การแก้ไขปัญหาราคาพืชผลตกต่ำ


แก้ไขราคาพืชผลตกต่ำ

การแก้ไขปัญหาราคาพืชผลตกต่ำ


 

                ความหลากหลายสินค้าการเกษตรมีมากมายหลายชนิด  ทั้งข้าว  ยางพารา  ปาล์มน้ำมัน  พืชไร่  พืชผัก  และไม้ผล  ไม้ยืนต้น  สำหรับไม้ผลยังแบ่งออกเป็นชนิดต่างๆ  ทั้ง  เงาะ มังคุด  ทุเรียน ลองกอง และลำไย เป็นต้น  ผลไม้เหล่านี้มักจะมีช่วงการเก็บเกี่ยวพร้อม ๆ  กัน  ส่งผลให้ราคาตกต่ำเป็นประจำ 

               นักวิชาการได้เสนอหลายวิธีในการแก้ไขปัญหาราคาพืชผลตกต่ำ  แต่ทำกันจริงจังเฉพาะหน้าและเฉพาะด้าน  โดยมุ่งเน้นการตลาดหรือด้านความต้องการของผู้บริโภค  (อุปสงค์)  ไม่ได้วางแผนด้านการผลิตอย่างจริงจัง  (อุปทาน)               

               การผลิตเป็นหน้าที่โดยตรงของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ได้เคยมีผู้รู้เสนอให้กำหนดเขตพื้นที่การปลูก  โดยส่งเสริมการปลูกพืชตามศักยภาพของพื้นที่  แต่มีผู้คัดค้านว่าไม่สามารถกระทำได้  เพราะหากบังเอิญพืชบางชนิดบางช่วงเวลา  เกิดมีราคาดี  เกษตรกรจะแห่กันปลูกมากมายทั้งในและนอกพื้นที่ส่งเสริม               

              ต้องเข้าใจว่าผลผลิตพืชผลการเกษตรขึ้นอยู่กับภาวะธรรมชาติ  หากฝนฟ้าอำนวยมีผลผลิตมาก  ราคาจะตกต่ำ  ปีใดฝนฟ้าไม่อำนวย  เกิดภัยพิบัติ  ผลผลิตน้อย  ราคาจะดี  ผิดกับสินค้าอุตสาหกรรมซึ่งสามารถควบคุมการผลิตได้ตลอดเวลา               

              ข้อเสนอแนะการแก้ไขราคาพืชผลต่อมา  ยังคงเป็นการจำกัดพื้นที่เพาะปลูก  โดยออกมาตรการจูงใจ  ทดแทนการบังคับ  เช่น  รัฐบาลจะต้องมีวิธีการยกระดับราคาพืชผลให้ได้ตามที่ประกาศไว้  โดยมีผลเฉพาะพื้นที่ส่งเสริมเท่านั้น  นอกพื้นที่ดังกล่าวทางราชการจะไม่รับผิดชอบเรื่องราคา               

               ปัญหาที่ต้องแก้ไขประการต่อมา  ได้แก่  จะมีพืชผลชนิดดังกล่าวจากพื้นที่ต่าง ๆ  ไหลเข้ามาสู่เขตส่งเสริมมากมาย  จะทำอย่างไร?               

               มีวิธีคิดในการแก้ไขปัญหาข้างต้น  ได้แก่  นอกจากจะกำหนดพื้นที่ปลูกแล้ว  ยังต้องกำหนดเกษตรกรในเขตพื้นที่ปลูกอีกด้วยโดยรัฐบาลจะต้องอาศัยองค์กรเกษตรกร  หรือสถาบันเกษตรกรในพื้นที่นั้น ๆ  รับผิดชอบ               

               กล่าวโดยสรุปได้ว่า  องค์กรเกษตรและสถาบันเกษตรกรในเขตพื้นที่ส่งเสริมจะมีหน้าที่ทั้งควบคุม  กำกับ  ดูแล  ส่งเสริมการปลูก  ตลอดจนทำหน้าที่ด้านการตลาด  ประกันราคาพืชผลอีกด้วย               

               สำหรับรัฐบาลมีหน้าที่ส่งเสริมกลไกการตลาดทั้งในและนอกประเทศ  รวมทั้งจัดหาแหล่งงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานผ่านองค์กรเกษตรกร               

               แต่ปัญหาที่สำคัญประเด็นสุดท้าย  ได้แก่  องค์กรเกษตรและสถาบันเกษตรกรที่เข้มแข็งมีไม่มาก  ตลอดจนเกษตรกรรายย่อยอีกมากมายขาดการรวมตัวกันขึ้น               

               ข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขปัญหาทั้งหมดจึงอยู่ที่ว่ารัฐจะต้องส่งเสริมและสนับสนุนอย่างจริงจังเพื่อให้เกษตรกรรวมตัวให้เข้มแข็ง  ตั้งแต่ระดับรากหญ้าขึ้นไป  ได้แก่  ระดับชุมชน  หมู่บ้าน  ตำบล  อำเภอ  จังหวัด  และระดับประเทศ  ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นภารกิจของกรมส่งเสริมการเกษตรนั่นเอง

หมายเลขบันทึก: 130311เขียนเมื่อ 21 กันยายน 2007 14:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 14:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • สวัสดีครับ
  • เห็นด้วยครับกับการสร้างความเข้มแข็งของกลุ่ม/ชุมชน
  • เมื่อเข้มแข็งก็สามารถที่จะแก้ไข-พัฒนาอะไรๆ ได้เองครับ
  • ขอบพระคุณมากครับที่นำมาแบ่งปัน
  • สวัสดีค่ะ
  • ชุมชนเข้มแข็งได้ด้วบตัวของเขาเองขอเพียงนักส่งเสริมปรับกระบวนทัศน์ให้เคารพในความคิดและภูมิปัญญาของเกษตรกร แล้วจะเข้าใจว่าความต้องการที่แท้จริงของเกษตรกรคืออะไร โอกาส ตลาด เงิน หรือสวัสดิการ
  • ขอเป็นกำลังใจ ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับผู้เขียน ขอแสดงความคิดเห็นเล็กน้อย หากว่าแก้ไขเพียงจุดเดียวแล้วเกษตรกรทั้งประเทศละครับจะทำยังไง ทำไมไม่คิดแก้ไขในภาพรวม และสามารถปฏิบัติได้จริง ไม่ใช่ดีแต่พูดหรือวิจรานณ์เหมือนนักวิชาการ ความจริงแนวปฏิบัติที่ดีอาจใช้จริงไม่ได้ คนที่คิดควรไปดูจากจุดเกิดเหตุก่อนแล้วค่อยคิด ผมว่าจะตรงจุดมากกว่า ที่สำคัญถ้าตัดวงจรพ่อค้าคนกลางได้ ปัญหาราขาพืชผลก็หมดไปอย่างแน่นอน

ถ้าไม่สนับสนุนการเกษตรไทยอย่างจริงจัง คงแก้ปัญหาได้ลำบากมากแน่ๆครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท