คิดจะเลี้ยง "นักเลง" ต้อง "ใจนักเลง"


เท่าที่ผมสังเกต ผมคิดว่าวิธีการบริหารจัดการแบบ "ไทยๆ" แบ่งได้เป็นสองแบบคือ แบบ "ขุนนาง" กับแบบ "นักเลง"

สองแบบนี้มีมาตั้งแต่โบราณครับ เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่ฝังรากในสังคมไทยอย่างยาวนานและยังถูกใช้อยู่ในปัจจุบันอย่างเหนียวแน่นไม่เปลี่ยนแปลง

การบริหารจัดการแบบ "ขุนนาง" คือการบริหารที่อยู่บนพื้นฐานของ "อำนาจ" ที่เป็นของ "ผู้มีอำนาจ" ผู้ซึ่งอำนาจนั้นได้รับมาจากผู้มีอำนาจเหนือกว่า

ในระบบนี้จะเต็มไปด้วยการเอาออกเอาใจ ยกยอปอปั้น และการทำงานจะมุ่งอยู่ที่การทำเพื่อให้ผู้มีอำนาจเห็นผล ไม่ได้มองเนื้องานเป็นหลัก เพราะอำนาจของผู้มีอำนาจนั้นมีสภาวะ absolute ใครไปแย่งชิงไม่ได้ เนื่องจากยังมีอำนาจของผู้มีอำนาจเหนือผู้มีอำนาจค้ำอยู่ ดังนั้นความผิดความถูกอยู่ที่ผู้มีอำนาจเป็นผู้ตัดสินเท่านั้น

เราคงนึกออกนะครับ ว่าระบบ "ขุนนาง" นี้เป็นลักษณะอย่างไร เพราะพบเจอกันได้ทุกเช้าเย็น

ในขณะเดียวกันสังคมไทยมีการบริหารจัดการอีกแบบหนึ่งซึ่งเป็นยาดำแฝงอยู่และขับเคลื่อนประเทศไทยอยู่อย่างเงียบๆ นั่นคือระบบ "นักเลง"

"นักเลง" คือผู้มีศักยภาพในการทำงานอย่างใดอย่างหนึ่ง และด้วยศักยภาพที่เขามีนั้น ทำให้เขาสามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งพา "ขุนนาง"

เรียกว่าไม่มี "ขุนนาง" ค้ำจุนก็ไม่อดตาย อาจไม่ได้กินอยู่สุขสบาย แต่อยู่ได้ก็แล้วกัน

ด้วย "ใจ" ตรงนี้เขาจึงอยู่ได้และทำงานให้ขับเคลื่อนไปได้ 

"นักเลง" นี่มีทั้งหญิงทั้งชายนะครับ ขอบอกไว้ก่อน ตั้งแต่โบราณแล้วด้วย ขุนโจรดังๆ ในประวัติศาสตร์ที่เป็นผู้หญิงก็หลายคนอยู่เหมือนกัน

และ "นักเลง" นั้นจะอยู่กันเป็นกลุ่ม อยู่กันกับ "คอนักเลง" ด้วยกัน ไม่ได้อยู่ด้วยการยกยอปอปั้นเพื่อแสวงหาประโยชน์ แต่อยู่ด้วย "ใจนักเลง" ครับ

"ใจ" ครับ "ใจ" อ่านว่า "ใจ" แปลว่า "ใจ"

"นักเลง" เขาไม่ได้อยากเป็น "ขุนนาง" มียศตำแหน่งใหญ่โต เขาเป็น "นักเลง" ตำแหน่งเดียวที่เป็นในระบบนักเลงคือ "ขุนโจร"

เรื่องนี้อธิบายยาก "ขุนนาง" ย่อมไม่เข้าใจ flat organization ของ "นักเลง" และ "นักเลง" ก็ไม่สนใจ "complex organization" ของ "ขุนนาง"

"ขุนนาง" บางคนพยายามเอา "ตำแหน่ง" มาล่อ "นักเลง" ก็พาลให้น่ารำคาญเป็นอย่างยิ่ง

เรื่อง "ขุนนาง" กับ "นักเลง" นี้มีมาแต่โบราณจริงๆ ครับ "ขุนนาง" แต่โบราณก็อยู่กับข้าทาสบริวาร ส่วน "นักเลง" ก็เข้าป่าตั้งบ้านเรือนอยู่กัน

ในขณะที่ขุนนางอยู่กันอย่างมีชนชั้น มีข้า มีทาส มีนาย มีบ่าว นักเลงกลับอยู่อย่างเท่าเทียมกัน มีหัวหน้า มีลูกน้อง แต่ก็ไม่ได้มีโครงสร้างการปกครองที่ซับซ้อน นึกอีกทีไทยเราก็มีระบบประชาธิปไตยซ่อนอยู่ในป่าตั้งแต่โบราณเหมือนกัน

วันไหน "ขุนนาง" เกิดหึกเหิมบุกหมู่บ้าน "นักเลง" ก็ถูก "นักเลง" (ซึ่งในที่นี้จะถูกขุนนางเรียกว่า "กองโจร" บ้าง "ซุ้มโจร" บ้าง) ตีกลับไป บางครั้งก็ตามกลับไปปล้นขุนนาง แต่ถ้าขุนนางกำลังเยอะนัก นักเลงก็ย้ายรกรากเข้าป่าลึกต่อไป

เรื่องนักเลงกับขุนนางนี่ผมรู้ดีครับ เพราะผมมีเลือด "นักเลง" วิ่งอยู่ตัวตัวเยอะ บรรพบุรุษผมนี่ซุ้มโจรเก่าเลยครับ

ก่อนเล่าเรื่องนักเลงต่อ มาดูบริบทของการจัดการความรู้กับ "นักเลง" กันหน่อย

การจัดการความรู้ในองค์กรนั้นเราเน้นที่จะกระทำเพื่อระบุตัว "นักเลง" ในองค์กรออกมาให้ได้

สิ่งที่สอนที่เรียนกันในวิชาการจัดการความรู้โดยทั่วไปคือ โครงสร้างองค์กรที่เราเห็นกันบนกระดานสวยๆ นั้น ไม่ใช่โครงสร้างที่แท้จริง เพราะผู้มีอำนาจในองค์กรตามตำแหน่งนั้น แท้จริงแล้วอาจไม่มีอำนาจขับเคลื่อนองค์กรเลยก็ได้

ในขณะเดียวกัน "นักเลง" ที่เป็นที่ "ยอมรับ" ของเพื่อนนักเลงด้วยกันต่างหาก ซึ่งไม่ได้อยู่ใน organization chart กลับเป็นคนขับเคลื่อนองค์กรอย่างแท้จริง

การจัดการความรู้ถ้ามองในมุมหนึ่งแล้วคือการแสวงหา "นักเลง" และ "กลุ่มนักเลง" เพื่อจะให้พลังแก่ "นักเลง" ในการทำงาน

แต่หลายต่อหลายองค์กรแม้จะชูธง "การจัดการความรู้" กลับติดอยู่กับระบบ "ขุนนาง" ที่ใช้อำนาจเป็นใหญ่ โดยหลงลืมไปว่า "นักเลง" คือสิ่งที่ตัวเองต้องแสวงหาและ "empower" เพื่อให้งานเกิดขึ้น

วันนี้ผมขัดใจ "ขุนนาง" เลยจะเขียนบันทึกนี้สอนคนให้เป็น "นักเลง" ซะบ้าง

เพราะผมเป็น "นักเลง" พ่อผมก็เป็น "นักเลง" ปู่ผมก็เป็น "นักเลง" ทวดผมยิ่งเป็น "นักเลง" หนัก ดังนั้นใครมาทำตัว "ขุนนาง" กับผมนี่ สัญชาติญาณบอกให้ผมทำสองอย่าง คือปล้นมันซะแล้วหลบไปตั้งบ้านเรือนในป่าดงพงไพรของตัวเอง

นึกภาพผมกระทืบท้องเรือนของ "ขุนนาง" จนเสาคลอนประกอบ

ใครคิดจะปกครอง "นักเลง" ต้องมี "ใจนักเลง" ครับ

"ใจนักเลง" เรื่องแรกคือต้อง "ใจกว้าง ใจใหญ่" ไม่ใช่เอาเรื่องเล็กกระจุ๋มกระจิ๋มมาทำให้เสียงานไปหมด

เรื่อง "ใจนักเลง" นี่ก็สอนกันไม่ได้อีก เป็นเรื่องทางสังคมที่ต้องอาศัยการเรียนรู้ สอนกันตรงๆ คงไม่ได้ หมายความว่า "ขุนนาง" เอามาสอนให้เป็น "นักเลง" ไม่ได้ และเอา "นักเลง" มาให้ทำตัวเป็น "ขุนนาง" ก็ไม่ได้อีกเหมือนกัน

แต่ "ใจนักเลง" นี่สำคัญ เพราะ "นักเลง" นี่เขาไม่ได้วัดกันที่ "อายุ" แต่เขาวัดกันที่ "ใจนักเลง"

ในตอนต้นผมเขียนถึงบริบท "นักเลง" กับ "การจัดการความรู้" แล้ว ต่อไปผมขอเขียนถึง "นักเลง" กับ open source บ้าง

วงการ open source นี่คือ "ซุ้มโจร" ระดับโลกเลยครับ

open source นี่ "นักเลง" ทั้งนั้น มาด้วย "ใจนักเลง" ช่วยเหลือกันด้วย "ใจนักเลง" ล้วนๆ ไม่มียศฐาบรรดาศักดิ์ "ใจ" เจอกับ "ใจ" ครับ ไม่ต้องคุยกันมาก ไม่ต้องสาธยายให้วุ่นวาย

หลายองค์กรพยายามทำ open source/open contents แต่ไปไม่ถึงไหนเพราะมาในแบบ "ขุนนาง" ไม่ได้มีความเข้าใจธรรมชาติของ open source/open contents เลย น่าหนักใจมาก

ยิ่งสนใจ open source/open contents และ "การจัดการความรู้" ทั้งสองอย่างเลย แต่ยกร่างมาเป็น "ขุนนาง" นี่ไม่ไหว

สรุปว่าจะทำงาน open source/open contents ต้องมี "ใจนักเลง" และจะทำงาน "การจัดการความรู้" ก็ต้องมี "ใจนักเลง"

ถ้าจะเป็น "ขุนนาง" แล้วจะมายุ่งกับ open source/open contents หรือ "การจัดการความรู้" ขอบอกว่าอย่าดีกว่า

คิดจะเลี้ยง "นักเลง" ต้อง "ใจนักเลง" เพราะไม่มี "ขุนนาง" ที่ไหนเลี้ยง "นักเลง" อยู่ 

คิดแล้วขัดใจ ขอกระทืบท้องเรือนให้เสาคลอนอีกที

หมายเลขบันทึก: 127477เขียนเมื่อ 12 กันยายน 2007 22:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 01:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

สวัสดีครับ

ความรู้ใหม่

สุข สงบ เย็น

rainalone

สวัสดีครับ 

อ่านจบแล้วเห็นภาพเลยครับอาจารย์

สาเหตุหลักๆ ที่พวกขุนนาง ทำงาน open source ไม่สำเร็จ ก็เพราะว่าใจแคบไงครับ

 

ว่าแต่อาจารย์อย่ากระทืบท้องเรือนแรงไปนะครับ

เดี๋ยวเสี้ยนจะตำเท้าเอา....

 

^_^ 

สวัสดีครับอาจารย์

  • บทความนี้โดนดีครับ โดนใจ
  • ใจกว้างก็กวาดใจดวงอื่นได้เยอะครับ
  • การให้ที่ิยิ่งใหญ่ ก็เป็นการให้ด้วยใจ นักเลง เช่นกันใช่ไหมครับ
  • ใจนักเลง คำนี้มีความหมายมากๆ ครับ ไม่ใช่นักเลงหัวไม้นะครับ ความหมายดีกว่านั้นมากๆ เลยครับ ผมถึงว่าคำนี้ รับรู้ความหมายด้วยหัวใจครับ
  • คนใต้ชอบพูด ว่าคนนี้ใจเลงจัง  คนนี้ ใจไม่เลงเลย  อะไรทำนองนี้ครับ
  • เค้าว่า หากใจนักเลง ใจถึงกัน ก็ถึงไหนถึงกัน ใช่หรือเปล่าครับ
  • ขอบคุณมากครับ 
P

ดร. ธวัชชัย ปิยะวัฒน

เมื่อแรกใช ้gotoknow และครั้งแรกที่เข้าไปอ่านประวัติอาจารย์ อาตมาก็สัมผัสได้ว่า อาจารย์ใจนักเลง...

เจริญพร 

พอจะเข้าใจความรู้สึกได้ค่ะ อ่านแล้ว get อย่างแรง วันนี้อาจารย์มาแปลกมามาดนักเลงแฮะ ^ ^
ท่านอาจารย์เป็นนักเลงผู้มีแป้นพิมพ์เป็นอาวุธสินะครับ
ผมอ่านแล้วจินตนาการได้ว่าอาจารย์จับ MacBook ออกมาฟาดฟันเลยทีเดียว

 สวัสดีครับอาจารย์ ดร. ธวัชชัย ปิยะวัฒน์

  • กะว่าจะตอบตั้งแต่เมื่อคืนนี้แล้วแต่สะลึมสะรืออยู่ กลับมานั่งอ่านใหม่ตอนเช้านี่
  • ข้อความโดนใจอยู่หลายประโยคมากครับ
  • การจัดการความรู้ถ้ามองในมุมหนึ่งแล้วคือการแสวงหา "นักเลง" และ "กลุ่มนักเลง" เพื่อจะให้พลังแก่ "นักเลง" ในการทำงาน
  • ขอเป็นกำลังใจให้อาจารย์และทีมงานครับ

ขอบคุณมากครับ

คนใจนักเลง = คนคอเดียวกันที่ชอบพูดกันในวง KM แต่เป็นแบบลึกสุดใจ

รับรองได้ว่าเป็น KM ของแท้แน่นอน เพราะนี่คือการดึงเอา Passion, Intelligence, Ambition ของ "กลุ่มคน" ออกมาทำงานด้วย "ใจ" สู้ "ใจ" (แต่หายาก เพราะรากฐานสังคมไทยเป็นศักดินา)

พวกขุนนางเค้าจะยึดถือผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องเป็นสำคัญครับ ซึ่งขัดกับหลักของ opersource ครับ ที่กลุ่มใจนักเลง (ยืมคำอ.มาใช้ครับ) เค้าทำกันเพื่อเผยแพร่ เพื่อพัฒนา และเปลี่ยนความรู้ โดยไม่ได้ยึดถือเรื่องผลประโยชน์เป็นหลัก ทำให้ opensource กับขุนนาง เดินร่วมกันยากครับ

เรื่องจะคล้าย Bazaar and Cathedral หรือเปล่าครับ?

Bazaar (ตลาด) ก็น่าจะเข้ากับนักเลงคุมตลาด? 

แต่ Cathedral อาจจะโยงกับขุนนางยากอยู่นิดๆ? แต่ก็มีลักษณะที่คล้ายกัน เช่น เรื่อง complex organization เป็นต้น. เรื่องศักดินาก็คงเกี่ยว แต่ก่อนพระก็มีศักดินา. 

ถ้ามีลักษณะเป็นซุ้มโจรด้วยก็น่าจะเทียบกับ "มาเฟีย" ได้? (ไม่แน่ใจ) มาเฟีย เองก็มักจะมีความสัมพันธ์กับอำนาจรัฐ เช่น การติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ หรือแม้แต่ส่งคนเข้าไปควบคุมรัฐเอง.   ความสัมพันธ์ระหว่างขุนนางกับนักเลงอาจจะไม่ใช่ลักษณะว่าใครเลี้ยงใคร. แต่ว่าเอื้อประโยชน์ต่อกัน. 

ถ้า Bazaar เทียบกับนักเลงได้ และ Cathedral เทียบกับ ขุนนาง ได้จริงก็เป็นไปได้ว่า วงการ open source software ก็น่าจะมีทั้งแบบขุนนางที่มีศักดินาและระบบซับซ้อน และแบบนักเลงที่องค์กรซับซ้อนน้อยกว่า. 

ขนวนการ open source software ก็ดูประนีประนอมกับกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นขุนนาง นักเลง พ่อค้า/นายทุน (กลุ่มอำนาจใหญ่ในโลกปัจจุบัน) ฯลฯ กว่าขบวนการซอฟต์แวร์เสรี (free software movement) ด้วย ก็น่าจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่ง ที่ open source software ก็น่าจะเข้าได้กับขุนนางด้วย.

  • อาจารย์ธวัชชัย ครับ
  • ผมอ่านแล้วได้คิดว่า กว่าที่จะเป็นขุนนางที่ดี ก็ต้องมีใจนักเลงก่อน เมื่อใจพร้อมกายพร้อม ก็จะเป็นได้อย่างที่หวัง

น่าสนใจมาก

อ่านแล้วทำให้ผมคิดว่า  พวกขุนนาง คงจะเหมาะกับพวกเจาะหาบ่อนำมัน  ถ้าเป็นกีฬา ก็คงชอบเล่นกอล์ฟ คือเป็นพวกช้าๆได้พร้าเล่มงาม  กว่าจะเห็นผลก็นาน  ส่วนพวกนักเลง ก็น่าจะเหมาะกับอาชีพเสี่ยง เช่นนักธุกิจ  หรือนักกีฬาเทนนิส ที่ทำแล้วเห็นผลทันตา  แบบทำเช้า เห็นผลเย็น อะไรทำนองนั้น

ผมเป็นนักเลง และใจใหญ่ ใจถึง ใจเหี้ยม ผมมีเพื่อนแบบไปไหนไปกันอยู่ 1 คน แต่ผมไม่ไว้ใจใครเลย การเป็นนักเลงนั้นใจอย่างเดียวอาจไม่พอต้องฉลาด มีสัญชาตญาณ มีอาวุธที่......ไม่ขออธิบาย และสุขุมอ่านเกมออก

ผมก็เป็นนักเลงคับ ดีใจที่ยังมีคนคอเดียวกัน

เป็นนักเลง ต้องมีลูกน้องครับ

โดยส่วนตัว ผมไม่ใช่นักเลงนะ

แต่ว่าเป็นคนที่ดูแลพวกน้องๆๆ

ถ้าเรื่องจะมีเรื่องก็จะแก้ปัญหา

สามารถเป็นที่พึ่งของพวกน้องได้

ความเด็ดขาด อดทน

สำคัญมาก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท