Proceedings มหกรมมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒ (๑๓)


การจัดการความรู้ของสำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร

การจัดการความรู้ของสำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร


ผู้ดำเนินรายการ                 คุณไพฑูรย์   ช่วงฉ่ำ
ผู้อภิปราย                             คุณสุรพล     เถาว์โท         เกษตรจังหวัดกำแพงเพชร 
คุณสายัณห์  ปิกวงศ์         สำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร  
คุณวีรยุทธ์    สมป่าสัก      สำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร
คุณอารีรัตน์   ช่วงโพธิ์       สำนักงานเกษตรอำเภอขานุวรลักษณ์บุรี
คุณพงษ์ศักดิ์  จันทรมงคล   ตัวแทนกลุ่มเกษตรผู้ปลูกส้ม
วัน/เวลา                                                วันพฤหัสบดีที่  1  ธันวาคม  2548   เวลา  10.30-12.00  น.
คุณไพฑูรย์   ช่วงฉ่ำ :
             ในการนำเสนอการจัดการความรู้ของสำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชรครั้งนี้ มีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิอยู่  5 ท่าน ดังนี้ คุณสุรพล เถาว์โท เกษตรจังหวัดกำแพงเพชร, คุณสายัณห์ ปิกวงศ์ สำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร, คุณวีรยุทธ์  สมป่าสัก สำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร,  คุณอารีรัตน์  ช่วงโพธิ์  สำนักงานเกษตรอำเภอขานุวรลักษณ์บุรี และคุณพงษ์ศักดิ์  จันทรมงคล ตัวแทนกลุ่มเกษตรผู้ปลูกส้ม
             ในช่วงแรกของการเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์นั้น  ขอยกเวทีให้กับคุณสายัณห์ ปิกวงศ์  ท่านจะพูดถึงภาพรวมความเป็นมา และวิธีการขับเคลื่อนของสำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร
คุณสายัณห์   ปิกวงศ์ :    
สำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชรเป็น 1 ใน 9 จังหวัดนำร่อง มีภารกิจอยู่ 3 ประการ คือ
1.พัฒนากระบวนการผลิตทางการเกษตรให้มีคุณภาพ และมาตรฐานความปลอดภัย
2.ปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของเกษตรกร และอนุรักษ์ทรัพยากร
3.พัฒนาเกษตรกร องค์กรเกษตรกร
ขอเล่าประสบการณ์ที่ทางทีมงานได้ปฏิบัติ ของเสนอในรูปของ model การเรียนรู้
สำนักงานเกษตรจังหวัดเราเริ่มทำการพัฒนาองค์กรเมื่อปี 2542 โดยได้ปรับแนวคิดบุคลากร โดยใช้ตัวถ่ายทอด คือ ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีในชนบท จากนั้นมีการลงไปทำงานในพื้นที่เรียนรู้กับเกษตรกร มีการสร้างทีมงานที่มาด้วยความสมัครใจ ไปสร้างการเรียนรู้ในพื้นที่ หลังจากนั้นมาออกแบบเครื่องมือว่าแต่ละกิจกรรมที่ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้นั้น จะใช้เครื่องมืออะไรมีการพัฒนา ปรับเครื่องมือตามสถานการณ์ มีการกำหนดเป้าหมายในการทำงาน คือ ในเรื่องกลุ่มข้าว พืชผัก ไม้ผล พืชไร่ หรือกิจกรรม/โครงการต่างๆ ก็เกิดการสร้างระบบการทำงานส่งเสริมการเกษตรในสำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร ในช่วงนั้นองค์กรของเราเข้าสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ (learning organization: LO) เกิดบรรยากาศ ทีมงานในการทำงาน จึงมองเห็นว่าองค์ความรู้จะเกิดขึ้นได้ต้องลงไปปฏิบัติ
ในต้นปี 2548 เราได้นำการจัดการความรู้ (knowledge management: KM) เข้ามาในองค์กรควบคู่ไปกับศูนย์การเรียนรู้ เน้น case study เรามีเรื่องส้ม ข้าว พืชผัก ในขณะเดียวกันเราใช้การวิจัยและพัฒนา (research and development: R&D) เพื่อพัฒนาวิสัยทัศน์ (vision) ของจังหวัดกำแพงเพชร คือ เมืองน่าอยู่ มุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
จะขอเล่าการพัฒนาบุคลากรที่เข้าสู่ LO ของสำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร
ระยะที่หนึ่ง ปี 2543-2545 ก็ได้ลงไปปฏิบัติ (action) ในพื้นที่ เพื่อฝึกทักษะการใช้เครื่องมือกับชุมชน มีทีมงานคุณเอื้อลงไปเรียนรู้แบบกันเอง ฝึกทักษะการใช้เครื่องมือเพิ่มเติมให้กับบุคลากรทั้งจังหวัด อำเภอ ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีในชนบท จากนั้นแล้ว เมื่อเรียนรู้กับชุมชน และปฏิบัติงานในพื้นที่ ก็มาประเมินดูว่าเครื่องมือนั้นได้ตามแผนหรือไม่ ถ้าใช้แล้วติดขัดจะพัฒนาอย่างไร
ระยะที่สอง  ต้นปี 2546 เกิดพืชใหม่ในจังหวัดกำแพงเพชร คือ ส้มเขียวหวาน    เราหารูปแบบการทำงานในรูปแบบของศูนย์การเรียนรู้ จัดกระบวนการกลุ่มเพื่อหาแนวทางการพัฒนาส้มโดยให้เกษตรกร, ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ  องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วมว่าจะพัฒนาอย่างไร จากนั้นเกิดเครือข่ายทีมการทำงานแบบมีส่วนร่วม ทั้งกรมส่งเสริมการเกษตร เจ้าหน้าที่ที่อยู่ส่วนกลาง และบุคลากรระดับจังหวัด และอำเภอ จากนั้น มีการพัฒนาเครือข่ายทั้งในจังหวัด และนอกพื้นที่ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่จังหวัดสุพรรณบุรี และน่าน
ระยะที่สาม ต้นปี 2548 เป็นยุคของการจัดการความรู้ในองค์กร เรามีการฝึกทักษะแก่เจ้าหน้าที่ มีบุคคลเป้าหมาย มีบุคลากรที่บรรจุใหม่มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน จะฝึกเจ้าหน้าที่ทั้งเก่าและใหม่เป็นคุณอำนวย เรามีการฝึกการถอดบทเรียน มีการประเมินระหว่างและหลังดำเนินการ ว่ามีปัญหาอะไร เป็นอย่างไร อะไรที่ยังไม่ได้ทำ มีการเรียนรู้แบบการวิจัยแบบมีส่วนร่วม (participatory action research: PAR) ในเรื่องส้ม     เกิดนักวิจัยท้องถิ่นและเครือข่าย เกิดการพัฒนาเครือข่ายระหว่างเจ้าหน้าที่และเกษตรกร

การพัฒนาดังกล่าว จะสำเร็จได้ก็ต้องได้รับการสนับสนุนจากบุคคลที่เกี่ยวข้อง คือ คุณเอื้อ คุณกิจ คุณบันทึก ตอนนี้ขอเชิญท่านเกษตรจังหวัดในฐานะที่เป็นคุณเอื้อ มาเล่าเรื่องต่อ

คุณสุรพล   เถาว์โท :       
จากการที่สำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชรได้เข้าโครงการการจัดการความรู้ ในห้วงระยะเวลาที่ผ่านมา ผมในฐานะคุณเอื้อ ได้ดำเนินการ ดังนี้
1. ได้เปิดโอกาสให้ทีมจัดการความรู้   ของสำนักงานเกษตรจังหวัดได้ดำเนินการจัดการความรู้อย่างเต็มที่ ทั้งร่วมคิดและร่วมทำหรือเรียกว่าเปิดไฟเขียวให้
2. อนุญาตให้ทีมจัดการความรู้ใช้ห้องประชุมของสำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร     เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ทุกเวลา
3. สนับสนุนแผนปฏิบัติงานของทีมจัดการความรู้ที่จะลงไปปฏิบัติงานจัดการความรู้ในระดับพื้นที่หรือนอกพื้นที่
4. สนับสนุนด้านยานพาหนะ ที่ทีมจัดการความรู้ต้องออกไปปฏิบัติงานตามแผนทั้งในระดับอำเภอ ตำบล ระดับกลุ่มอาชีพ โดยเฉพาะกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
5. สนับสนุนวัสดุ  และอุปกรณ์ที่ใช้ในกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างเต็มที่  เช่น  กระดาษฟาง ปากกาเคมี เป็นต้น
6. ส่งเสริมให้ทีมจัดการความรู้ ได้ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันระหว่างเครือข่ายทั้งใน และนอกพื้นที่อย่างต่อเนื่อง หากเป็นความประสงค์ของทีม
7. สุดท้ายนี้ ผมยินดีที่จะให้การสนับสนุนทีมจัดการความรู้ และเครือข่ายได้ปฏิบัติงานแบบมีส่วนร่วมเพื่อให้การจัดการความรู้ขององค์กรได้บรรลุเป้าหมายต่อไป
คุณไพฑูรย์   ช่วงฉ่ำ :      
นอกจากบทบาทของคุณเอื้อแล้ว บทบาทสำคัญที่จะนำการจัดการความรู้ไปปฏิบัติและกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ในระดับอำเภอ คุณอำนวยในระดับจังหวัดจะต้องมีบทบาทหน้าที่จะนำเอาแผนไปสู่การปฏิบัติได้อย่างไร คุณสายัณห์  ปิกวงศ์ จะมาเล่าวิธีการ วิธีกระตุ้น และเทคนิค
คุณสายัณห์   ปิกวงศ์ :    
บทบาทคุณอำนวยในระดับจังหวัด คือ  การสร้างทีมงาน  มีพื้นที่   กระตุ้นให้ทั้งทีมงานและองค์กรมองเห็นเป้าหมายของงาน, คุณอำนวยต้องผ่านการเป็นคุณสังเกต ฝึกจับประเด็น ฝึกบันทึก เป็นคุณกิจด้วย, สอนงานเจ้าหน้าที่ และฝึกบันทึก งานที่ทำต้องนำมาเขียน เพื่อพัฒนาไปสู่คลังความรู้ (knowledge assets: KA)
คุณไพฑูรย์   ช่วงฉ่ำ :      

คุณอำนวยต้องไปฝึกทักษะการฟัง การสังเกต รวมทั้งบางครั้งต้องเป็นคุณกิจ นอกจากนั้น ต้องฝึกหาคำตอบ เราลองฟังคุณอำนวยในระดับอำเภอบ้าง จะสานต่อคุณอำนวยในระดับจังหวัดอย่างไร

คุณอารีรัตน์   ช่วงโพธิ์ :   
ขอเล่าการปฏิบัติงานจริงในภาคสนาม ของสำนักงานเกษตรอำเภอขานุวรลักษณ์บุรี ปฏิบัติเป็นคุณอำนวยในกลุ่มส้มของตำบลยางสูง ได้เข้าไปทำการจัดการความรู้โดย
ขั้นแรก  พบกลุ่มเกษตรกร ซึ่งได้กระตุ้นกลุ่มให้มีอารมณ์ร่วมในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ อาจจะพูดคุยเกี่ยวกับอาชีพหรือเกริ่นความรู้เดิมๆ ถ้าเคยแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันแล้ว เอาประสบการณ์ที่มีของเขามาแบ่งปันกัน
ขั้นที่สอง มีการใช้เครื่องมือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มีการลงสนามเรียนรู้จากของจริง มีการใช้เครื่องมือซึ่งอาจจะเป็นแผนที่ความคิดต่างๆ
มีการตั้งคำถาม กระตุ้นให้กลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้ คิด หาข้อสรุปด้วยกัน เราจะต้องจับประเด็นด้วย อาจจะมีผู้ช่วยมาร่วมจับประเด็นก็ได้ หลังจากนั้นต้องมีการสรุปบทเรียน โดยให้เกษตรกรเป็นผู้สรุปและให้เขาทำเอง
เมื่อเรียนจบแต่ละครั้งแล้ว ก็ร่วมกันกำหนดว่าครั้งต่อไปจะเรียนรู้เรื่องอะไร ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพ แวดล้อมตอนนั้นว่า ส้มแต่ละสวนเป็นอย่างไร ใครอยากจะให้ไปสวนไหน แต่ละสวนก็จะเอาประสบการณ์ของตัวเองมาคุยกัน เช่น ใช้ชีวภาพมันดี เขาก็เอามาทำกัน
คุณไพฑูรย์   ช่วงฉ่ำ :      
หลังจากที่เราทราบบทบาทคุณอำนวยในระดับอำเภอ คือ เธอได้ไปกระตุ้นให้กลุ่มเกิดอารมณ์ร่วม ใช้เทคนิคการตั้งคำถาม สรุปบทเรียน ซึ่งเราเรียกว่า after action review (AAR) นั่นเอง ลองมาฟังคุณกิจ เมื่อเข้าร่วมในการจัดการความรู้ เขารู้สึกอย่างไร เขาทำบทบาทอะไร
คุณพงษ์ศักดิ์   จันทรมงคล :        
ผมเป็นตัวแทนของเกษตรกรผู้ปลูกส้มที่อยู่ในพื้นที่จริง   โดยกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกส้มตำบลยางสูง ถือกำเนิดมาตั้งแต่ปลายปี 2545 มีวัตถุประสงค์ คือ พัฒนาการปลูกส้มให้ยั่งยืน พัฒนาองค์กรเพื่อลดอัตราเสี่ยงด้านต่างๆ   ที่เคยเกิดขึ้นในหลายพื้นที่     โดยการจัดกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ขึ้นในกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกส้ม เราทำกันเดือนละครั้ง สถานที่จัดจะตระเวนไปตามสวนของสมาชิก ดูและหาปัญหา ต้นเหตุของปัญหา และหาข้อสรุปของปัญหา
เริ่มจากการจัดการพื้นที่  น้ำ  การปลูกกิ่งพันธุ์  โรค และแมลงที่ทำให้ต้นส้มทรุดโทรม ผลผลิตต่ำ ต้นส้มของสมาชิกที่เป็นคนในพื้นที่  เริ่มมีปัญหาระบบราก ที่เกิดจากเชื้อรา ซึ่งทางกลุ่มมีการทดลองใช้เชื้อไตรโคโตมา ไมโครไลซา มาเสริมราก
เรื่องผลผลิต เกษตรกรรายใหม่ส่วนใหญ่เห็นดอกก็จะเก็บเอาไว้ทั้งหมด ไม่ได้คิดถึงผล ความสมบูรณ์ของต้น นอกจากนั้นยังมีปัญหาผลผลิตออกพร้อมกัน ทำให้รายได้ตกต่ำ เกิดรายรับและรายจ่ายไม่สัมพันธ์กัน ต้นส้มทรุดโทรม  เราก็มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ทดสอบ วิจัยหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น แนวทางหนึ่งที่คิดทำคือการที่สมาชิกร่วมกันผลิตส้มนอกฤดู เพื่อให้ส้มที่ออกมาไม่ตรงกับช่วงเวลาปกติ
รู้จักความสำคัญของการจดบันทึกเพื่อให้ทราบถึงต้นทุน เช่น ราคาส้มในแต่ละเดือน ช่วงเวลาการระบาดของโรค แมลง ปริมาณน้ำฝน อุณหภูมิ สมาชิกก็จะเริ่มการวางแผนการปฏิบัติงานล่วงหน้า เริ่มวิธีการที่จะให้ผลผลิตมีคุณภาพ โดยวิธีการเริ่มต้น จะหาสมาชิกที่ร่วมทำ ทำแผนที่ปฏิบัติการ ทำงานตามแผน บันทึก ประเมินผลกัน ถ้าไม่บรรลุตามแผนก็จะนำมาถกกันว่าเป็นเพราะเหตุใด หาข้อสรุปให้ได้
ประโยชน์ที่สมาชิกได้รับ คือ รู้ปัญหา รู้จักโรค รู้จักแมลงชนิดต่างๆ  วิธีการกำจัด และควบคุมแมลง ปัจจุบันมีความเป็นไปได้ที่สมาชิกได้รู้ มองเห็นถึงปัญหา ทำให้สมาชิกมีต้นทุนที่ลดลง
คุณไพฑูรย์   ช่วงฉ่ำ :      
ทั้งหมดนี้เป็นการพัฒนาของคุณกิจว่าจะมีการพัฒนาการทำงานอย่างไร มีวิธีการแก้ปัญหาอย่างไร ที่นี้บุคคลอีกท่านหนึ่งที่มีความสำคัญ  คือ คุณลิขิต   ที่เป็นผู้จดขุมความรู้ที่เกิดขึ้นในเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เราจะเห็นว่าคนเราพูดมากกว่าเขียน   ดังนั้น การที่จะจับประเด็นนั้นน้อยคนจะทำสำเร็จ ขอเชิญ คุณวีรยุทธ์ สมป่าสัก มาเล่าให้ฟังในการจับประเด็น
คุณวีรยุทธ์   สมป่าสัก :     
ในอดีตกระบวนการที่เราทำ เราไม่รู้ว่าเป็นการจัดการความรู้ เราไม่ได้นับหนึ่งทุกหน่วยงานมีทุนอยู่เดิมแล้ว    การจัดการความรู้เป็นโอกาสของเราในภาครัฐที่จะเอื้อให้เราทำงานได้ดีขึ้น  การจัดการความรู้ต้องกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน มีขุมความรู้
การเข้าสู่สำนักส่งเสริมการเกษตรมืออาชีพ เรามีหกขั้นตอน คือ  หนึ่ง  การปรับแนวคิดเจ้าหน้าที่ว่า เราจะทำอะไร เรารู้อะไร ไม่รู้อะไร สอง การพัฒนาตนเอง สาม การสร้างทีมงานและเครือข่าย เราทำงานคนเดียวไม่ได้    สี่   การสร้างระบบการทำงานในพื้นที่ว่าจะเริ่มต้นตรงไหน แล้วจะไปอย่างไรต่อ ห้า การปรับกระบวนการทำงานในพื้นที่ ซึ่งเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ ซึ่งต้องเป็นการกระตุ้น และติดอาวุธทางปัญญาให้เขา และ หก การเขียนรายงานผลการปฏิบัติงาน ซึ่งเป็นรายงานผลการทำงานของเรา จะต้องอ่าน ศึกษา   และมีพื้นฐานในเรื่องนั้นๆ
เวลาที่ผมไปเขียน จะต้องมีกล้องถ่ายรูป สมุดจดบันทึก จะทำสองอย่างไปพร้อมกัน โดยขั้นตอนที่เราบันทึกก็จะเอาภาพใส่เข้าไปประกอบ หรือใส่ภาพก่อนแล้วใส่รายละเอียด สุดแล้วแต่ใครจะถนัดอะไร แต่ต้องทำก่อนจึงจะเขียนได้  เขียนที่ทำไปนั้นแหละ ครั้งแรกอาจจะไม่สละสลวย แต่เราก็ต้องฝึก และหาความรู้กันไป
เวลาลงพื้นที่มีสองส่วนที่จะต้องถูกถอดออกมา คือ องค์ความรู้ในส่วนของกระบวนการทำงาน และตัววิชาการ เวลาถอดชาวบ้านก็เห็น เวลาเขียนเราก็ได้ความรู้ และสิ่งหนึ่งที่ได้ คือ ข้อห้ามและข้อควรปฏิบัติต่างๆ
website นี้เราทำในปี 2545 น้องเป็นคนทำ ผมถ่ายรูปและร่วมกันทำ ซึ่งภาครัฐจะต้องพัฒนาตนเองจากข้างในก่อน เมื่อภายนอกเข้ามาก็จะพัฒนาได้ไวขึ้น บทความความรู้ต่างๆ ที่ได้ทั้งหมดอาจจะเอาขึ้น web ไปก่อน แล้วมาจัดหมวดหมู่อีกครั้งหนึ่งทีหลัง แต่อย่าลืมว่า ต้องเขียน ต้องฝึกให้เจ้าหน้าที่รู้กระบวนการก่อน แล้วเราค่อยขยายไป
คุณไพฑูรย์   ช่วงฉ่ำ :      
ทั้งหมดนั้นเป็นบทบาทของคุณลิขิตว่า  ท่านใช้หลักการในการปรับความคิดของเจ้าหน้าที่ก่อน แล้วพัฒนาตนเองก่อนที่จะไปพัฒนาผู้อื่น ปรับกระบวนการทำงาน เขียนรายงานการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เองว่าใครทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ และต้องมีความรู้ในเรื่องที่จะเขียน เรียนรู้เรื่องกระบวนการทำ AAR นอกจากนั้น อุปกรณ์ที่จะต้องนำติดตัว คือ กล้อง สมุดบันทึกจะช่วยให้เรากันลืม สิ่งสำคัญ คือ ท่านเน้นในเรื่องการปฏิบัติในช่วงสุดท้าย ขอให้คุณสายัณห์ ปิกวงศ์ ช่วยสรุปผลลัพธ์สุดท้ายของการทำการจัดการความรู้ด้วยว่า ในการขับเคลื่อนการพัฒนางานนั้น มีปัจจัยส่งเสริมความสำเร็จของการทำงานอะไรบ้าง
คุณสายัณห์   ปิกวงศ์ :    
สิ่งสำคัญ คือ การทำงานเป็นทีม เราจะต้องมองหาเพื่อนร่วมคิด มีจุดแข็ง แล้วเอาจุดดีของเขามาร่วมทีม นอกจากนั้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเชิงประสบการณ์ก็สำคัญ เราทำไปก็จะเห็นไปไม่สิ้นสุด ซึ่งเรามองเห็นแล้วว่า knowledge vision (KV) ของเราจะไปอย่างไร เราอยู่ได้เพราะเครือข่าย มีพี่ และเพื่อนช่วยทำงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันในจังหวัดและต่างจังหวัด การแบ่งปันต้องมีไมตรี ต้องให้ ฟังเพื่อน สิ่งไหน ที่เรายังไม่ได้ทำก็กลับมาทำ สุดท้ายสำคัญที่สุดคือการบันทึก ทำแล้วต้องนำมาเขียนเป็นคลังความรู้ นำออกมาใช้ ไม่ว่าใครจะย้ายออกไปเมื่อไหร่ก็ไม่สำคัญ
คุณไพฑูรย์   ช่วงฉ่ำ :      
หลังจากได้ฟังการเล่าขานของทีมงานกำแพงเพชรแล้ว จะเห็นว่าทีมงานกำแพงเพชรมีต้นทุนเดิมที่อยู่ในองค์กรอยู่แล้วตั้งแต่ปี 2542    ได้มีการปรับเปลี่ยนแนวคิดของคนในองค์กร ช่วงแรกมีการพูดถึงภารกิจขององค์กรที่ตอบสนองต่อภารกิจของกรมส่งเสริมการเกษตร หลังจากนั้น เมื่อทำตามเป้าหมายแล้ว ท่านลงไปค้นหาปัญหาในชุมชน ทำงานร่วมกับชาวบ้าน และเกษตรกร ในส่วนของจังหวัดเองก็ขับเคลื่อนโดยการฝึกคุณอำนวยให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สุดท้ายกลับมาทำในองค์กร เราจะเห็นว่าวิธีการจัดความรู้ของสำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร เมื่อสรุปหลักการแล้ว เขาจะเน้นที่เป้าหมายงาน มุ่งเน้นลูกค้า คือ เกษตรกร มุ่งเน้นบุคลากร โดยใช้หลักรวมคน ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมประเมินผล ปัจจัยแห่งความสำเร็จคือ หัวใจคือ เกษตรกร เน้นการทำงานเป็นทีม ผู้บริหารสนับสนุนอย่างจริงจัง กระบวนการมีส่วนร่วมของเกษตรกร  อีกทั้งคุณอำนวยก่อให้เกิดบรรยากาศในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  ใช้เครือข่ายให้เกิดประสิทธิภาพ นี่คือบทสรุปของการจัดการความรู้ของสำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร


ช่วงนี้มีคำถามแรกคือ ในกรณีที่ทำการจัดการความรู้กับชาวบ้าน มักจะเกิดปัญหาว่าจะสรุปประเด็นร่วมกันไม่ได้ ทำอย่างไรถึงจะให้กลุ่มจับประเด็นลงได้ ท่านใช้เทคนิคอะไร


คุณวีรยุทธ์   สมป่าสัก :     
จากประสบการณ์ในฐานะคุณอำนวย ต้องเข้าใจก่อนว่าทุกความคิดมีคุณค่า ต้องยอมรับความคิดของทุกคน อีกอันหนึ่งคือ ในบางประเด็นจะมีหลายคำตอบ ซึ่งเราจะบอกว่าไม่มีใครถูกใครผิด เราจะจัดกลุ่มความคิดให้เหมือนกันที่สุด เราจะไม่ใช้วิธียกมือให้คะแนนกัน เพราะคนที่เสนอความคิดแล้วแพ้จะเกิดปฏิปักษ์แล้วจะไม่มาอีก ซึ่งเราอาจจะอธิบายให้ยอมรับให้ได้ ถ้าไม่ได้วันหลังก็มาคุยกันใหม่
คุณไพฑูรย์   ช่วงฉ่ำ :      

มีคำถามว่า มีการทำการจัดการความรู้ในสำนักงานหรือไม่ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเกษตรกร

คุณวีรยุทธ์   สมป่าสัก :     
ในองค์กรที่เห็นเป็นรูปธรรม คือ การฝึกคนใหม่ และสอนงาน เช่น บอกเขาว่าต้องทำแฟ้มสะสมงานตั้งแต่วันแรกที่ทำ ถ้ามีกิจกรรมและภาพก็บันทึกเข้าไป วันหลังก็นำมาจัดกลุ่ม ฝึกทำแผน เป็นคุณอำนวย  ประเมิน  AAR
คุณไพฑูรย์   ช่วงฉ่ำ :      
การสร้างทีมงานของกำแพงเพชรในระดับจังหวัด อำเภอนั้น มีบุคลากรอื่นๆ เข้าร่วมหรือไม่ ในการสร้างทีมนั้นทำอย่างไรจึงจะให้บุคลากรภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วม
คุณสายัณห์   ปิกวงศ์ :    
ทุนเดิมคือกระบวนการวางแผนชุมชนแบบมีส่วนร่วม  เราได้ประสาน และเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาวิเคราะห์แผนชุมชนทั้งสาธารณสุข ประมง เป็นต้น  ณ วันนี้เราก็เกาะติดสถานการณ์การวางแผนชุมชนมาโดยตลอด   วันนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ลงไปแล้วเรื่องส้ม งานวิจัยของสาธารณสุขก็ลงไป อบต.ก็มา
คุณไพฑูรย์   ช่วงฉ่ำ :      
ถ้าไม่มีเจ้าหน้าที่เกษตรเป็นผู้นำ กลุ่มเกษตรกรจะทำเองได้หรือไม่ หมายความว่า ทำอย่างไรจะให้เขาพึ่งตนเอง ไม่มาพึ่งเรา นั่นคือ เมื่อเราลงมือไปแล้วเขาสามารถทำได้เอง และนำไปสู่ชุมชนแห่งการเรียนรู้ ตรงนี้จะทำได้อย่างไร
คุณพงษ์ศักดิ์   จันทรมงคล :        
เกษตรกรมีการเชื่อมโยงของตัวเกษตรกรเอง แต่ถ้าไม่มีคนสนับสนุนกลุ่มก็จะไม่โต

คุณไพฑูรย์   ช่วงฉ่ำ :       
ถามเกี่ยวกับคุณลิขิตในเรื่องวิธีการบันทึกว่า จะบันทึกทุกคำพูดหรือเฉพาะประเด็นสำคัญ มีรูปแบบอย่างไร มีตัวอย่างหรือไม่ เมื่อบันทึกแล้วต้องมีผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบหรือไม่
คุณวีรยุทธ์ สมป่าสัก :
ถ้ามององค์ความรู้ในภาพกว้าง เราบันทึกในสิ่งที่ทำ รูปแบบก็ขึ้นอยู่กับคน ไม่จำเป็นต้องบันทึกทุกคำพูด เพราะบางประเด็นก็พูดซ้ำไปซ้ำมา ผมจะใช้รูปเป็นตัวเดิน เพราะอธิบายได้ จะถอดเฉพาะหัวข้อ รายละเอียด และคำพูดที่สำคัญเท่านั้น
คุณไพฑูรย์ ช่วงฉ่ำ :

ใครควรเป็นผู้ริเริ่มให้เกิดการจัดการความรู้ในองค์กร แล้วจะทำจากจังหวัดไปอำเภอไปตำบลหรือจะทำไปพร้อมๆ กัน

คุณสายัณห์   ปิกวงศ์ :    
การจัดการความรู้ในองค์กรเป็นบทบาทของคุณเอื้อ ในบทบาทคุณอำนวยระดับจังหวัดก็ต้องหาเพื่อน จึงจะมีพลังที่จะทำความเข้าใจกับคุณเอื้อ และกับบุคลากรของกำแพงเพชรได้ คุณเอื้อต้องเปิดไฟเขียวจึงสามารถคิดอะไรได้ องค์การแห่งการเรียนรู้กับการจัดการความรู้ต้องไปคู่กัน เน้นทีมไปที่พื้นที่  มองไปที่เครือข่ายที่จะมาเสริมเป็นระยะๆ เรียนรู้ข้างนอกร่วมกัน
คุณไพฑูรย์   ช่วงฉ่ำ :      

ถ้าไม่มีคุณเอื้อเหมือนคุณสุรพล หรือไม่ได้ให้การสนับสนุนเราจะทำอย่างไร
คุณวีรยุทธ์   สมป่าสัก :     
ถ้ามองในสถานการณ์ปัจจุบันว่าองค์กรคือบริษัท ถ้าไม่ตอบสนองลูกค้าเราจะอยู่ไม่ได้ต้องทำการพัฒนา คุณเอื้อสำคัญมากโดยเฉพาะภาครัฐ ถ้าไม่แกร่งจริง เครือข่ายและคุณเอื้อไม่ร่วม เราจะได้ในระดับหนึ่งแต่ไม่สำเร็จ
คุณไพฑูรย์   ช่วงฉ่ำ :      
คำถามสุดท้าย คือ ทีมกำแพงเพชรจะกระตุ้นและไปแลกเปลี่ยนให้กับเพื่อนๆ ทางลำพูนจะได้ไหม
คุณสุรพล   เถาว์โท :       

ยินดี และพร้อมให้ความร่วมมือ

คุณไพฑูรย์   ช่วงฉ่ำ :      

ในการเรียนรู้นั้น ตอนกลับไปที่องค์กรของท่าน ขอให้ท่านมีใจ ทำดูจะรู้ปัญหา ปัญญาก็จะเกิด ก่อกำเนิดองค์ความรู้ เชิดชูและพัฒนางาน

ขอจบรายการช่วงเช้าเพียงเท่านี้

หมายเลขบันทึก: 12687เขียนเมื่อ 19 มกราคม 2006 04:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤษภาคม 2012 15:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท