กลยุทธ์การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาองค์การ


สรรพสิ่งย่อมเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป มีขึ้น ย่อมมีลง ทุกสิ่งย่อมเปลี่ยนแปลง ไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน

ข้อมูลที่จะนำมาแลกเปลี่ยน เล่าสู่กันฟังในวันนี้  เพื่อให้ผู้อ่านได้แง่คิด ต่อการจัดการบริหารองค์การตามแนวทางของธุรกิจ ซึ่งพอที่จะเชื่อมโยง  กับเหตุการณ์ในปัจจุบันได้เป็นอย่างดีกับคำกล่าวที่ว่า สรรพสิ่งย่อมเกิดขึ้น  ตั้งอยู่  และดับไป   มีขึ้น ย่อมมีลง   ทุกสิ่งย่อมเปลี่ยนแปลง  ไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน    คำกล่าวเหล่านี้คงคุ้นหูของทุกคน  บอกให้เรารู้ว่า ในการดำเนินชีวิตของเรา  เราต้องมีความพร้อม ตื่นตัว และดำรงตนอยู่ในความไม่ประมาท และพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นในภายภาคหน้า  องค์การก็เช่นเดียวกัน มีวัฏจักร คล้ายคลึงกับวงจรชีวิต ที่มีการเกิด  เติบโต ป่วย และถดถอย เช่นกัน                 

ทำไมต้องมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา  เพื่อให้องค์การสามารถต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของตนเองในวิถีของการแข่งขัน  จึงได้มีผู้รู้ที่ให้แนวคิดที่จะช่วยให้องค์การเตรียมตัวและปรับไปสู่การเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน  สามารถแข่งขันและดำรงอยู่ในโลกได้อย่างมั่นคง  ซึ่งเป็นแนวคิดในทางธุรกิจ   นิยมใช้คำว่า กลยุทธ์ ซึ่งหมายถึง กรอบแนวคิด และแนวปรัชญา ของการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาองค์การ ซึ่งสมาชิกทุกคนในองค์การ ต้องมีความเข้าใจในกรอบแนวคิดนี้ก่อนจะนำไปสู่ภาคปฏิบัติ ให้เหมาะสมกับองค์การของตนเอง               

สิ่งที่บ่งบอกว่าองค์การต้องมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปข้างหน้า  คือสภาพปัจจัยแวดล้อมขององค์การทั้งภายใน และภายนอก  อาทิเช่น กระบวนการโลกาภิวัฒน์ การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ การตลาด แรงงาน  ผลการดำเนินงานขององค์การ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาของเทคโนโลยีที่เป็นสาเหตุสำคัญ   ผลักดันให้องค์การต้องแสวงหาและพัฒนาประสิทธิภาพของตนเองให้มากขึ้น  ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านอื่นๆตามมา   การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ต้องอยู่บนพื้นฐานของ การมีจุดหมายที่แน่ชัด  เพื่อแก้ไขปัญหาในองค์การ  หรือพัฒนาองค์การให้เจริญรุดหน้า โดยอาศัย การวิเคราะห์ การจัดการ เทคนิคด้านสังคมวิทยา  พฤติกรรมศาสตร์ และมนุษยสัมพันธ์ เข้ามาช่วยเหลืออย่างมีแบบแผน และหลักเกณฑ์  เพื่อค้นหาและเลือกแนวทางที่เหมาะสมกับองค์การของตนเอง  ซึ่งมีกรอบแนวคิดไว้ดังนี้                  

การพัฒนาองค์การ เป็นทฤษฎีที่อาศัยหลักทางพฤติกรรมศาสตร์ สร้างความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับค่านิยมและพฤติกรรมของสมาชิกในองค์การ โดยเน้น 3 ด้านคือ เพิ่มความสามารถในการทำงาน  ให้ความสำคัญกับการพัฒนาสมาชิก และให้ความสำคัญกับการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันของสมาชิกในองค์การ  โดยมีขั้นตอนในการดำเนินการ 4 ขั้นตอน คือ

1.การวินิจฉัยองค์การ  คือ  การศึกษา ทำความเข้าใจ และอธิบายถึงสภาพ หรือสถานการณ์ในปัจจุบันขององค์การ  เพื่อให้สมาชิกในองค์การได้เห็นสิ่งที่เป็นจริง ตระหนักถึงปัญหาที่องค์การประสบอยู่  หรือมองเห็นโอกาสในการพัฒนาองค์การ เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางในการแก้ไขหรือพัฒนาได้อย่างตรงเป้าหมาย ผ่านกระบวนการทำงานแบบเป็นทีม

2.  กำหนดกลยุทธ์ และวางแผนพัฒนาองค์การ   เป็นการนำข้อมูลจาการวินิจฉัยองค์การ มากำหนดเป็นแผนพัฒนาองค์การ เลือกเทคนิคและระดับในการพัฒนา ร่างแผนการปฏิบัติงาน เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุผลตามเป้าหมาย ซึ่งต้องเป็นไปอย่างมีระบบ และสามารถเชื่อมโยงให้เข้ากับภาพรวมและกลยุทธ์ที่กำหนดไว้อย่างเป็นรูปธรรม

3.การดำเนินงานพัฒนาองค์การ   เป็นการนำแผนการพัฒนาไปปฏิบัติ โดยกำหนดกิจกรรม ตารางเวลา ผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน และต้องสามารถแก้ไขปัญหาเฉที่เกิดขึ้นในขณะดำเนินงานได้เฉพาะหน้า

4.การประเมินการพัฒนาองค์การ   คือการติดตาม  ตรวจสอบและประเมินผลการพัฒนาตามแผนงานว่าสอดคล้องกับเป้าหมาย เกณฑ์ มาตรฐานที่วางไว้ในระดับใด และต้องปรับแก้ไขอย่างไรต่อไป เพื่อให้บรรลุผลตามที่ต้องการ

สี่ขั้นตอนนี้คือกรอบแนวคิดหลักของการพัฒนาองค์การ ซึ่งจะช่วยให้สมาชิกในองค์การสามารถปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายด้วยความเข้าใจในภาพปัจจุบัน และสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่สร้างสรรค์ และเป็นประโยชน์ต่อองค์การ ซึ่งจะส่งผลให้องค์การสามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล สามารถเพิ่มมูลค่าให้องค์การ  และเป็นการพัฒนาอย่างต่อเนื่องยั่งยืน

หากเราจะเอาแนวคิดข้างต้นไปเชื่อมโยงกับการใช้ภาษาแล้ว จะเห็นว่า ในทุกขั้นตอนของการพัฒนาองค์การ  จะต้องมีการใช้วาทกรรม เข้าไปมีส่วนร่วมตลอด ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก  เพราะวาทกรรมในรูปแบบต่างๆ  จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างความเข้าใจในกระบวนการพัฒนาองค์การ ทำให้สมาชิกเห็นความสำคัญและให้ความร่วมมือในกระบวนการต่างๆอย่างเต็มที่  อันเป็นจุดสำคัญยิ่งที่จะทำให้กระบวนการพัฒนาองค์การ   เป็นไปตามที่มุ่งหวังไว้

หมายเลขบันทึก: 128181เขียนเมื่อ 14 กันยายน 2007 20:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 22:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท