BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

สืบ นาคะเสถียร กับการกระทำเหนือหน้าที่ ๗


สืบ นาคะเสถียร กับการกระทำเหนือหน้าที่ ๗

จาก ( สืบ ...๕และ สืบ ...๖ ) เป็นการตรวจสอบการกระทำของสืบ นาคะเสถียรผ่านแนวคิดประโยชน์นิยมและลัทธิคานต์ ซึ่งเป็นฝ่ายคัดค้านการกระทำเหนือหน้าที่... บันทึกนี้จะตรวจสอบโดยผ่านจริยศาสตร์คุณธรรม ซึ่งเป็นฝ่ายยอมรับการกระทำเหนือหน้าที่... อนึ่ง ผู้เขียนได้เล่าไว้บ้างแล้วที่ จริยศาสตร์คุณธรรมกับการกระทำเหนือหน้าที่ ๑. เป็นต้น ซึ่งผู้สนใจอาจพลิกไปดูได้ ในที่นี้จะนำเสนอบางมุมมองเฉพาะการกระทำของสืบ นาคะเสถียร เท่านั้น...

ในหนังสือชื่อ Ethics : Discovering Right ans Wrong ของ โพจแมน (pojman, Louis P.) ได้สรุปข้อบกพร่องของจริยศาสตร์หลักการ (คือประโยชน์นิยมและลัทธิคานต์) ไว้ ๔ ประการ กล่าวคือ

  • ขาดส่วนประกอบของแรงจูงใจ
  • มีพื้นฐานมาจากรูปแบบของกฎทางเทววิทยา จึงมีความเหมาะสมได้ไม่นาน
  • เพิกเฉยมิติของหลักศีลธรรม
  • เน้นหลักการของภาวะอิสระเกินไป โดยละเลยบริบททางสังคมของหลักศีลธรรม

ผู้เขียนจะใช้ข้อคัดค้านเหล่านี้เป็น มุมกลับ เพื่อยืนยันว่า การกระทำของสืบ คล้อยตามสิ่งที่ขาดหายไปของจริยศาสตร์หลักการอย่างไรบ้าง...

ประการแรกเรื่องแรงจูงใจ... สืบมีแรงจูงใจในการปลิดชีพของตัวเองอย่างแน่นอน เพราะตามประวัติของเขา สืบเป็นนักอนุรักษ์ธรรมชาติโดยกำเนิด นอกจากศึกษาด้านวิชาการตามหลักทฤษฎีและปฏิบัติแล้ว สืบยังเป็นคนทำงานจริงจังตามอุดมคติของตัวเอง... การตัดสินใจปลิดชีพของตัวเอง กล่าวได้ว่าเป็นแรงจูงใจเพื่อให้ความมุ่งหวังของตัวเองในการอนุรักษ์ป่ามีความเป็นจริงและเป็นไปได้เพิ่มขึ้น....

........ 

ด ้านรูปแบบของกฎทางเทววิทยา...จะมีกรอบชัดเจนทางตรรกะ นั่นคือ มี พระผู้สร้าง (พระเป็นเจ้า) และ ผู้ถูกสร้าง (มนุษย์)... คำสั่งของพระผู้สร้างจัดเป็นกฎ ให้ผู้ถูกสร้างกระทำตาม ซึ่งตามตัวบทอาจมีความเหมาะสมขณะนั้น แต่เมื่อสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป คำสั่งนั้นก็อาจไม่เหมาะสม... ทำนองนี้เป็นแนวคิดของกฎทางเทววิทยา...

กฎของจริยศาสตร์หลักการก็เป็นไปทำนองนี้ กล่าวคือ วางกฎไว้คล้ายๆ คำสั่งให้กระทำตาม ซึ่งบางครั้งอาจไม่เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป...

ส่วนจริยศาสตร์คุณธรรม เน้นที่พื้นฐานทางใจที่พึงปรารถนาของคน ซึ่งเชื่อมโยงอยู่กับสิ่งแวดล้อมภายนอกเสมอ ดังนั้น การที่สืบปลิดชีพตัวเอง อาจสะท้อนถึงคุณธรรมในใจทางด้านนี้อย่างสูงสุดของเขา นั่นคือ แ้ม้ชีวิตก็สละได้เพื่อให้สิ่งที่พึงปรารถนาทางใจที่เรียกว่าคุณธรรม มีความเป็นจริงหรือเป็นไปได้ยิ่งขึ้น.... ประมาณนี้

.........

ประเด็นเพิกเฉยมิติของหลักศีลธรรม นั่นคือ จริยศาสตร์หลักการไม่คำนึงถึงความดีชั่วหรือผิดถูกของคนทั่วไป มุ่งแต่จะใช้หลักการหรือกฎเข้าไปตัดสินการกระทำของคนเท่านั้น......

กรณีของสืบ ความเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ป่าทีดีก็คือการรักษาป่าไว้ให้ได้ แต่ถ้าไม่สามารถกระทำได้ก็จัดว่าเป็นเจ้าพนักงานที่ดีไม่ได้... ดังนั้น เพื่อรักษาความดี หรือสร้างความดีให้เกิดขึ้น ก็จะต้องกระทำประการใดประการหนึ่งเพื่อให้ป่ายังคงอยู่มีความเป็นจริงและเป็นไปได้ยิ่งขึ้น.... การยอมปลิดชีพตัวเองของสืบ ผู้เขียนคิดว่าอาจจัดเป็นมิติทางศีลธรรมได้ตามนัยนี้...

.............

และ การเน้นภาวะอิสระ ไม่เน้นบริบททางสังคม ก็เช่นเดียวกัน... นั่นคือ การเน้นแต่เพียงใช้กฎเข้าไปตรวจสอบการกระทำว่าผิดหรือถูกเท่านั้น ไม่สามารถเป็นไปได้ในโลกของความเป็นจริง เพราะคนมีชีวิตจิตใจ มีพื้นฐานทางสังคมแตกต่างกัน และอะไรต่างๆ ที่แตกต่างกันเหล่านี้ อาจพิจารณาเห็นดีชั่ว ผิดถูก และสิ่งที่ควรกระทำแตกต่างกัน...

ดังนั้น การยอมเสียสละชีวิตของสืบ เขาอาจพิจารณาโดยประการทั้งปวงแล้วว่า กระทำอย่างนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว และเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่จะรักษาป่า (โดยเฉพาะป่าห้วยขาแข้ง) ไว้ได้... ซึ่งการกระทำของเขาอาจถูกต้องหรือไม่ก็ตาม แต่ป่าห้วยขาแข้งก็ยังคงอยู่ทุกวันนี้ และอาจเป็นไปได้หรือไม่ว่า ถ้าสืบไม่ตัดสินใจปลิดชีพตัวเองในวันนั้น ป่าห้วยขาแข้งผืนนี้ อาจแปรสภาพเป็นสนามกอฟล์ หมู่บ้านจัดสรร หรือโครงการอื่นๆ ไปแล้วก็ได้.....

......

แนวคิดด้านจริยศาสตร์คุณธรรม ผู้เขียนได้เล่าไว้แล้วหลายนัย ซึ่งผู้สนใจอาจนำมาตรวจสอบการกระทำของสืบได้ แต่ประเด็นการใช ้มุมกลับ เพื่อตรวจสอบทำนองนี้ ผู้เขียนยังไม่ได้เล่าไว้ในที่ใด จึงถือโอกาสมาเล่าไว้ในโอกาสนี้....

ในตอนต่อไป ผู้เขียนจะนำแนวคิดของพุทธจริยศาสตร์ว่าเห็นด้วยกับการกระทำเหนือหน้าที่หรือไม่ ก่อนที่จะสรุปจบเรื่องนี้ 

หมายเลขบันทึก: 125071เขียนเมื่อ 4 กันยายน 2007 21:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 19:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท