รัก...รัก...การอ่านจัง


ฝึกเด็กให้รักการอ่าน
ฝึกเด็กให้ “รักการอ่าน" 
คำกล่าวที่ว่า ‘คนไทยไร้วัฒนธรรมในการอ่าน’ ที่เรามักได้ยินอยู่เนืองๆ นั้น อาจจะเป็นข้อกล่าวหาที่ทั้งเป็นธรรม และไม่เป็นธรรม ก็ได้  

         ที่ว่าเป็นธรรมนั้น ก็เพราะการปลูกฝังนิสัยการอ่านในสังคมไทยเกิดขึ้นก่อนที่เทคโนโลยีจอตู้หรือโทรทัศน์จะเข้ามาครองเมืองได้ไม่นาน ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่หันเหไปให้ความสนใจกับสื่อทีวีที่มีความเคลื่อนไหว สนุกสนาน และมีชีวิตชีวามากกว่าการอ่าน จนกระทั่งแทบลืมหนังสือไปเลย 
         แต่ในด้านที่ไม่เป็นธรรมก็คือ การสอนการอ่านนับตั้งแต่ในช่วงปฐมวัย ซึ่งถือเป็นรากฐานที่สำคัญนั้น จากอดีตมาจนถึงปัจจุบันของไทย มักปราศจากเทคนิคที่จะกระตุ้นให้ผู้เรียนมีนิสัยรักการอ่าน เนื่องจากการสอนมิได้สร้างความสุขให้กับการอ่านนั้นๆ ซึ่งความรู้สึกเช่นนี้ได้ส่งผลติดตัวมาจนถึงวัยผู้ใหญ่

         จริงอยู่ พ่อแม่และสภาพแวดล้อมในครอบครัวมีส่วนกระตุ้นให้เด็กเป็นผู้ที่รักการอ่านหรือไม่ก็ได้ แต่ขณะเดียวกัน โรงเรียนและครูก็มีบทบาทในเรื่องนี้ไม่น้อย เพราะเหตุที่ว่าความคาดหวังที่คนทั่วไปมักมีต่อสถานศึกษาคือ การสร้างคนให้มีความรอบรู้ และมีสติปัญญาที่ดี โดยสิ่งเหล่านี้มากกว่าครึ่งหนึ่งได้จากการอ่าน

         บทความชิ้นนี้จะพาคุณผู้อ่านไปสัมผัสวิธีการที่ประเทศนิวซีแลนด์ส่งเสริมเด็กให้เป็นผู้ที่รักการอ่านโดยโรงเรียนในระดับปฐมวัยจำนวนมากที่นั่น ได้จัดสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ภาษาตามแนวทางของ Whole Language (WL) หรือการเรียนรู้ภาษาแบบธรรมชาติ ซึ่งมีความเชื่อว่า การเรียนภาษาให้ได้ผลดีที่สุดนั้น จะเกิดขึ้นต่อเมื่อเด็กได้ใช้ภาษาตามความมุ่งหมายที่แท้จริง และการอ่านเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการในการใช้ภาษา ที่เชื่อมโยงกับการใช้ภาษาด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการพูด ฟัง หรือเขียน

         สำหรับการเป็นนักอ่านที่ดีนั้น มิใช่เรื่องของความบังเอิญที่เกิดขึ้นได้ชั่ววูบ ทว่าเด็กจะต้องใช้เวลาในการสั่งสมการอ่านเป็นระยะนานพอสมควร จุดเริ่มต้นอาจมาจากหนังสือคุณภาพที่มีหลากหลายในห้องเรียนที่ครูจัดสรรมาให้เลือก เพื่อส่งเสริมให้เด็กกลายเป็นนักอ่านที่ดีตลอดชั่วชีวิตของเขา ทั้งนี้ นิสัยรักการอ่านจะเกิดขึ้นต่อเมื่อเด็กได้อ่านเรื่องตรงกับความสนใจของเขาในเวลาที่เหมาะสม (หมายถึงเด็กมีความกระตือรือร้น + เรื่องราวที่ชอบ + ความรู้ที่ควรจะได้ + ประสบการณ์ชีวิตเดิมที่มีอยู่)

         โปรแกรมการอ่านแบบ WL ของนิวซีแลนด์ จะเน้นความเข้าใจเนื้อเรื่องมากกว่าการท่องจำตัวหนังสือ โดยการอ่าน เขียน หรือสะกด จะไม่เน้นที่ความถูกต้องของหลักภาษา สิ่งที่จำเป็นคือความเข้าใจในเนื้อหานั้นๆ และที่สำคัญคือ ครูจะเปิดโอกาสให้เด็กได้อ่านหนังสือที่เด็กสามารถเลือกได้เองตามความสนใจ

         นอกจากนี้ การอ่านจะไม่มีการจำกัดตารางเวลา หรือฝึกเด็กให้อ่านเฉพาะในวิชาการอ่านเท่านั้น แต่ครูจะเปิดกว้างให้เด็กสามารถอ่านได้ตลอดทุกวิชา เช่น ขณะเรียนวิทยาศาสตร์ที่เน้นการทดลอง เด็กก็สามารถอ่านค้นคว้าความรู้เพิ่มเติมได้ ในวิชาด้านสังคมศึกษา เด็กสามารถอ่านข่าวจากสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ เท่าที่จะทำได้ และอาจไปไกลถึงการฝึกฝนจัดระบบข้อมูลจากสิ่งที่เด็กได้จากการอ่าน เป็นต้น

         ทั้งนี้ การอ่านในใจ และการได้นั่งอ่านตามลำพังเงียบๆ นับได้ว่าเป็นหัวใจของการฝึกการอ่านของเด็กตามแนวทางนี้ เนื่องจากเด็กจะสามารถอ่านได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าการอ่านออกเสียง ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการสร้างแรงจูงใจให้เด็กเกิดความสนใจในการอ่านในเวลาต่อมา

 

         สำหรับบรรยากาศในห้องเรียนนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการอ่าน เริ่มต้นจากการจัดโต๊ะเรียนที่เด็กสามารถนั่งเป็นกลุ่มเพื่อร่วมกันคิด และเล่าเรื่องราวต่างๆ ที่แต่ละคนได้อ่านมา นอกจากนี้ ครูควรจัดมุมเรียนรู้ภายในห้องอย่างหลากหลาย รวมถึงมุมห้องสมุดที่มองเห็นหนังสือวางไว้ชัดเจนและเป็นระเบียบ ที่มีหนังสือครอบคลุมความสนใจของเด็กอย่างน้อย 4 เท่าของจำนวนนักเรียนในห้อง  บริเวณนี้ควรจะมีเบาะรองนั่งหรือเก้าอี้ที่น่านั่งด้วย เพื่อจูงใจให้เด็กอยากเข้ามานั่งอ่านหนังสือ

         เมื่อบรรยากาศทางกายภาพในห้องเรียนพร้อมแล้ว ไม่จำเป็นต้องเริ่มลงมืออ่านทันที แต่ครูควรสร้างบรรยากาศที่อบอุ่นเป็นกันเองกับเด็กก่อน กระตุ้นให้เด็กพูดจาโต้ตอบกับครู ที่สำคัญคือ ครูต้องพยายามสร้างความมั่นใจในการเข้าสู่การเรียนใหม่ๆ ที่น่าตื่นเต้นกว่าเดิมที่ผ่านมา เพราะธรรมชาติของเด็กมักชอบอะไรที่แปลกใหม่อยู่เสมอ

         หลังจากนั้น ก็เริ่มต้นบทเรียนกันได้ ดังตัวอย่างต่อไปนี้ :

      • อ่านหนังสือให้เด็กฟังอย่างต่อเนื่องทุกวัน
      • ส่งเสริมให้เด็กเล่าเรื่องจากหนังสือที่เขาอ่าน หรือเรื่องที่เขารู้ ให้แก่ครูและเพื่อนๆ ฟัง
      • ให้เด็กเขียนเรื่องเกี่ยวกับ “ตัวฉัน”
      • วางหนังสือของเด็กแต่ละคนบนชั้นในมุมหนังสือ
      • อ่านโคลง กลอน และร้องเพลง
      • ช่วยกันทำกระดานข่าวประจำห้อง
      • เขียนจดหมายถึงครูและเพื่อนในชั้นเรียน และให้มีการโต้ตอบกัน
      • เปิดโอกาสให้เด็กได้นั่งอ่านเงียบๆตามลำพังในห้องเรียน ฯลฯ

         กิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ เด็กจะสามารถปฏิบัติได้ดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าครูสามารถกระทำตนเป็นตัวอย่างที่ดีในการอ่านและการเขียนแก่เด็กได้มากน้อยแค่ไหน เป็นต้นว่า ครูสามารถเล่าเรื่องจากการอ่านให้เด็กฟังได้น่าสนใจเพียงไหน อ่านบทกวี กลอน ได้ไพเราะน่าประทับใจอย่างไร ครูได้แสดงความกระตือรือร้นต่อการอ่านหนังสือ หรือการเขียนหนังสือให้เด็กเห็น และใช้ภาษาที่ดีมากน้อยแค่ไหน เหล่านี้จะส่งผลในการสร้างแรงบันดาลใจต่อเด็ก ในการที่เขาจะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่รักการอ่านหรือไม่

         นอกจากนี้ วิธีการที่ครูใช้เพื่อกระตุ้นให้เด็กรักการอ่านคือ ครูจะสะสมหนังสือที่มีคุณภาพทั้งเนื้อหาและภาษาที่ใช้ วางไว้ที่ชั้นหนังสือในห้อง เพื่อเรียกความสนใจจากเด็ก และเพื่อสร้างรสนิยมด้านภาษาเขียนที่ดีให้แก่เด็ก ที่สำคัญครูจะต้องพยายามโฆษณาหนังสือที่ดีเหล่านี้ให้เด็กรับรู้อย่างทั่วถึง และกระตุ้นให้เด็กรู้จักหนังสือที่ตนเองชอบ

         ครูควรแยกแยะให้เด็กมองเห็นความแตกต่างของหนังสือแต่ละประเภท เช่น เรื่องชีวประวัติ เรื่องลึกลับ นิยายวิทยาศาสตร์ การผจญภัย หนังสืออ่านเล่น หนังสือเกี่ยวกับสัตว์ เป็นต้น ในบางโอกาส อาจจะจัดวางหนังสือเป็นหมวดหมู่ตามคุณลักษณะต่างๆ ก็ได้ เช่น หนังสือที่กล่าวถึงความซื่อสัตย์ ความยุติธรรม ความยากจน ความกตัญญู ฯลฯ

         ในชั้นเรียน เมื่อครูปล่อยให้เด็กมีโอกาสอ่านหนังสือที่เด็กเลือกตามความสนใจโดยลำพังเงียบๆ แล้ว ครูควรนั่งอ่านหนังสือให้เด็กเห็นเช่นเดียวกัน ขณะเดียวกันครูต้องคอยหมั่นสังเกตด้วยว่า เด็กแต่ละคนให้ความสนใจในการอ่านมากน้อยเพียงไร หรือใครมีปัญหาในการอ่าน ก็ให้เข้าไปดูแลช่วยเหลือ

 

         กิจกรรมหลังการอ่านที่สามารถทำได้คือ ให้เด็กๆ ผลัดกันเล่าเรื่องราวที่ตนอ่านจากหนังสือ จากนั้นจับคู่ หรือจับกลุ่มพูดคุยถึงเรื่องหนังสือดีๆ นอกจากนี้ ครูยังอาจเชิญนักเขียนมาเยี่ยมเยียนชั้นเรียนบ้างเป็นครั้งคราว เพื่อให้เด็กได้ซักถามข้อสงสัยต่างๆ เกี่ยวกับหนังสือที่เขาอ่าน นอกจากนั้น การจัดให้เด็กโตอ่านหนังสือให้เด็กเล็กกว่าฟัง ก็เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่จะช่วยให้เด็กคุ้นเคยกับการอ่าน และรู้สึกว่าได้ทำประโยชน์ต่อผู้อื่นด้วยการอ่าน ในกรณีที่เด็กพัฒนาการอ่านไปได้ระดับหนึ่งแล้ว ครูอาจให้เด็กลองเขียนหนังสือในแบบฉบับของตนเองขึ้นมาบ้างก็ได้

         สำหรับกิจกรรมอื่นๆ นอกห้องเรียน ที่จะช่วยพัฒนาการใช้ภาษาในด้านต่างๆของเด็ก รวมถึงการอ่านด้วยนั้น สามารถทำได้อย่างหลากหลาย อาทิเช่น การไปเยี่ยมเยียนสถานที่ต่างๆ ภายนอก และนำความรู้ ความประทับใจ กลับมาเขียน และอ่านให้เพื่อนฟัง

         นิสัยรักการอ่านนั้นเกิดขึ้นควบคู่ไปกับการเขียนที่ดีด้วย เด็กๆ อาจเขียนจดหมายถึงเจ้าหน้าที่ หรือบุคคลต่างๆ ที่รับผิดชอบดูแลในระดับท้องถิ่น หรือระดับชาติ ในกรณีที่เกิดปัญหาบางอย่าง (เช่น ในเมืองไทย เด็กมักจะเขียน-หรือครูสั่งให้เขียนจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีในวันเด็ก ฯลฯ) เขียนจดหมายถึงเพื่อนที่ป่วยอยู่ในโรงพยาบาล พูดคุยหรือบันทึกเหตุการณ์บ้านเมืองทั้งในและต่างประเทศ เป็นต้น สำหรับกิจกรรมทั้งหมดที่กล่าวมาแล้วนั้น จะให้ได้ผลดีต้องทำอย่างต่อเนื่อง และสม่ำเสมอ

         ในการประเมินดูว่าเด็กมีพัฒนาการในการอ่านมากน้อยแค่ไหนนั้น สามารถสังเกตได้จากความสนใจและสมาธิ ความตั้งใจของเด็ก ตลอดจนปฏิกิริยาต่างๆ โดยเฉพาะทางด้านอารมณ์ เช่น เด็กรู้สึกขบขัน สงสาร เศร้า สนุก ฯลฯ ตามเหตุการณ์ที่ปรากฏในหนังสือไหม รวมถึงการสนทนาพูดคุยกันตัวต่อตัวระหว่างครูกับเด็ก

         จะเห็นได้ว่ากระบวนการฝึกและกระตุ้นให้เด็กกลายเป็นผู้ที่รักการอ่านตามแนวทางของ WL ดังกล่าวข้างต้น มิใช่เรื่องยากเย็นอะไรเลย แต่สิ่งที่ยากกว่านั้นคือ ทำอย่างไรจึงจะทำให้ครู (ส่วนใหญ่)หันมารักการอ่านหนังสือ (ก่อน) ต่างหาก

                        (อ้างอิงจาก...ครูสุภลัคน์)

คำสำคัญ (Tags): #รักการอ่าน
หมายเลขบันทึก: 129541เขียนเมื่อ 19 กันยายน 2007 11:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 22:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท