RBM


Results-based Management

          เข้าร่วมการจัดทำ SWOT Analysis ขององค์กรมาหลายครั้ง ส่วนใหญ่ที่ผ่านมาเราก็ทำกันแบบง่ายๆ สไตล์มืออาชีพ "มีอะไรเป็นจุดแข็งจุดอ่อนกันบ้าง...ว่ามา" จากนั้นก็ไล่เรียงจดบันทึกกันออกมาเป็นข้อๆ ยาวเหยียด จุดแข็งจุดอ่อนที่ได้จึงเป็นยำใหญ่ ข้อความที่ได้ออกมาก็เป็นการจับเอาเรื่องนี้มาผูกไว้กับเรื่องนี้ บางมุมก็บอกว่านี่เป็นข้อความแบบ "บูรณาการ" แต่งานนี้ถ้าคนอ่านไม่บูรณาการหรือมีฐานคิดที่ดีพอ เรื่องนี้ก็อาจจะกลายเป็นการสลับขาหลอกตัวเองจนมึนงง ก้าวต่อไปไม่ถูก แล้วก็กลายเป็นตกอับอยู่ในจุดอ่อนและอุปสรรคซ้ำซากยากจะถอนตัว
          เข้าร่วม SWOT Analysis ครั้งล่าสุด...บรรยากาศแปลกไปเพราะย้ายไปเข้าร่วมอีกเวทีหนึ่ง เปิดฉาก SWOT ด้วยการกำหนดกรอบว่าจะต้องมองปัจจัยภายนอก-ภายในด้วยประเด็นใดบ้าง ซึ่งก็มีกรอบ ดังนี้

ปัจจัยภายนอก : เป็นการมองถึงโอกาส (O-Opportunities) และอุปสรรค (T-Threat) โดยมองผ่านประเด็น
          1. สังคมและวัฒนธรรม (Social and Culture)
          2. เทคโนโลยี (Technology)
          3. เศรษฐกิจ (Economic)
          4. การเมืองและกฏหมาย (Politic and Law)
ปัจจัยภายใน : เป็นการมองให้เห็นถึงจุดแข็ง (S-Strength) และจุดอ่อน (W-Weakness) โดยให้มองผ่านประเด็น
          1. โครงสร้างองค์กรและนโยบาย (Structure and Policy)
          2. การบริการและผลผลิต (Servies and Products)
          3. บุคลากร (Men)
          4. งบประมาณ (Money)
          5. วัสดุอุปกรณ์ (Material and Methods)
          6. การบริหารจัดการ (Management)

          หลังจากไล่เรียงรายการทั้งหมดออกมา ก็นำมาพิจารณาให้ค่าคะแนนความสำคัญทั้งในประเด็นใหญ่และในประเด็นย่อยๆ ของแต่ละข้อเพื่อมุ่งมองหาว่าอะไรที่สำคัญมากน้อย...ก็ว่ากันไป ประเด็นย่อยในแต่ละประเด็นใหญ่ทั้ง 10 ข้อข้างต้นจะนำมาผูกเชื่อมโยงกันเข้าเป็นตาราง crosstab ของกลุ่มประเด็นที่มีใน S และ O (SO), S และ T (ST), W และ O (WO) และสุดท้ายคือ W และ T (WT) จากนั้นก็เหลือแค่การกำหนดกลยุทธ์ลงไปในแต่ละ cell ของตาราง crosstab นั้น...ไม่จำเป็นต้องทำทุกช่อง เหมือนกับที่ไม่จำเป็นต้องนำทุกประเด็นย่อยที่ได้มามาจัดทำลงในตาราง Crosstab นี้
          การเลือกประเด็นย่อยในการนำมาวางกรอบกลยุทธ์นั้น คราวนี้ใช้ค่า CV (coefficient of variation) โดยใช้ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานหารด้วยค่าเฉลี่ยและคูณเข้าด้วย 100 ทีนี้ก็เอาคะแนนที่ได้มาเปรียบเทียบดูเป็นรายข้อ ข้อไหนคะแนนน้อยสุด...แสดงว่าข้อนั้นสมาชิกค่อนข้างมีความเห็นสอดคล้องไปในทางเดียวกัน
          หลังจากร่วมกันจัดทำ SWOT Analysis ไปได้เกือบเสร็จสิ้น หัวหน้าเราก็หยิบเอกสารขึ้นมาปึกนึง แล้วบอกว่าข้อมูลหน้านี้น่าสนใจและน่าจะนำมาใช้แนะนำเพื่อนสมาชิกท่านอื่นให้ทราบว่าเรากำลังทำอะไรกันอยู่ จากนั้นท่านลูกพี่ก็ให้ช่วยเอามาทำเป็นสไลด์ power point เพื่อเอาไว้ใช้งานต่อไป
          ลากมาตั้งนานก็เพื่อจะมาถึงจุดนี้แหละครับ ท้ายสุดของกระบวนการ SWOT Analysis ที่ได้รับมอบหมายให้ทำก็คือเจ้าตัว RBM นี้แหละ
          RBM หรือชื่อเต็มๆ Results-based Management เป็นแนวทางการบริหารงานที่หลายประเภทองค์กรใช้กันมานานแล้ว ส่วนราชการเพิ่งเริ่มใช้ไม่นานนี้ หลักๆ แล้วก็คือ การทำงานแบบมุ่งเน้นผลงาน โดยมีการกำหนดตัวชี้วัดผลผลิตและผลลัพธ์ในการทำงาน ซึ่งมันก็คือบรรดาเจ้าตัว KQI (Key Quality Indicators) หรือ KPI (Key Performance Indicators) หรือตัวบ่งชี้ทั้งหลายแหล่นั่นเอง
          คำถามพื้นๆ ของ RBM ก็คือ "คุณจะทำอะไร ให้ได้เท่าไหร่" ซึ่งมันก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าจะต้องตอบคำถามว่า "ด้วยวิธีการเช่นใด" เพราะวิธีการจะสะท้อนให้เห็นถึง "ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ความคุ้ม ค่าคุ้มทุน" และการที่ใครสักคนจะสามารถเลือกอย่างเหมาะสมได้ นั่นหมายความว่าเขาจะต้อง "รู้เขา-รู้เรา" พอสมควร
          ในระหว่างที่นั่งทำสไลด์ให้ลูกพี่ใหญ่อยู่นั้น ก็ยังเผอิญไป สะดุดตากับคำว่า "ต้องอาศัยองค์ความรู้ 7Ks เป็นรากฐานสำคัญ" ก็เลยต้องขวนขวายหาว่าเจ้า 7K มันคืออะไร เพราะในชีวิตรู้จัก แต่ 3K แบตเตอรี่เท่านั้น หลังจากสนทนากับเพื่อนรัก Google ได้ซักพัก เพื่อนรักก็บอกว่า 7K ที่ว่านั้น มีการกล่าวถึงในเอกสารเผยแพร่ของสำนักงบประมาณ ซึ่งได้แก่
          1. องค์ความรู้ด้านการจัดการ
          2. องค์ความรู้ด้านการตลาด
          3. องค์ความรู้ด้านการบัญชี
          4. องค์ความรู้ด้านการเงิน
          5. องค์ความรู้ด้านการผลิต
          6. องค์ความรู้ด้านการทรัพยากรมนุษย์
          7. องค์ความรู้ด้านสภาพแวดล้อมทางการบริหาร
          นอกจากนั้น ในไฟล์และข้อมูลที่ค้นได้ยังมีศัพท์แสงเทคนิคซึ่งเป็น Key word แฝงอยู่อีกเพียบ ซึ่งก็ลองตามลิงคที่แนบไว้ไปศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมกันได้ต่อไป

คำสำคัญ (Tags): #rbm#7ks#swot analysis
หมายเลขบันทึก: 128954เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2007 13:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 20:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท