จารุวัจน์ شافعى
ผศ.ดร. จารุวัจน์ ชาฟีอีย์ สองเมือง

ขอบข่ายของอิสลามศึกษา


เคยได้นำเสนอไปหลายบันทึกแล้วครับว่า นิยามของอิสลามศึกษามีความหลากหลายและความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับคำนิยามนี้นำมาสู่ปัญหาในหลายประการในปัจจุบัน ประเด็นหลักๆ ที่เกิดขึ้นอันเนื่องจากการนิยามอิสลามศึกษา มาจากฐานมองของผู้นิยามครับ

จากการศึกษาในเบื้องต้น ผมว่า การนิยามอิสลามศึกษา ออกมาในสองลักษณะใหญ่ๆ คือ

  1. การให้คำนิยามจากกลุ่มนักวิชาการที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม กลุ่มนี้ให้ความหมายอิสลามศึกษา (islamic studies) ที่เฉพาะเจาะจง ในเรื่องของการศึกษาเกี่ยวกับหลักการศาสนาอิสลาม วิถีชีวิตของมุสลิม (ผู้นับถือศาสนาอิสลาม) ในบางท่านก็จะบอกว่า เป็นกลุ่มสาขาวิชาหนึ่งที่ทำการศึกษาทุกบริบทที่เกี่ยวกับของผู้ที่ศรัทธาในศาสนาอิสลาม
  2. การให้คำนิยามของกลุ่มนักวิชาการมุสลิม อันนี้ผมว่า แยกออกได้อีกสองกลุ่มครับ คือ กลุ่มที่ใช้หลักคำสอนของอิสลามเพื่อการให้คำนิยาม กับอีกกลุ่มหนึ่งที่ให้คำนิยามโดยใช้ฐานมองจากกลุ่มนักวิชาการที่ไม่ใช่มุสลิมมาขยายความ

ผมเป็นคนหนึ่งที่สอนเรื่องการสอนอิสลามศึกษามาหลายปี แต่ในระยะแรกของผม ให้คำนิยามอิสลามศึกษาในมุมมองที่ขยายฐานจากกลุ่มนักวิชาการที่ไม่ใช่มุสลิม และผมเพิ่งมาเรียนรู้การให้คำนิยามใหม่ เมื่อไม่นานมานี้เอง

นักวิชาการมุสลิมจำนวนไม่น้อยที่ใช้ฐานการนิยามจากกลุ่มที่ไม่ใช่มุสลิม และสร้างรูปแบบหรือกลยุทธเพื่อพัฒนาการศึกษาอิสลามในชุมชนมุสลิม ซึ่งภาพการจัดการศึกษาดังกล่าว แสดงผลออกมาอย่างชัดเจนในปัจจุบัน คือ การสอนอิสลามศึกษาที่ไม่ครอบคลุมวิถีชีวิต และความสำคัญของหลักการศาสนาลดน้อยถอยลงไป

ภาพการดำเนินการที่ชัดเจนจากฐานนิยามนี้คือ การแยกกลุ่มวิชาเบื้องต้นออกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มศาสนา กับกลุ่มสามัญ

ผมขออนุญาตขยายมุมมองต่อไปถึงภาพนักวิชาการกลุ่มนี้นะครับว่า นักวิชาการกลุ่มนี้ไม่ใช่มีแต่เฉพาะนักวิชาการที่เรียนรู้แบบตะวันตกมาอย่างเดียว แต่นักวิชาการที่เรียนรู้ในระบบการศึกษาอิสลามเองในยุคก่อนก็มีแนวคิดสอดคล้องกัน ทั้งนี้เนื่องจากในอดีต เมื่อเกิดกลไกที่มาขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการศึกษาในชุมชน กลุ่มนักวิชาการที่อยู่ในระบบการศึกษาอิสลามเอง ก็ได้สร้างกลไกเพื่อการปกป้ององค์ความรู้ในอิสลามไว้ ดังนั้นภาพการแบ่งแยกวิชาสามัญกับอิสลาม จึงชัดเจนมาก

ส่วนนิยามอิสลามศึกษาในกลุ่มที่สองนั้น ในโลกอาหรับภาพนี้ค่อนข้างชัดเจน (ที่เท่าผมได้รับฟังมานะครับ) คือ ทุกอย่างเรียนรวมกันในโรงเรียนเดียวกัน แต่รายละเอียดว่า มีการบูรณาการอย่างไร อันนี้ผมยังไม่ทราบจริงๆ ครับ แต่สิ่งที่ผมเห็น คือ มีหลายท่านที่เป็นนักวิชาการอิสลามในบ้านเรา เนื้อแท้ของท่านไม่ได้เป็นการไปเรียนวิชาการอิสลามเท่านั้น แต่ไปเรียนเนื้อหาวิชาการที่ทันสมัย แต่เมื่อกลับมาที่บ้านของเรา เรากลับไปจัดกลุ่มของพวกเขาเป็นเพียงนักวิชาการศาสนาเท่านั้น ซึ่งพวกเขาก็ทำหน้าที่นี้ได้ดี เช่น อาจารย์ท่านหนึ่ง ท่านจบ สาขาวิชาการดะห์วะห์ (การเผยแพร่ศาสนา) กลับมาอยู่ที่บ้านเราท่านเป็นโต๊ะครูครับ ผมได้ไปนั่งคุย ถามท่านว่า เรื่องที่เรียนตอนอยู่มหาวิทยาลัยคืออะไร ท่านตอบว่า เรียนเกี่ยวกับการเขียนการทำงานเกี่ยวกับหนังสือพิมพ์ วารสาร โทรทัศน์ ซึ่งทั้งหมดก็มีการนำเสนอในมิติที่บูรณาการอิสลามเข้าไปเป็นเนื้อเดียวกันแล้ว

ดังนั้นในกลุ่มนักวิชาการกลุ่มนี้จะมองอิสลามศึกษา เป็นการศึกษาเพื่อชีวิต มิใช่เพียงการเรียนรู้หลักปฏิบัติศาสนกิจเพียงอย่างเดียว

ถ้าถามว่า ทิศทางการมองในเรื่องนี้เป็นอย่างไร คำตอบสำหรับผมชัดเจนแล้วครับว่า อิสลามศึกษาต้องการเป็นศึกษาเพื่อชีวิตทั้งโลกนี้และโลกหน้าสำหรับประชาชาติมุสลิมครับ

 

คำสำคัญ (Tags): #อิสลามศึกษา
หมายเลขบันทึก: 124856เขียนเมื่อ 4 กันยายน 2007 10:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 16:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
อาจารย์ผมสนใจเรื่องนี้มาก ผมเคยอ่านที่อาจารย์เขียนในเว็บ บางบทความก็บันทึกเอาไว้ ขอบคุณสำหรับข้อแนะนำดีๆครับ

ขอบคุณค่ะ  เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากค่ะ

ขอบคุณครับ P

ประเด็นเรื่องอิสลามศึกษาในบริบทประเทศไทย ผมว่าเป็นเรื่องท้าทายมากครับ เนื่องจากองค์ความรู้ทางด้านนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการผ่าวิกฤติของการศึกษาในห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ครับ ผมเชื่อเช่นนั้นครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท