โครงการสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่อง การจัดทำฐานข้อมูลและวิเคราะห์ความต้องการและขาดแคลนแรงงาน


โครงการสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่อง การจัดทำฐานข้อมูลและวิเคราะห์ความต้องการและขาดแคลนแรงงาน

การจัดการความรู้เรื่อง ความรู้ด้านสถานการณ์แรงงาน / การพยากรณ์แรงงาน

ตอนนี้กรมฯ ได้ดำเนินการจัดการความรู้เกี่ยวกับความรู้เรื่องการจัดทำฐานข้อมูลและวิเคราะห์ความต้องการและขาดแคลนแรงงาน โดยสรุปประเด็นความรู้ได้ดังนี้

สำหรับความรู้เรื่องแนวทางการวิเคราะห์สถานการณ์แรงงาน และการพยากรณ์ความต้องการแรงงาน นั้นสามารถสรุปประเด็นได้หลายประเด็น จึงขอพูดถึงแนวทางการวิเคราะห์ ไว้ก่อน ซึ่งสามารถสรุปประเด็นได้ดังนี้

แนวการวิเคราะห์                   
หลักการเบื้องต้นในการนำเสนอบทวิเคราะห์  หรือบทความทั่วไป  ส่วนใหญ่ใช้การตั้งคำถามว่า   ใคร  (Who)  ทำอะไร  (What)  ที่ไหน  (Where)  เมื่อไหร่  (When)  อย่างไร  (How)  และทำไม  (Why) 

 ตัวอย่างแนวการวิเคราะห์-          ตลาดแรงงานประกอบด้วย  ใครบ้าง-          มีลักษณะอย่างไร- มีพฤติกรรมของตลาดอย่างไร-          มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร-          เพราะอะไรถึงมีการเปลี่ยนแปลง-          จะมีผลกระทบต่อใคร  อย่างไรบ้าง  

แนวทางการวิเคราะห์สถานการณ์แรงงาน

                ความมุ่งหมายของการวิเคราะห์ข้อมูลด้านแรงงาน  คือ  การศึกษาข้อมูลและข้อเท็จจริงต่างๆ  ที่มีการเก็บรวบรวม  และประมวลผล  เพื่อให้เข้าใจในเรื่องนั้นๆ  อย่างถ่องแท้และหาข้อสรุปได้  ดังนั้น การวิเคราะห์จะแบ่งออก  4  ขั้นตอน  ดังนี้               

1. การเก็บรวบรวมข้อมูล  ข้อมูลด้านแรงงานและที่เกี่ยวข้องมีมากมายหลากหลายแหล่ง  หากจำแนกตามลักษณะของข้อมูลได้  ดังนี้        

1.1 ข้อมูลปฐมภูมิ  (Primary Data)  คือ  ข้อมูลที่ทำการจัดเก็บเอง  เช่น  การสำรวจ  สอบถาม สัมภาษณ์  ซึ่งข้อมูลลักษณะนี้กองวิจัยตลาดแรงงานจัดทำ  ได้แก่  ข้อมูลแบบสำรวจนักเรียน / นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาใหม่  และแบบสำรวจทหารปลดประจำการ      

1.2 ข้อมูลทุติยภูมิ  (Secondary Data)  คือ  ข้อมูลที่มีการประมวลผลและจัดรูปแบบรายงานมาแล้วข้อมูลประเภทนี้มีมากมายหลายประเภทและในการทำงานด้านวิเคราะห์  ข้อมูลประเภทนี้มีการใช้งานมากที่สุด  ข้อมูลที่มีการใช้งานเป็นประจำ  ได้แก่

1.2.1 ข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร  ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ  ที่มีรายงานเผยแพร่เป็นรายเดือน  รายไตรมาส  และรายปี                            

1.2.2 ข้อมูลด้านเศรษฐกิจ  เป็นข้อมูลที่มีความสำคัญต่อการวิเคราะห์สถานการณ์ตลาดแรงงาน  เนื่องจาก  เมื่อเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปย่อมส่งผลกระทบต่อตลาดสินค้าและบริการ   และส่งผลกระทบต่อแรงงานเพราะเป็นปัจจัยการผลิตชนิดหนึ่ง  ดังตัวอย่างข้อมูล  เช่น                                       
  - ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ  (GDP)  ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ                                      
 
- การส่งออก  การนำเข้า  ดัชนีผลผลิต  ดัชนีการลงทุน  อัตราการใช้กำลังการผลิต  ดัชนีผู้บริโภค  ของธนาคารแห่งประเทศไทย 
                                       
- ข้อมูลการส่งเสริมการลงทุน  ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน  (BOI)                                        
- สถานการณ์รายอุตสาหกรรม  ของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม  เป็นต้น

1.2.3 ข้อมูลภายในหน่วยงาน  เป็นข้อมูลรายงานผลงานของหน่วยงานต่างๆ  ในกระทรวงแรงงาน  เช่น                                        
- กรมการจัดหางาน  เช่น  ข้อมูลการจัดหางานในประเทศ  ข้อมูลการจัดหางานต่างประเทศ  ข้อมูลแรงงานต่างด้าว  เป็นต้น
                                       
- กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน  เช่น  ข้อมูลจำนวนสถานประกอบการและจำนวนลูกจ้างในสถานประกอบการ  เป็นต้น
                                       
- สำนักงานประกันสังคม  เช่น  จำนวนผู้ประกันตน  จำนวนเงินสมทบ  เป็นต้น
                           

1.2.4 ข้อมูลข่าวสารต่างๆ  เป็นข้อมูลที่มีหลายรูปแบบ  เช่น  ข่าวหนังสือพิมพ์  บทวิเคราะห์ บทความ  เป็นต้น                   

1.3 ข้อมูลประดิษฐ์  เป็นข้อมูลที่มีการนำเสนอในรูปแบบที่แตกต่างออกไป  เช่น  แผนภูมิ  ตัวชี้วัด  (Indicators)  การพยากรณ์  งานวิจัยอื่นๆ  เป็นต้น                

2. การตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล  การตรวจสอบข้อมูลในเบื้องต้น  ควรตรวจสอบในประเด็นต่างๆ  ได้แก่                    
- แหล่งที่มาของข้อมูล มีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด
                   
- คำจำกัดความหรือนิยาม
                   
- ความสอดคล้องของข้อมูล  เช่น  หน่วยวัด  มาตราส่วนที่เท่ากัน  เป็นต้น
                   
- ความมีเหตุมีผลของข้อมูล
                  
- ช่วงเวลาที่มีการเผยแพร่ข้อมูล
                   
 - วิธีการเก็บข้อมูล  (การสำมะโน  การสำรวจโดยสุ่มตัวอย่าง  ฯลฯ) .               

 3. การประมวลผล  ข้อมูลหลากหลายประเภทจากแหล่งต่างๆ  นำมาประมวลผลด้วยวิธีการต่างๆ ดังนี้                   
3.1 ข้อมูลปฐมภูมิ  การประมวลผลจะใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วย  เช่น  Microsoft Excel ที่แพร่หลายมากที่สุด  หรือโปรแกรมด้านสถิติ  SPSS  เป็นต้น                   
3.2 ข้อมูลทุติยภูมิ  เนื่องจากข้อมูลประเภทนี้จะได้รับในหลายรูปแบบ  ทั้งที่เป็นเอกสาร และไฟล์คอมพิวเตอร์  เพื่อให้การทำงานง่ายขึ้นการเก็บข้อมูลในรูปของ  
Excel  File  จึงเป็นทางเลือกที่ดี เพราะสามารถนำไปใช้งานต่อได้หลากหลาย  เช่น  การนำเสนอในรูปแบบตารางข้อมูลทางเดียว หรือสองทาง  หรือการนำเสนอในรูปของแผนภูมิชนิดต่างๆ                   
3.3 ข้อมูลประดิษฐ์   การดำเนินการเพื่อนำข้อมูลประเภทนี้ไปใช้  หรือจัดเก็บในรูปแบบของไฟล์คอมพิวเตอร์  อาจจะต้องใช้เครื่องสแกนเนอร์เข้ามาช่วยเพื่อแปลงให้ข้อมูลที่อยู่ในกระดาษสามารถนำเข้าไปในเครื่องคอมพิวเตอร์  และสามารถนำไปใช้งานได้มากขึ้น
               

4. การนำเสนอ   กระบวนการแปลงผลที่ได้จากการรวบรวม  และประมวลผลจากข้อมูลต่างๆ  ที่ออกมาในรูปแบบของรายงาน  ซึ่งจะต้องคำนึงถึงหลายปัจจัย  ดังนี้                   
4.1  การเปรียบเทียบข้อมูล  การเปรียบเทียบข้อมูลเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดสำหรับการวิเคราะห์  และที่นิยมใช้มากที่สุด  คือการเปรียบเทียบในช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมา  และการเปรียบเทียบ  จากช่วงเวลาก่อนหน้าในปีเดียวกัน  เพราะสามารถจะแสดงให้เห็นภาพการเปลี่ยนแปลงเมื่อสภาพแวดล้อมใกล้เคียงกัน  แต่เวลาเปลี่ยนแปลงไปผลเปอร์เซ็นต์ของข้อมูลจะเพิ่มขึ้น  หรือลดลงอย่างไร  การแสดงผลจะอยู่ในรูปของจำนวน  และร้อยละ  (เปอร์เซ็นต์) 
                   

ข้อควรระวัง  การเปรียบเทียบข้อมูลต้องมีหน่วยวัดเดียวกัน  กรณีที่มีฐานข้อมูลแตกต่างกัน    หรือการจัดเก็บข้อมูลมีการเปลี่ยนแปลงคำนิยาม  จะนำมาเปรียบเทียบโดยตรงไม่ได้  ต้องใช้วิธีการแปลงข้อมูลถ้าทำได้  หรือถ้าไม่สามารถแปลงข้อมูลให้ตรงกันได้จะต้องทำการอธิบายผลของข้อมูลให้ผู้อ่าน เข้าใจด้วย  โดยทั่วไปจะใช้คำอธิบายใต้ตารางข้อมูล  หรือทำเชิงอรรถก็ได้                   

4.2  กลุ่มเป้าหมาย  การกำหนดรูปแบบ  เนื้อหา  การวิเคราะห์  และการใช้ภาษาให้เหมาะ กับกลุ่มเป้าหมายนั้นๆ  เนื่องจากคำอธิบายในเรื่องเดียวกัน  แต่ผู้อ่านมีพื้นฐานความรู้ที่แตกต่างกัน  ดังนั้นการนำเสนอจึงไปถึงผู้รับได้ไม่ครบถ้วน  เช่น  กลุ่มเป้าหมายเป็นนักเรียน / นักศึกษา  การทำภาพตัวการ์ตูนประกอบก็ช่วยดึงความสนใจได้  กลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้บริหาร  ควรนำเสนอด้วยแผนภูมิซึ่งจะทำให้เข้าใจง่ายขึ้น  เป็นต้น                   

4.3  ระยะเวลาเผยแพร่  หรือความถี่ในการนำเสนอ  เป็นตัวกำหนดเนื้อหาของการนำเสนอ  เพราะถ้ามีการนำเสนอในระยะเวลาสั้นๆ  บทวิเคราะห์จะต้องกระชับ  และได้ใจความอาจให้แผนภูมิแสดงผลแทนการเขียนคำอธิบาย  แต่ถ้ามีระยะเวลาการนำเสนอห่างกันมากก็สามารถจะให้รายละเอียด    และส่วนประกอบอื่นๆ  ให้ดูน่าสนใจมากยิ่งขึ้นได้  เป็นต้น

 

หมายเลขบันทึก: 127815เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2007 18:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤษภาคม 2012 10:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
กองการเจ้าหน้าที่

เพิ่งรู้ว่ากรมการจัดหางาน ก็มีบล๊อกของการจัดการความรู้ด้วย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท