คนโง่ขอวิเคราะห์ญาณวิทยา ศ. ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์


การที่บุคคลหนึ่งพยายามเอาหัวข้อที่ดูเป็นวิชาการมาโจมตีอีกบุคคลหนึ่ง แต่การอ้างอิงที่ไม่ชัดเจนว่าหัวข้อนั้นเกี่ยวข้องกับการโจมตีอย่างไร ทำให้ผมเข้าใจว่าน่าจะต้องมีเหตุผลอื่นเป็นการส่วนตัวที่ไม่ได้แจ้งเข้ามาเกี่ยวข้อง

ผมขอเรียนให้คุณทราบเสียก่อนว่าสมองผมไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เรียกกันตามภาษาชาวบ้านก็เรียกได้ว่าผมโง่นั่นละครับ

ผมโง่เพราะคงไม่มีคนฉลาดคนไหนมานั่งเขียนบทความที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตและการทำงานของตัวเองอย่างที่ผมกำลังเขียนอยู่เป็นแน่แท้ทีเดียว คุณอ่านบทความนี้จนจบคุณก็รู้เองว่าผมโง่แค่ไหนในฐานะเด็กเมื่อวานซืนที่บังอาจวิเคราะห์บทความของ ศ. ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ ผู้ซึ่งเป็นปัญญาชนที่คนไทยเคารพยกย่องกันทั่วไป

อย่างไรก็ตาม ผมพอจะรู้อยู่บ้างว่าอะไรควรทำอะไรไม่ควรทำ ผมรู้ว่าการวิเคราะห์ความคิดของผู้ใหญ่โดยเฉพาะผู้ที่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าเป็นปราชญ์นั้น นั้นเป็นการกระทำที่ไม่บังควรอย่างยิ่งในวัฒนธรรมไทย เราไม่ใช่ฝรั่งมังค่าที่เด็กจะมาเถียงผู้ใหญ่ และที่สำคัญผู้ใหญ่ไทยไม่เหมือนผู้ใหญ่ฝรั่งที่จะมานั่งหัวเราะชอบใจเวลาเห็นเด็กรู้จักคิดหาเหตุผลโดยไม่ยอมเชื่อผู้ใหญ่แต่ฝ่ายเดียว จริงๆ แล้วผู้ใหญ่ฝรั่งนั่นล่ะ ที่สอนให้ผมต้องเคารพนอบน้อมผู้ใหญ่ไทย ผู้ใหญ่ฝรั่งสอนผมว่าอยู่วัฒนธรรมไหนก็ต้องทำตัวให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมนั้น อย่าเผลอเอาวัฒนธรรมต่างกันมาปนกันเป็นอันขาด

แต่ผมทนไม่ไหวครับ ผมต้องเขียนบทความนี้ เพราะผมรู้สึกเหมือนว่าผมกำลังถูกยัดเยียดความคิด และผมไม่ชอบเวลาใครมาบังคับให้ผมคิดเหมือนเขาเสียด้วย ไม่ว่าเขาคนนั้นจะเป็นใครก็ตาม ความคิดของผมแบบนี้ เรียกได้ว่านอกจากผมโง่แล้ว ผมยังหัวรั้นเสียด้วย ถ้าอย่างนั้นก็ลองมาอ่านกันนะครับ ว่าเด็กเมื่อวานซืนที่โง่และหัวรั้นคนนี้ จะอาจเอื้อมวิเคราะห์ ศ. ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ว่าอย่างไร

อาจารย์นิธิได้เขียนในมติชนสุดสัปดาห์บทความชื่อ “การปฎิวัติทางญาณวิทยา” ในบทความนั้นผมจับความได้ว่าท่านได้อธิบายเปรียบเทียบญาณวิทยาแบบไทยกับแบบฝรั่ง (ยุคใหม่) โดยญาณวิทยาแบบไทยท่านกล่าวว่าเน้นที่เชื่อในความรู้ที่ถ่ายทอดมาจากตัวบุคคลที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้รู้โดยไม่มีคำถาม ส่วนญาณวิทยาแบบฝรั่งเน้นที่การยอมรับในความรู้ที่วิเคราะห์ได้ด้วยกระบวนการที่ผ่านการสอบทานแล้วว่าใช้วิเคราะห์ความรู้ชนิดนั้นได้ แต่ความรู้และกระบวนการวิเคราะห์ความรู้ก็สามารถตรวจสอบใหม่ได้อีกเสมอ จากนั้นท่านได้วิเคราะห์ต่อว่าแม้เราจะดูเหมือนรับญาณวิทยาแบบฝรั่งมา แต่ที่จริงแล้วเราก็ยังประพฤติปฎิบัติญาณวิทยาแบบไทยๆ ด้วยการยอมรับความรู้ที่พิสูจน์โดยฝรั่งโดยไม่มีเงื่อนไข ท่านได้สรุปตอนท้ายว่าอย่างไรก็ตามในที่สุดแล้วญาณวิทยาแบบฝรั่งก็จะได้รับการปฎิบัติจริงมากยิ่งขึ้น และญาณวิทยาแบบไทยก็จะสูญหายไป

การอธิบายความเรื่องญาณวิทยาของท่านนั้นเป็นเรื่องที่ผมทำความเข้าใจได้ ผมเห็นด้วยว่าวิธีการสอนแบบไทยเรานั้นเราจะเน้นที่ความน่าเชื่อถือของตัวบุคคลผู้พูดเป็นตัวพิสูจน์ว่าสิ่งที่พูดนั้นถูกผิดแค่ไหน ส่วนวิธีแบบฝรั่งนั้นจะเน้นที่เหตุและผลของเรื่องราวที่พูดว่าจริงเท็จแค่ไหน โดยไม่ให้ความสำคัญกับตัวผู้พูดไม่ว่าผู้พูดจะเป็นชาวบ้านธรรมดาหรือปราชญ์ก็ตาม สำหรับผมเองก็มีประสบการณ์พอประมาณกับกระบวนการค้นหาความรู้ทั้งแบบไทยและแบบฝรั่ง และสามารถปรับตัวให้อยู่ในสถานการณ์ได้ทั้งสองแบบเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่พอยอมรับได้ แม้ว่าตัวผมออกจากชื่นชอบวิธีการค้นหาความรู้แบบฝรั่งมากกว่าก็ตาม

แต่เรื่องที่ผมไม่เข้าใจในบทความท่านอาจารย์นิธิคือเรื่องที่ท่านโยงเรื่องญาณวิทยาเข้ากับคำพูดนายกรัฐมนตรี ผมมองไม่เห็นว่าคำพูดของนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บริหารประเทศนั้นเกี่ยวข้องอะไรกับรูปแบบญาณวิทยาที่ท่านอธิบาย การเชื่อมโยงเหตุและผลที่ไม่ชัดเจนเพียงพอของท่านกลับสะท้อนในมุมกลับให้ผมในฐานะผู้อ่านเห็นไปว่าท่านอาจารย์นิธิมีอคติส่วนตัวกับ พตท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะตัวบุคคลและเจตนาที่จะยกเรื่องอะไรเรื่องหนึ่งที่มีเนื้อหาเป็นเชิงวิชาการที่ดูน่าเชื่อถือมาโจมตีบุคคลซึ่งท่านไม่ชอบด้วยเหตุผลที่ไม่แจ้งในบทความ เจตนาของท่านตรงนี้ชัดเจนมากกว่าการที่ท่านต้องการจะอธิบาย “การปฎิวัติทางญาณวิทยา” ตามหัวข้อบทความของท่านเสียอีก

ที่น่าสนใจก็คือ ท่านได้ยกคำพูดของนายกรัฐมนตรีว่า “จุดอ่อนของคนไทยนั้นอยู่ที่คนไม่รู้เถียงกับคนไม่รู้” จากนั้นท่านได้ยกตัวอย่างนโยบายการบริหารประเทศของนายกรัฐมนตรีซึ่งผิดพลาดมา โดยสะท้อนเจตนาที่ผมรับรู้ได้ในฐานะผู้อ่านว่าท่านเจตนาทับถมความผิดพลาดของนายกรัฐมนตรี

หนึ่งในเรื่องของความผิดพลาดที่ท่านได้ยกมาคือ เรื่องนโยบายควบคุมราคาน้ำมันของรัฐบาล การยกเรื่องนี้มาเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าอาจารย์นิธิขาดความรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์ของโลกในปัจจุบันเป็นอย่างมาก เพราะเรื่องราคาน้ำมันนั้นเป็นเรื่องที่ซับซ้อนผิดความคาดคิดของผู้เชี่ยวชาญทางธุรกิจทั่วโลกไม่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น จะกล่าวได้ว่าทุกประเทศทั่วโลกดำเนินนโยบายบางสิ่งบางอย่างผิดพลาดเกี่ยวกับน้ำมันกันทั้งนั้น เรื่องนี้ควรเป็นเรื่องที่ต้องเห็นใจกันและช่วยกันแก้ไขปัญหามากกว่าที่จะเอาความผิดพลาดมาทับถมกัน

การวิเคราะห์สถานการณ์โลกทุกวันนี้ ไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย ในฐานะผมเป็นนักอ่านที่ติดตามสถานการณ์โลก ณ ปัจจุบัน ผมพอจะทราบว่าเหตุการณ์อย่างที่เรากำลังเจอกันทั่วโลกนี้ ไม่มีอยู่ในตำราเศรษฐศาสตร์ไหนทั้งนั้น เรากำลังอยู่ในโลกใหม่ที่ไม่มีใครคาดเดาได้

ผมขอยกตัวอย่างเช่น จาก Bloomberg.com ที่ผมได้อ่านว่า คุณ Bill Gates และ คุณ Warren Buffet ได้ฟันธงในตอนต้นปีว่าค่าเงินดอลล่าร์จะตกลงมามากภายในปีนี้ ทั้งสองคนได้ลงทุนในเงินตราต่างประเทศ (ที่ไม่ใช่ดอลล่าร์) ไว้มาก (ผมหา link ของข่าวนั้นไม่เจอจริงๆ มันเกือบครึ่งปีแล้ว แต่ผมจะพยายามหาต่อ) แต่ตอนนี้เข้าสู่ช่วงกลางปี ดอลล่าร์กลับพยุงตัวและแข็งค่าขึ้น ผิดคาดของทุกคน รวมทั้งทั้งสองคนนั้น ซึ่งเป็นนักธุรกิจอันดับหนึ่งและอันดับสองของโลก ในสถานการณ์อย่างนี้ถ้าผู้บริหารประเทศไทยของเราจะวิเคราะห์ผิดบ้างก็ไม่ควรจะเอาเป็นประเด็นมาทับถมกัน เพราะอย่าลืมว่า ผู้บริหารประเทศต้องตัดสินใจ “ก่อน” เหตุการณ์จะเกิดขึ้น ส่วนผู้ประนามผู้บริหารนั้นกระทำ “หลัง” เหตุการณ์เกิดขึ้น การพูดนั้นง่ายกว่าการทำ และการพูดทีหลังนั้น ง่ายกว่าการกระทำมากมายนัก

ถ้าจะกล่าวให้ชัดคือ ถ้าใครไม่กล้าฟันธงว่าปลายปีนี้ราคาน้ำมันจะเป็นเท่าไหร่ และไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์การเงินที่เห็นภาพชัดว่าราคาน้ำมันของโลกตอนนี้ขึ้นลงด้วยเหตุผลอย่างไร (หรือเรียกอีกนัยหนึ่งว่า “ผู้ไม่รู้”) คนนั้นก็ควรปล่อยเรื่องเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ผู้ชำนาญการเขาคิดกัน ไม่ควรฉวยโอกาสเอาผลลัพธ์ที่ผิดพลาดของคนทำงานที่ต้องตัดสินใจด้วยข้อมูลอันจำกัดในเวลาอันกระชั้นมาทับถมกัน เพราะการกระทำอย่างนี้ ในมาตราฐานญาณวิทยาของฝรั่งยุคใหม่ที่อาจารย์นิธิชื่นชมแล้ว ถือว่าเป็นการกระทำอันไม่สมควรและขาดเขลาเป็นอย่างยิ่ง

อีกประเด็นที่อาจารย์นิธิมองว่าเป็นความผิดพลาดของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน คือการที่นายกฯ สื่อสารกับสื่อมวลชน ท่านมองว่านายกฯ arrogance (ซึ่งแปลเป็นไทยว่ามั่นใจในตัวเองมากเกินไป) แต่ผมกลับมองว่า นายกฯ คนปัจจุบันของประเทศไทยให้สัมภาษณ์สื่อในลักษณะการพูดแบบเดียวกันกับผู้นำชาติอื่นๆ ถ้าอาจารย์นิธิได้ดูรายการโทรทัศน์ของต่างประเทศบ้างก็จะพบว่านายกฯ ไทยเราก็ไม่ได้ต่างกับผู้นำชาติอื่นๆ ในวิธีการพูด (จริงๆ แล้วผมยังติด้วยซ้ำ ว่านายกฯ เรายังพูดฉะฉานเด็ดขาดน้อยไป น้ำหนักยังไม่เท่ากับผู้นำชาติโดยปกติเขาพูดกัน) ในขณะที่วิธีการพูดแบบนี้กลับได้การยอมรับว่าเป็นการแสดงถึงความเป็นผู้นำที่ถึงขั้นฝรั่งมีโรงเรียนสอนการพูดแบบนี้ ประเทศเรากลับไม่ได้รับการยอมรับจากปราชญ์เสียนี่

พอกล่าวถึงวิธีการพูดของนายกฯ ท่านปัจจุบัน ทำให้ผมนึกกลับไปถึงอดีตนายกฯ ท่านหนึ่งที่จะมีคำพูดติดปากว่า “ผมไม่ทราบครับ ยังไม่ได้รับรายงาน .... เรื่องนี้ต้องถามผู้ที่รับผิดชอบครับ” บางทีวิธีการพูดแบบอดีตนายกฯ ท่านนั้นซึ่งแตกต่างกับนายกฯ ท่านปัจจุบันมาก อาจจะเป็นวิธีที่อาจารย์นิธิประทับใจก็ได้ แต่ผมเองกลับประทับใจคนพูดฉาดฉานมีความมั่นใจในตัวเอง คนพูดเลี่ยงไปเลี่ยงมาผมไม่ชอบ โดยเฉพาะคนเอาแต่พูดติคนอื่น แต่ตัวเองไม่เคยมีผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน (หรือผลงานที่ตัวเองอ้างว่ามีโดยส่วนใหญ่คือการติเตียนคนอื่นผ่านสื่อต่างๆ) คนประเภทนี้ญาณวิทยาฝรั่งไม่ยอมรับถึงขั้นตั้งข้อรังเกียจทีเดียว

นอกจากนี้อาจารย์นิธิยังต้องการให้นายกฯ ปัจจุบัน “พิสูจน์” ด้วยพยานหลักฐานทุกครั้งเวลานายกฯ ถูกสัมภาษณ์ ซึ่งผมเองนั้นกลับมองว่าคงเป็นไปได้ยากในการสัมภาษณ์แบบล้อมหน้าล้อมหลังแบบที่สื่อไทยทำกับผู้นำประเทศไทย ผมยังสงสัยว่าทำไมการสัมภาษณ์ผู้นำชาติของเรา (ไม่ว่าคนไหนก็ตาม) ทำไมไม่ได้รับการให้เกียรติจากนักข่าวเลย สัมภาษณ์เหมือนกับการสัมภาษณ์จำเลยในคดีอะไรสักอย่างหนึ่ง เวลานักข่าวพวกนี้สัมภาษณ์ดารานักร้อง เขายังจัดระเบียบได้ดูมีเกียรติกว่า

ในความคิดผม ถ้าทางรัฐบาลไม่ได้จัด Press Conference ที่เป็นหลักเป็นฐานสำหรับการให้สัมภาษณ์ของผู้นำ (อย่างที่เราเห็นใน White House เป็นต้น) นักข่าว ในฐานะผู้ที่เห็นข่าวมาทั่วโลก ก็น่าจะมีประสบการณ์และความคิดตรงนี้กันได้ เพราะผู้นำของประเทศคือศักดิ์ศรีของประเทศชาติ ถ้าคุณไม่ให้เกียรติผู้นำของคุณ คุณก็ไม่ให้เกียรติตัวคุณเอง

คุณจะชอบหรือไม่ชอบ พตท. ทักษิณ มันก็เรื่องของคุณ แต่คุณต้องให้เกียรตินายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ไม่ทราบว่านักข่าวทั้งหลายจะเข้าใจไหม ถ้าไม่เข้าใจก็ลองไปถามอเมริกันสักคน ไม่ว่าเขาจะเป็น Democrat หรือ Republican ไม่ว่าเขาจะเห็นด้วยกับสงครามอิรัคหรือไม่ อเมริกันทุกคนปกป้องเกียรติของ President ของเขาอย่างสุดชีวิตทั้งนั้น และไม่มีนักข่าวคนไหนในโลกมีสิทธิ์เอาไมค์จ่อปากประธานาธิบดีของประเทศสหรัฐอเมริกา อย่างที่คุณทำกับผู้นำไทยมาทุกยุคทุกสมัย

กลับมาที่ความเห็นของอาจารย์นิธิเรื่อง “ท่าที” ของนายกฯ ต่อการให้สัมภาษณ์ ผมก็สรุปในความคิดผมว่า อาจารย์นิธิน่าจะไม่มีประสบการณ์ในการถูกสัมภาษณ์แบบล้อมหน้าล้อมหลัง อาจารย์จึงคิดไปเองว่าถ้าถูกสัมภาษณ์อย่างนั้นก็น่าจะพูดอย่างโน้นอย่างนี้ได้ โดยสรุปก็กลับมาที่ความ “ไม่รู้” อีกเช่นเดิม เป็นความไม่รู้ของผม ที่คิดว่าอาจารย์นิธิน่าจะไม่รู้เพราะไม่มีประสบการณ์ตรง ผมไม่เคยเห็นอาจารย์นิธิถูกสื่อสัมภาษณ์แบบล้อมหน้าล้อมหลังเสียที ไม่ว่าในโทรทัศน์ช่องไหนก็ตาม เคยเห็นแต่อาจารย์นิธิถูกสัมภาษณ์แบบ “ดารา”

ที่จริงแล้ว ยังเหลืออีกหลายประเด็นที่ผมวิเคราะห์ได้ในบทความของอาจารย์นิธิ แต่ผมคงต้องจบแค่นี้ก่อน เพราะเพียงเท่านี้ ก็คงจะสร้างปัญหาชีวิตได้ให้ผมมากเพียงพอแล้ว เนื่องจากโอกาสที่บทความนี้จะถูกอ่านด้วยญาณวิทยาแบบไทยที่เน้นตัวบุคคลว่าเป็นผู้สำคัญแตะต้องไม่ได้ มีเยอะกว่าโอกาสที่จะถูกอ่านด้วยญาณวิทยาแบบฝรั่งยุคใหม่ที่สนับสนุนให้คิดเองมากกว่าเชื่อตามกันไป

ผมต้องขอชี้แจงไว้ก่อนว่าผมไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับทั้ง พตท. ทักษิณ หรืออาจารย์นิธิ ผมแค่มีความเชื่อว่าบุคคลทั้งสองคนนี้ต่างมีทั้งข้อดีและข้อเสีย การที่บุคคลหนึ่งพยายามเอาหัวข้อที่ดูเป็นวิชาการมาโจมตีอีกบุคคลหนึ่ง แต่การอ้างอิงที่ไม่ชัดเจนว่าหัวข้อนั้นเกี่ยวข้องกับการโจมตีอย่างไร ทำให้ผมเข้าใจว่าน่าจะต้องมีเหตุผลอื่นเป็นการส่วนตัวที่ไม่ได้แจ้งเข้ามาเกี่ยวข้อง

ผมในฐานะคนที่ได้อ่านบทความนั้น ก็จำเป็นต้องออกมาแสดงตนและแสดงเหตุผลให้อาจารย์นิธิเห็นว่า ไม่ใช่คนทุกคนจะเชื่อในสิ่งที่อาจารย์นิธิเขียน โดยเฉพาะเวลาอาจารย์ยกเหตุมาอธิบายผลที่ไม่ได้ไปด้วยกันเลย ผมเชื่อว่าคนรุ่นใหม่คิดก่อนเชื่อ เพียงแต่เขาไม่หาเรื่องใส่ตัวโดยการมาเขียนอย่างที่ผมทำเท่านั้นเอง ทั้งนี้เพราะคนรุ่นใหม่เขารู้ว่ามีใครบ้างในประเทศไทยที่ยังยึดติดกับญาณวิทยาแบบไทย

หลังจากผมเผยแพร่บทความนี้ไปแล้ว เราคงได้รู้กันว่าญาณวิทยาแบบไหนกันแน่ที่อาจารย์นิธิผู้เขียน “การปฎิวัติทางญาณวิทยา” ยึดถืออย่างแท้จริง ส่วนผมในฐานะเด็กไทยเมื่อวานซืนที่โง่บังอาจวิเคราะห์ปราชญ์ผู้ใหญ่ ก็น่าจะมีเคราะห์กรรมตามมาในไม่ช้า ... เอาเถอะครับ ผมทนได้ เพื่อได้เป็นกระบอกเสียงว่าประเทศไทยไม่จำเป็นต้องถูกครอบงำทางความคิดโดยบุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็นปราชญ์เพียงอย่างเดียว คนไทยทุกคนมีความคิดครับ

หมายเลขบันทึก: 1300เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2005 14:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 19:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (22)

 

 

เรื่องแบบนี้เห็นได้ทุกที่ในสังคมไทยครับ  แม้แต่ในสมัยโบราณยังมีคำพูด

 

เตือนใจคนทั่วไปว่า  " ดีได้แต่อย่าเด่น  จะเป็นภัย"

เหอ ๆ ๆ ผมได้อ่านทั้งสองบทความครับ ผมไม่มีความรู้มากมายอะไรนัก แต่ผิดคิดว่า การที่บางคนจะวิเคราะห์บทความของอีกคนหนึ่งไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอะไร เพียงแต่การจะวิเคราะห์ของเขา อาจต้องย้อนกลับมาวิเคราะห์ที่ตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก

จากการอ่านบทความอาจารย์นิธิ ผมค่อนข้างชัดเจนอยู่แล้วว่า อาจารย์ไม่ค่อยพึงใจกับคำพูดของนายก ฯ เท่าไหร่ แต่ไม่ได้ไม่พึงใจในความผิดพลาดเขากล่าวมา (ซึ่งอาจารย์ก็บอกอยู่แ้ล้วว่า ใคร ๆ ก็ผิดพลาดกันได้ กับการพูด การกระทำ ฯลฯ ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร ดังนั้น ผมจึงค่อนข้างงง กับการวิเคราะห์บทความนั้นของคุณผู้เขียนในนี้ว่า คุณ ไปหยิบเอาเรื่อง "ความตื่นตระหนก น่าตกใจในการถูกผู้สื่อข่าว รุมถาม จนอาจเกิดผิดพลาดขึ้นได้ แล้วดันไพร่ไปพูดว่าคนนู้น คนนี้ (อีกเหมือนกันนั่นแหละ) ว่า ช้าอืดอาดไม่ฉะฉาน ซึ่งนั่นไม่ใช่ประเด็นที่ต้องถก หรือเถียงกัน เพราะอาจารย์นิธิไม่ได้ เห็นว่า สิ่งทั้งหลายที่คุณผู้เขียนว่ามา เป็นเรื่องที่ต้อง ต่อว่า ต่อขาน ใด ๆ) แต่สิ่่งที่อาจารย์เขียน และบอกชัดเจนว่า ไม่พึงใจคือ การที่นายก ฯ ใช้คำพูดไปว่ากล่าว เสียดสีคนอื่น ๆ โดยไม่มีเหตุผลใด ๆ มารองรับว่า "คนอื่น ๆ ไม่รู้" (และมักบอกตบท้ายด้วยว่า คนที่รู้ คือ นายก ฯ เท่านั้น) ต่างหากที่มันมีปัญหาที่ต้องวิเคราะห์ และอาจารย์ ก็ได้วิเคราะห์ให้เห็นโดยใช้ความรู้เกี่ยวกับ "ญาณวิทยา" ซึ่งผมอ่านไปอ่านมา ก็ต้องใช้ "กาลมสูตร" ประกอบ แน่นอนมีทั้งเห็นด้วย และที่ไม่เห็นด้วย คละเคล้า แต่ยอมรับว่า เห็นด้วยซะส่วนใหญ่

ผมไม่รู้ว่า อาจารย์นิธิ อ้างอิงอะไรไม่ชัดเจนตรงไหน เพราะขออำภัย ผมคิดว่า ค่อนข้าง แสดงตัว และออกจะชัดเจนว่าต้องการวิจารณ์ทัศนะ ท่าที และการให้สัมภาษณ์ในลักษณะ "ยกต่นข่มท่าน" "อวดภูมิรู้ ดูถูกคนอื่น" ของนายก ฯ โดยอาศัยการวิเคราะห์ว่า ที่นายก ฯ ทำแบบนั้นได้อยู่บ่อย ๆ ก็เพราะ ผู้คนไทย จำนวนหนึ่่ง (มากซะด้วย) ติดอยู่กับ "ญาณวิทยาแบบไทย ๆ" คือ จะเชื่อ หรือไม่เชื่อใครสักที แทนที่จะดูที่เหตุ ที่ผล ที่ยกมาประกอบ กับเล่นกันที่ อำนาจ วาสนา ฯลฯ ที่ไม่เป็นแก่นแกนสาระ และไม่ใช่เครื่องการันตีได้เลยว่า สิ่งที่คนผู้นั้น พ่น หรือพูดออกมา เป็น "ความรู้ ความจริง" ที่ตรงไหน ??

ผมไม่ขอวิเคราะห์ว่า เจ้าของบล็อกนี้์ชอบ หรือไม่ชอบนายก ฯ เพราะไม่เกี่ยวกับประเด็น แต่ที่แน่ ๆ คงไม่ได้มองไปในทางแง่ร้ายมากนัก เพราะ เท่าที่เห็น สิ่งที่นำมาอ้างอิง เพื่อโต้ยันกับบทความ ล้วนเป็นการพยายามนำอัตลักษณ์บางอย่างของนายก ฯ (ที่เอาเข้าจริง คนทั่ว ๆ ไปไม่น่าจะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี หรือมีคุณกับประเทศ หรือสถานการณ์นัก) ขึ้นมาชื่นชม โดยก็ไม่มีเหตุผลประกอบความชื่นชมที่ชัดเจนนักเช่นกัน นอกจาก ยกความน่าเชื่อถือในคำพูด ของ คนใหญ่คนโตระดับประเทศ (เต็มไปด้วยอำนาจวาสนา) มาเปรียบเทียบ (ซึ่งก็แสดงว่า เขาไม่ได้หลุดพ้นไปจาก ญาณวิทยา แบบไทย ๆ) และไอ้ประเภท ให้สัมภาษณ์เมื่อไหร่ ก็ยกตัวเอง เมื่อนั้น หรือ ต้องคอยดิสเครดิต คนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของตัวเองเมื่อนั้น ให้ตายเถอะ ตั้งแต่เกิดมา ผมไม่เคยเห็นใครมีเท่า นายกฯ คนนี้ และไอ้เรื่องให้สัมภาษณ์แบบนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องมีสติ หรือคิดคำตอบอะไรมาก อาศัย แค่นิสัย ส่วนตัว นิสัยที่ไม่เคยรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นมาเลยเท่านั้น ก็พ่น ออกมาได้โดยไม่รู้สึก หรือหวั่นเกรงต่อคำถามที่ถูกยิงใส่

ตรงกันข้าม การหาเหตุผลมาโต้ตอบ คำถาม หรือการพูดความจริง ที่อาจเป็นการเน้นย้ำความผิดพลาดของตัวเองต่างหาก ที่ออกจะยุ่งยากใจ สำหรับคนประเภทนี้ ชนิดที่ว่า อะไร ๆ ที่ออกมา พากันผิดพลาดไปหมด เพราะมัวคิดหา้ข้ออะไรขึ้นมากลบดี

ผมคงขอเอาสั้น ๆ แค่นี้ ทั้ง ๆ ที่มีประเด็นอื่นอีกมากมาย ที่ผมว่า ท่านเจ้าของบล็อกไม่ค่อยชัดเจน หรือมีการวิเคราะห์ตัวเองนัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำมัน ที่เอาเข้าจริง ตอนนี้ ไม่มีใครเถียงว่า เป็นกันทั้งโลก แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า สำหรับประเทศไทยแล้ว เหตุใด แค่วิกฤตน้ำมันอย่างเดียว ถึงได้ ล้มเอ้ไม่เป็นท่าได้ขนาดนี้ นั่นไม่ใช่เพราะการวางนโยบายผิดพลาด เสียเงินจำนวนอุ้มราคามาก่อนหน้านี้ฉะนั้นหรือ นี่มิพักต้องพูดถึงวิกฤตอื่น ๆ ที่จะตามมา ซึ่งถ้าหากมีสติสัมปชัญญะวิเคราะห์เข้ามาหน่อยก็พอจะร้องอ๋อได้ว่า ก็เพราะ เศรษฐกิจภาพในมันไม่แข็งพอไง มันถึงได้ล้มระเนระนาดได้ง่าย ๆ ขนาดนี้

ครับ อย่างไรก็ตาม เราก็ควรยอมรับในความคิดเห็นที่แตกต่างเสมอ แต่ใครจะคิดอย่างไรมันก็เป็นความคิดของเขา ไม่มีถูกไม่มีผิด เพราะนี่ก็เป็นเพียงความคิดเห็น "ปัญญาไม่เคยเกิดจากการจับผิด หรือมองความผิดของคนอื่น" แต่ปัญญาจะเกิดก็แต่การ หันกลับมามองและพิจารณา ที่ภายในตนเองต่างหาก

ขอบุญรักษาทุกท่านครับ

อ้อ ขอต่ออีกนิดครับ  ผมคิดว่า คนที่ชื่นชมฝรั่งอย่างชนิดหนักหนาสาักัลย์คงไม่ใช่อาจารย์นิธิ (เพราะถ้า จะกรุณาติดตามอ่านงานเขียนก่อนหน้านี้มากมายของอาจารย์  กว่า แปดสิบเปอร์เซนต์  ด่าฝรั่ง และความคิดของฝรั่ง)  แต่คนที่ชื่นชมชนิดว่า คงอยู่ในขั้นวิกฤตอาจเป็นท่านเจ้าของบล็อกเสียเอง  (จากการยกหลาย ๆ คำว่า ให้ไปถามฝรั่ง  ให้ไปถามอเมริกัน  ครูฝรั่งว่าอย่างนั้น  คนฝรั่งว่าอย่างนี้  ผู้นำฝรั่งดีอย่า่งนั้น   วิธีคิดฝรั่งดีอย่างนี้)

 และผมคิดว่า คนที่ยังติดหนึบกับ  "ญาณวิทยาแบบไทย ๆ"  ก็ไม่ต้อง ดิ้นรนไปหาตัวอย่างที่ไหน  เพราะคงหาได้ที่นี่ครับ   ว่ากันตั้งแต่  ลักษณะการ ก่นด่าตนเองว่า "โง่" เพราะบังอาจไปเถียงกับปราชญ์  หรือ  เป็นการฆ่าตัวตายที่ไปเขียนว่าปราชญ์  ทั้ง ๆ ที่   ผมเชื่อว่า  คนจำนวนหนึ่งจะเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย กับอาจารย์นิธิ  ไม่ใช่เพราะเขาเป็น "ปราชญ์"  หรือเป็น "ครู"  ที่พอพูดอะไรก็น่าเชื่อถือ หรือถูกไปซะหมด แต่ เป็นเพราะ  สิ่งที่เขาเขียน  มีเหตุมีผล  ที่พอนำกลับมาวิเคราะห์ด้วยตัวเอง ก็น่าจะพอเข้าใจได้ว่า มันน่าจะถูก หรือผิด  น่าจะใช่ หรือไม่ใช่  (ซึ่งนั่นก็น่าจะเป็นสิ่งที่ คนเขียนบทความอย่างอาจารย์นิธิต้องการ  คือ  หากคุณไม่เห็นด้วย ก็ถกเถียงมา  ไม่ต้องกลัวไม่ต้องเกรง  แต่ขอให้มีเหตุผลประกอบกันหน่อยเท่านั้น)

หรือแม้แต่การท่านเจ้าของบล็อกกรุณาเขียนว่า  "ควรให้เกียรติกับผู้นำประเทศ"  เพราะถ้าไม่ให้เักียรติแล้ว  ก็เท่ากับไม่ให้เักียรติตัวเอง"  อันนี้  ก็เป็นที่น่าสงสัย  ว่ามันจะเกี่ยวกับได้อย่างไร  มันก็คงเหมือนกับที่ นายก ฯ มักย้ำกับคนไทยเสมอ ๆ ว่า  ใครที่ด่ารัฐบาล  ก็คือ ด่าประเทศ  ใครที่ไม่เชื่อรัฐบาล  เป็นเรื่องคนไม่รักชาติ  ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับเลย  การกระทำของ "รัฐบาล"  ไม่ใช่การกกระทำของคนไทยทั้งประเทศ นะครับ  หลักการ แบ่งแยกอำนาจก็ออกจะชัดเจน  มีตั้งสามส่วนที่ต้องถ่วงดุลย์กัน ไม่ใช่ว่า   ฝ่ายบริหารฝ่ายเดียว  ทำอะไร เป็นเรื่องของประเทศไปหมด  ดังนั้น ทำนองเีดียวกันครับ  การให้เกียรติหรือไม่ให้เกียรติผู้นำประเทศ จึงไม่เห็นจะเกี่ยวกับเราทีตรงไหน  อีกอย่าง ผมก็ไม่เห็นว่า มันจะเป็นการไม่ให้เกียรติตรงไหน  เพราะเรื่องที่ถาม  ท่าทีที่ถาม  เขาก็ถามกันแบบนี้ทั้งนั้น  ถามหาความจริงให้กับประเทศนะครับ  ถามกับคนธรรมดา ๆ ที่อาสามาทำงาน (รับเงินเดือน)  นะครับ  ไม่ใช่ ถามกับ  "เจ้าใหญ่นายโต  หรือเทวราช  เทวราชา"  ที่ไหน สักหน่อย  เมื่อ  นโยบายที่คุณทำมา  มันเกิดความผิดพลาด  พวกเราในฐานะผู้มีส่วนได้เสีย  เป็นเจ้าของประเทศ พอ ๆ กัน  ไม่มีสิทธิ ถาม  ไม่มีสิทธิเตือนกันได้เลยหรืออย่างไร  และผมก็เห็นว่า  ไอ้ที่เขา  ช่วยกันเตือน ๆ กันมาน่ะ  ก็ติเพื่อก่อทั้งนั้น  (แน่นอน มีบางคน เตือนแบบต้องการด่าก็มี)  แต่  ท่านเจ้าของประเทศที่คนไทยทุกคน  ควรให้เกียรติ (ตามความคิดของท่านเจ้าของบล็อก)  เคยรับไปฟัง  รับไปพิจารณาบ้างหรือเปล่าครับ  

หรือวัน ๆ ได้แต่  คิดหาว่า  จะดิสเครดิต มันยังไงกันดี  

 

 

 

 

เดี๋ยวขอไปอ่านมั่งนะครับ

ยาว ๆ ทั้งนั้น ทั้งของ อ. นิธิ, บล็อกนี้, ความคิดเห็น -_-"

เห็นด้วยกับ คุณ "ผ่านมาอ่าน"

- หลักเบื้องต้นที่สุดของการเขียนบทวิจารณ์ คืออ่านของเขาให้แตก ไม่ทราบคนเขียนบทวิเคราะห์ อ่านดีหรือยัง เพราะจับจุดสะเปะสะปะไปหมด ยกเอาส่วนรายละเอียดมาวิจารณ์ทั้งที่จับแกนของบทความผิด

- ยิ่งการแสดงความเห็น ก็ต้องระวังความถูกต้องด้วย บางเรื่องเป็นความเห็นก็ระบุว่าเป็นความเห็น แลกหลายครั้งมักยกประสบกาณ์ฐานะที่อยู่กับฝรั่ง ซึ่งไม่ทราบว่าอยู่มานานขนาดไหน หรือว่าเข้าใจเขาแค่ไหน

คนพูดเลี่ยงไปเลี่ยงมาผมไม่ชอบ โดยเฉพาะคนเอาแต่พูดติคนอื่น แต่ตัวเองไม่เคยมีผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน (หรือผลงานที่ตัวเองอ้างว่ามีโดยส่วนใหญ่คือการติเตียนคนอื่นผ่านสื่อต่างๆ) คนประเภทนี้ญาณวิทยาฝรั่งไม่ยอมรับถึงขั้นตั้งข้อรังเกียจทีเดียว

ไม่ทราบฝรั่งที่ไหนครับ เป็นแบบนี้ เขารู้ครับว่าคนวิจารณ์ื ก็มีหน้าที่ของเขา ไม่มีใครมาด่า แบบนักการเมืองบ้านเรานะครับว่า คอยแต่วิจารณ์ แน่จริงมาทำอย่างโน้นทำอย่างนี้

เรื่องยกฝรั่งผิดๆ นี่ผมก็เพิ่งอ่านบทความเรื่องระเบิดลอนดอน ก็เช่นกัน Conspiracy theory หรือกับที่คุณว่าทฤษฏีฝันเฟื่องอะไรนั่น ็ก็้ไม่ถูกต้องนะครับไอ้เรื่องแอนแทรกซ์ ยังพอฟังไหว แต่ไอ้ระเบิดนี่เกี่ยวยังไงไม่ทราบ ช่วยไปอ่านทฤษฏีที่ว่านี่ก่อนนะครับ

ความเห็นของคุณ "ผ่านมาอ่าน" ผมจะตอบเป็นบล๊อกบันทึกนะครับ จะได้ยาวหน่อย

ส่วนคุณชาลีนั้น ผมต้องขอเรียนคุณชาลีว่า conspiracy theory นี่จะแปลว่า "ทฤษฎีฝันเฟื่อง" หรือ "ทฤษฎีคนช่างฝัน" ก็ได้ เพราะเป็นทฤษฎีกึ่งจริงกึ่งจินตนาการพิสูจน์ไม่ได้ อาทิเช่น ทฤษฎีว่ามนุษย์ต่างดาวกำลังแอบดูดน้ำมันไปจากโลก ทฤษฎีว่าผู้ก่อการร้ายรู้จักกับ CIA หรือทฤษฎีว่าคนลอบยิง Kennedy เป็นกองทัพอเมริกันเอง อะไรอย่างนั้นเป็นต้น คุณชาลีลองคลิกอ่าน ความหมาย conspiracy theory ที่ Wikipedia นะครับ

แล้วถ้าคุณชาลีจะถามว่าคนเราจะคิด conspiracy theory ไปทำไม ผมก็ขอตอบว่าคนคิดมีเหตุผลต่างๆ นานาครับ แต่เหตุผลหนึ่งที่เป็นที่นิยมและเป็นเหตุผลของผมคือ "Just for Fun" ครับ

จริงๆ แล้วหนังที่เราดูกันหลายต่อหลายเรื่องก็ได้พล๊อตเรื่องมาจาก conspiracy theory นี่ล่ะ คนไทยเราก็คิด conspiracy theory กันเยอะ แต่ดูเหมือนเราจะไม่ได้แยกกันชัดเจนระหว่าง conspiracy theory กับ real theory

ดังนั้นถ้าคุณชาลีจะต่อว่าผมว่าผมคิด conspiracy theory เรื่องระเบิดที่ London อย่างไม่มีเหตุผล มันก็ถูกของคุณชาลีแล้วละครับ เพราะมันเป็น conspiracy theory ผมบอกไว้ตั้งแต่ต้นบทความแล้วนี่นา

ส่วนคนที่สนใจอ่านบทความ conspiracy theory ของผมนั้น คลิกตรงนี้ครับ

ขอบคุณครับ ที่คุณธวัชชัย มาตอบ แต่ปัญหาเรื่องจับประเด็นนี่ดูจะเป็นปัญหาหลักสำหรับคุณ ธวัชชัยนะครับ

- ผมไม่ไดถามตรงไหนนะครับ

 " ถามว่าคนเราจะคิด conspiracy theory ไปทำไม"

และไม่ได้มีปัญหาเรื่องความหมายของทฤษฏีที่ว่านะครับ และขอบคุณที่เชื่อม ความหมายมาให้ คุณจะได้เทียบกับที่ผมว่าได้ มันก็ชัดเจนตามที่ผมเขียนนั่นแหละครับ ว่าเรื่องแอนแทรกซ์นะเข้ากับทฤษฏีที่ว่า   (  อีกอย่างทฤษฏ๊นี้มีคนแปลไว้ดีแล้วนะครับ ว่าทฤษฏีสมคบคิด ซึ่งค่อนข้างตรงกับที่เชื่อมมาให้) ว่าอาจจะเป็นใครไม่รู็ อาจเป็นหน่วยงานของสหรัฐเอง ทำเรื่องแอนแทรกซ์เองเพื่อหวังผลในการออกกฏหมายอย่างที่ว่าไว้ นี่จึงเข้ากับที่ทฤษฏ๊ แต่ที่ทางผู้ก่อการร้ายระเบิดนี่ แล้วเกิดผลดีที่ทำให้คนเห็นด้วยกับการปราบอิรักด้วยกำลังทหาร ไม่เรียกว่าทฤษฏี conspiracy นะครับ เพราะมีหลักฐานชัดเจน (แต่บังเอิญเป็นผลที่ดีต่อพวกเห็นด้วยกับการส่งกำลังเข้าอิรัก) ถ้าบอกอังกฤษ หรือ อเมริกาเป็นคนทำเอง เพื่อสร้างความชอบทำในการคงทหารในอิรักอันนี้ถึงเข้าทฤษฏีที่ว่า



 

 

ผมคิดว่าคุณชาลีไม่รู้จัก conspiracy theory ดีพอนะครับ คุณชาลีเลยจะมาหาความถูกความผิดเอากับ conspiracy theory สำหรับผม ถ้าใครจะพยายามเอา conspiracy theory มาถือเป็นจริงเป็นจังแล้ว ผมคิดว่าเขาไม่เข้าใจ ผมก็เลยพยายามอธิบายครับ

การพยายามชี้ว่าอันนี้ใช่ conspiracy theory อันนั้นไม่ใช่ ก็ไม่ใช่สาระครับ โดยส่วนใหญ่ถ้าใครบอกว่าสิ่งที่เขาพูดเป็น conspiracy theory ตั้งแต่ต้น มันก็แสดงเจตนาอยู่แล้ว ว่าเขาไม่ได้เจตนาจะมีสาระมากมายกว่า "just for fun"

และคุณชาลีก็ไม่ได้ถามจริงๆ นั่นล่ะ ว่า "คนเราจะคิด conspiracy theory ไปทำไม" ที่จริงแล้วผมเขียนชัดว่า "ถ้าคุณชาลีจะถาม" ไว้ตอนต้นแล้ว หมายความว่า ถ้าอยากจะถาม ผมก็ขอตอบล่วงหน้า เราไม่ได้มานั่งคุยกันนะครับ ผมจึงรอให้คุณถามก่อนผมถึงค่อยตอบ แล้วผมก็ไม่ได้เขียนให้คุณชาลีอ่านคนเดียวเสียหน่อย โอกาสที่คนอื่นที่ไม่รู้จัก conspiracy theory มาอ่านเจอแล้วถามคำถามนี้มีเยอะมากเพราะนี่เป็น blog ไม่ใช่ email ครับ

จบเรื่อง conspiracy theory ดีกว่า ถ้าจะ comment เรื่องนี้ขอเชิญที่บทความโน้นนะครับ บทความนี้ไม่ได้เกี่ยวกับ conspiracy theory ครับ

บทความนี้เกี่ยวกับ ผมเห็นว่าอาจารย์นิธิใช้อคติส่วนตัววิจารณ์ พตท. ทักษิณ โดยพยายามอ้างเรื่องอะไรสักเรื่องที่ฟังดูเป็นวิชาการที่สอดคล้องกับอคตินั้น ผมขอ comment ในประเด็นของบทความนะครับ

I think you should read the article again for making clear about the content. I think you are confuse.

อืมม  คนอื่นๆจะคิดกับเราเพียง 3 ประการเท่านั้น

  1. คือ เห็นด้วยกับเรา
  2. คือ ไม่เห็นด้วยกับเรา
  3. คือ เฉยๆกับเรา

ผมเห็นด้วยกับเจ้าของบล็องอยู่ข้อนึงนะ ที่ว่า คนที่พูดก่อนนั้น พูดเพื่อทำนายเหตุการณ์ในอนาคต ถึงจะมีหลักในการคิดแค่ไหน ในสภาวะการณ์ปัจจุบัน มันยากที่จะคาดเดาได้จริงๆนั่นแหละ และคนที่เป็นฝ่ายวิจารณ์นั้น จริงอยู่ว่าทำไปตามกรอบของนักวิจารญ์ คือเห็นสิ่งผิดปกติก็ต้องวิจารณ์(ส่วนใหญ่เรื่องที่ถูกวิจารณ์ก็จะไปในทางลบ) แต่ก็ควรจะวิจารณ์แบบเข้าใจในหลักของความเป็นจริงด้วย เพราะคนที่พูดก่อนนั้นมีความเสี่ยงสูงที่จะผิดพลาด แต่ผมไม่ได้แนะให้มองข้ามความผิดพลาดนั้นหรอกนะ ก็คือถึงจะผิดพลาดก็ให้ความเป็นธรรมกับคนที่ผิดพลาด ในแง่ที่ว่า วิจารณ์แบบสร้างสรรค์หรือติเพื่อก่อ ไม่ใช่ลดความเชื่อมั่นกันและกัน ยิ่งเป็นเรื่องระดับชาติ ยิ่งต้องติตรองให้ดี เพราะอาชีพนักวิจารณ์นั้นการตัดสินใจมันต่างกันกับผู้บริหาร คนหนึ่งทำแล้วเกิดผล อีกคนฉกฉวยผลนั้นมาตีแผ่

อีกอย่างก็คือ อคติ4 นั้น มีอยู่ในตัวเราทุกคน เพราะคนเราเลือกที่จะเชื่ออะไรหรือไม่อย่างไร ที่สุดแล้วตัวเราก็จะเป็นคนตัดสินใจว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อ อย่างไรก็ดีเราก็ต้องเอนเอียงไปข้างใดข้างหนึ่งแน่ๆ เว้นเสียแต่จะงดการตัดสินใจ

คงมีเพียงคนที่มีความมั่นใจในตนเองเท่านั้น จะได้รับความมั่นใจจากผู้อื่น

เท่าที่อ่านบทความผมพอจะตีความตามประสาไปได้ว่า จริงๆแล้วผู้เขียนคือ อ.นิธิ ท่านไม่ได้เห็นว่าการทำผิดพลาดมันเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้นี่ครับ มันเป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้วที่คนเราจะทำผิดพลาดกันได้ ซึ่งประเด็นนี้ผมว่าทุกคนคงเห็นด้วย (เท่าที่อ่านและตีความตามประสาอีกเช่นกัน)

แต่นั่นสำหรับผมแล้ว เป็นปประเด็นเล็กๆในบทความ เพื่อผู้เขียนต้องการโยงเข้าสู่เรื่องที่ต้องการเขียนเท่านั้น ประเด็นหลักจริงๆก็คือท่าทีและการปฏิบัติหลังการกระทำมากกว่าครับ

ซึ่งหากมีใครทำผิดพลาดแล้วโดนวิจารณ์ กลับไม่สนใจในคำวิจารณ์ เพราะเห็นว่าตนอยู่ในสภานะทางสังคมหรืออะไรก็ตามแต่ ที่เหนือกว่าผู้วิจารณ์ อันนี้ผู้เขียนบอกว่าเป็น ญาณวิทยาแบบไทย

ส่วนคนที่ไม่ได้เอาสถานะทางสังคมเป็นที่ตั้ง แต่เอาความจริงเป็นหลักแทน อันนี้ผู้เขียนบอกว่าเป็น ญาณวิทยาแบบฝาหรั่ง

และผู้เขียนยังบอกอีกครับว่าญาณวิทยาแบบฝาหรั่งนั้น มีโอกาสสร้างความรู้มากกว่า แต่ไม่ได้บอกนะครับว่าผู้เขียนเขามองฝาหรั่งเป็นเทวดา หรืออะไรเทือกนั้น

ผมคงมีความสามารถสรุปบทความได้เท่านี้ครับ

ส่วนความเห็นส่วนตัวผมคือ ญาณวิทยาแบบฝาหรั่งนั้นเข้าหลักพุทธมากทีเดียว นั่นคือการยึดหลักความจริงและเหตุผล

แต่ถามว่า เหตุใดชาวไทยซึ่งส่วนมากนับถือพุทธกลับมีญาณวิทยาแบบยึดสถานะทางสังคมนั้น คงต้องกลับไปดูครับว่าเรานับถือ พุทธ หรือ ภูต กันแน่

อิอิอิ 

ดูจากประวัติแล้ว อาจารย์ธวัชชัยก็เป็นคนเก่งคนหนึ่ง โดยเฉพาะคุณสมบัติทางการศึกษาที่ยอมรับว่าไม่ธรรมดา การได้รับความรู้ในทางโลกหลายด้านหลายประการนั้น ยังไม่เพียงพอที่จะช่วยจรรโลงโลกนี้ค่ะ ไม่แปลกและเห็นด้วยที่อาจารย์บอกไว้ในประวัติว่าศาสนาเป็นเรื่องเฉพาะตัว และไม่ต้องบอกใครว่านับถือศาสนาอะไร หากอาจารย์เป็นพุทธศาสนิกชน ก็อยากชักชวนให้ลองศึกษาธรรมะ หรือปฏิบัติธรรมดูบ้าง จะได้พบว่านอกจาก"ปัญญา" ในทางโลก ๆ ที่อาจารย์มีทุนอยู่มากกว่าคนอื่นแล้ว "ปัญญา" ในทางพระพุทธศาสนาที่เกิดจากการเรียนรู้จากการ "ปฏิบัติ"เองตามแนวทางของพระพุทธองค์นั้นจะช่วยส่งเสริมปัญญาในทางโลก และช่วยสร้างสรรค์โลกนี้ให้สวยงามยิ่งขึ้น

ผมเห็นด้วยกับพี่ "ผ่านมาอ่านครับ" และพี่ชาลีครับ ผมขอวิเคราะห์ วิจารณ์พี่นิดนึงในฐานะที่พี่เป็นเจ้าของบล๊อกนี้ คือผมว่าพี่ค่อนข้างจะอวดเก่ง ไปหน่อยครับ ก็เข้าใจครับว่าพี่เก่ง ดูจากดีกรีของพี่

แต่ปัญหาของพี่คือพี่จับประเด็นไม่ถูกเลยครับ ทั้งบทความของอาจารย์นิธิ และความเห็นของพี่ชาลีเกี่ยวกับเรื่องทฤษฎีสมคบคิด

ผมอ่านดูก็พอทราบได้ว่าพี่ชาลีเขารู้อยู่แล้วหละว่าหลักการของทฤษฎีนี้มันเป็นยังไง พี่ไม่ต้องไปหาลิงค์มาแปะให้เขาก็ได้ครับ มันแสดงให้เห็นว่าพี่กำลังไม่รู้ว่าพี่ชาลีเขาจะหมายถึงอะไรหนะครับ

ผมว่าพี่ไม่ได้โง่อย่างที่กล่าวว่าตัวเองดอกครับ เพียงแต่อาจจะคิดตื้น คิดเร็วไปหน่อยครับ

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าเรื่องความเก่งนี่ดีกรีไม่เกี่ยวครับ นักวิจัยพิสูจน์มาแล้วว่า IQ มนุษย์เรานี่โดยทางสถิติแล้ว "not significantly different" ครับ ดังนั้นดีกรีอาจจะพอบอก (เน้น "อาจจะพอบอก") ความขยันได้ แต่ไม่เกี่ยวกับความเก่งหรือความฉลาดเลย อย่างผมนี่ใครมาท้าสู้เชาว์ปัญญาละผมไม่สู้ (เพราะไม่เคยชนะใครสักที) แต่ถ้ามาสู้ความอึดทำงานละผมสู้ไม่ถอย

สำหรับคุณชาลี แกเขียนความเห็นสองหนนะครับ หนแรกเหมือนแกไม่เข้าใจ conspiracy theory แต่หนที่สองนี่แกท่าทางเข้าใจดีทีเดียว ลองอ่านเปรียบเทียบดูนะครับ

คุณเอษณะครับ เรื่องบทความอาจารย์นิธิ การมีคนเขียนความเห็นมาถึงตอนนี้ทำให้ผมทราบว่าบทความอย่างอาจารย์นิธิเขียนนี่คนไทยอ่านเข้าใจแฮะ แต่ผมยังยืนยันว่าผมอ่านแล้วไม่เข้าใจอย่างที่คุณๆ เข้าใจกัน ผมอ่านแล้วได้ความอยู่อย่างเดียวว่าอาจารย์นิธิเจตนาจะยกเรื่องที่มี "คำหรูๆ" มากระทบกระเทียบนายกฯ

หรือคุณคิดว่าอาจารย์นิธิไม่ได้มี "เจตนา" เพื่อการกระทบกระเทียบนายกฯ ก็บอกมา ผมจะได้ไปอ่านอีกรอบ

ผมยืนยันนะครับ ว่าบทความ "ญาณวิทยาฯ" จะมีคุณค่าที่ผมจะอ่านเพื่อแปลความให้ลึกซึ้งถ้าไม่แฝงเจตนาอื่น แต่พอผมอ่านไปเจอเห็นเจตนาแฝงแล้ว รับไม่ได้ครับ

เฮ้อ... เอาล่ะผมจะบอกความลับให้ฟัง ตอนนี้ผมเริ่มยอมรับพวกบทความที่เขียนเพื่อแฝง "เจตนาอื่น" อย่างนี้ได้แล้วนะครับ หลังจากเริ่มรู้ว่าวิธีการเขียนแบบที่อาจารย์นิธิเขียนนี่ เขาใช้กันทั่วไปเป็นเรื่องปกติในหนังสือพิมพ์ไทยไม่ถือว่าผิดจรรยาบรรณแต่อย่างใด

เห็นใจผมเถอะครับ ผมไม่ได้อ่านหนังสือพิมพ์ไทยมานาน ไปรับมาตราฐานผิดถูกของการเขียนของสื่อมวลชนชาติอื่นมาหลายปี พอกลับมาเจอมาตราฐาน "ของจริง" อย่างนี้ก็ต้องปรับตัวบ้างครับ แต่เชื่อผมสิว่าตอนนี้ผม "รับได้" แล้ว

รำคาญภาษาอังกฤษที่พี่พยายามสอดแทรกจังครับ อ่านเจอจากไหนมาก็ลอก ๆ เขามาแปะ เสมือนว่าเข้าใจเรื่องนั้น ๆ อย่างถ่องแท้ แต่ที่จริงผมว่ามันออกจะดูกลวง ๆ หนะครับ

แต่ก็ยังติดตามผลงานการเขียนของพี่นะครับ เวลารู้สึกแย่ๆทีไรผมมาที่นี่ทุกที :)

สวัสดีคุณธวัชชัย

ผม นาย "ผ่านมาอ่านครับ"  นานโขนะครับที่ไมได้เข้ามาดูอีก แต่เหลือเชื่อ...เพราะนี่ก็ตั้งหลายเดือนแล้ว  ที่คุณพูดว่าจะตอบผมยาว ๆ ผมยังไม่เห็นเลย...วันนี้เลยเข้ามาทวงครับ...ไม่ต้องรีบบอกนะครับว่า ไม่ว่างเลย เพราะเห็นเขียนบล็อกใหม่ๆ ออกมาเพียบ

ถ้ายังไง ครั้งนี้ คุณยังไม่ตอบอีก ผม ติ๊งต่างไปเองเลยแล้วกันว่าครั้งแรก คุณวิจารณ์เลอะเทอะไปเอง จนพอมีคนแย้ง  ก็เลยไม่รู้จะตอบยังไงดี ??

สาเหตุที่เข้ามาครั้งนี้ นอกจากมาทวงของเก่าแล้ว...ยังมีเหตุผลเดียวกับคุณ เอษณะด้วย (ฮา)  นอกจากนั้น  หลังจากอ่านมติชนฉบับออนไลน์ตอนนี้  ก็อ.นิธิอีกแหละครับ (เรื่อง มนุษย์กับความเกลียดชังตัวเอง...ขออภัยผมลองโพสให้ลิงค์แล้ว ทำไม่ได้ ยังไงถ้าสนใจก็เรียนเชิญกันเข้าไปอ่านดู)

เจอความเห็นของคนอวดดีชื่อ  "เมย์เดย์"  ที่โดนคนอ่านมติชนคนอื่นเข้าไปด่ากันเป็นขโยง  ลองอ่านสำนวนของ  นายเมย์เดย์  ดู แล้วจู่ ๆ  หน้า และบล็อกของคุณธวัชชัยก็ลอยเด่นขึ้นในสมองอย่างไม่คาดคิด

เพราะทั้งสำนวนการเขียน   ความมั่วในการจับประเด็น  การวิจารณ์แบบออกจะอวดรู้มาก ๆ ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีอะไรใหม่ หรือมีประเด็นอะไรเลย  เหมือนกัน ดั่งเป็นคนเดียวกัน 

๕๕๕๕๕  แต่นั่นผมเดาเอาน่ะครับ  ไม่รู้คุณธวัชชัย รู้จักกับ  นายเมย์เดย์ หรือเปล่า... ถ้ารู้จัก  ก็ฝากแสดงความเสียใจไปยังนายคนนั้นด้วย เพราะรู้สึกจะโดนไปยับเยินเอาการ

อย่างไรก็ตาม สำหรับนายเมย์เดย์  หลาย ๆ คน บ่นว่า เขาน่าสงสาร  มากกว่าจะน่ารังเกียจ (มีคนใช้คำว่า สะอิดสะเอียนด้วย...โฮ่ นั่นก็ออกจะรุนแรง)  ทั้งนี้ เพราะ ปัญหาของนายคนนี้คือ  อ่านหนังสือไม่แตก  จับประเด็นไม่ได้ แต่ก็ยังอยากวิจารณ์ ...ที่น่าสงสาร แกมสมเพศมากขึ้นไปอีก คือ  ไม่รู้ตัวซะด้วยว่าตัวเองมีปัญหา...สำนวนการเขียนเลยเย่อหยิ่ง แบบคนโง่ แล้วอวดฉลาด...เวลาคนถามจี้ ก็เลี่ยงไปเลี่ยงมา (เอ..หรือว่า จะจับประเด็นด่าไม่ได้ก็ไม่รู้ (ฮา))

 

อย่างว่าแหละครับก็อย่างที่ปราชญ์โส ฯ แกบอกไว้ทำนองว่า ความรู้ในโลกนี้ มีแค่สองอย่าง  คือ  "รู้ว่ารู้"  กับ  "รู้ว่าไม่รู้" รู้ว่ารู้ยังธรรมดาไป  แต่  ถ้าใครรู้ว่าไม่รู้ด้วยนี่  นับว่าเป็นยอด..เพราะถ้ารู้เมื่อไหร่ ก็พร้อมที่จะเรียนรู้จากคนอื่นได้เมื่อนั่น

 

ปัญหาของนายเมย์เดย์  กับคุณธวัชชัย ก็คือ  ดูเหมือนคุณทั้งคู่จะเป็นประเพศ ที่  "ไม่รู้ ว่า ไม่รู้"  น่ะครับ...อิ อิ อิ...เอ้า  อย่ามัวแต่อ่านของผม  ยังไงช่วยเขียนตอบผมด้วย...ผมยังรออยู่นะ  ทำเป็นเล่นไป 

 

 

 

เอ้าตาย ๆ เขียนผิดจนไม่น่าให้อภัย  "ประเภท"  ครับ  ไม่ใช่  "ประเพศ"  เดี๋ยวจะตีความกันผิดไปอีก อุ ๆ ๆ

ผมไม่ใช่ (และไม่รู้จัก) คุณเมย์เดย์ครับ ผมไปโพสต์ที่ไหนจะใช้ชื่อว่า "ธวัชชัย" เสมอ ไม่เคยใช้ชื่อแฝงครับ

ผมมีความเชื่อส่วนตัวว่าการใช้ชื่อจริงเป็นการแสดงความกล้าหาญในการยอมรับผิดชอบต่อความคิดเห็นที่ตัวเองแสดงครับ

คุณไม่จำเป็นต้องเชื่อเหมือนผม

ส่วนเรื่องเขียนตอบคุณนั้น บอกตรงๆ ว่าขี้เกียจครับ เพราะตอนนี้ผมยอมรับรูปแบบและวิธีการเขียนของ "นิธิ" ได้แล้ว ผมรู้แล้วว่ามันไม่ "แปลก" แต่มันเป็น "มาตราฐาน" ของประเทศไทย เลยเฉยๆ แค่เวลาเจอสิ่งที่ "นิธิ" เขียนผมก็ไม่ไปอ่านเท่านั้นเอง

ดังนั้นรับประกันได้ว่าผมไม่ไปโพสต์อะไรเกี่ยวกับ "นิธิ" ที่ไหนแน่นอน เสียเวลาครับ

แล้วผมก็จะไม่ตอบความคิดเห็นในบันทึกนี้แล้วนะครับ ถ้าเมื่อไหร่ "สังคม" เริ่มรู้สึกว่าวิธีการเขียนแบบ "นิธิ" นั้น "แปลก" แล้วค่อยมาคุยกัน

ผ่านมาอ่าน แล้วถือโอกาสลาไปเลยดีก่า

เอาเป็นว่า  ไม่ตอบก็ไม่ต้องตอบครับ...คงว่ากันไม่ได้

งั้นผมก็ขอถือวิสาสะติ๊งต่างตามที่เขียนไปก่อนหน้านี้แล้วกัน...

อ้าว..สรุปคุณธวัชชัยไม่ใช่คุณเมย์เดย์นะครับ...ว่าแล้วเชียว

ว่าผมต้องเดาผิด...แต่ก็นับว่าโชคดีมากเลยที่นายเมย์เดย์
คนนั้นเขาไม่ใช่อาจารย์คนอย่างคุณธวัชชัย เพราะถ้าแนวคิดแบบนั้น เป็นอาจารย์ผมว่ามีปัญหาแอบแฝง...

แต่ก็ต้องขอแสดง
ความยินดีกับคุณธวัชชัยด้วยครับ ที่เริ่มมีคนมี  "มาตรฐาน" ในการอ่านงานเขียน (รวมทั้งมีวิธีเขียนวิจารณ์) เดียวกัน กับคุณธวัชชัย เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคน คือ คุณเมย์เดย์นั่นเอง...มีเพื่อนแล้วนะครับ...:)

สำหรับแนวคิดที่ว่า ไม่ใช้ชื่อแฝงเพราะต้องการเปิดตัวตน และรับผิดชอบต่อความคิดเห็น  ผมชื่นชมด้วยเหมือนกัน...ผมก็คิดไม่ต่างจากคุณนะ...

แต่ในทางคู่ขนานเมื่อมีเทคโนโลยีก้าวหน้าที่ให้คน
สามารถวิจารณ์กันแบบไม่ต้องเกรงอกเกรงใจ (แต่ด้วยเหตุผลนะครับ ไม่ใช่ด่ากันด้วยถ้อยคำไม่สุภาพ หยาบ ๆ คาย ๆ)  บางครั้งมาตรการนั้น ก็ช่วยให้คนที่ไม่เคยกล้าเอ่ยปากวิพากษ์วิจารณ์
คนอื่นได้ในโลกแห่งความเป็นจริง ด้วยอาจติดที่อะไรบางอย่างในสังคมไทย บางครั้งผมกลับชอบนะ..กับมาตรการในการใช้นามแฝง...

ทุกอย่างในโลกนี้มีสองด้านเสมอครับ...

       กราบเรียน ท่านประธาน ที่ เคารพ  ดิฉัน วนิดา แซ่ก๊วย  เรียน นิติศาสตร์จุฬาลงกรณ์ ภาคบัณฑิต รุ่น 3  มีความคิดเห็น เกี่ยวกับ   เรื่อง ข้อขัดแย้ง ระหว่าง ท่านนายก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร  กับคุณ สนธิ ลิ้มทองกุล  อาจมีจุดเริ่มมาจากเรื่องส่วนตัว อาจมีจุดเริ่มมาจากการขาดผลประโยชน์ส่วนตัว  แต่เรื่องส่วนตัวมิอาจสร้างเป็นประเด็นร้อนในทางการเมืองขึ้นได้
      จึงผูกให้เข้ากับ สถานการณ์ เพื่อให้คุณ  สนธิ ลิ้มทองกุล หยิบยกขึ้นมากล่าวตั้งแต่ยังจัดรายการ "เมืองไทยรายสัปดาห์" ทางช่อง 9 จึงมิได้นำเรื่องส่วนตัวมาเพราะ ถ้าเป็น เรื่อง ตัว คุณสนธิจะไม่ได้ แรง สนับสนุน มากขนาดแต่ พยายามโยงให้สัมพันธ์อยู่กับบทบาทของรัฐบาล  เรื่องต่อหลาย เรื่อง พยายาม สร้างประเด็น และ จุดสนใจ โดย ให้ เสื้อเหลือง ให้ ตรงคนไทยที่จะใส่เพื่อ วันพระ ราชสมภพ ของ พระเจ้าอยู่หัว เพื่อ ให้ เกิดการสับสน  ว่า มีประชาชน มาสนับสนุนมาก และ  ผูกให้ เข้ากับประเด็น ร้อนของ การโอนถ่าย ครู  ซึ่งไม่เกี่ยวกันเลยสักนิด  
1.       โจมตี  บทบาทของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
2.       โจมตีอันเกี่ยวกับตำแหน่งและหน้าที่ของสมเด็จพระสังฆราช  (ซึ่งเรื่อง คนที่ ใกล้ชิด หรือ ผู้พิทักษ์ของ สมเด็จพระสังฆราช ย่อม รู้ว่า กำลัง อะไร จึง เหมาะสม และ  สมควรแก่ สถานการณ์ นั้นๆ  ฉะนั้น คน นอกหรือประชาชน ธรรมดาไม่มีสิทธิ์ ทราบเลยว่า ควรจะอย่างไรจึงเหมาะ สม เรื่องนี้ให้เป็น ไปตาม ครรลองครองธรรมจึงจะเหมาะสมกาลเวลา)
3.      โจมตีเกี่ยวกับการทำบุญประเทศไทย ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (ซึ่งเป็น ที่ประชาชน ส่วนใหญ่ไม่ทราบ ว่า ถ้าพระเจ้าอยู่หัว ไม่ทรงอนุญาต จะไปปฏิบัติ เช่นนั้น ไม่ได้   เรื่องนี้ คุณสนธิรู้ดีแต่ก็หยิบยกเพื่อให้ประชาชน ผู้ไม่รู้ ให้หลงผิด)
4.      เป็นบทบาทของรัฐบาล ของพรรคไทยรักไทย ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อันเกี่ยวกับองค์กรอิสระ (ปัญหานี้ จริง ๆต้อง ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง มา ประชุมกันเอง อีกครั้งว่า ควร ไปทางทิศทางไหนจึงจะเหมาะ กับผู้เดือดร้อนจริงๆ และถูกกับวัตถุประสงค์และความต้องการตามหลักประชาธิปไตย)
5.        โจมตีรัฐบาล ของพรรคไทยรักไทยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อันเกี่ยวกับกรณีทุจริตคอร์รัปชั่น ( เป็นหน้าที่ ของ หลายองค์กรของรัฐที่มีหน้าที่อยู่แล้ว ในการ ตรวจสอบ มิใช่เรื่องของ คุณสนธิ    เพราะมีระบุใน รัฐธรรมนูญว่า เมื่อ มี คณะรัฐบาล  ก็จะมี ฝ่ายตรวจสอบคณะรัฐบาล เป็นไปตามหลักของ หลักตั้งพรรค นักการเมืองว่าใครเป็น ฝ่าย บริหาร ก็มีหน้าที่ บริหารประเทศให้ พัฒนา  และ ฝ่าย ค้านมีหน้าที่ ตรวจสอบ การทำงาน ผ่านนิติบัญญัติ โดย ให้ รัฐสภา  เป็น พิจารณา อยู่เป็นวาระ ๆ  เรื่อง นี้ไม่น่า ก้าวก่าย หน้าที่กันอยู่แล้ว 
6.      เป็นบทบาทของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และเครือข่ายทางธุรกิจ   ( ในเรื่องธุรกิจส่วนตัวของท่านนายก ก็หน่วยงานที่ตรวจสอบ และ ถ้า ธุรกิจส่วนตัวของ ใคร ถ้าได้มาโดยสุจริต ก็เป็นสิ่ง ชอบธรรมอยู่แล้วไม่ควรก้าวล่วงมากขนาดนี้)
7.      โจมตี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และครอบครัว ตลอดจนญาติพี่น้อง เกี่ยวกับธุรกิจและการเคลื่อนไหวทางสังคม  (เรื่องก็เป็นเรื่องสิทธิส่วนบุคคลถ้ามาก้าวก่ายกันมากขนาดนี้  คนที่ดีๆ ใครจะบริหารประเทศให้เจริญ สู้เอาแรงมาพัฒนา ธุรกิจของตัวเองไม่ดีกว่าหรือ)
8.       การเปิดโปง โจมตี สถานะ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยตรง ( ถ้าเปิดในสิ่งที่เป็นจริง ไม่ถือว่า “ละเมิด”  แต่การ เปิดโปง โจมตีในเรื่องไม่เป็นจริง ถือว่า   “ละเมิดและหมิ่นประมาท”  เป็น ทั้งอาญาและ แพ่งได้ค่ะ   
9.      ปลุกระดม ประชาชน ให้หลงผิด ในเรื่อง ของ พระ ราชอำนาจ ของ พระเจ้าอยู่หัว ให้คืน พระ องค์  (“ไม่รู้ว่า คุณสนธิ อ่าน รัฐธรรมนูญ คนละฉบับกับที่ ร่างหรืออย่างไรหรือ ว่า “ไม่เคยอ่าน กฎหมายรัฐธรรมนูญเลย”  ถึงได้ เรียกร้อง คือพระราชอำนาจ ของพระเจ้าอยู่หัว   เพราะในสิ่งในที่ รัฐธรรมนูญตรา ไว้ในกฎหมาย รัฐธรรมนูญ  มาตรา 2 ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น ประมุข
   และมาตรา 3  อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหา กษัตริย์ผู้ ทรง เป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติ แห่งรัฐธรรมนูญนี้
   ดังนั้น ไม่จำเป็น ต้อง เรียกร้อง ให้คืนพระราชอำนาจของ พระองค์  ซึ่ง พระเจ้าอยู่หัวมีอยู่ เพราะเป็น สิทธิของ พระองค์ ที่จะทรง พระราชอำนาจ เมื่อไรก็ได้และ แถมยังสวมเสื้อเหลือง "เราสู้เพื่อในหลวง" ทำให้ประชาชนหลงผิดไปด้วย)
      จากนี้จึงทำให้บทบาทและการเคลื่อนไหวของ นายสนธิ ลิ้มทองกุล โดยเฉพาะนับแต่เริ่มรายการ "เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร" เมื่อเดือนกันยายน 2548 เป็นต้นมาค่อยๆ ก่อรูปขึ้นเป็นสิ่งที่เรียกว่า "ปรากฏการณ์ สนธิ ลิ้มทองกุล"ค่อยๆ ก่อรูปขึ้นเป็นเหมือนกับศูนย์กลางแห่งการวิพากษ์ เปิดโปง โจมตี ต่อรัฐบาลและต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อย่างตรงไปตรงมาด้าน 1 จึงไม่เพียงแต่ นายสนธิ ลิ้มทองกุล จะได้รับการแวดล้อมจากพันธมิตรเดิมขณะเดียวกันด้าน 1 การเคลื่อนไหวของ นายสนธิ ลิ้มทองกุล ได้กลายเป็นศูนย์รวมของกลุ่ม องค์กร พรรค ที่ไม่ชอบและถึงกระทั่งเกลียด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขึ้นมาโดยพื้นฐานและก็เติบใหญ่ขยายตัวเป็นลำดับไม่เพียงแต่เมื่อเช้าวันที่ 18 พฤศจิกายน 2548 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะเดินทางไปให้กำลังใจ นายสนธิ ลิ้มทองกุล ถึงสำนึกงานที่ท่าพระอาทิตย์ หากในตอนเย็น พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ยังสวมเสื้อเหลือง "เราสู้เพื่อในหลวง" เข้าร่วมรับฟังและโอบกอดร่าง นายสนธิ ลิ้มทองกุล ที่อยู่ในชุดเหลืองเช่นเดียวกันอย่างอบอุ่นทั้งนี้ แทบไม่ต้องกล่าวถึงการปรากฏขึ้นแห่งเงาร่างของ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ และ นายเอกยุทธ อัญชันบุตร อย่างค่อนข้างเป็นประจำอยู่แล้วนี่คือพัฒนาการจาก "ปรากฏการณ์ สนธิ ลิ้มทองกุล" เป็น "ขบวนการสนธิ ลิ้มทองกุล"
     "ขบวนการ สนธิ ลิ้มทองกุล" มีเป้าหมายร่วมกันอยู่ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นเป้าหมายที่ต้องการให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พ้นไปจากสายตา    เป็นเป้าหมายที่พัฒนามาจากที่เคยประกาศ "น็อคเอ๊าต์ ทักษิณ" เมื่อเดือนตุลาคม 2547
      วิเคราะห์  สถานการณ์ ขัดแย้ง ระหว่าง  พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กับ คุณ สนธิ
 
          Strength(จุดแข็ง)
·       รัฐบาลมี นโยบายดี และ พัฒนาตรงกับความต้องการของ ประชาชน ส่วนใหญ่
·       ประชาชน ส่วนใหญ่ มีความรู้จึง หลอกยาก  
·       รัฐบาล มี ประสิทธิภาพ ในการทำงานด้านบริหารประเทศ เหมือนมืออาชีพ 
Weakness(จุดอ่อน)
·       รัฐบาลทำอะไร  แต่ขาดการประชาสัมพันธ์ที่ดี กับประชาชน
·       รัฐบาลไม่ได้ทำงานเชิงรุก  พอเกิดปัญหาก็มาแก้ไขสถานการณ์  ทำให้ ประชาชนคิดว่า แก้ตัว
·        มีปัญหา ใน เรื่อง ของ ข้าราชการครู มาเป็น เงื่อนปม มาแทรกซ้อน
Opportunities(โอกาส)
·       ต้องทำงาน เชิงรุก และ รู้เขารู้เราและต้องมีประชาสัมพันธ์ ที่ดี  
·       คนที่จะเป็นผู้นำที่ดีได้ ต้องบูรณาการ ทางด้าน  อารมณ์  และ ระบบ ควบคุมสติ  จะแก้ปัญหาได้ 
·        แก้ปัญหา ด้วยการป้องกัน ปัญหา  อย่าปล่อยปัญหา เพราะคิดว่า  “เรื่องเล็กแก้ได้ไม่ยาก”
·       จงสร้างสมาธิและปัญญา  ในการ แก้สถานการณ์  อย่า ใช้อารมณ์แก้ไข
    Threat(อุปสรรค,ข้อจำกัด)
·       ประชาชน ส่วนหนึ่ง  คิดว่า เรื่องที่ คุณ สนธิพูดนั้นเป็นเรื่อง จริง  ขาด ข้อมูลความจริง มาหักล้าง
·       คุณ สนธิ เข้าถึง ประชาชน และเข้าใจ  ดึง หัวใจของประชาชน  ว่า “ประชาชนรักใครที่สุด” และ ดึงประเด็นนั้น มาเพื่อ จุดประกาย ปัญหา ให้ ลุกไหม้ เพื่อ ผลประโยชน์ของตัวเอง ได้ บรรลุถึงวัตถุประสงค์ 
     แนวทางการแก้ปัญหา นำไปสู่ความ สำเร็จ
1.      ต้อง มีฝ่ายประชาสัมพันธ์ ที่ คอยนำ เสนอ สู่ สาธารณะชน โดยผ่านทุกสื่อ ว่าตอนนี้ รัฐบาล กำลังอะไร เพื่อประชาชน 
2.      ต้องทำงาน เชิงรุก และ รู้เขารู้เราและต้องมีประชาสัมพันธ์ ที่ดี  
3.      คนที่จะเป็นผู้นำที่ดีได้ ต้องบูรณาการ ทางด้าน  อารมณ์  และ ระบบ ควบคุมสติ  จะแก้ปัญหาได้  สมาธิดี ปัญญาเกิด 
4.      แก้ปัญหา ด้วยการป้องกัน ปัญหา  อย่าปล่อยปัญหา เพราะคิดว่า  “เรื่องเล็กแก้ได้ไม่ยาก”
5.      จงสร้างสมาธิให้เกิดปัญญา  ในการ แก้สถานการณ์  อย่า ใช้อารมณ์แก้ไข
6.      ต้องมีฝ่าย แก้ไขแก้ สถานการณ์ ที่ รวดเร็วทัน เหตุการณ์   “กว่าถั่วจะสุก  งาก็ไหม้”
  สรุปข้อคิดเห็นของ วนิดา 
  การที่มีข้อขัดแย้งปัญหาสถานการณ์ปัจจุบันไม่สามารถฟันธงว่าใครผิด ระหว่างคุณ สนธิ ลิ้มทองกุล   กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร  เป็นเรื่องของน้ำผึงหยดเดียว ไม่น่าเอาพระเจ้าอยู่หัว , ประเทศชาติ,หรือประชาชน ร่วมหัวจมหางด้วยเลย 
     หากคิดกันให้ ละเอียดซักนิดน่าจะเป็น เรื่อง  ขี้แพ้ชวนตี หรือ อีกนัยหนึ่ง  เปรียบเสมือนเด็กที่ทะเลาะกันและ ฝ่ายแพ้ก็จะหา กลอุบายต่างๆ เพื่อ ตอบสนอง ความต้องการของตน ชนิด ที่เรียกว่า   “ชนะเท่านั้น ถึงยอมเลิกรา”  ทำทุกวิถีทาง แม้กระทั่ง หลอกประชาชน ก็ยอม แบบนี้น่ากลัว นะค่ะ  อย่าทำเลยค่ะ  ปัจจุบันนี้ ประชาชน มีความรู้กัน ทั่วประเทศแล้ว  การกระทำของคุณสนธิเหมือน ดูถูกประชาชน  คิดว่า คนไทย จูงจมูก ง่ายๆ 
        สังคมจะดี ได้ต้องอาศัย ประชาชน ทุกคนช่วยกัน พิจารณาว่า  ข่าวไหนควรเชื่อ หรือข่าวไหนต้อง แก้ไข อย่า อยู่เป็นเครื่องมือ ของ ผู้ไม่หวังดีต่อประเทศชาติ หรือเอาประเทศชาติเป็น เครื่องมือ  “ ระยะทางพิสูจน์ม้า  กาลเวลาพิสูจน์คน”

คนพูดเลี่ยงไปเลี่ยงมาผมไม่ชอบ โดยเฉพาะคนเอาแต่พูดติคนอื่น แต่ตัวเองไม่เคยมีผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน (หรือผลงานที่ตัวเองอ้างว่ามีโดยส่วนใหญ่คือการติเตียนคนอื่นผ่านสื่อต่างๆ) คนประเภทนี้ญาณวิทยาฝรั่งไม่ยอมรับถึงขั้นตั้งข้อรังเกียจทีเดียว

หมายถึงใครรึ อย่าเลี่ยงไปเลี่ยงมานะ ผมไม่ชอบครับ

ขอบคุณมากครับที่ช่วยเตือนสติผมให้รู้ว่า

ตัวผมเองก็กำลังหลงอยู่ในความคิดของตัวเองอยู่โดยที่ไม่รู้ตัวเลยว่า มาอ่านนี้เพราะว่าตัวยังยึดติดที่ สังขารอยู่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท