ชวนไปดูครูหลอกเด็ก


เด็กบางคนที่ยังไม่นึกอยากอ่านหนังสือก็ขอให้นึกอยากเข้าห้องสมุดเสียก่อน

<p>
               ผมจบเกษตรฯ มาสอนวิทย์ฯ กับพละ ขออาสาทำงานห้องสมุด เพราะใจผมชอบครับ เป็นคำบอกเล่าของ อ.ลิขิต วริกูล คุณครูบรรณารักษ์ของโรงเรียนพลับพลาไชย ในวันที่เราได้มีโอกาสพาคณะกรรมการจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่มาประเมินสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุพรรณบุรี เขต 2 ในเรื่องการส่งเสริม สนับสนุนกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่านยอดเยี่ยม ของปี 2550 เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา

                             

               จากการพูดคุยกับคุณครูลิขิต และผอ.ธีรจิต พัฒนกิตติเวทย์ ผู้อำนวยการโรงเรียน หรือที่พวกเราเรียกติดปากว่า
ป้าอ้วน ได้เล่าให้ฟังว่า แต่แรกโรงเรียนใช้อาคารเรียนชั้นล่างห้องเรียนเดียวจัดเป็นห้องสมุด ซึ่งสถานที่ไม่พอเพียงสำหรับนักเรียนชั้นอนุบาล-ชั้น ม.3
ป้าอ้วนเห็นไม่ได้การ จึงขยายใช้ห้องเรียนอีกห้องหนึ่งทางด้านขวาทุบทะลุถึงกันขยายเป็นสองห้อง มาช่วงหลังเด็กสนใจเข้าห้องสมุดกันมาก ป้าแกจึงต้องทุบผนังอีกห้องทางด้านขวาขยายเป็นสามห้องให้กับเด็ก ๆ

                ดิฉันสังเกตเห็นว่าทั้งครูลิขิตและป้าอ้วน ที่ต่างผลัดกันเล่าให้เราฟังนั้นพูดไปยิ้มไปด้วยประกายตาที่มีความสุข ถือเป็นเรื่องเล่าเร้าพลังได้ดีทีเดียว หากผู้บริหารหรือคุณครูโรงเรียนใดที่กำลังจะทำห้องสมุดให้มีชีวิตลองหันมาฟังทางนี้ดูสักนิดนะคะ

                ป้าอ้วนแกว่าในปีแรก ๆ แกก็ใช้งบประมาณของโรงเรียนจัดซื้อหนังสือเข้าห้องสมุดให้กับนักเรียน โดยไปเลือกซื้อที่ศึกษาภัณฑ์ เปอร์เซ็นต์หนังสือที่ได้ก็ม้วนกลับไปซื้อหนังสือได้อีก ทำอย่างนี้จนหมดหยดเงิน ไปกันก็หลายรอบแต่ละรอบก็เป็นวัน ๆ กว่าเขาจะจัดการให้เสร็จ ไปแต่ละครั้งป้าก็จัดการควักกระเป๋าตัวเองพาครูไปนั่งกินลาบ-ส้มตำรออยู่แถวศึกษาภัณฑ์ จนครูเกรงใจป้าแก ช่วงหลัง ๆ ครูก็ห่อข้าวเหนียวหมูพกไปนั่งกินแทนช่วยประหยัดเงิน

                 เข้ากรุงเทพฯ แต่ละทีก็ยากเย็น ได้หนังสือกลับมาบางเล่มครูก็ว่าดีแล้ว ไหงนักเรียนไม่หยิบอ่าน คุณครูลิขิตก็เลยลองไปติดต่อร้านหนังสือในจังหวัดให้เขานำตัวอย่างหนังสือมาให้นักเรียนเลือก มีร้านหนังสือใจดีชื่อ
ดราก้อนบุ๊คส์
ตกปากรับคำจัดให้

                 คราวนี้เข้าท่า พอมีหนังสือมาวางแบอยู่ตรงหน้าเป็นทิวแถว ทั้งเด็กเล็กเด็กโตก็พามากันมาเลือกหนังสือที่พวกเขาอยากอ่านกันอย่างสนุกสนานและเต็มไปด้วยความหวังที่จะได้อ่านหนังสือเล่มนั้นในห้องสมุด โดยไม่รู้ว่าเล่มไหนจะถูกจะแพง เลือกเสร็จคุณครูก็ให้กลับเข้าห้องเรียน พอร้านคิดเงินทีไรเป็นอันเกินงบทุกครั้ง เกินไปไม่มากไม่มายครูลิขิตกับเพื่อน ๆ ก็จะช่วยกันลงขันสมทบไป แต่ถ้ามากนักครูก็ต้องลักชักออกบ้างเมื่อเด็กคล้อยหลังไปแล้ว

                 ต่อมาป้าอ้วนกับบรรดาคุณครูก็ช่วยกันหางบประมาณมาเพิ่ม โดยไปติดต่อขอจากหน่วยงานข้างนอกมาบ้าง เห็นครูลิขิตว่าอีซูซุเขาก็ให้มาบ่อย เจ้าของร้านหนังสือไม่ต้องพูดถึงแถมให้เป็นประจำ แล้วก็ยังมีเงินที่มาจากการที่ครูช่วยกันขายน้ำผลไม้ ขนมไทย ๆ ให้กับเด็ก ๆ ในโครงการอาหารกลางวันนำมาสมทบช่วยกัน

                 ตรงนี้ดีทีเดียวเพราะโรงเรียนจะไม่ขายน้ำอัดลม ขนมกรุบกรอบ แล้วจะบอกว่าให้เด็ก ๆ ช่วยกันกินขนมกับน้ำที่มีประโยชน์นี่ดีกว่า เงินที่ได้มาก็จะได้ไปช่วยซื้อหนังสือมาอ่านกันด้วย แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไปจำกัดจำเกี่ยกับเด็กทุกคนได้ ใครไม่มีสตางค์คุณครูก็ให้กินโดยไม่ต้องจ่ายก็มี เด็กเขาก็ช่วยกันซื้อ เพราะเขาอยากอ่านหนังสือที่ถูกคัดออกนั่นเอง

              ได้หนังสือมาแล้ว ก็ถึงตาคุณครูลิขิตคิดกิจกรรมต่าง ๆ ขึ้นมาล่อใจเด็ก ๆ ให้เข้าห้องสมุดและรักการอ่าน เริ่มจากจัดบรรยากาศของห้องก่อนให้น่าเข้าน่านั่ง มีสวนหย่อมนิด ๆ หน่อย ๆ ไว้คอยท่า หาปลาใส่โถไว้โชว์เด็ก ๆ ติดพัดลมแล้วเปิดไว้เย็น ๆ ให้เขา ครูผู้หญิงหลายคนก็เข้ามาช่วยแต่งนิดเติมหน่อยจนห้องสวยงาม ครูลิขิตบอกว่าเริ่มแรกเด็กบางคนที่ยังไม่นึกอยากอ่านหนังสือก็ขอให้นึกอยากเข้าห้องสมุดเสียก่อน

        

             
แล้วก็เริ่มทำกิจกรรมตามตาราง บางกิจกรรมทำทุกวัน คือ ค้นคว้าอินเตอร์เน็ต ห้องสมุดเคลื่อนที่ บริการประชาชน และศึกษาจากวีซีดี บางกิจกรรมทำทุกสัปดาห์ คือตอบปัญหาสารานุกรม กับนักเรียนบันทึกการอ่าน บางกิจกรรมถึงวันสำคัญค่อยทำ ก็จะเป็นการประกวดวาดภาพ สิ้นปีการศึกษาก็มี ประกวดยอดนักอ่าน

               อีกกิจกรรมหนึ่งที่ได้รับความนิยมมากคือละครโรงเล็ก ที่จัดขึ้นทุกวันศุกร์สัปดาห์สุดท้ายของเดือน ที่ต้องช้าหน่อยเพราะครูบอกว่าต้องซ้อมก่อน ถ้าเล่าแล้วเฝือ ไม่มีชีวิตชีวาเร้าใจ เด็ก ๆ ก็จะเบื่อ...เบื่อแล้วก็เบื่อเลย ที่จะดีเลยกลายเป็นไม่ดีไป กิจกรรมนี้จะมีนักเล่านิทานผลัดเปลี่ยนหน้ากันมาไม่ซ้ำ โดยแรก ๆ ครูจะขออาสาจากพี่โต ๆ ไปอ่านหนังสือคนละ
5
เล่ม ใครอาสาก็ได้รับรางวัลจากครู รางวัลก็ไม่ธรรมดาเพราะครูลิขิตเขาไปตะเวนหาแปลก ๆ มาจากตลาดนัดทั้งหลาย เพื่อจูงใจเด็ก                              

                พี่อ่านแล้วก็มาเล่าให้น้อง ๆ ฟัง ช่วงหลังน้อง ๆ เองก็อยากจะแสดงฝีมือบ้าง ขออาสาอ่านกันใหญ่ ล่าสุดมีนักเล่านิทานคนหนึ่งที่ทำให้คุณครูลิขิตต๊กกะใจ
!
เพราะเป็นน้องอนุบาลเอง ยังอ่านหนังสือไม่ค่อยออกเลย ใช้วิธีจำจากที่คุณครูเล่าให้ฟังมาเล่าต่อ เล่าไม่เล่าเปล่ามีท่าทางประกอบในตัวด้วย พี่ ๆ ฮากันกลิ้ง เป็นขวัญใจของทุกคนในโรงเรียนไปแล้ว

                             

               วันนั้นเขาก็มาเล่าให้เราฟังด้วย พวกเราศึกษานิเทศก์ฟังครั้งไหนก็ยังขำไปกับเขาทุกครั้งไป คณะชอบใจใหญ่ให้ขนมกับสตางค์เป็นของรางวัล พ่อตัวดีเธอรับแต่สตางค์ค่ะ ขนมไม่ยอมเอาซะด้วย เป็นขำกันอีกรอบ นี่ถ้าอ่านหนังสือเองได้แล้วคงจะพัฒนาการเล่าเรื่องโน้นเรื่องนี้ไปได้อีกไกล ดิฉันเจอนักเล่าคู่แข่งเข้าให้แล้วนะคะงานนี้..

               ห้องสมุดของที่นี่ คุณครูออกปากว่าอาจจะแปลกไปจากที่อื่นที่คนเข้ามาใช้บริการจะต้องเงียบ ไม่รบกวนสมาธิกัน ถ้าเป็นเด็กโต ๆ มัธยมฯ คุณครูที่พามาจะช่วยฝึกให้ แต่เด็กเล็ก ๆ ไม่ได้ ต้องปล่อยให้เขาส่งเสียงชี้ชวนกันดูภาพ ดูหนังสือ ดูปลา ครูก็ไม่ว่า แล้วเด็กเล็ก ๆ บางคนยังอ่านหนังสือในใจไม่เป็น ได้แต่อ่านออกเสียง ก็ต้องให้ออกเสียงกันไป

               ที่นี่เวลาอยากจะยืมหนังสือก็มีระบบการยืม-คืนบริการให้ เขาใช้โปรแกรม
PLS3 ได้มาจากโรงเรียนพวกกันที่โพธาราม จ.ราชบุรี ตอนนี้ใช้บัตรเติมเงินแบบพลาสติกที่เขามีเลขหกหลัก เป็นรหัสประจำตัวของผู้ใช้บริการ เด็ก ๆ ชอบมาก คุณครูจะไปหาประเภทที่เป็นลายการ์ตูนน่ารัก ๆ ภาพสวย ๆ มาให้ ยืมได้คนละ 5
เล่ม เรื่องการเสียค่าปรับเพราะส่งคืนช้า คุณครูบอกว่าไม่เคยปรับเลยสักคน บางคนที่ทำหายคุณครูก็จะให้ค้นหาให้เจอในที่สุด เพราะเห็นเด็ก ๆ ไม่ค่อยมีสตางค์ก็ปรับไม่ลง

         

               เห็นใช้บริการกันเยอะ ๆ แบบนี้ ใช่ว่าคุณครูจะรับมือไหว จะมีพี่ ๆ มัธยมฯ มาคอยช่วย เรื่องบริการยืมคืน จัดหนังสือเข้าชั้น ดูแลความเรียบร้อยทั้งหลาย เพราะโรงเรียนนี้ไม่มีภารโรงครูกับเด็กต้องช่วยกันคนละไม้ละมือ ไม่เว้นแม้แต่ป้าอ้วนของเรา เคยไปโรงเรียนแกบางครั้งยังเห็นถือตะหลิวทำอาหารให้เด็ก บางครั้งถือแปรงกำลังช่วยเด็กขัดห้องน้ำก็มี นี่แหละถึงทำให้พวกเรารักแกจัง

               เพราะผู้บริหารที่มีชีวิตชีวา คุณครูที่มีชีวิตชีวา จึงพลอยให้เด็ก ๆ มีชีวิตชีวาไปด้วย อย่างนี้ก็ไม่ยากที่จะสร้างให้ห้องสมุดมีชีวิตค่ะ... คุณผู้อ่านท่านใดสนใจต่อเติมฝันของเด็ก ๆ ช่วยกันทำให้ห้องสมุดมีชีวิตมากขึ้น ช่วยสมทบทุนจัดหาเครื่องอ่านบาร์โค๊ดให้กับเด็ก ๆ ที่นี่ หรืออยากจะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน อยากจะมอบหนังสือให้ ติดต่อได้เลยที่ ผอ.ธีรจิต พัฒนกิตติเวทย์ โรงเรียนพลับพลาไชย ต.พลับพลาไชย อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี หมายเลขโทรศัพท์
0-3543-7284 หรือ 08-1736-7639 ต่อสายตรงถึงป้าอ้วนแกได้เลยค่ะ...

</p>

หมายเลขบันทึก: 127830เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2007 19:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (17)
  • เป็นห้องสมุดที่มีชีวิตมากครับ
  • ลืมบอกพี่กุ้งไปน้องเคยเป็นครูห้องสมุดเหมือนกัน
  • เลยอ่านทุกอย่างในห้องสมุด
  • สนุกดี
  • ได้ความรู้ด้วย
  • ชอบห้องสมุดแบบนี้
  • จัดหนังสือเป็นระเบียบเรียบร้อย
  • ขอบคุณครับ
ขออนุญาตนำไปเล่าให้ครูที่ดูแลห้องสมุดโรงเรียนฟังบ้าง เพราะตอนนี้ที่โรงเรียนก็กำลังสร้างความรักในการอ่านให้เด็กๆ เรื่องเล่านี้คงจะช่วยเร้าพลังของพี่เค้าได้มากทีเดียว

ช่วยกันคนละมืออย่างนี้ http://gotoknow.org/blog/nongji/124697?page=1

 มีหรือที่เด็กสุพรรณฯ จะไม่เก่ง ?

ศุ บุญเลี้ยง เคยมาเป็นวิทยากรให้กับร้าน พิค เอ็น' เพย์ เขาบอกว่า "แม้ว่าสถานที่จะดีเพียงไร มีแอร์เย็นฉ่ำ มีหนังสือมากมาย แต่ถ้าไม่มี "บรรยากาศ" ก็ไร้ประโยชน์"

"บรรยากาศ" ในที่นี้ คือสภาพแวดล้อมที่จูงใจให้เด็กเข้ามาใช้ห้องสมุด เอื้อต่อการให้เด็กได้มาหยิบจับหนังสือ บางโรงเรียนใช้อาจารย์สาม(หาว)มาเป็นบรรณารักษ์ เด็ก ๆ ไม่มีใครอยากเข้าห้องสมุด เด็กบอกว่ายักษ์วัดโพธิ์ยังน่ารักกว่าอีก บางโรงเรียนจัดไว้อย่างดี แต่ขอโทษ ใส่กุญแจไว้ ไม่ให้ใช้ เอาไว้ "โชว์" เวลาคนมาตรวจโรงเรียน

เห็นที่โรงเรียนพลับพลาไชยแล้ว อยากกลับไปเรียนอีกจังเลย ! - เก่งจริง ๆ

  • ขอบคุณคุณน้องขจิต ฝอยทอง
  • ไม่บอกก็พอจะรู้ว่าเป็นหนอนหนังสือมาก่อน เพราะอ.แอ๊ดเป็นคนเก่ง และมีความรู้มาก
  • แต่เซอร์ไพรส์เล็ก ๆ ที่บอกว่าเป็นครูห้องสมุดมาก่อน เพราะน้อยมากที่ครูผู้ชายจะรับงานห้องสมุด เหมือนอย่างกับครูลิขิตนี่แหละค่ะ
  • ที่นี่เวลาอ่านหนังสือเสร็จ จะไม่ให้เด็ก ๆ เก็บขึ้นชั้นเอง วางกองไว้ เดี๋ยวพี่ ๆ ผู้ช่วยบรรณารักษ์ที่เป็นนักเรียนมัธยมฯ จะมาช่วยจัดเรียงขึ้นชั้น
  • ตอนนี้ยังจัดหนังสือเป็นกลุ่มสาระ มีแถบสีติดข้างสันหนังสือ ต่อไปจะค่อย ๆ ทำเป็นเลขหมู่ในระบบดิวอี้ค่ะ เด็กมัธยมฯ จะได้คุ้นเคย เวลาไปใช้ห้องสมุดใหญ่ ๆ จะได้ค้นเป็น
  • สังเกตว่า โรงเรียนไหนไม่มีภารโรง ส่วนใหญ่จะสะอาดและเป็นระเบียบ ที่นี่ก็เหมือนกันค่ะ
  • ขอบคุณสำหรับการแลกเปลี่ยน และกำลังใจที่มอบให้กันเสมอมาค่ะ
  • ขอบคุณคุณครูคนสวย น้องก้อยนางสาว รายา ปัญจมานนท์
  • กิจกรรมห้องสมุดที่น่าสนใจมีอีกเยอะค่ะ บางกิจกรรมทำได้ต่อเนื่อง บางกิจกรรมต้องผลัดเปลี่ยนเวียนกัน เด็ก ๆ จะได้ไม่เบื่อ
  • แต่ที่แน่ ๆ คุณครูบรรณารักษ์ต้องทำหน้าที่อย่างหนัก ไม่เหมือนบางงานที่ทำแล้วจบ เพราะงานห้องสมุดเป็นงานไม่จบสิ้น
  • แต่ถ้ามีใจรัก งานจะสำเร็จไม่ยาก ทำได้สำเร็จช่วยเด็ก ๆ เราได้เยอะค่ะ พอเด็กอ่านมากก็เรียนรู้ได้มาก เขาเรียกว่ามีความคิดความอ่านดีขึ้น
  • ช่วย ๆ กันนะคะเพื่อลูกศิษย์ของเราค่ะ พี่เป็นกำลังใจให้นะคะ
  • ขอบคุณ "pick n' pay"
  • ห้องสมุดในแบบที่คุณครูหวงหนังสือนั้น เคยได้ยินค่ะ แต่เดี๋ยวนี้น่าจะน้อยลงแล้ว เพราะกระแสการปลุกให้รักการอ่านแรงขึ้น ผู้บริหารและคุณครูเราปรับตัวกันเยอะแล้ว
  • ไปหลายโรงเรียนยังไม่เห็นมีล็อคตู้ไว้ ทั้งที่ไปไม่บอก ครูห้องสมุดก็น่ารัก ส่วนใหญ่ผู้บริหารก็จะเลือกคุณครูที่มีบุคลิกลักษณะที่เหมาะสมให้มาทำหน้าที่นี้ค่ะ ครูบรรณารักษ์งานหนัก บางคนยังมีหน้าที่อื่นรับผิดชอบด้วย ต้องให้กำลังใจเขาเยอะ ๆ ค่ะ
  • และมีที่ว่าหลายโรงเรียนนั้นยังมีหนังสือให้นักเรียนค้นคว้าน้อยอยู่ และบรรยากาศยังไม่เอื้อเท่าที่ควร ก็ด้วยปัจจัยหลายอย่าง ค่อย ๆ พัฒนากันไปค่ะ

ผมกำลังจะจัดอบรมห้องสมุดมีชีวิตพอดีในวันที่20 นี้ ขออนุญาตนำไปขยายหน่อยนะครับ

   เจอกันที่พิษณุโลก นะครับ งานรวม KM

  • ขอบคุณครูเก่า  พี่ศน.วิทยา
  • ที่จะช่วยนำเรื่องดี ๆ ไปขยายผล ห้องสมุดมีชีวิตทางลำพูนเป็นอย่างไรบ้าง นำมาแลกเปลี่ยนกันบ้างนะ
  • ตอนนี้กำลังเป็นกลุ้ม มีงานชนกับKM พิษณุโลก ไม่รู้เป็นไง มักจะชวดฉลูขาลเถาะ อยู่เป็นประจำ เวลาจะได้มีโอกาสไปพบเจอชาวKM ด้วยกันแบบนี้
  • ตอนนี้กำลังหาหนทางจะไปให้ได้อยู่ค่ะ อยากเจอพี่ที่งานด้วยเช่นกัน

ได้ทราบจากหัวหน้ากลุ่มสาระภาษาไทย ที่โรงเรียนธรรมโชติ ฯ ว่า กำลังทำโครงการ "ย่ามปัญญา" ด้วยการคัดหนังสือที่เห็นว่าเยาวชนควรอ่าน ใส่เป็นย่ามไว้ประมาณ ๒๐ ย่าม ๆ ละ ๑๐ เล่ม แล้วให้นักเรียนนำกลับไปบ้าน ไปอ่านนานเท่าใดก็ได้(ประมาณ ๑ เทอม) ทั้งนี้จะมีหนังสือให้ผู้ปกครองอ่านได้ด้วย

 

หากโครงการประสบความสำเร็จ ก็จะเพิ่มจำนวนย่ามขึ้นไปเรื่อย ๆ

 ไปเห็นมา จึงบอกต่อ

 

  • ขอบคุณ  pick n' pay
  • ที่ช่วยนำกิจกรรมดี ๆ ในการส่งเสริมการอ่านให้กับเด็ก ๆ มาบอกต่อกันเช่นนี้
  • ทราบว่าที่หอสมุดแห่งชาติจังหวัดสุพรรณบุรี เขาจัดกิจกรรม "ย่ามปัญญา" นี้ให้กับโรงเรียนต่าง ๆ ในจังหวัดสุพรรณบุรีอยู่เป็นประจำทุกปีด้วยเช่นกัน โดยจะมอบ "ย่ามปัญญา" นี้ให้กับโรงเรียนไปเลย
  • ขอบคุณผู้ใหญ่ใจดีทุกท่านค่ะ

    พอมาเปิดดู  gotoknow  ทำให้คิดถึงอาจารย์พี่เลี้ยง ปวีณา ธิติวรนันท์ จังเลย  ช่างเป็นคนน่ารัก และขยันที่จะเสนอสิ่งดีๆอยู่ตลอดเวลา  ผมยังจำวันที่เป็นพี่เลี่ยงกลุ่ม KM ที่ แอมบาสเดอร์  พัทยา ได้ดี....  อาจารย์คอยแนะนำเพิ่มเติมด้วยไมตรีและรอยยิ้ม  ยังนึกอยู่ว่า สพฐ.ช่างหาคนที่เหมาะกับการขยาย KM  ได้อย่างเหมาะสมเหลือเกิน 

   พอดีผมมีกลอนที่เขียนไว้เกี่ยวกับ ห้องสมุดมีชีวิต  ก็เลยขอนำมาเผยแพร่ เผื่อว่า อาจารย์จะได้นึกถึงผมขึ้นมาได้บ้าง

อะไรหรือ  คือห้องสมุด  มีชีวิต
โรงเรียนเล็ก  มีสิทธิ์  คิดได้ไหม
เด็กแค่ร้อย  ครูน้อยสอง  ห้องแคบไป
ทำอย่างไร  ถึงจะทำ  ได้ตามเกณฑ์
     มาลองดู  เป็นครูไทย  ทำได้หมด
เริ่มกำหนด  วิสัยทัศน์  ให้ชัดเด่น
คำสั่งตั้ง  กรรมการห้อง  ต้องชัดเจน
โครงการเน้น  นโยบาย  ได้ครบครัน
     มีปฏิทิน  ทำงาน  ที่สานหวัง
มีแผนผัง  ทั้ง 5   ดูสร้างสรรค์  
อีกคู่มือ  ปฏิบัติ  ไม่ขัดกัน
ส่งครูบรรณ-  รักษ์เจ้า  เข้าอบรม
     ทำแผ่นพับ  ทุกภาคเรียน  เวียนให้รู้ (อย่างน้อยภาคเรียนละ 1 ครั้ง)
เปิดให้ผู้-  ใช้ร่วม  รวมคิดบ่ม
ทรัพยากร  ซื้อหา  ให้อุดม
พร้อมสะสม  บันทึก  ลงทะเบียน
     มีเครื่องมือ  ช่วยค้น  ในรูปบัตรฯ
ข้อมูลชัด  พร้อมบริการ  แม้กาลเปลี่ยน
ซ่อมรักษา  บำรุงใช้  ได้หมุนเวียน
อย่าลืมเขียน  คู่มือใช้  ให้ทุกคน
     เปิดบริการ  ตลอดเวลา  ทำการสอน
ใช้คอมฯป้อน  ข้อมูล  และสืบค้น
ปฐมนิเทศ  อบรมให้  ใช้เวียนวน
กิจกรรมล้น  รักการอ่าน  และการเรียน
     มุมความรู้  ดูดี  มีเสน่ห์
แผงสถิติ  สุดเท่ห์  อย่าลืมเขียน
ประเมินความ-  พอใจ  ผู้ใช้เรียน (อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง)
รายงานเขียน  ภาคละครั้ง  ก็ยังดี (อย่างน้อยภาคเรียนละ 1 ครั้ง)
     พอจะไหว  ไหมหนอ.....ขอลองคิด
ห้องสมุด  มีชีวิต  คิดถ้วนถี่
ดูๆไป  เกณฑ์ที่ตั้ง  .....เราก็มี
จัดระบบ  ให้ดี  โธ่....นี่ไง 
            'จินต์  ศรีสรวล  30  พฤษภาคม  2549
 
แวะมาเยี่ยมชมกิจกรรมต่างๆใช้ได้เลยครับ
  • คิดๆๆๆถึงๆๆๆๆ
  • พี่กุ้งหายไปนานมากๆๆ
  • คิดถึงๆๆๆๆ
  • ขอบคุณ Mr. สุจินต์ จินต์ ศรีสรวล  มือศิลป์ของกลุ่ม...ยังจำกันได้ค่ะ
  • นอกจากจะมีฝีมือวาด ๆ เขียน ๆ ยังมีฝีมือในการแต่งกลอนด้วยนะคะเนี่ย
  • ขอบคุณสำหรับการต่อยอดค่ะ
  • ขอบคุณ  P  แห่งอุตรดิตถ์
  • ขอบคุณสำหรับการเปิดโอกาสให้ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันค่ะ
  • ขอบคุณคุณแอ๊ด น้องชายนายขจิต P
  • พี่กำลังจะ return เร็ว ๆ นี้ค่ะ
  • กำลังมองหาทางเข้าบ้านอยู่จ้ะ...หยักไย่ไยแมงมุม ... เพียบเลย....
  • ขอบคุณสำหรับกำลังใจและความคิดถึงค่ะ

ยอดจริงๆ เลย

ฝากขอบคุณป้าอ้วน ครีเอทีฟ ไอเดียจริงๆ

ขอบคุณ อาจารย์ทีเล่าได้เห็นภาพ มีเคลื่อนไหว และมีชีวิต

ดีใจแทนเด็กๆ และอยากให้มีห้องสมุด และคุณครูแบบนี้เยอะๆ ค่ะ

ไอเดียดีจริง ๆ ชอบใจมาก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท