“จิตสำนึกสาธารณะ” คำสำคัญ-ที่นับวัน-เริ่ม-เลือน-หาย-ไปจากสังคม


ถ้าหากยังมีการทำศึกสู้รบกันระหว่างไทย-พม่า ท่านคิดว่าจะยังมีทหารกล้าอาสาออกรบเพื่อชาติอย่างในอดีตหรือไม่ ?

        โดยส่วนตัวผู้เขียนคิดว่า จิตสำนึกสาธารณะ เป็นคำที่มีความหมายคล้ายกับคำว่า การเสียสละเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ไม่ว่าจะเป็นการยอมเสียสละทรัพย์สิน เงินทอง สิ่งของ เวลา หรือแม้แต่ความสุขสบายของตนเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม/คนหมู่มาก เช่น กรณีของ ครูจูหลิง 

        สำหรับเรื่องราวที่อยากนำมาเล่าแลกเปลี่ยนในวันนี้ เป็นเรื่องที่เก็บตกมาจากหัวข้อที่ได้รับมอบหมายให้สอนนิสิตทันตแพทย์ชั้นปีที่ 1 เรื่อง คุณธรรมจริยธรรมที่สำคัญในการดำรงชีวิต  จึงได้นำ CD รายการคนค้นคน (ขออภัยแป้นพิมพ์ ไม่มีตัว ค.คน) ตอน ข้าคือ...นักสื่อความหมาย ซึ่งเป็นเรื่องราวของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า อช.ดอยอินทนนท์ คุณตั๋น มณีโต (ผู้ซึ่งสูญเสียดวงตา 1 ข้าง จากการออกไปตรวจจับผู้ลักลอบตัดไม้เมื่อหลายปีก่อน) และทีมงานนักสื่อความหมาย ที่พยายามช่วยกันอนุรักษ์ป่าไม้ เพื่อยังประโยชน์ให้กับมนุษย์ทุกคนที่อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดิน อาศัยลำน้ำและความชุ่มชื้นที่เกิดจากความอุดมสมบูรณ์บนยอดดอย

        เรื่องราวของ นักสื่อความหมาย เหล่านี้ เริ่มต้นจากการทำงานบนความ เสี่ยง เนื่องจากต้องรับบทบาทเป็นผู้คอยตรวจจับ และปราบปรามผู้ลักลอบตัดไม้และทำร้ายสัตว์ป่าที่ต้องมีการต่อสู้ และซุ่มโจมตีกันตลอดเวลา แต่ภายหลังเปลี่ยนรูปแบบเป็นการออกไปพูดคุยและชี้แจง เพื่อให้ชาวบ้านเข้าใจ ยอมรับ และยุติปัญหา (การลักลอบตัดไม้) ด้วยตัวของเขาเอง โดยการทำให้พวกเขาซาบซึ้ง และเห็นคุณค่า ด้วยการปลุกจิตสำนึกว่าสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบๆ ตัวเขามีคุณค่าเอนกอนันต์ เป็นสมบัติของเขาที่ต้องช่วยกันปกป้อง ดูแล

        จากเรื่องราว  แม้ว่าบทบาทของนักสื่อความหมาย จะเปลี่ยนแปลงไป แต่ดูแล้วพวกเขาก็ยังทำงานกันอย่างเหน็ดเหนื่อย แทบไม่ได้พักผ่อน เพราะต้องเดินทางไปยังหมู่บ้านที่อยู่ภายในพื้นที่เขตอุทยานเพื่อพูดคุยและชี้แจงกับชาวบ้าน บางหมู่บ้านห่างจากที่ทำการอุทยานเพียง 80 กิโลเมตร แต่กลับต้องใช้ระยะเวลาในการเดินทางไปไม่น้อยกว่า 6-7 ชม. ผ่านถนนดินแคบๆ เละเป็นโคลน รถไถลเกือบตกเหว บ้างผ่านลำธารที่ต้องช่วยกันพยุงรถให้ผ่านไปไม่ไหลไปตามกระแสน้ำที่เชี่ยวกราก พวกเขาทำงานแทบไม่ได้พักผ่อน ต้องจากบ้าน จากลูกเมียที่รักไปเป็นเวลานานๆ บางครั้งก็ต้องควักเงินเดือนของตัวเองเพื่อสมทบเป็นกองทุนในการออกไปทำงาน

         ทำไมพวกเขาต้องทำแบบนี้ ?   อยู่เฉยๆ นั่งตอบคำถาม นทท. ที่อุทยานอย่างเดียวไม่ดีหรือ ไม่ต้องเดินทาง ไม่ต้องจากลูกเมีย ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อย ...ทุกอย่างที่เกิดขึ้นมิได้ทำเพื่อประโยชน์ของตน แต่ล้วนมาจาก จิตสำนึกสาธารณะ ที่อยากช่วยคงผืนป่าไว้ เพื่อยังประโยชน์ให้มวลมนุษย์สืบไป

มาช่วยกันบ่มเพาะ "จิตสำนึกสาธารณะ" ให้หยั่งรากลึกลงไปในจิตใจกันดีกว่า

ปล.   เขียนเรื่องการอนุรักษ์ป่าของ "นักสื่อความหมาย" เสร็จ นึกถึงพี่คนนึงที่เพิ่งมีโอกาสได้รู้จักกันไม่นาน : ผู้ทำหน้าที่เปิดโอกาสให้เด็กๆ ที่อยู่ในพื้นที่ป่าไม้ ได้มีโอกาสได้ไปซึมซับความสวยงามของธรรมชาติในท้องถิ่นของตนร่วมกับพี่ๆ นักท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ท่านใดสนใจร่วมกิจกรรมสามารถเข้าชมได้ใน web site ดังนี้

กิจกรรม   "รู้เพื่อรักษ์ น้ำตกทีลอซู"   http://www.trekkingthai.com/board/show.php?Category=trekking&forum=4&No=99518 

กิจกรรม   "รู้เพื่อรักษ์ ดอยหลวงเชียงดาว"   http://www.trekkingthai.com/board/show.php?Category=trekking&forum=4&No=100170    และ

กิจกรรม  "รู้เพื่อรักษ์ ดอยหลวงพะเยา"   http://www.trekkingthai.com/board/show.php?Category=trekking&forum=4&No=100175   

อ่านแล้ว  อย่าลืมช่วยกันสนับสนุนกิจกรรมดีๆ ของพี่เขานะคะ  

หมายเลขบันทึก: 130114เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2007 21:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 12:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • หากทุกคน "มีจิตสำนึกสาธารณะ" มากกว่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน สังคมก็คงไม่ยุ่งยากหรอกค่ะ
  • อย่างว่าสังคมเปลี่ยนเรื่องแบบนี้ มีให้เห็นน้อย
  • แต่มันคงไม่สายเกินไปที่เราจะหันมาร่วมบ่มเพาะจิตสำนึกสาธารณ ให้คนรุ่นหลังๆ
  • ชอบวิธีคิดค่ะ แม้ว่าตัวเองอาจไม่เคยทำประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่ให้สังคม และก็คิดว่าไม่เคยทำร้ายสังคมนะคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท