กลุ่มที่ ๖(รุ่งอรุณ)ศูนย์การเรียนรู้เชียงใหม่ ๑
กลุ่มที่ ๖ (รุ่งอรุณ) ศูนย์การเรียนรู้เชียงใหม่ ๑(ดอยสะเก็ด) ด.ต.ธีรกานต์ กลุ่มที่ ๖(รุ่งอรุณ)ศูนย์การเรียนรู้เชียงใหม่ ๑

รุ่งอรุณกับเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับประเทศ


แผนแม่บทชุมชนตำบลหนองสาหร่าย กาญจนบุรี VS แผนแม่บทหมู่บ้านป่าไม้แดง จัดโดยโปรโมเตอร์ กลุ่มที่ ๖ รุ่งอรุณ

รุ่งอรุณกับเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับประเทศแผนแม่บทชุมชนตำบลหนองสาหร่าย กาญจนบุรี VS  แผนแม่บทหมู่บ้านป่าไม้แดง  จัดเวทีโดย รุ่งอรุณ  กลุ่มที่ ๖ เมื่อวันที่ ๙  กันยายน  ๒๕๕๐  เรากลุ่มที่ ๖ รุ่งอรุณ  ได้มีโอกาสเดินทางไปศึกษาดูงาน การจัดการแผนแม่บทชุมชนของ ตำบลหนองสาหร่าย  อ.พนมทวน  จว.กาญจนบุรี  ร่วมกับทีมงานนักวิจัยหมู่บ้านป่าไม้แดง  หมู่ที่ ๒ ต.ป่าป้อง อ.ดอยสะเก็ด จว.เชียงใหม่ และได้เชิญแกนนำชุมชนในตำบลป่าป้อง เป็นผู้ติดตาม (ซึ่งเป็นหมู่บ้านเป้าหมายในการจัดทำแผนแม่บทชุมชน กรณีศึกษารายวิชา แผนแม่บทชุมชน  ต่อเนื่องจากภาคการศึกษาที่ ๑  ปีการศึกษา ๒๕๕๐ ของกลุ่มที่ ๖ รุ่งอรุณ) 

 เมื่อเดินทางเข้าสู่พื้นที่ตำบลหนองสาหร่าย เราได้สังเกตเห็นสภาพบริบทชุมชน เป็นหมู่บ้านชนบทแห่งหนึ่ง  ที่มีการทำการเกษตรกรรม ไร่อ้อย  กว้างขวางสุดลูกหูลูกตา  เมื่อเดินทางถึง  อบต.หนองสาหร่าย คณะได้รับการต้อนรับจาก คุณบุญมี ฯ ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลหนองสาหร่าย  เป็นผู้บรรยายให้ความรู้  จับใจความได้ว่า  วันนี้ยินดีต้อนรับคณะจากจังหวัดเชียงใหม่  เรามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน อย่าคิดว่าเป็นการสอน  เพราะทางตำบลหนองสาหร่าย ก็อยากจะได้ความรู้ประสบการณ์จากทางเชียงใหม่เช่นกัน  บางทีอาจจะรู้ไม่หมด  หากเรามาแลกเปลี่ยนกันก็จะเป็นประโยชน์  โดยเฉพาะเรื่องการทำปุ๋ยหมัก และปุ๋ยน้ำชีวภาพ (หัวหน้ากลุ่ม  ธีรกานต์ฯ ได้ยินแล้วขยับตัว มีอาการ โอ๊ะโอ๋ ปุ๋ยอินทรีย์กลุ่มเราดังถึงพนมทวนเลยรึเนี๊ยะ)  หนองสาหร่าย ยกระดับขึ้นมาเป็นตำบล เมื่อปี ๒๕๓๕  และกลายเป็นตำบลที่มีความเข้มแข็งขึ้นมาได้  เพราะได้รับบทเรียนมาจากความยากจน  ความเจ็บปวดที่ไม่ได้รับการเหลียวแลจากรัฐหรือภายนอกเท่าที่ควร  ได้แต่โทษตัวเองว่า ลูกเมียน้อย  เพราะเป็นหมู่บ้านอันดับท้าย ๆ   จึงขอแยกตัวออกมาเป็นตำบล    หนองสาหร่ายมีความโชคดีที่เป็นจุดแข็ง  คือรากเหง้าบรรพบุรุษมีสองตระกูลหลักที่มีความเป็นญาติกันทางสายโลหิต  ใครด่าบรรพบุรุษใครไม่ได้  เพราะถ้าด่าก็เท่ากับด่าตัวเอง  จึงนำบทเรียนความอดอยากยากจน คิดสร้าง เรียนรู้ทุกด้าน เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของชุมชน  เวทีการเรียนรู้ครั้งแล้วครั้งเล่า หล่อหลอมให้หนองสาหร่ายได้ค้นพบศักยภาพที่เป็นทุนของตนเอง  แผนแม่บทชุมชนของตำบลหนองสาหร่าย เกิดขึ้นเพราะผู้นำชุมชนที่มีวิสัยทัศน์บวกกับจุดแข็งที่กล่าวมา  หมู่บ้านบริวาร จำนวน ๑๓ หมู่บ้าน ได้ค้นพบจุดแข็ง ศักยภาพที่เป็นทุนของตน  รังสรรค์ผลงานผลิตภัณฑ์ อาหารแปรรูป  ผลิตน้ำดื่ม  การทำปุ๋ยหมัก เพื่อลดต้นทุนการผลิต  ไม่ให้เงินค่าปุ๋ยไหลออกนอกชุมชน   สวัสดิการชุมชนที่ให้สวัสดิการมากยิ่งกว่าธนาคาร  ในรูปแบบสหกรณ์  ผู้บรรยายเน้นย้ำว่า เงินของเรา เอาไปฝากธนาคารก็ต้องเข้าคิวรอเป็นชั่วโมง แถมหักเงินค่ารักษาบัญชีเราอีก  ไม่เอาคิดใหม่มาสร้างธนาคารของเราดีกว่า  และได้รับคำแนะนำจะเรียกว่าธนาคารไม่ได้ เพราะติดขัดข้อกฎหมาย จึงเป็นการดำเนินงานในรูปแบบสหกรณ์ออมทรัพย์ เป็นการดำเนินงานคล้ายธนาคารชุมชน ปัจจุบันมีเงินหมุนเวียน ประมาณ ๕๐ ล้านบาท  โดยเน้นเคล็ดลับ เกิดจากการออมจากรายจ่าย ฟังผิวเผินแล้วงง ออมจากรายจ่าย มีใครเขาทำที่ไหนออมจากรายจ่าย เขามีแต่ออมจากรายได้  อ๋อ  ลดรายจ่ายก็เท่ากับเพิ่มรายได้ วาดภาพรูปโอ่งมาหนึ่งใบ แล้วหารูรั่วแทนรายจ่าย ค่อยอุด ทีละรูที่ไม่จำเป็น เมื่อรูรั่วน้อยน้ำในตุ่มก็เพิ่ม ใครอุดได้มากน้ำก็เต็มเร็ว

 ด้านการศึกษาเยาวชนในหมู่บ้านที่ไปเรียนระดับมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่จะไปเป็นของคนอื่นหมด กล่าวคือ ไม่กลับมาอยู่บ้านเกิด คงไปทำงานหรือย้ายถิ่นไปอยู่ที่อื่นตามความรู้ที่เรียนมา  ตำบลหนองสาหร่าย  ได้ให้การสนับสนุน (ทุนการศึกษา) เยาวชนเรียนหลักสูตร ที่มีในท้องถิ่น คือ  สหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น  ของโครงการมหาวิทยาลัยชีวิต    พวกเราชาวรุ่งอรุณยิ้มหน้าบานกันหลายคน   แต่ก็แปลกใจมากที่เราไม่ทราบว่า ที่กาญจนบุรี มีโครงการมหาวิทยาลัยชีวิต เหมือนเรา  หรือมีในส่วนมหาวิทยาลัยราชภัฎนครปฐม ทำไมไม่ขึ้นเว็บไซด์  หรือว่ากำลังเปิดปีการศึกษาใหม่นี้  อย่างไรก็ดี  ขนาดเจ้าตำรับแผนแม่บทชุมชนระดับประเทศอย่างตำบลหนองสาหร่าย(ความจริงแผนแม่บทชุมชนไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวนะ)  เขายังให้ความสำคัญของหลักสูตรมหาวิทยาลัยชีวิต  เพราะเรียนแล้วทำให้ชีวิตตนเองดีขึ้น  ดังเช่นกลุ่มรุ่งอรุณของเรากำลังดำเนินการสร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่อแปรแผนแม่บทชุมชน  ไปสู่วิสาหกิจชุมชน ของบ้านป่าไม้แดง  เป้าหมายคือการพึ่งตนเอง  ณ วันนี้  ผลงานของเราชาวรุ่งอรุณ ได้พบเห็นรอยยิ้มของพี่น้องหมู่บ้านป่าไม้แดง   เพราะชีวิตเขาดีขึ้น ทำให้เขารู้จักตนเอง (ฮู้คิงแล้ว) ฟื้นจากความหลับไหลจากฤทธิ์หมัดของกระแสโลกาภิวัตน์  มีหลักเกาะยึด คือ รากเหง้าภูมิปัญญา ผสานศักยภาพของตน สร้างสรรค์บนภูมิปัญญาสากล บ้านป่าไม้แดงจะต้องเป็นอีกหมู่บ้านหนึ่งในประเทศไทย ที่อยู่ใกล้ความเจริญของเชียงใหม่  แต่ไม่หลงใหลไปกับกระแสทุนนิยม    การสร้างกระบวนการเรียนรู้ ให้ค้นพบศักยภาพของตนเอง บนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จึงเป็นหน้าที่ของชุมชนบ้านป่าไม้แดงทุกคน  โดยเราชาวรุ่งอรุณจะเป็นผู้เกื้อกระบวนการสู่เป้าหมายร่วมกันต่อไป

หมายเลขบันทึก: 127391เขียนเมื่อ 12 กันยายน 2007 16:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • อยากทราบจุดเด่นๆๆของชุมชนหนองสาหร่ายครับผม
  • ขอบคุณครับ

จุดเด่น ๆ ของตำบลหนองสาหร่าย ในทัศนะของนักท่องเที่ยวทั่วไป  มองบริบทชุมชนป็นหมุ่บ้านเกษตรกรรมธรรมดา  ไม่มีอะไรน่าสนใจเป็นพิเศษ  แต่ถ้ามองในทัศนะของผู้ใฝ่ที่จะเรียนรู้เพื่อการพึ่งตนเอง  บนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  หนองสาหร่าย มีจุดเด่นก็คือ การสร้างกระบวนการเรียนรู้ อย่างรอบด้านเพื่อการพึ่งตนเอง  ในหลายหลายด้านตลอดจนสวัสดิการที่เกี่ยวข้องกับชีวิตตั้งแต่เกิดจนตายของชุมชน  การให้คุณค่า ทรัพยากรธรรมชาติที่มีความหลากหลายทางชีวภาพในชุมชน รังสรรค์ออกมาเป็นนวัตกรรมใหม่ น้ำดื่มผลิตเอง น้ำตาลทรายผลิตเอง ขนมเด็กผลิตเอง ธนาคารมีเอง สิ่งแวดล้อมไม่เป็นพิษเพราะใช้เกษตรอินทรีย์ (ก็แหล่งน้ำตาลอาหารของจุลินทรีย์) การมองโลกอย่างสร้างสรรค์ของผู้นำท้องถิ่น  วิธีการคิด  การปฏิบัติ  บนโลกทัศน์ใหม่  จึงทำให้สภาพสังคมชุมชนมีความสงบสุข  ที่นั่นไม่มีวัยรุ่นขับขี่จักรยานยนต์ด้วยความเร็วสูง โดยนอนมาบนเบาะรถ 

ที่น่าชื่นชมคือการ ปลูกสบู่ดำ แล้วสกัดเป็นไบโอดีเซล ไว้ใช้กับเครื่องยนต์ในการเกษตร  เป็นพลังงานทดแทน  ตลอดจนอ้อยที่ชุมชนปลูก สามารถเป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำตาล แอลกอฮอล์  (แอลกอฮอล์ปัจจุบันมีราคาแพงมาก ในการเกษตรใช้สกัดสารไกลโคไซด์จากพืชเพื่อทำฮอร์โมนพืช ฯลฯ)

สรุป  ถ้าใครยังไม่ได้ไปดูการจัดการองค์ความรู้ของหนองสาหร่ายแล้ว อย่าพึงริทำการใหญ่  โดยเฉพาะท่านที่คิดจะขันอาสา เป็นนักการเมืองท้องถิ่น  หรือท่านที่จะเข้าคูหากาเบอร์ผู้สมัครการเมืองท้องถิ่น  หากยังเป็นผู้ที่มีกระบวนทัศน์แบบเดิม ๆ คือ เห็นว่าความเจริญของท้องถิ่นคือ อภิมหาโครงการ  ไฟสว่างทางเจริญ  แต่มองข้ามการเรียนรู้ของผู้คนในชุมชน  ขอได้โปรดกลับไปคิดใหม่เถอะ  สงสารพี่น้องประชาชนในท้องถิ่น  ที่ต้องผิดหวัง  และต้องจมอยู่กับความเจ็บป่วย (บริโภคอาหารที่มีสารพิษ เพราะใช้สารเคมีในการเกษตร เลี้ยงสัตว์ แต่ที่ผ่านการตรวจสารพิษแล้วไม่มีก็เป็นสินค้าส่งออก) ทุกข์ทรมาน อยู่บนโลกสมัยใหม่ เพราะขาดการเรียนรู้เพื่อการพึ่งตนเองอย่างแท้จริง

ต้องขอขอบคุณ อาจารย์  ขจิต  ฝอยทอง  เป็นอย่างสูงครับ  ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ชอบติดตามบทความของท่าน  บนบล๊อคเช่นกัน  ทำให้ได้ความรู้มาก

ด.ต. ธีรกานต์ฯ  /รุ่งอรุณ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท