เมื่อลูกถูกจับ! กำลังใจที่ไม่รังแก


ลูกถูกทำตรวจจับพ่อแม่จะรู้สึกอย่างไร
เมื่อลูกถูกจับ! กำลังใจที่ไม่รังแกที่มา  หนังสือพิมพ์ข่าวสด  วันที่  5 กันยายน 2550


ทำอย่างไรเมื่อลูกถูกจับ!!!

ผู้ปกครองส่วนหนึ่งอาจรู้สึกโล่งใจเมื่อลูกถูกจับเพราะไม่รู้ว่าจะจัดการปัญหาพฤติกรรมของลูกตนเองอย่างไร และหวังให้การถูกจับและวิธีทางของกฎหมายเป็นเครื่องมือช่วยสอนลูกให้หลาบจำและไม่ทำผิดอีก

เมื่อลูกถูกจับ บุคคลที่ลูกต้องการให้อยู่เคียงข้างด้วยก็คือพ่อแม่ผู้ปกครองที่พร้อมเข้าใจ พร้อมให้อภัย และเป็นกำลังใจในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม ร่วมกับกลุ่มพัฒนาระบบงานจิตวิทยา สำนักพัฒนาระบบงานยุติธรรมเด็กและเยาวชน จัดทำคู่มือเข้าใจวัยรุ่น เพื่อช่วยให้พ่อแม่ผู้ปกครองเลี้ยงดูลูกวัยรุ่นด้วยความเข้าใจ เพื่อให้ลูกวัยรุ่นผ่านพ้นช่วงวิกฤตไปได้ด้วยดี บอกเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านร่างกายและจิตใจ คำแนะนำในการเข้าใจ ยอมรับ เป็นแบบอย่าง การสื่อสาร การคบเพื่อน และการช่วยเหลือแก้ไขเมื่อลูกมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม

ในหนังสือคู่มือเข้าใจวัยรุ่นนี้ ให้คำแนะนำพ่อแม่เมื่อลูกถูกดำเนินคดีว่า พ่อแม่ทุกคนย่อมไม่อยากให้ลูกกระทำผิด ถูกจับหรือดำเนินคดี แต่เมื่อลูกวัยรุ่นมีปัญหาพฤติกรรมจนถึงขั้นกระทำความผิดและถูกจับกุม พ่อแม่บางคนทุกข์ใจแสนสาหัส และพยายามทุกวิถีทางที่จะช่วยให้ลูกกลับบ้านให้เร็วที่สุด บางรายต้องนำทรัพย์สินที่มีหรือหากไม่มีก็ต้องหยิบยืมญาติพี่น้องเพื่อมาใช้ประกันตัวลูก เพราะไม่อยากให้ลูกต้องทุกข์กาย ทุกข์ใจ บางรายรู้สึกเสียใจที่ตนไม่สามารถเลี้ยงดูลูกให้เป็นคนดีได้ บางรายรู้สึกอับอายที่พฤติกรรมของลูกทำให้ตนเองและวงศ์ตระกูลเสื่อมเสียชื่อเสียง


เมื่อลูกถูกจับ สิ่งที่ลูกต้องการมากที่สุดคือความเข้าใจ เด็กหลายคนทำผิดเลือกทางเดินผิด หรือทำตามเพื่อนโดยไม่รู้ว่าผลของพฤติกรรมของตนจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่นอย่างไร บางครั้งมีผลกระทบต่อจิตใจของเด็กโดยเฉพาะเด็กที่ทำความผิดก่อคดีรุนแรงต่อชีวิตและร่างกายผู้อื่น ผลกระทบทางจิตใจที่เกิดขึ้นกับเด็กที่กระทำความผิดนั้นอาจรวมถึงความเสียใจ เนื่องจากความรู้สึกผิดต่อผู้ปกครอง ผิดต่อเหยื่อ หรือต่อตัวเอง หรือตกใจที่ถูกจับ รู้สึกกลัวและไม่รู้ว่าตนเองจะเป็นอย่างไร

บางคนมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปเป็นคนละคนจากเดิมที่เป็นเด็กร่าเริง เปลี่ยนแปลงไปกลายเป็นเด็กที่ซึมเศร้า พูดน้อยและเก็บตัว สิ่งที่ผู้ปกครองสามารถทำได้คือการพลิกผันสถานการณ์การถูกจับกุมให้เป็นประโยชน์ต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของลูก

เมื่อลูกถูกจับหรือทำผิดพ่อแม่ผู้ปกครองต้องอยู่เคียงข้างเขา การอยู่เคียงข้างไม่ใช่การเข้าข้าง การเข้าข้างคือการสนับสนุนและเห็นด้วยกับพฤติกรรมของลูกโดยไม่คำนึงถึงความถูกต้อง แต่การอยู่เคียงข้างคือการช่วยเป็นกำลังใจ ให้คำปรึกษา หรือแสดงความรักความเห็นใจ คอยสนับสนุนให้ลูกมีแนวทางเดินไปในทางที่ถูกต้องเหมาะสม

การมีส่วนร่วมในการดูแลบุตรหลานเมื่อถูกจับก็เป็นสิ่งสำคัญ กระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็กมีขั้นตอนดำเนินงานหลายขั้นตอนที่จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ปกครอง เช่น การเชิญผู้ปกครองเข้าร่วมกิจกรรมกับเด็กและเยาวชนเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจในครอบครัว การให้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมวางแผนช่วยเหลือบำบัดแก้ไขฟื้นฟูเด็ก และการเตรียมเด็กและครอบครัวให้มีความพร้อมก่อนได้รับการปล่อยตัว การร่วมกิจกรรมที่ทางราชการกำหนดให้ ไม่ว่าจะเป็นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับครอบครัวเรื่องพฤติกรรมของลูก และสิ่งที่ครอบครัวสามารถทำได้เพื่อช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกเป็นสิ่งสำคัญที่แสดงถึงการอยู่เคียงข้างลูก อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือการไม่ทอดทิ้งลูกให้เผชิญกับสถานการณ์เพียงลำพัง


การอยู่เคียงข้างลูกในสถานการณ์เลวร้ายในชีวิตของเขาช่วยบอกให้เขารู้ว่าแม้เขาจะทำสิ่งที่ผิดพลาดไป เขายังมีคุณค่าพอที่ผู้ปกครองจะให้อภัย ความรู้สึกว่ามีคุณค่าจะเป็นปัจจัยผลักดันให้เขามีกำลังใจ และอยากปรับปรุงตัวเอง เด็กที่กระทำผิดหลายคนที่ผู้ปกครองเมื่อทราบว่าลูกทำผิดและถูกจับก็ทอดทิ้งไม่มาดูแล ลูกที่รู้สึกแย่อยู่แล้วก็ยิ่งแย่ไปอีกทั้งที่เดิมมีความหวังว่าจะปรับตัวจึงหมดกำลังใจ

พ่อแม่หลายคนเลือกเข้าข้างลูกโดยไม่คำนึงถึงเหตุผลเพราะรู้สึกผิดต่อลูก สงสารลูก ลูกจะเอาอะไรให้หมด ผู้ปกครองบางคนถึงขนาดที่ว่าเวลาไปเยี่ยมลูกแอบเอาบุหรี่หรือยาบ้าใส่ของเยี่ยมมาให้ ผู้ปกครองบางคนเลือกการกล่าวว่าทางราชการว่าทำไม่ถูกต้องที่จับลูกไป อันนี้เข้าข่าย "พ่อแม่รังแกฉัน"

การกระทำเช่นนี้มีผลเสียต่อพฤติกรรมของลูกเพราะทำให้ลูกเรียนรู้ว่าการมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง ขาดความรู้สึกรับผิดชอบต่อพฤติกรรมตนเอง อีกทั้งยังเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี

พ่อแม่บางคนทอดทิ้งลูก ไม่มาติดต่อ ไม่ให้ความร่วมมือเพราะต้องการให้การถูกจับเป็นบทเรียนสอนลูก การทำเช่นนี้มีผลเสียมากกว่าผลดี แม้ว่าพ่อแม่มีเจตนาดี อยากให้ลูกปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แต่การปล่อยให้ลูกเผชิญปัญหาด้วยตัวเอง ความรู้สึกสับสน อ้างว้าง อาจนำไปสู่ความโกรธแค้น แทนที่เด็กจะเรียนรู้และนำมาเป็นบทเรียนที่สำคัญของชีวิต กลับกลายเป็นสิ่งที่บั่นทอนจิตใจและส่งผลให้เกิดการมีปัญหาทางอารมณ์และพฤติกรรมเพิ่มขึ้นไปอีก

ยังไม่สายสำหรับการเริ่มต้นใหม่ และไม่มียาขนานใดที่ดีเท่ากับความรักความอบอุ่นในครอบครัว

สถานที่ขอรับคำปรึกษา : นักจิตวิทยาของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัด และศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ, สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น, แผนกจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ในโรงพยาบาลของรัฐ และศูนย์บริการให้คำปรึกษาต่างๆ ด้านเด็กและครอบครัว

สนใจ คู่มือเข้าใจวัยรุ่น และหนังสือพินิจด้วยรัก พิทักษ์ด้วยใจ ติดต่อขอรับฟรีที่ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน อาคารกระทรวงยุติธรรม ชั้น 17 ถ.แจ้งวัฒนะ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี 11120 โทร. 0-2502-8281, 0-2502-8608 www.djop.moj.go.th
คำสำคัญ (Tags): #ลูกถูกจับ
หมายเลขบันทึก: 125244เขียนเมื่อ 5 กันยายน 2007 13:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤษภาคม 2012 10:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท