จดหมายเปิดผนึกต่อกรณีประกาศจังหวัด เรื่องการจัดระบบในการควบคุมแรงงานต่างด้าว


ประกาศจังหวัดยังเป็นรากฐานของความรุนแรง และการเลือกปฏิบัติต่อคนข้ามชาติ คนด้อยโอกาส หรือบุคคลที่ถูกถือว่าเป็น “คนอื่น” สำหรับสังคมไทย อันเป็นที่มาของความไม่มั่นคงอย่างแท้จริง

จดหมายเปิดผนึกต่อกรณีประกาศจังหวัด เรื่องการจัดระบบในการควบคุมแรงงานต่างด้าว

30 สิงหาคม 2550 

เรียน       นายกรัฐมนตรีรัฐบาลไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่เคารพ
                

จากการที่มีประกาศจังหวัด เรื่อง กำหนดมาตรการจัดระเบียบคนต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่จดทะเบียนขออนุญาตทำงานกับนายจ้างในกิจการต่างๆ ลงวันที่ 19 เดือนธันวาคม 2549 โดยผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ลงวันที่ 16 เดือนกุมภาพันธ์ 2550 โดยผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ลงวันที่ 27 เดือนกุมภาพันธ์ 2550 โดยผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง และ ลงวันที่ 9 เดือนมิถุนายน 2550 โดยผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา เพื่อจัดระบบในการควบคุมแรงงานข้ามชาติที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและได้รับอนุญาตทำงานในจังหวัดดังที่มีประกาศข้างต้น และได้กำหนดมาตรการบางประเภทให้นายจ้าง แรงงานข้ามชาติ ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติ  

พบว่าในมาตรการที่กำหนดขึ้นตั้งอยู่บนฐานคิด 2 ประการ คือ ฐานคิดเสรีนิยมบนผลประโยชน์นายทุน เช่น ห้ามนายจ้างจ้างแรงงานข้ามชาติทำงานอื่นนอกเหนือจากที่ได้รับอนุญาต, ในขณะทำงานแรงงานข้ามชาติต้องมีใบอนุญาตทำงานติดตัวหรือมีไว้ที่สถานที่ทำงาน เพื่อแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เมื่อมีการตรวจสอบ, ให้นายจ้างจัดที่พักอาศัยให้กับแรงงานข้ามชาติโดยคำนึงถึงความสะอาดและความเป็นอยู่ที่ถูกสุขลักษณะ และฐานคิดเรื่องความมั่นคงแห่งรัฐที่มองแรงงานข้ามชาติว่าเป็นบุคคลที่สามารถส่งผลกระทบต่อสภาพความเป็นอยู่ของชุมชน ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมถึงความมั่นคงของรัฐ ฉะนั้นรัฐควรจะต้องมีมาตรการในการควบคุมด้านต่างๆ เช่น  หลังเวลา 20.00 น. ห้ามแรงงานข้ามชาติออกนอกสถานที่ทำงานหรือสถานที่พักอาศัย หากมีความจำเป็นต้องทำงานหลังเวลาห้ามหรือมีความจำเป็นเร่งด่วนอื่นๆจะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของนายจ้าง, ห้ามแรงงานข้ามชาติขับขี่รถจักรยานยนต์หรือรถยนต์ และห้ามเจ้าของกรรมสิทธิ์รถจักรยานยนต์หรือรถยนต์ อนุญาตให้แรงงานขับขี่รถจักรยานยนต์หรือรถยนต์ของตนเอง, หากแรงงานข้ามชาติมีความจำเป็นต้องใช้โทรศัพท์มือถือ ให้นายจ้างจัดทำบัญชีรายชื่อแรงงานข้ามชาติผู้ใช้โทรศัพท์พร้อมหมายเลขโทรศัพท์ และชื่อนามสกุลเจ้าของเครื่องและซิมการ์ดส่งให้จังหวัดทุกคน, ห้ามแรงงานข้ามชาติเข้าร่วมชุมนุมนอกที่พักอาศัยตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป หากมีความจำเป็นต้องทำกิจกรรม นายจ้างของแรงงานข้ามชาติต้องออกหนังสือรับรองและแจ้งบัญชีรายชื่อแรงงานข้ามชาติที่จะเข้าร่วมกิจกรรมโดยมีรายละเอียดวัน เวลา และสถานที่ชุมนุม ชื่อและหมายเลขประจำตัวแรงงานข้ามชาติให้ชัดเจน ให้จังหวัดทราบเป็นลายลักษณ์อักษร

พวกเราดังมีรายชื่อด้านล่างนี้มีความห่วงใยอย่างยิ่งในประกาศจังหวัดดังที่กล่าวมาข้างต้น เราเห็นว่า

(1)    ในความเป็นแรงงานข้ามชาติมีความเป็นมนุษย์ในสถานะอื่นๆซ้อนทับอยู่ด้วยเช่นกัน เช่น เป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นลูก เป็นคนในครอบครัวหนึ่งๆ  เป็นเพื่อน การออกประกาศจังหวัดดังกล่าวจึงเป็นการแยกแรงงานข้ามชาติออกจากการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม แยกจากครอบครัว แยกจากชุมชน ซึ่งขัดแย้งต่อความเป็นมนุษย์ที่กล่าวว่า มนุษย์คือสัตว์สังคม และขัดแย้งกับวิถีของมนุษย์ที่ดำเนินชีวิตในสังคมปัจจุบัน

(2)    การทำงานของแรงงานข้ามชาติบางประเภทในเวลากลางคืนที่ต้องขึ้นอยู่กับการควบคุมของนายจ้างเป็นสำคัญนั้น ยิ่งทำให้แรงงานข้ามชาติตกอยู่ในภาวะความเสี่ยงที่จะถูกละเมิดสิทธิแรงงานมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะการถูกบังคับใช้แรงงาน

(3)    มาตรการควบคุมการใช้โทรศัพท์มือถือเป็นการลิดรอนสิทธิในการติดต่อสื่อสารของบุคคลทำให้แรงงานที่ถูกเอาเปรียบ และผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ไม่สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้

(4)    การรวมตัวของแรงงานข้ามชาติไม่จำเป็นต้องเป็นการชุมนุมทางการเมืองตามที่รัฐเข้าใจเพียงเท่านั้น ยิ่งรัฐกีดกันการรวมตัวยิ่งส่งผลให้แรงงานข้ามชาติเข้าไม่ถึงสิทธิด้านอื่นๆเพิ่มยิ่งขึ้น เช่น สิทธิทางสาธารณสุข สิทธิทางการศึกษา การประกอบพิธีกรรมทางศาสนาหรือการดำเนินกิจกรรมทางวัฒนธรรมของตน

(5)    ทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะมีการละเมิดสิทธิ การขูดรีด เนื่องด้วยการให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่รัฐในการตรวจค้นจับกุมแรงงานข้ามชาติอันเนื่องมาจากข้อห้ามต่างๆ ซึ่งในแง่ข้อเท็จจริงแรงงานข้ามชาติก็มีความเสี่ยงในประเด็นดังกล่าวสูงอยู่แล้ว

(6)    ประกาศจังหวัดที่กล่าวมาข้างต้น ไม่ได้ทำให้เกิดความมั่นคงขึ้นในพื้นที่แต่อย่างใด ในทางกลับกันกลับสร้างความหวาดระแวงให้แก่คนที่อาศัยอยู่ร่วมกันในพื้นที่ ดังนั้นจึงไม่เห็นหนทางใดที่จะนำมาซึ่งความมั่นคงในชุมชนบนพื้นฐานของการกดขี่ การสร้างความหวาดระแวง และสร้างความเสี่ยงให้แก่คนในชุมชน และสิ่งต่าง ๆเหล่านั้นต่างหากที่จะเป็นบ่อเกิดแห่งความไม่มั่นคง

ดังนั้นประกาศจังหวัดที่เกิดขึ้นควรต้องคำนึงถึงสภาวะความเป็นจริงของแรงงานข้ามชาติให้รอบด้าน ดังที่กล่าวมาข้างต้น เราขอชื่นชมประกาศจังหวัดบางด้านที่คำนึงถึงสิทธิของแรงงาน แต่เราก็กังวลใจต่อประกาศจังหวัดบางด้านด้วยเช่นกัน ที่ก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิอย่างร้ายแรงเช่นนี้ ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบต่อแรงงานข้ามชาติ และยังส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยในประชาคมโลกด้วย ซึ่งถือเป็นสิ่งที่น่าละอายใจของสังคมไทยเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนั้นแล้วประกาศจังหวัดยังเป็นรากฐานของความรุนแรง และการเลือกปฏิบัติต่อคนข้ามชาติ คนด้อยโอกาส หรือบุคคลที่ถูกถือว่าเป็น คนอื่น สำหรับสังคมไทย อันเป็นที่มาของความไม่มั่นคงอย่างแท้จริง ดังนั้นพวกเราจึงมีข้อเรียกร้องดังนี้

1.        ยกเลิกประกาศจังหวัดดังกล่าว เพราะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงและไม่ก่อให้เกิดความมั่นคงดังที่ตั้งเป้าหมายไว้

2.     ต้องระมัดระวังในการพิจารณาส่งกลับแรงงานข้ามชาติบางคน เนื่องจากบุคคลบางคนได้รับการพิจารณาว่าเป็นผู้ลี้ภัยหรือผู้แสวงหาที่พักพิงและต้องได้รับการคุ้มครอง

3.     รัฐจะต้องมีแนวนโยบายต่อเรื่องแรงงานข้ามชาติในมิติที่รอบด้านและสอดคล้องกับความเป็นจริง โดยเน้นเรื่องการคุ้มครองและเคารพในสิทธิมนุษยชน ควบคู่ไปกับนโยบายด้านอื่นๆ ยกระดับนโยบายแรงงานข้ามชาติไปสู่นโยบายคนข้ามชาติที่มีมุมมองและมิติที่ลึกซึ้งสอดคล้องกับความเป็นจริงมากกว่าแค่เป็นเรื่องของแรงงาน  ยอมรับในข้อเท็จจริงว่าประเทศไทยยังต้องการแรงงานข้ามชาติที่จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจประเทศไทย 

จึงเรียนมาเพื่อให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวง กลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้เร่งทำการตรวจสอบและพิจารณาเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วนต่อไป  

ขอแสดงความนับถือ  

เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ

เครือข่ายการย้ายถิ่นลุ่มน้ำโขง

คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อแรงงานไทย

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์

สหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศ (ประเทศไทย)

คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน

                                               คณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์

เครือข่ายสามพรานต่อต้านการค้ามนุษย์

ภาคีต่อต้านการค้าหญิงและเด็กแห่งประเทศไทย

ฝ่ายแรงงานหญิง มูลนิธิเพื่อนหญิง

มูลนิธิส่งเสริมสันติวิถี

ศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์

เครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน

นักศึกษานานาชาติ สาขาสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยมหิดล

พรรคแนวร่วมภาคประชาชน

เพื่อนไร้พรมแดน

กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ

ศูนย์กะเหรี่ยงเพื่อการพัฒนา

เครือข่ายโครงการฟ้ามิตร

                                                 คลีนิคกฎหมายแรงงานแม่สอด
หมายเลขบันทึก: 124607เขียนเมื่อ 3 กันยายน 2007 12:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 15:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท