บทสัมภาษณ์อธิการบดี ม.นเรศวร


นโยบายการผลิตบัณฑิตแพทย์และการให้บริการระบบสุขภาพ
คอลัมน์อธิการบดีสนทนา  ประจำเดือนกันยายน  2550 (สัมภาษณ์และเรียบเรียง  โดยสิริพร จันทร์บรรจง)          ม.นเรศวร ผลิตบัณฑิตแพทย์ใส่หัวใจให้ระบบสุขภาพของสังคมไทย                                                     -----------------------------------------------              ผมขอเรียนว่า การผลิตบัณฑิตแพทย์ของมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้มีนโยบายที่เน้นคุณภาพให้ได้มาตรฐานของแพทยสภา รวมถึงคุณสมบัติของแพทย์ตามองค์การอนามัยโลกและได้กำหนดกรอบผลลัพธ์ปลายทาง    7  ประการ (7 Outcome-based curriculum)     ได้แก่     1.แก้ไขปัญหาสุขภาพโดยการประยุกต์วิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐานและทักษะทางคลินิกในการวินิจฉัน รักษา ฟื้นฟูสภาพ ป้องกันโรค และสร้างเสริมสุขภาพของผู้ป่วยทั้งในระดับบุคคลครอบครัวและชุมชน      ด้วยความรู้และทักษะที่เป็นองค์รวม       2. เลือกตัดสินใจได้อย่างเป็นระบบโดยอาศัยข้อมูล สังเคราะห์ วิเคราะห์และประเมินค่า       3. เป็นผู้จัดการและผู้นำชุมชนด้านสุขภาพ ให้คำปรึกษาและทำงานเป็นทีมร่วมกับผู้อื่นในการแก้ไขปัญหาสุขภาพได้     4. เป็นผู้แสวงหาความรู้ใหม่และศึกษาด้วยตนเองตลอดชีวิต   5. บริหารจัดการตนเองและกิจกรรมหน้าที่ของตนด้วยความรับผิดชอบ   6. ใช้ทักษะเพื่อการสื่อสารอย่างได้ผล   7. มีเจตคติที่ดีและปฏิบัติตนถูกต้องตามหลักเวชจริยศาสตร์และกฎหมาย     สามารถดำรงตนในฐานะแพทย์และสมาชิกในสังคมได้อย่างเหมาะสม     โดยผลลัพธ์ทั้ง 7 มหาวิทยาลัยมีการประเมินหลายรูปแบบอยู่ตลอดเวลา   ทั้งวิธีการสังเกตและให้สะท้อนความคิดเห็นออกมา     สำหรับการจัดการเรียนการสอนแพทยศาสตร์ศึกษาของโรงเรียนแพทย์ ม.นเรศวรแห่งนี้  ได้นำหลักการ   Humanized Health Care  : ใส่หัวใจให้ระบบสุขภาพ  มาใช้ในหลักสูตรการผลิตแพทย์เป็นตัวผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง    และมีการเน้นย้ำให้ในแต่ละปีมีลักษณะเป็น Spiral curriculum   โดยเมื่อปีการศึกษา 2549  ที่ผ่านมา  มหาวิทยาลัยได้ส่งนิสิตแพทย์ปี 1    ไปทำงานในโรงพยาบาลชุมชนใกล้บ้าน 1 สัปดาห์   เพื่อศึกษาสภาพความเป็นจริงของผู้ป่วยในแง่มุมต่างๆ        โดยเฉพาะเข้าใจความเป็นมนุษย์และการคำนึงถึงภาวะจิตใจของผู้ป่วยเป็นสำคัญ     นอกจากการผลิตบัณฑิต ซึ่งเป็นภารกิจหลักของมหาวิทยาลัยแล้ว ยังมีการบริการวิชาการสู่สังคมคือ การเปิดโรงพยาบาลให้เป็นโรงเรียนแพทย์ 1 ใน7 แห่ง ที่นิสิตแพทย์ชั้นคลินิก (ปีที่ 4 5 6)  เข้าไปเรียนรู้จากประสบการณ์จริง    โดยมีโรงพยาบาลต่าง ๆ    เข้ามาร่วมมือฝึกประสบการณ์ครั้งนี้   ได้แก่     โรงพยาบาลพุทธชินราชพิษณุโลก โรงพยาบาลอุตรดิตถ์  โรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จังหวัดตาก  โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์     โรงพยาบาลประจำจังหวัดพิจิตร   และจังหวัดแพร่   ในส่วนของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร  ได้กำหนดเป้าหมายร่วมสมัยคือ การเป็นโรงพยาบาลสีเขียว เน้นความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมทั้งที่มีและไม่มีชีวิต  การเป็นโรงพยาบาลจริยธรรม เน้นหลักคิดและวิธีปฏิบัติ    โดยยึดผู้ป่วยเป็นเป้าหมายของการดูแล    การเป็นโรงพยาบาลจิตอาสา   เน้นจิตใจช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน    การเป็นโรงพยาบาลศูนย์ความเป็นเลิศ  เน้นการนำองค์ความรู้สำคัญทางการแพทย์ จัดบริการที่คุ้มค่าคุ้มทุนและเป็นธรรมแก่ประชาชน  และการเป็นโรงพยาบาลติดดิน  ที่เน้นความสัมพันธ์ระหว่างโรงพยาบาลกับชุมชน โดยให้การดูแลสุขภาพ ป้องกันโรค และสร้างเสริมสุขภาพขั้นปฐมภูมิ เพื่อให้เกิดความรู้ที่ครบวงจร     สุดท้าย ในระบบวงการแพทย์ไทยในปัจจุบัน ได้มองเป้าหมายและเห็นตรงกันว่า การขับเคลื่อน แพทย์ไทยหัวใจโพธิสัตว์ เป็นประเด็นที่มีผลกระทบต่อระบบอื่นๆ ทุกฝ่ายต้องพยายามที่จะให้แพทย์ของเรามีความเมตตา  อยากให้ผู้อื่นมีความสุข  อยากให้ผู้ป่วยหลุดพ้นจากความทุกข์ โดยแพทย์ต้องปราศจากความทุกข์ด้วย  ดังนั้นการเรียนการสอนแพทยศาสตร์ที่เน้นการให้นิสิตได้เรียนรู้จากผู้ป่วยให้มากและรอบด้านอย่างเป็นองค์รวมทั้งทางกายและจิตใจ  เพื่อสร้างแพทย์ที่เก่งและดีให้เพิ่มขึ้นในระบบบริการสุขภาพของสังคมไทย  (รองศาสตราจารย์ ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี)

อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร

หมายเลขบันทึก: 127575เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2007 11:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 เมษายน 2012 10:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท