BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

สืบ นาคะเสถียร กับการกระทำเหนือหน้าที่ ๖


สืบ นาคะเสถียร กับการกระทำเหนือหน้าที่ ๖

จาก ( สืบ ...หน้าที่ ๕) เป็นการประเมินค่าการกระทำของสืบ นาคะเสถียร โดยผ่านแนวคิดประโยชน์นิยม... ต่อไปจะเป็นมุมมองจากลัทธิคานต์...

ลัทธิคานต์จัดเป็นฝ่ายคัดค้านการกระทำเหนือหน้าที่เช่นเดียวกับประโยชน์นิยม ซึ่งผู้เขียนได้เล่าไว้บ้างแล้วที่ ลัทธิคานต์กับการกระทำเหนือหน้าที่ ๑. เป็นต้น... ผู้สนใจอาจเข้าไปทบทวนได้อีกครั้ง ฉะนั้น บันทึกนี้จะเน้นประเด็นที่เชื่อมโยงถึงการกระทำของสืบเป็นหลัก...

ความหมายของ หน้าที่ทางศีลธรรม ในกรอบของลัทธิคานต์ตกอยู่ภายใต้กฎ ๓ ข้อดังนี้

  • จงกระทำสิ่งที่ท่านต้องการให้ทุกคนกระทำอย่างนั้น (กฎสากล)
  • จงกระทำโดยเอาคนเป็นจุดหมาย มิใช่เอาคนเป็นเครื่องมือ
  • จงกระทำโดยมีอิสรภาพอย่างเต็มเปี่ยม มิใช่ถูกบังคับจำยอม

เมื่อนำกฎแต่ละข้อมาตรวจสอบการกระทำของสืบ จะเห็นได้ว่า การที่สืบปลิดชีวิตเพื่อเรียกร้องบางสิ่งบางอย่าง เขาต้องการให้คนทุกคนที่อยู่ในสถานภาพเดียวกับเขาจะต้องกระทำอย่างนั้นหรือไม่ ? ... ถ้าเขาต้องการอย่างนั้น ก็จัดว่าเป็นกฎสากลได้ (ตามความคิดของสืบ)... แต่ถ้าเขาไม่ต้องการอย่างนั้น ก็ไม่สามารถจัดเป็นกฎสากลได้....

คนเป็นจุดหมายสูงสุดตามแนวคิดของคานต์ แต่การที่สืบเอาชีวิตของตัวเองเป็นเครื่องมือเพื่อจุดหมายบางอย่าง ประเด็นนี้ผู้เขียนคิดว่า ไม่ถูกต้องตามแนวคิดของคานต์แน่นอน... นั่นคือ สืบไม่สามารถใช้ตัวเองเป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุจุดประสงค์บางอย่างได้....

ตามที่รับรู้มา สืบสมัครใจปลิดชีพตัวเองเพื่อวัตถุประสงค์นี้ โดยไม่มีใครบังคับฝืนใจ ถ้าพิจารณาทำนองนี้ ก็อาจเข้าใจได้ว่า สืบกระทำไปโดยอิสรภาพของเขาอย่างเต็มที่... แต่ถามว่า สืบต้องการทำอย่างนี้หรือไม่ ? ถ้าไม่มีความกดดันจากภาระที่เขารู้สึกว่าจะต้องรับผิดชอบอย่างนั้น หรือมีแนวทางอื่นที่จะต้องกระทำเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ได้ สืบคงจะไม่จำยอมเพื่อปลิดชีพตัวเองแน่นอน (ผู้เขียนคาดหมายเอาเอง)... ดังนั้น การกระทำของสืบก็อาจไม่ถูกต้องตามกฎข้อที่สามนี้....

..............

อนึ่ง คานต์ได้จำแนกหน้าที่ออกเป็น ๔ ประการ เพื่อขยายความแนวคิดเรื่องหน้าที่ทางศีลธรรมออกมาดังนี้

  • หน้าที่สมบูรณ์เพื่อตัวเอง คือ จะต้องไม่ฆ่าตัวตาย
  • หน้าที่สมบูรณ์เพื่อผู้อื่น คือ การรักษาสัญญา ฯลฯ
  • หน้าที่ไม่สมบูรณ์เพื่อตัวเอง คือ การที่เราเกียจคร้านเพื่อพัฒนาตัวเองไปสู่จุดสูงสุดบางอย่าง...
  • หน้าที่ไม่สมบูรณ์เพื่อผู้อื่น คือ การช่วยเหลือผู้อื่นบางคนหรือบางกรณี มิใช่ทุกคนหรือทุกกรณี

คานต์บอกว่า หน้าที่สมบูรณ์เพื่อผู้อื่นและเพื่อตัวเองเท่านั้น ที่มีคุณค่าทางศีลธรรม... ส่วนหน้าที่ไม่สมบูรณ์นั้น ไม่มีคุณค่าทางศีลธรรม แต่อาจมีคุณค่าด้านอื่น...

เมื่อพิจารณาการกระทำของสืบ จะเห็นได้ว่า การที่สืบปลิดชีพตัวเอง นับว่าผิดหลักหน้าที่สมบูรณ์เพื่อตัวเอง เพราะคานต์ได้กำหนดเอาไว้อย่างชัดเจนว่า หน้าที่สมบูรณ์เพื่อตัวเองก็คือการไม่ฆ่าตัวตายไม่ว่ากรณีใดๆ ก็ตาม... ประมาณนั้น

........

จะเห็นได้ว่าการปลิดชีพตัวเองของสืบ ไม่ถูกต้องตามลัทธิคานต์... ส่วนประเด็นการกระทำเหนือหน้าที่ในลัทธิคานต์ ก็ไม่สามารถเป็นไปได้ เพราะคานต์บ่งชี้ว่า หน้าที่ จะต้องเป็นกฎสากล คือครอบคลุมทุกคนทุกกรณีไม่มียกเว้น... แต่นักจริยปรัชญาบางท่านบอกว่า แนวคิดเรื่องการกระทำเหนือหน้าที่อาจมีคุณค่าอื่นซึ่งมิใช่คุณค่าทางศีลธรรมตามนัยของคานต์...

ผู้เขียนจะนำทฤษฎีคุณธรรมซึ่งเป็นฝ่ายยอมรับการกระทำเหนือหน้าที่มาวิเคราะห์การกระทำของสืบ นาคะเสถียร ในตอนต่อไป.... 

หมายเลขบันทึก: 124760เขียนเมื่อ 3 กันยายน 2007 23:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 20:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

กราบนมัสการหลวงพี่ครับ

  • กราบขอบพระคุณมากๆ ครับ สำหรับพระธรรมเพื่อนำไปสู่การทำครับ ตามแนวทางของคานต์
  • ส่วนเรื่องของคุณสืบ นาคะเสถียร นั้นน่าสนใจครับ แต่กระผมคิดว่า ท่านสืบ ได้เสียไปเพียงแค่กายเท่านั้น แต่จิตวิญญาณยังมีชีวิตอยู่สืบไป เช่นกันครับ ตราบใดที่คนไม่ลืมธรรมชาติ ก็คือยังไม่ลืมคุณสืบ ส่วนคนที่จะช่วยกันสืบต่อหรือไม่ในการดูแลรักษาธรรมชาตินั้น โลกจะบอกเราให้ทราบครับ
  • กราบขอบพระคุณมากครับ 
P

เม้ง สมพร ช่วยอารีย์

รู้สึกปลื้มใจยิ่ง ที่อาจารย์เม้ง เข้ามาทิ้งร่องรอยไว้เพื่อเป็นกำลังใจ....

ตอนที่เสนอวิจัยเรื่อง การกระทำเหนือหน้าที่ ... ประเด็นหนึ่งที่ถูกคณาจารย์ท้วงติงก็คือ ไม่มีตัวอย่างกรณีศึกษาในประเด็นนี้...

หลวงพี่จึงยกไป ๓ ประเด็น คือ กรณีระเบิดฟรีชีพ (ระเบิดพลีชีพ ๑ เป็นต้น) กรณีสืบ ซึ่งสองเรื่องนี้ก็ได้นำมาเขียนที่นี้อีกครั้ง

และกรณีนโยบายของ พ.ต.ท. ทักษิณ (ขณะนั้นท่านเริ่มรับตำแหน่งนายกฯ) ในประเด็นว่า ถ้ากฎระเบียบใดที่ติดขัดกับผลประโยชน์หรือความผาสุกของประชาชนก็ให้หน่วยงานดำเนินการไปก่อนได้... ประมาณนี้

ประเด็นนี้ ก่อให้เกิด ขอบข่ายของหน้าที่ กับเกินขอบข่ายของหน้าที่ ... แต่่เรื่องนี้ ปัจจุบันถือว่าล่วงกาลเวลาไปแล้ว.... 

เจริญพร 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท