3 ก สร้างเสริมต่อหล่อหลอมคุณธรรม


นวัตกรรมคุณธรรม
                                โรงเรียนบ้านร่องฟอง  ตั้งอยู่หมู่ที่  4  ตำบลร่องฟอง  อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่         สภาพของโรงเรียนบ้านร่องฟอง อยู่ใจกลางของหมู่บ้าน อยู่ในเขตการปกครองขององค์การบริหารส่วนตำบลร่องฟอง ผู้ปกครองนักเรียนส่วนใหญ่ ประกอบอาชีพเย็บผ้าและตีเหล็ก นักเรียนมาจากสภาพครอบครัวที่ฐานะยากจน   นักเรียนที่มาจากสภาพครอบครัวที่มีฐานะปานกลาง และดี  จะไปเรียนในโรงเรียนมีชื่อของจังหวัด  เนื่องจากหมู่บ้านร่องฟอง   มีระยะทางห่างจากอำเภอเมืองแพร่ประมาณ  5  กิโลเมตร สะดวกในการเดินทางไป กลับ                                 ดังนั้นนักเรียนที่มาเรียนในโรงเรียนบ้านร่องฟองจึงเป็นเด็กที่ผู้ปกครอง  มีฐานะยากจน รับจ้างทำงาน หาเช้า กินค่ำ ส่งผลให้ผู้ปกครองและตัวนักเรียนไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กันมากนัก  นักเรียนส่วนใหญ่ ไม่ได้รับการปลูกฝังฝึกนิสัย จากผู้ปกครอง ในการฝึกให้มีความรับผิดชอบ ในงานบ้าน  ดังนั้นนักเรียนจึงไม่ค่อยมีทักษะในการทำงาน ประกอบกับผลมาจากการประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของครูประจำชั้น ตั้งแต่ชั้น ป.1 ป.6    ผลการประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์   ข้อที่ 2   ความมีระเบียบวินัย และ  ข้อที่  3   มีความรับผิดชอบ  นักเรียนส่วนใหญ่ได้รับคะแนนในระดับ 2  พอใช้  และจากการสังเกตการทำงานทั้งในและนอกห้องเรียน  นักเรียนขาดความรับผิดชอบต่อหน้าที่  ไม่มีความใฝ่รู้ใฝ่เรียน   ขาดทักษะการคิดสร้างสรรค์ ในการทำงานร่วมกัน ไม่เห็นคุณค่าและความสำคัญของ   ภูมิปัญญาท้องถิ่นของตน                                จากปัญหาที่พบดังกล่าวผู้บริหารโรงเรียนจึงมีการประชุมคณะครู ร่วมกันแสดงความคิดเห็นเสนอแนวทางแก้ไข และที่ประชุมมีมติเห็นควรให้มีการร่วมมือจัดกิจกรรมที่จะฝึกให้นักเรียนมีทักษะ ในการทำงาน มีความรับผิดชอบ  มีระเบียบ  มีวินัย  โดยการร่วมมือจากทุก ๆ ฝ่าย จัดกิจกรรมอย่างหลากหลาย เพื่อหล่อหลอมให้นักเรียนมีคุณลักษณะนิสัยที่ดี และแนวทางในการที่จะฝึกให้นักเรียนเกิดคุณลักษณะนิสัยที่ดี  และมีความรับผิดชอบ  มีระเบียบวินัยจึงได้ศึกษาหลักการ  แนวคิดเกี่ยวกับธรรมชาติมนุษย์ ตามแนวพุทธศาสตร์   ( อ้างใน   ทิศนา   เขมมณี. 2550 : 159 – 160 )  เพื่อพิจารณาธรรมชาติของมนุษย์ ทางด้านพฤติกรรมหรือการกระทำ แนวคิดทางพุทธศาสนาเชื่อว่า กรรมหรือการกระทำของมนุษย์ เกิดขึ้นจากอิทธิพลของตัณหา หรือกิเลสซึ่งมีอยู่ในตัวมนุษย์ แต่มนุษย์สามารถขจัดกิเลส และควบคุมพฤติกรรมของตนเอง ให้เป็นไปในทางที่ดี โดยอาศัยหลักไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา  ซึ่งเกิดขึ้นได้  ก็ต้องอาศัย ปัจจัยในการเกิด สัมมาทิฏฐิ เกื้อหนุน   2 ด้านใหญ่ ๆ คือ ปัจจัยภายนอก  คือ สภาพแวดล้อมต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กัลยาณมิตร และโยนิโส มนสิการ  ปัจจัยภายในได้แก่ กระบวนการคิดอันแยบคาย ดังนั้นหลักการสอนตามแนวคิดเกี่ยวกับธรรมชาติมนุษย์มีดังนี้                   1. สอนเพื่อให้บุคคลเข้าถึงความจริงสูงสุดนั้นคือ  ศีล สมาธิ  ปัญญา                   2. สอนให้บุคคลเกิดศีล สมาธิ ปัญญาได้ ต้องจัดปัจจัยเกื้อหนุนที่สำคัญให้แก่ บุคคลนั้นอันได้แก่  การจัดสภาพแวดล้อมที่จูงใจให้เกิดศรัทธา และจัดให้มีกัลยาณมิตร   ที่สามารถจูงใจให้บุคคลเกิดศรัทธา และมีการฝึกกระบวนการคิดโดยแยบคาย                 สุมน   อมรวิวัฒน์   ( 2533 ) ได้ประยุกต์หลักไตรสิกขา มาใช้ในการเรียนการสอนโดยผ่านขั้นตอน  3  ขั้น คือ                    1. ขั้นศีล   หมายถึง  ขั้นผู้เรียนต้องควบคุมตนเองให้อยู่ ในระเบียบวินัยทั้งกาย                         และวาจา ให้อยู่ใน สภาพเรียบร้อย เป็นปกติ ร่างกายพร้อมที่จะเรียนรู้                   2. ขั้นสมาธิ  เป็นขั้นที่ผู้เรียนจะรวบรวมจิตใจ ความคิดให้แน่วแน่ ในจุดเดียว                          เรื่องเดียว                   3. ขั้นปัญญา  เป็นขั้นที่ผู้เรียนใช้สมาธิในการทำความเข้าใจ สิ่งที่เรียนจนเกิดการ                        เรียนรู้ในเรื่องนั้นตามความเป็นจริง                   จากหลักแนวคิดดังกล่าว  กิจกรรมที่ควรฝึกให้นักเรียนเกิดความรับผิดชอบ และ          มีระเบียบวินัย  คือ กิจกรรมวิถีพุทธ  และตามหลักทฤษฏี การเรียนรู้แบบร่วมมือของสลาวิน ( slavin ) เดวิด  จอห์นสัน ( David  Johnson ) และรอเจอร์  จอห์นสัน ( Rohngon ) กล่าวถึงองค์ประกอบการเรียนรู้แบบร่วมมือดังนี้                      องค์ประกอบการเรียนรู้แบบร่วมมือ                         การเรียนรู้แบบร่วมมือไม่ได้มีความหมายเพียงว่า มีการจัดให้ผู้เรียนเข้ากลุ่มแล้วให้งาน และบอกให้ผู้เรียนช่วยกันทำงานเท่านั้น การเรียนรู้จะเป็นแบบร่วมมือได้ ต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญ 5 ประการดังนี้                      1. การพึ่งพาและเกื้อกูลกัน ( Positive  interdependence )                              กลุ่มการเรียนรู้แบบร่วมมือ จะต้องมีความตระหนักว่าสมาชิกทุกคนมีความสำคัญ และความสำเร็จของกลุ่มขึ้นกับสมาชิกทุกคนในกลุ่ม ในขณะเดียวกันสมาชิกแต่ละคนจะประสบความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อกลุ่มประสบความสำเร็จ ความสำเร็จของบุคคลและของกลุ่มขึ้นอยู่กับกันและกัน ดังนั้นแต่ละคนต้องรับผิดชอบในบทบาทหน้าที่ของตน และในขณะเดียวกันก็ช่วยเหลือสมาชิกคนอื่น ๆ ด้วย เพื่อประโยชน์ร่วมกัน การจัดกลุ่มเพื่อช่วยให้ผู้เรียนมีการพึ่งพาช่วยเหลือเกื้อกูลกันนี้ ทำได้หลายทาง เช่น การให้ผู้เรียนมีเป้าหมายเดียวกัน หรือให้ผู้เรียนกำหนดเป้าหมายในการทำงาน     / การเรียนรู้ร่วมกัน (Positive goalin – terdependence  ) การให้รางวัลตามผลงานของกลุ่ม (Positive   reward  interdependce ) การให้งานหรือวัสดุอุปกรณ์ที่ทุกคนต้องทำหรือใช้ร่วมกัน (Positive  resource inter dependence ) การมอบหมายบทบาทหน้าที่ในการทำงานร่วมกันให้แต่ละคน (Positive  role inter dependence )                    2.  การปรึกษาหารือกันอย่างใกล้ชิด ( face –to – face promotive interaction )                                การที่สมาชิกในกลุ่มมีการพึ่งพาช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เป็นปัจจัยที่จะส่งเสริมให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันและกัน ในทางที่จะช่วยให้กลุ่มบรรลุเป้าหมาย สมาชิกกลุ่มจะห่วงใย ไว้วางใจ ส่งเสริม และช่วยเหลือกันและกันในการทำงานต่าง ๆ ร่วมกัน ส่งเสริมให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน                    3.  ความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้ของสมาชิกแต่ละคน ( individual accountability )                         สมาชิกในกลุ่มการเรียนรู้ทุกคนจะต้องมีหน้าที่รับผิดชอบ และพยายามทำงานที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มความสามารถ ไม่มีใครที่จะได้รับประโยชน์โดยไม่ทำหน้าที่ของตน  ดังนั้นกลุ่มจึงจำเป็นต้องมีระบบการตรวจสอบผลงาน ทั้งที่เป็นรายบุคคลและเป็นกลุ่ม วิธีการที่สามารถส่งเสริมให้ทุกคนได้ทำหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มที่มีหลายวิธี  เช่น การจัดกลุ่มให้เล็ก  เพื่อจะได้มีการเอาใจใส่กันและกันได้อย่างทั่วถึง การทดสอบเป็นรายบุคคล การสุ่มเรียกชื่อให้รายงาน ครูสังเกตพฤติกรรมของผู้เรียนในกลุ่ม การจัดกลุ่มให้มีผู้สังเกตการณ์ การให้ผู้เรียนสอนกันและกัน เป็นต้น                         4.  การใช้ทักษะการปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและทักษะการทำงานกลุ่มย่อย                 ( interpersonal and small – group skills )                                การเรียนรู้แบบร่วมมือจะประสบความสำเร็จได้ต้องอาศัยทักษะที่สำคัญๆหลายประการ เช่น ทักษะทางสังคม ทักษะการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ทักษะการทำงานกลุ่ม ทักษะการสื่อสาร  และทักษะการแก้ปัญหาขัดแย้ง  รวมทั้งการเคารพ ยอมรับ และไว้วางใจกันและกัน ซึ่งครูควรสอนและฝึกให้แก่ผู้เรียนเพื่อช่วยในการดำเนินงานต่อไปได้                          5.  การวิเคราะห์กระบวนการกลุ่ม ( group processing )                                กลุ่มการเรียนรู้แบบร่วมมือจะต้องมีการวิเคราะห์กระบวนการทำงานของกลุ่ม เพื่อให้กลุ่มเกิดการเรียนรู้และปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น การวิเคราะห์กระบวนการกลุ่ม ครอบคลุมการวิเคราะห์เกี่ยวกับวิธีการทำงานของกลุ่ม พฤติกรรมของสมาชิกกลุ่มและผลงานของกลุ่ม  การวิเคราะห์การเรียนรู้นี้อาจทำโดยครู หรือผู้เรียน หรือทั้งสองฝ่าย  การวิเคราะห์กระบวนการกลุ่มนี้เป็นยุทธวิธีหนึ่งที่ส่งเสริมให้กลุ่มตั้งใจทำงาน เพราะรู้ว่าจะได้รับข้อมูลป้อนกลับ และช่วยฝึกทักษะการรู้คิด ( metacognition ) คือสามารถที่จะประเมินการคิดและพฤติกรรมของตนที่ได้ทำไป                                 จากแนวทฤษฎีดังกล่าวกิจกรรมอีกกิจกรรมหนึ่งที่จะปลูกฝังให้นักเรียนมีความรับผิดชอบและมีระเบียบวินัย คือ กิจกรรมประชาธิปไตยใกล้ตัวเลียนแบบสภาพ แวดล้อมในชุมชนนอกจากนั้น พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ได้กำหนด ให้การศึกษาเป็นกระบวนการเรียนรู้ เพื่อความเจริญงอกงามของบุคคลและสังคมโดยการถ่ายทอดความรู้ การฝึก การสืบสานทางวัฒนธรรม การสร้างสรรค์ การสร้างองค์ความรู้ อันเกิดจากการจัดสภาพแวดล้อมสังคมแห่งการเรียนรู้และปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคคลเกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต การจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ และคุณธรรม  มีจริยธรรม และวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถ อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข                                ได้มีการจัดให้มีการทำหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อความเป็นไทยในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานจัดทำสาระหลักสูตรในส่วนที่เกี่ยวกับสภาพปัญหาชุมชน และสังคม ภูมิปัญญาท้องถิ่น  คุณลักษณะอันพึ่งประสงค์ เพื่อเป็นสมาชิกที่ดีของชุมชน สังคม และประเทศชาติ                                ตามหลักการปัญหาและแนวคิดดังกล่าวข้างต้น นวัตกรรมที่จะฝึกให้นักเรียนเกิดคุณลักษณะนิสัยรักการทำงาน มีความรับผิดชอบ  มีระเบียบวินัยคือ  กิจกรรม 3 ก. สร้าง เสริม ต่อ หล่อหลอมคุณธรรม ประกอบด้วย กิจกรรมอนร.ร่วมทำคุณธรรมนำใจ  กิจกรรมคุณธรรมนำนิสัย กิน อยู่ ดู ฟัง อย่างมีสติ และกิจกรรมผ้ามัดย้อม เสริมส่งคุณนิสัย

หมายเลขบันทึก: 129944เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2007 13:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 16:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท