ไม้มงคล


ไม้มงคล

ไม้มงคลที่ใช้ในพิธีวางศิลาฤกษ์  

 

ในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือน ก่อนทำการก่อสร้างนิยมทำพิธีวางศิลาฤกษ์ โดยใช้มงคล 9 ชนิด ปักกับพื้นดิน ไม้ทั้ง 9 ชนิดมีชื่อเป็นมงคลนาม ดังนี้

1.ไม้ราชพฤกษ์ หมายถึง ความเป็นใหญ่และอำนาจวาสนา

 

2.ไม้ขนุน หมายถึง หนุนให้ดีขึ้นร่ำรวยขึ้น ทำอะไรจะมีผู้ให้การเกื้อหนุน

3.ไม้ชัยพฤกษ์ หมายถึง การมีโชคชัย ชัยชนะ

4.ไม้ทองหลาง หมายถึง มีเงินมีทอง

5.ไม้่ไผ่สีสุก หมายถึง มีความสุข

6.ไม้ทรงบาดาล หมายถึง ความมั่นคง หรือทำให้บ้านมั่นคงแข็งแรง

7.ไม้สัก หมายถึง ความมีศักดิ์ศรี ความมีเกียรติ

8.ไม้พะยูง หมายถึง การพยุงฐานะให้ดีขึ้น

 9.ไม้กันเกรา หมายถึง ป้องกันภัยอันตรายต่างๆ หรืออีกชื่อหนึ่งว่าตำเสา ซึ่งอาจหมายถึงทำให้เสาเรือนมั่นคง ไม้มงคลเหล่านี้จะลงอักขระขอมที่เรียกว่าหัวใจพระอิติปิโส ได้แก่ อะ สัง วิ สุ โ ล ปุ สะ พุ ภะ ลงบนท่อนไม้ชนิดละอักขระ พร้อมทั้งปิดทองทั้ง 9 ท่อน โดยปักวนจากซ้ายไปขวา (ทักษิณษวรรต)  

 ความสับสนเกี่ยวกับพันธุ์ไม้ราชพฤกษ์ และชัยพฤกษ์ พันธุ์ไม้ราชพฤกษ์ และชัยพฤกษ์ บางตำราว่าเป็นคนละชนิดกัน บางตำราว่าเป็นชนิดเดียวกัน ทำให้เกิดความสับสนว่าพันไม้มงคลควรจะเป็นชนิดใดกันแน่ จึงขอนำมากล่าวใว้ในที่นี้ จากหนังสือไม้ดอก ไม้ประดับ จัดทำโดยคณะอนุกรรมการจัดทำหนังสือไม้ดอกและไม้ประดับเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 5 รอบ กล่าวว่า ไม้ราชพฤกษ์ Cassia fistura Linn. ดอกสีเหลือง ชื่ออื่นๆว่าคูน ลมแล้ง ส่วนชัยพฤกษ์ Cassia javanica Linn. ดอกเมื่อเริ่มบานสีชมพู แล้วเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้ม ถึงปนน้ำตาล    

ราชพฤกษ์   ชื่อวิทยาศาสตร์ Cassia fistula Linn

วงศ์ LEGUMINOSAE ชื่อสามัญ Pudding Pine, Indian Laburnum, Golden Shower ชื่ออื่น ๆ คูน ลมแล้ง ชัยพฤกษ์ ไม้ต้น ผลัดใบ สูง 8 - 15 เมตร ใบประกอบรูปขนนกเรียงสลับ มีใบย่อย 3 - 8 คู่ แผ่นใบรูปป้อม รูปไข่ หรือรูปขอบขนาน ปลายแหลม โคนมน กว้าง 4 - 8 เซนติเมตร ยาว 7 - 15 เซนติเมตร ดอกสีเหลือง ออกเป็นช่อตามซอกใบ หรือตามกิ่ง ยาว 20 - 45 เซนติเมตร ผลเป็นฝักทรงกระบอก ยาว 20 - 60 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5 - 2.5 เซนติเมตร

นิเวศวิทยา ถิ่นกำเนิดเอเชียแถบร้อน ขึ้นตามป่าเบญจพรรณแล้งทั่วไป ออกดอก กุมภาพันธ์ - พฤษภาคม ทิ้งใบก่อนออกดอก ขยายพันธุ์ โดยเมล็ด    

 ประโยชน์ รากฝนทาแก้กลาก เป็นยาระบาย รากและแก่นเป็นยาขับพยาธิ เปลือกและไม้ใช้ฟอกหนัง และใช้บดทาผื่นตามร่างกาย เนื้อไม้สีแดงแกมเหลือง ทนทาน ใช้ทำเสา ล้อเกวียน ใบต้มกินเป็นยาระบาย ดอกแก้ไข้ ฝักเนื้อในรสหวาน เป็นยาระบาย ช่วยบรรเทาการแน่นหน้าอก แก้ขัดข้อ

ขนุน   ชื่อวิทยาศาสตร์ Artocarpus heterophy Lamk. วงศ์ MORACEAE ชื่อสามัญ Jackfruit Tree ชื่ออื่น ๆ มะหนุน หมักหมี้ หมากลาง เป็นไม้ต้น ขนาดใหญ่ สูง 15 - 30 เมตร ลำต้นและกิ่งเมื่อมีบาดแผลมียางสีขาวข้นคล้ายน้ำนมไหล ใบเป็นใบเดี่ยว ออกจากกิ่งแบบเรียงสลับ ใบเป็นมันสีเขียวเข้ม ใบหนา ด้านล่างจะสากมือ แผ่นใบรูปรี ยาว 10 - 15 เซนติเมตร กว้าง 5 - 8 เซนติเมตร ปลายใบทู่ ถึงแหลมโคนมน ดอกเป็นช่อแบบสไปด์ ดอกตัวผู้และดอกตัวเมียแยกกันคนละดอกบนต้นเดียวกัน ดอกตัวผู้เรียกว่า สา มักออกตามปลายกิ่ง ดอกตัวเมียจะออกตามกิ่งใหญ่ ตามลำต้นมียอดเกสรตัวเมียเป็นหนามแหลม ส่วนของเนื้อที่รับประทานเจริญมาจากกลีบดอก ส่วนซังคือกลีบเลี้ยง นิเวศวิทยา ถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศอินเดีย เป็นพืชเศรษฐกิจเมืองร้อนที่ให้ผลขนาดใหญ่ที่สุดสามารถบริโภคทั้งผลดิบและผลสุก นอกจากนี้ยังนำไปแปรรูปเป็นอาหารชนิดต่างๆ มีปลูกทั่วทุกภาคของประเทศไทย ออกดอก จะออกดอกปีละ 2 ครั้ง คือช่วงเดือน ธันวาคม - มกราคมและ เดือนเมษายน - พฤษภาคม ผลเป็นผลรวมมีขนาดใหญ่ ขยายพันธุ์ โดยการเพาะเมล็ด ติดตา และทาบกิ่ง ประโยชน์ ผลอ่อนใช้ปรุงอาหาร ผลสุกเยื้อหุ้มเมล็ด มีรสหวาน เมล็ดปรุงอาหาร เนื้อไม้ใช้ทำพื้นเรือน และ
สิ่งก่อสร้าง ครก สากกระเดื่อง หวี โทน รำมะนา ระนาด รากและแก่นให้สีเหลือง ถึงเหลืองอมน้ำตาล ใช้ย้อมผ้า
และแพรไหม รากนำมาปรุงเป็นยาแก้ท้องร่วง แก้ไข้ ใบเผาไฟกับซังข้าวโพดให้ดำเป็นถ่าน แล้วใส่รวมกับ
ก้นกะลามะพร้าวขูดโรยรักษาแผล

ชัยพฤกษ์     ชื่อวิทยาศาสตร์ Cassia fistula Linn วงศ์ LEGUMINOSAE ชื่อสามัญ Javanese Cassia ชื่ออื่น ๆ ราชพฤกษ์ กัลปพฤกษ์  ไม้ต้น สูงได้ถึง 15 เมตร ลำต้นสีน้ำตาล ทรงพุ่มใบกลมคล้ายร่ม เมื่อต้นอ่อนมีหนาม ใบประกอบรูปขนนกเรียงสลับ มีใบย่อย 5 - 15 คู่ แผ่นใบรูปไข่แกมรูปรี หรือรูปขอบขนาน ปลายมนโคนกลม กว้าง 1.5 – 2.5 เซนติเมตร ยาว 2.5 - 5 เซนติเมตร ใต้ใบมีขนละเอียด ดอกเริ่มบานสีชมพู แล้วเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้ม ใกล้โรยออกสีขาว ออกเป็นช่อตามกิ่ง ยาว 5 - 6 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงสีแดงเข้มหรือแดงปนน้ำตาล ดอกเส้นผ่าศูนย์กลาง 3.5 เซนติเมตร เมื่อแก่ไม่แตก มีเมล็ดเป็นจำนวนมาก นิเวศวิทยา ถิ่นกำเนิดอินโดนีเซีย ออกดอก กุมภาพันธ์ - เมษายน ขยายพันธุ์ โดยใช้เมล็ด ประโยชน์ เนื้อฝักในเป็นยาระบายอ่อน ๆ ปลูกประดับดอกสวยงาม

ทองหลาง   ชื่อวิทยาศาสตร์ Erythrina variegata Linn. วงศ์ LEGUMINOSAE ชื่อสามัญ Indian Caral Tree, Variegateed Tiger's claw ชื่ออื่น ๆ ปาริชาติ ปาริฉัตร ทองบ้าน ทองเผือก ทองหลางด่าง มังการา (ฮินดู) ไม้ต้น ผลัดใบ สูง 5 - 10 เมตร ตามกิ่งต้นอ่อน มีหนามเรือนยอดเป็นยอดเป็นพุ่มกลม โปร่ง ใบประกอบรูปขนนกมีใบย่อย 3 ใบ ใบกลางจะโตกว่า 2 ใบข้าง ดอกรูปดอกถั่วสีแดงเข้ม ออกรวมกันเป็นช่อยาวประมาณ 30 - 40 เซนติเมตร ผลเป็นฝักยาว
15 - 30 เซนติเมตร
นิเวศวิทยา พบทั่วไปในย่านเอเซียเขตร้อนและอบอุ่น ออกดอก มกราคม - กุมภาพันธ์ ขยาย โดยเมล็ด และปักชำ ประโยชน์ ปลูกเป็นไม้ประดับ   

 ไผ่สีสุก   ชื่อวิทยาศาสตร์ Bambusa blumeana Schultes วงศ์ GRAMINEAE เป็นไม้ไผ่ประเภทมีหนาม ความยาวลำต้นสูง 10 -18 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5 - 2.5 เซนติเมตร เซนติเมตร แข็ง ผิวเรียบเป็นมัน ข้อไม่พองออกมา กิ่งมากแตกตั้งฉากกับลำต้น หนามโค้งออกเป็นกลุ่ม ๆ ละ 3 อัน อันกลางยาวกว่าเพื่อน ลำมีรูเล็กเนื้อหนา ใบมีจำนวน 5 -6 ใบ ที่ปลายกิ่ง ปลายใบเรียวหนาม โคนใบเป็นลิ่มกว้างๆ หรือตัดตรง แผ่นใบกว้าง 0.8 - 2 เซนติเมตร ยาว 10 - 20 เซนติเมตร ใต้ใบมีสีเขียวอมเหลือง เส้นลายใบมี 5 - 9 คู่ ก้านใบสั้นขอบใบสากคลีบใบเล็กมีขน นิเวศวิทยา เชื่อกันว่าเป็นไม้ดั้งเดิมในหมู่เกาะอินเดียตะวันออก หรือหมู่เกาะแปซิฟิคตอนใต้ ในประเทศไทย มักขึ้นอยู่ตามที่ราบลุ่มริมห้วย แม่น้ำและมักปลูกรอบ ๆ บ้านในชนบท ขยายพันธุ์ ปักชำ  
ประโยชน์ สมัยก่อนมักปลูกไว้รอบบ้านเป็นรั้วกั้นขโมย กันลม หน่อเมื่ออยู่ใต้ดินทำอาหารได้มีรสดี เมื่อโผล่พ้นดินประมาณ 20 - 30 เซนติเมตร มักเอาไปทำหน่อไม้ดอง จะให้รสเปรี้ยว สีขาว และเก็บได้นานโดยไม่เปื่อยเหมือนหน่อ ไม้ชนิดอื่นเนื้อไม้หนาแข็งแรง ใช้สร้างบ้านในชนบท ได้ทนทาน ทำเครื่องจักสาน เครื่องใช้ในการประมง ใช้ในการทำนั่งร้านก่อสร้าง ส่วนโคนนิยมใช้ทำไม้คานหาบหามและทำกระดาษให้เนื้อเยื่อสูง  

 ทรงบาดาล   ชื่อวิทยาศาสตร์ Cassis Surattensis Burm. f. วงศ์ LEGUMINOSAE ชื่อสามัญ Kalamona, Scrambled Eggs ชื่ออื่น ๆ ขี้เหล็กหวาน ไม้พุ่มสูง 3 - 5 เมตร ใบประกอบแบบขนนก ออกดอกสลับ ใบย่อย 3 คู่ รูปไข่หรือรูปแกมไข่ขอบขนาน กว้าง 30 - 40 เซนติเมตร ยาว 2.5 - 4 เซนติเมตร ปลายแหลมโคนมน ดอกสีเหลือง ออกตามซอกใบและปลายกิ่ง กลีบเลี้ยง 5 กลีบ เมื่อบานเส้นผ่าศูนย์กลาง ยาว 2.5 - 3 เซนติเมตร ผลเป็นฝักแบน กว้าง 1 -1.5 เซนติเมตร ยาว 7 - 20 เซนติเมตร นิเวศวิทยา ถิ่นกำเนิดเอเซียเขตร้อน จาไมก้า ออกดอก ตลอดปี ขยาย เพาะเมล็ด ประโยชน์ ปลูกเป็นไม้ประดับ  

สัก  ชื่อวิทยาศาสตร์ Tectona grandis Linn.f. วงศ์ VERBENACEAE ชื่อสามัญ TEAK ชื่ออื่น ๆ เคาะเยียโอ ปายี้ เป้อยี ไม้ต้นผลัดใบ สูง 20 เมตรขึ้นไป ลำต้นเปลาตรง โคนเป็นพูพอนต่ำ ๆ เรือนยอดเป็นพุ่มทรงกลมค่อนข้างทึบ เปลือกสีเทา เรียบ หรือแตกเป็นร่องตื้นตามความยาวลำต้น เปลือกในสีเขียวอ่อน ใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ปลายแหลม โคนมน กว้าง 20 - 30 เซนติเมตร ยาว 25 - 40 เซนติเมตร ใบอ่อนจะใหญ่กว่านี้มาก ผิวใบขนสากมือ ขยี้ใบจะมีสีแดงเหมือนเลือด ดอกขนาดเล็ก สีขาวนวล ออกเป็นช่อตามปลายกิ่ง ผลแห้งค่อนข้างกลมเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร เปลือกแข็ง ภายในมี 1 - 3 เมล็ด นิเวศวิทยา ขึ้นเป็นหมู่ในป่าเบญจพรรณทางภาคเหนือ บางส่วนในภาคกลางและภาคตะวันตก มีอยู่บ้างทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ออกดอก ออกดอก และเป็นผลเดือนมิถุนายน - ตุลาคม ขยายพันธุ์ โดยเมล็ด และปักชำ ประโยชน์ เนื้อไม้มีลายสวยงามแข็งแรงทนทาน เลื่อย ผ่า ไสกบตบแต่ง และชักเงาได้ง่าย ใช้ทำเครื่องเรือนและในการก่อสร้างบ้านเรือน ปลวก มอด ไม่ชอบทำลายเพราะมีสารพวกเตคโตคริโนน

พะยูง   ชื่อวิทยาศาสตร์ Dalbergia cochincheinsis Pierre วงศ์ LEGUMINOSAE ชื่อสามัญ Siamese Redwood ชื่ออื่น ๆ ขยุง แดงจีน ประดู่เสน ไม้ต้นผลัดใบ สูง 15 - 25 เมตร เปลือกสีเทาเรียบ เรือนยอดทรงกลมหรือรูปไข่ ใบประกอบขนนก เรียงสลับ 7 - 8 ใบ ปลายสุดของช่อเป็นใบเดี่ยว กว้าง 3 - 4 เซนติเมตร ยาว 4 - 7 เซนติเมตร ปลายแหลม โคนสอบ หลังใบสีเขียวเข้ม ท้องใบสีจาง ดอกเล็กขาว กลิ่นหอมอ่อน ออกรวมกันเป็นช่อตามง่ามใบ และตามปลายกิ่ง ฝักรูปขอบขนานแบนบาง กว้าง 1.2 เซนติเมตร ยาว 4 - 6 เซนติเมตร มีเมล็ด 1 - 4 เมล็ด นิเวศวิทยา ขึ้นในป่าดิบแล้งและป่าเบญจพรรณชื้น ทั่ว ๆ ไป ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ออกออกดอก ออกดอกเดือนพฤษภาคม - กรกฎาคม ฝักแก่ กรกฎาคม - กันยายน ขยายพันธุ์ โดยเมล็ด ประโยชน์ เนื้อไม้สีแดงอมม่วง ถึงแดงเลือดหมูแก่ เนื้อ ละเอียด แข็งแรงทนทาน ขัดและชักเงาได้ดี ใช้ทำเครื่อง
เรือน เกวียน เครื่องกลึงแกะสลัก ทำเครื่องดนตรี เช่น ซอ ขลุ่ย ลูกระนาด เป็นต้น
            

  กันเกรา   ชื่อวิทยาศาสตร์ Fagraea fragrans Roxb. วงศ์ POTALIACEAE ชื่อสามัญ ชื่ออื่น ๆ มันปลา ตำเสา ทำเสา ไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 15 - 25 เมตร เปลือกสีน้ำตาลเข้ม แตกเป็นร่องลึกใบเดี่ยวออกตรงกันข้าม แผ่นใบรูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง 2.5 – 3.5 เซนติเมตร ยาว 8 - 11 เซนติเมตร ปลายแหลม โคนมน ดอกสีขาวครีม แล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลือง กลิ่นหอม ผลกลมเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6 มม. สีส้มแก่ สีแดงเลือดนก มีเมล็ดเล็ก ๆ จำนวนมาก นิเวศวิทยา ขึ้นทั่วไปในป่าเบญจพรรณชื้นและตามที่ต่ำ ที่แฉะใกล้น้ำ ทั่วทุกภาคของประเทศไทย ออกดอก เมษายน - มิถุนายน เป็นผล มิถุนายน - กรกฎาคม ขยายพันธุ์ โดยเมล็ด ประโยชน์ เนื้อไม้สีเหลืองอ่อน เสี้ยนตรง เนื้อละเอียด เหนียว แข็ง ทนทาน ใช้ในการก่อสร้าง แก่นมีรสฝาด ใช้เข้ายาบำรุงธาตุ แน่นหน้าอก เปลือกใช้บำรุงโลหิต ผิวหนังพุพอง ปลูกเป็นไม้ประดับ     

หมายเลขบันทึก: 129198เขียนเมื่อ 18 กันยายน 2007 10:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤษภาคม 2012 22:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เก่งมากค่ะ เผยแพร่งานให้ต่อเนื่องนะคะ เอาใจช่วยค่ะ เก่งมากใส่รูปด้วย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท