้องครอบคลุมและเป็นสัดส่วนกับเนื้อหาทั้งหมด

5.      การวัดผลการเรียนรู้ให้ครอบคลุมการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทุกด้านตามวัตถุประสงค์การศึกษานั้นจำเป็นต้องใช้เทคนิคการวัดหลายวิธี และวัดหลายๆ ครั้ง

6.      แปลผลได้ถูกต้อง ผลที่ได้จากการวัดจะเป็นตัวแทนของจำนวนหรือระดับของคุณลักษณะที่ต้องการวัด ซึ่งมักออกมาในรูปของคะแนนหรืออันดับที่ แล้วจึงจะนำผลไปอธิบายหรือเปรียบเทียบกัน การแปลผลจะถูกต้องมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์ในการแปลผลว่าสมเหตุสมผลมากน้อยเพียงใด

7.      ใช้ผลการวัดให้คุ้มค่า การวัดผลการเรียนรู้จึงควรมีจุดมุ่งหมายในการวัดหลายๆ ด้าน และพยายามใช้ผลการวัดให้สนองจุดมุ่งหมายที่วัดมากที่สุด     

ประเมินผลการเรียนรู้ในคลินิก           

การประเมินผลการเรียนรู้ในคลินิกเป็นขั้นตอนสำคัญของกระบวนการเตรียมพยาบาลเข้าสู่วิชาชีพ เพราะจะทำให้ผู้สอนรู้ว่าผู้เรียนสามารถนำความรู้ที่เรียนในภาคทฤษฎีไปประยุกต์ใช้กับผู้ป่วยและผู้รับบริการสุขภาพอื่นๆ ได้มากน้อยเพียงใด การประเมินผลการเรียนรู้ในคลินิกเป็นการวัดและประเมินความสามารถในการปฏิบัติการพยาบาลในสถานการณ์จริง ที่เป็นการประสานสัมพันธ์ระหว่างสมรรถนะด้านสติปัญญา (Cognitive domain) ด้านอารมณ์ ความรู้สึก และทัศนคติ (Affective domain) และด้านการปฏิบัติ (Psychomotor domain) และครอบคลุมทั้งความรู้และทักษะ 

หลักการประเมินผลการเรียนรู้ในคลินิก

1.    วัดให้ตรงจุดมุ่งหมาย ก่อนสอนผู้สอนจะต้องกำหนดวัตถุประสงค์การเรียนรู้ให้ชัดเจนว่าจะให้ผู้เรียนปฏิบัติหรือทำอะไรได้ และทำได้ในระดับใด การวัดผลจะต้องวัดให้ตรงตามวัตถุประสงค์การเรียนรู้ที่ตั้งไว้ ผู้สอนต้องศึกษาจุดมุ่งหมายของการเรียนการสอนในคลินิก แล้วกำหนดจุดมุ่งหมายของการประเมินผลให้สอดคล้องกัน

2.    งานที่กำหนดให้มีความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการเรียน เช่น ต้องการวัดความสามารถในการใช้กระบวนการพยาบาล งานที่จะมอบหมายให้ผู้เรียนปฏิบัติต้องเป็นการให้การพยาบาลผู้ป่วย เป็นต้น ผู้สอนต้องกำหนดประเภทของประสบการณ์การเรียนรู้ที่ผู้เรียนแต่ละระดับควรได้รับในระหว่างที่ฝึกปฏิบัติงานในคลินิก

3.    ดำเนินการได้เหมาะสมกับลักษณะงาน งานที่จะมอบหมายให้ผู้เรียนทำบางลักษณะอาจทำเป็นรายบุคคล บางลักษณะอาจให้ทำเป็นกลุ่มใหญ่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะของงานว่าสามารถทำคนเดียวได้หรือไม่ หากเป็นงานใหญ่ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่ายช่วยกันทำก็ต้องมอบให้เป็นงานกลุ่ม เช่น กรณีศึกษาที่ใช้การสัมมนาเป็นวิธีการเรียนรู้ ซึ่งการประเมินผลต้องประเมินความร่วมมือและความรับผิดชอบในการทำงานร่วมกันด้วย ผู้สอนต้องกำหนดวิธีการประเมินผล และ/หรือเทคนิคการปฏิบัติให้เหมาะสมกับพฤติกรรมการเรียนที่ต้องการปลูกฝังให้กับผู้เรียน

4.    ยุติธรรม การสร้างความยุติธรรมในการประเมินผลทำได้โดย 

4.1    กำหนดขอบข่ายของงานให้ชัดเจน

4.2    กำหนดเงื่อนไข หรือข้อกำหนดในการทำงานให้ชัดเจนเพื่อเป็นแนวทางสำหรับตัดสินความรู้ความสามารถและพัฒนาการของผู้เรียนอย่างมีหลักการและเหตุผล

4.3    มอบหมายงานให้เหมือนๆ กัน

5.    ตรวจให้คะแนนอย่างเป็นปรนัยและเที่ยงตรง ซึ่งมีลักษณะดังนี้ 

5.1    มีแบบประเมินชัดเจน

5.2    แบ่งคะแนน วิธีการและผลการปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม เช่น การวัดความสามารถในการตรวจร่างกาย ควรเน้นวิธีการมากกว่าผลการตรวจ การวัดความสามารถในการจัดเตรียมอุปกรณ์การผ่าตัดเล็กควรเน้นที่ผลงานมากกว่าวิธีการ เป็นต้น

5.3    การให้คะแนนต้องครอบคลุมทุกจุดที่ต้องการวัด

6.    มีเกณฑ์การประเมินผล โดยทั่วไปจะพิจารณาเกณฑ์ 2 ประการคือผลผลิต (Product) และกระบวนการ (Process) หรือวิธีในการปฏิบัติงาน

6.1    การวัดผลผลิตต้องพิจารณาทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ เกณฑ์ปริมาณหมายถึงความสามารถในการปฏิบัติงานได้อย่างคล่องแคล่วชำนิชำนาญ ซึ่งอาจเปรียบเทียบปริมาณผลงานและเปรียบเทียบเวลาในการทำงาน

6.2    การประเมินวิธีการ ต้องพิจารณาว่าวิธีการปฏิบัติในแต่ละขั้นตอนถูกต้องหรือไม่

7.    วัดหลายๆ ครั้ง การประเมินผลการเรียนรู้ในคลินิกเป็นสิ่งที่ต้องกระทำอย่างต่อเนื่องเป็นระยะๆ เพื่อให้สามารถติดตามพัฒนาการของผู้เรียน สามารถวินิจฉัยปัญหาการเรียนรู้ และ/หรือความต้องการของผู้เรียน ตลอดจนจุดเด่นในการเรียนรู้ของผู้เรียนแต่ละคนได้

8.    การประเมินการเรียนรู้ของนักศึกษาพยาบาลเป็นกิจกรรมที่ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง นับตั้งแต่ครูที่สอนรายวิชา ผู้เรียน และผู้บริหาร

9.    การประเมินผลควรใช้หลายวิธี เพื่อให้การตัดสินเป็นไปอย่างยุติธรรมและเชื่อถือได้    

หมายเลขบันทึก: 130403เขียนเมื่อ 21 กันยายน 2007 18:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 15:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท