ชีวิตและจักรวาลผ่านงานสวัสดิการชุมชน


เราไม่ได้เกิดมาบนโลกเพื่อยื้อแย่ง แข่งขันกันเป็นใหญ่ การจัดสวัสดิการโดยตัวเราเอง ครอบครัว ชุมชน ประชาสังคม รัฐและตลาดก็เพื่อสร้างสรรค์โลกที่น่าอยู่ ขอเราจงมีชีวิตอยู่ ด้วยการระลึกรู้ในโลกที่บังเกิดขึ้นในแต่ละครั้งผ่านแดนรับรู้ที่เรามีอยู่ จนกว่าแดนรับรู้ของเราจะแตกดับ สลายไป

ผมเห็นว่าบุคคลเลือกทำอะไรบางอย่างโดยคุณค่าและมูลค่าที่ตนเองให้
การซื้อกับข้าวถุงเป็นการเลือกที่จะไปทำงานหาเงินมาซื้อดีกว่าทำกับข้าวเองโดยเปรียบเทียบกับคุณค่าและมูลค่าที่ให้
ผมได้ยินเรื่องเล่าการแลกเปลี่ยนแรงงานเก็บข้าวของเกลอเขาเกลอเล ฝากวัวไว้กับเกลอเขาช่วงน้ำหลากแบ่งลูกวัวกัน ขนผลไม้/ของป่ามาแลกข้าว
เมื่อก่อนคนลุ่มน้ำไม่มีเครื่องจักร เวลาเก็บข้าวด้วยแกระ จะขนคนทางเขามาอยู่บ้านเป็นเดือน

แถวบ้านตำบลเสาธงที่ผมมาอยู่ถึงปัจจุบันประมาณ20ปี เมื่อก่อนมีงานก็ช่วยกัน เดี๋ยวนี้ก็ยังช่วยกันทำกับข้าว แต่ล้างจานใช้วิธีจ้างเหมา และมีเต๊นท์ให้เช่าพร้อมเครื่องครัวครบชุด

ผมเข้าใจว่า ในท้องถิ่นที่ห่างไกลมีความจำเป็นต้องช่วยเหลือกัน ระบบความสัมพันธ์ก็เป็นแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน แต่ภายหลังระบบนี้ถูกผสมโรงด้วยระบบทุน แทนที่จะเป็นสวัสดิการชุมชน กลายเป็นทุกคนต้องจ่ายแพงกว่าให้กับเหล้ายาปลาปิ้ง เป็นปัญหาสำคัญอันหนึ่งของชุมชนในปัจจุบัน

ที่ผมเห็นว่าแต่ละคนเป็นผู้จัดสวัสดิการให้กับตนเอง รองลงมาคือครอบครัว เพราะผมนับทุกเรื่องของชีวิตที่เป็นไปเพื่อสวัสดิการ ตั้งแต่ อาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฟัน ดูแลตัวเองให้อยู่รอดปลอดภัย
เรื่องทำกับข้าวเป็นการแลกเปลี่ยนแรงงาน ถ้าหากเราขายแรงงานหรือปัญญาแลกเป็นเงินมาซื้อข้าวถุง ก็ถือว่าเราดูแลตัวเองโดยสมยอมกับตลาด
ทุกคนต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มก็เป็นเงินที่ยกให้รัฐเป็นผู้จัดสวัสดิการใครมีรถยนต์ต้องจ่ายเพิ่มก็เป็นภาษีเฉพาะเพื่อให้รัฐทำถนนหนทางเป็นสวัสดิการโดยรัฐ เป็นต้น

ผมไปเข้าคอร์ทอานาปนสติที่สวนโมกข์9วัน ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเลย โดยมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จัดเป็นสวัสดิการหรือการพัฒนาบุคลากรของมหาวิทยาลัย
การดำเนินงานของสวนโมกข์นานาชาติผมถือเป็นสวัสดิการสังคม     ที่สำคัญในระดับจิตวิญญาณที่สังคมช่วยกันสร้างขึ้น มิใช่รัฐหรือตลาด(เอกชน) และสังคมในแต่ละชุมชนก็มีวัดเป็นสถาบันสวัสดิการทางจิตวิญญาณที่ยังคงมีความสำคัญอยู่ ทั้งระดับความเชื่อศรัทธา หรือในระดับปฏิบัติเพื่อการพ้นทุกข์อย่างจริงจัง

สังคมมีพลวัต และในพลวัตก็มีหน่วยจัดการที่มีความจำเป็นเพื่อให้ชีวิตเป็นปกติสุข

ความสำคัญของการจัดสวัสดิการโดยชุมชนในแง่เป้าหมายคือ
ชุมชนมีศักยภาพที่จะทำ ด้วยทุนทางสังคม ทรัพยากร ปัญญาและ    เงินตราที่มีอยู่ เราจะให้ชุมชนทำในศักยภาพที่มีอยู่อย่างไร?
ซึ่งไม่ลงตัว เป็นแบบเดียวกัน

ความสำคัญของการจัดสวัสดิการโดยชุมชนในแง่กระบวนการคือ
การจัดสวัสดิการโดยชุมชนเป็นกลไกสร้างระบบความสัมพันธ์ในแนวระนาบซึ่งเป็นกระบวนการฟื้นฟูพลังทางวัฒนธรรมเครือญาติและชุมชนที่ยังหลงเหลืออยู่ให้กลับมามีพลังสอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นการสร้างความเป็นชุมชนซึ่งมีความสำคัญต่อการดำรงอยู่ของชีวิตมนุษย์
ยิ่งเป็นชุมชนที่ขยายพรมแดนกว้างขวางและมีขอบเขตของจิตสำนึกเอื้ออาทรลึกซึ้งเพียงใดก็จะเป็นสังคมที่น่าอยู่มากยิ่งขึ้นเท่านั้น

เราไม่ได้เกิดมาบนโลกเพื่อยื้อแย่ง แข่งขันกันเป็นใหญ่
การจัดสวัสดิการโดยตัวเราเอง ครอบครัว ชุมชน ประชาสังคม รัฐและตลาดก็เพื่อสร้างสรรค์โลกที่น่าอยู่

โลกที่เราได้มีโอกาสเกิดมาชื่นชมความลี้ลับร่วมกัน

อีกไม่นานเราต้องจากโลกนี้ไป

ขอเราจงมีชีวิตอยู่ ด้วยการระลึกรู้ในโลกที่บังเกิดขึ้นในแต่ละครั้งผ่านแดนรับรู้ที่เรามีอยู่ จนกว่าแดนรับรู้ของเราจะแตกดับ สลายไป

จนกว่าจะถึงวันนั้น

หมายเลขบันทึก: 124823เขียนเมื่อ 4 กันยายน 2007 09:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 20:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

คิดว่าเราทุกคนมีคำตอบอยู่แล้วว่า เหตุใดเราจึงเลือกทางชีวิตแบบนั้น  เหตุใดจึงเลือก "ซื้อ" สวัสดิการ มากกว่า "ทำเอง"     หรือ "ทำเอง" มากกว่า "ซื้อ" หรือ "รอรับ"

ถ้าจะสาวความกันให้สุดๆ  แม้แต่แปรงฟัน อาบน้ำเอง ก็ต้องซื้อแปรง ซื้อยาสีฟันจากตลาด   แต่ในอดีตนั้น "ทำเอง" จริงๆ

การเข้าใจเหตุผลว่า เราจะเลือก "ทำเอง" หรือ "ซื้อ" หรือ "รอรับจากหลวง"  หรือ "แลกเปลี่ยนกับเพื่อนบ้าน"   นี่แหละค่ะ   จึงจะทำให้เราอธิบายบทบาทของรัฐ ตลาด ชุมชน และครอบครัวได้ โดยไม่อคติมากนัก

"บุคคลเลือกทำอะไรบางอย่างโดยคุณค่าและมูลค่าที่ตนเองให้" ... ข้อความนี้ตรงใจมาก..

ถ้าจะบอกว่า เศรษฐศาสตร์ก็คิดคล้ายๆอาจารย์ภีม ไม่รู้ว่าจะ "รับได้" รึเปล่า

อมาตยา เซน  อาจจะตั้งคำถามว่า  แล้วคุณค่านั้นมาจากไหน  (สำหรับ "มูลค่า"  เศรษฐศาสตร์จะบอกว่า "มูลค่า" มาจาก "คุณค่า" และ "ความหายาก")

คุณค่านั้นมาจากกระบวนการทางสังคมค่ะ 

ฉะนั้น ถ้าจะตีความจากที่มาของ "คุณค่า" และ "มูลค่า"  ก็น่าจะพอสรุปได้ว่า  สังคมจะสร้างสวัสดิการแบบไหน ใครทำ  ขึ้นอยู่กับ "กระบวนการทางสังคม" และ "กลไกตลาด" ได้ไหมคะ  ที่สำคัญคือ อย่าปล่อยให้กลไกตลาดทำงานอย่างเดียว  เพราะ "คุณค่า" บางอย่างจะถูกกลบลบไปด้วย  "ความหายาก"  (ที่ทำให้เพชรแพงกว่าน้ำ แล้วเราก็หลงยกย่องคนมีเพชรประดับกาย)

ที่น่าสนใจและอยากชวนวิวาทะมาก  คือ  "สวัสดิการด้านจิตใจ"

ครั้งหนึ่ง  สังคมเคยเชื่อมั่นว่า "ความสงบ สะอาด สว่าง" คือความสุขที่แท้   นำไปสู่การอยู่โดยไม่เบียดเบียนกัน

แต่ปัจจุบัน  "ความเพลิดเพลิน" คือ ความสุข  แล้ว ความสุขก็เลยซื้อได้จากตลาด 

จะสร้างกระบวนการทางสังคมอย่างไร เราจึงจะตีความ "สวัสดิการทางจิตใจ" เสียใหม่

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท