ทัศนะต่อวิชาความรู้และปริญญาบัตร


ช่วงเวลานี้ ข้าพเจ้ามีทัศนะต่อความรู้และปริญญาบัตรแล้ว  เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ข้าพเจ้าได้ศึกษาหนังสือเอี๊ยะหฺยาอ์  ข้าพเจ้ามีความรักต่อวิชาความรู้เป็นอันมาก ชอบการอ่านและการศึกษาค้นคว้า  เชื่อมั่นต่อคุณค่าของวิชาความรู้ต่อปัจเจกและสังคม จนถึงกับมีความตั้งใจอันแน่วแน่ที่จะทำหนังสือรายเดือน ชื่อว่า “ อัชชัมส์ ”(ตะวัน) ข้าพเจ้าเขียนได้สองฉบับ เลียนแบบชัยค์ซะฮฺรอน ที่ทำหนังสือ อัลอิสอาด (สร้างสุข) และเลียนแบบหนังสืออันมะนาร์ ที่ข้าพเจ้าอ่านอย่างสม่ำเสมอ   แต่แนวคิดและวิถีของอิหม่ามฆอซาลีย์มีอิทธิพลอย่างใหญ่หลวงต่อใจข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจึงตกอยู่ในการต่อสู้ทางความคิด ระหว่างแนวคิดที่ต้องการที่จะศึกษาหาความรู้ให้มากที่สุด กับแนวคิดแนวคิดและวิถีของอิหม่ามฆอซาลีย์ ที่ให้นิยามวิชาความรู้ว่า วิชาความรู้ที่จำเป็น(วาญิบ)คือวิชาความรู้ที่ใช้ในการประกอบอิบาดะฮฺ ที่จำเป็นและการประกอบอาชีพ เสร็จแล้วจึงนำไปปฏิบัติตามนั้น ให้ศึกษาเฉพาะความรู้ที่จำเป็น อย่าได้เสียเวลากับสิ่งที่ไม่จำเป็น

ความคิดนี้ต่อสู้กันในใจข้าพเจ้าในช่วงการเตรียมตัว

เพื่อศึกษาต่อที่ดารุลอุลูมและการเป็นนักเรียนทุน

ศึกษาต่อต่างประเทศสำหรับนักเรียนดีเด่นระดับ

อนุปริญญาของดารุลอุลูมในภายหลัง

ข้าพเจ้ากล่าวกับตัวเองเสมอว่า “ เธออยากจะเข้าเรียนที่ดารุลอุลูมเพื่ออะไร ? เพื่อเกียรติ ให้ผู้คนเรียกขานเธอว่า ครูประกาศนียบัตรการศึกษาสูง ไม่ใช่ครูประกาศนียบัตรการศึกษาประโยคต้น  เจตนาเช่นนี้เป็นสิ่งต้องห้ามในอิสลาม(หะรอม) เพราะว่าเป็นความอยากมีเกียรติ  เป็นโรคทางใจชนิดหนึ่งและเป็นความอยาก ที่ต้องกำจัดให้สิ้นไป

หรือเธออยากจะเข้าเรียนเพื่อเงิน เพื่อให้ได้รับเงินเดือนสูงขึ้น ได้สะสมเงินทอง ได้ใส่เสื้อผ้างามๆ รับประทานแต่ของดีๆ  ขี่รถหรูๆ ?  ถ้าเป็นเช่นนี้ก็ย่อมเป็นการกระทำที่ต่ำช้า  เพราะท่านนบี (ขอให้ท่านจงประสบแต่ความสุขความเจริญแห่งอัลลอฮฺ )  กล่าวว่า

تعس عبد الدينار،و الدرهم، والقطيفة،

“ผู้ตกเป็นทาสของทองคำ  ทาสของเงิน ทาสของเสื้อผ้าอาภรณ์ย่อมวิบัติ”(บันทึกโดย อัลบุคอรีย์)

อัลลอฮฺทรงตรัสจริงแล้ว

} زُيِّنَ لِلنَّاسِ حُبُّ الشَّهَوَاتِ مِنَ النِّسَاء وَالْبَنِينَ وَالْقَنَاطِيرِ الْمُقَنطَرَةِ مِنَ الذَّهَبِ وَالْفِضَّةِ وَالْخَيْلِ الْمُسَوَّمَةِ وَالأَنْعَامِ وَالْحَرْثِ ذَلِكَ مَتَاعُ الْحَيَاةِ الدُّنْيَا وَاللّهُ عِندَهُ حُسْنُ الْمَآبِ {14} قُلْ أَؤُنَبِّئُكُم بِخَيْرٍ مِّن ذَلِكُمْ لِلَّذِينَ اتَّقَوْا عِندَ رَبِّهِمْ جَنَّاتٌ تَجْرِي مِن تَحْتِهَا الأَنْهَارُ خَالِدِينَ فِيهَا وَأَزْوَاجٌ مُّطَهَّرَةٌ وَرِضْوَانٌ مِّنَ اللّهِ وَاللّهُ بَصِيرٌ بِالْعِبَادِ {15}

[3.14] ได้ถูกทำให้สวยงาม (ลุ่มหลง) แก่มนุษย์ซึ่งความรักในบรรดาสิ่งที่เป็นเสน่ห์อันได้แก่ ผู้หญิงและลูกชาย,ทองและเงินอันมากมาย และม้าดีและปศุสัตว์ และไร่นา นั่นเป็นสิ่งอำนวยประโยชน์ชั่วคราวในชีวิตความเป็น อยู่แห่งโลกนี้เท่านั้น และอัลลอฮ์นั้น ณ พระองค์ คือที่กลับอันสวยงาม
        [3.15] จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) ว่าจะให้ฉันบอกแก่พวกท่านถึงสิ่งที่ดียิ่งกว่านั้นไหม? คือผู้ที่บรรดาผู้ยำเกรงนั้น ณ พระผู้เป็นเจ้าของพวกเขา-พวกเขาจะได้รับบรรดาสวนสวรรค์ ซึ่งมีแม่น้ำหลายสายไหลผ่านอยู่เบื่องล่าง โดยที่พวกเขาจะพำนักอยู่ในสวนสวรรค์เหล่านั้นตลอดกาล และจะได้รับบรรดาคู่ครองที่บริสุทธิ์ และความพึงใจจากอัลลอฮ์ด้วย และอัลลอฮ์นั้นทรงเห็นบรรดาบ่าวทั้งหลาย

(อาลอิมรอน)

หรือเธออยากจะมีความรู้มากมาย เพื่อให้ทัดเทียมกับผู้รู้ทั้งหลาย หรือเพื่อเอาไว้ข่มผู้อื่นที่ไม่มีความรู้ ในขณะที่คนกลุ่มแรกที่ไฟนรกถูกจุดขึ้นเพื่อเผาพวกเขา คือผู้ที่ไม่ได้ทำการศึกษาเพื่ออัลลอฮฺและเพื่อการนำไปปฎิบัติ และผู้ที่จะถูกลงฑัณฑ์อย่างหนักที่สุดในวันแห่งการฟื้นคืนชีพคือ ผู้ที่มีความรู้แต่ไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์  

ใจเธออาจจะกล่าวว่า  “ เธอต้องการศึกษาหาความรู้เพื่อเป็นครูสอนผู้อื่น เพราะว่าอัลลอฮฺและมลาอิกะฮฺจะอำนวยพรแก่ครูผู้สอนสิ่งดีให้แก่ผู้คน และศาสนทูตถูกส่งมาในฐานะครูผู้สอน ”

เธอจงกล่าวตอบไปว่า “ หากเธอประสงค์ที่จะศึกษาหาความรู้เพื่อเป็นครูสอน เพื่อให้ประโยชน์แก่ผู้อื่นจริงๆ เพื่อแสวงหาความโปรดปรานของอัลลอฮฺจริงๆ  แล้วทำไมต้องไปเรียนที่ดารุลอุลูม  ทั้งๆที่วิชาความรู้มีอยู่ทั่วไปในหนังสือ ที่อาจารย์และผู้รู้ทั่วไป

ความจริงแล้วปริญญาบัตรเป็นดาบสองคม  เป็นสิ่งชักนำไปสู่โลกีย์วิสัยและทรัพย์สมบัติ ซึ่งทั้งสองอย่างเป็นยาพิษร้ายแรง  ทำลายภาคผลของความดี  เป็นภัยต่อจิตใจและร่างกาย ฉะนั้นจงแสวงหาความรู้จากหนังสือโดยไม่ต้องสนใจต่อปริญญาบัตรใดๆ ”

แนวคิดเช่นนี้มีชัยเหนือข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจึงเจตนาไม่ไปติววิชากับครูอะลีย์ เนาฟัล  แต่อาจารย์ชัยค์ฟัรฮาต สุลัยม์ (ขอให้อัลลอฮฺเมตตาต่อท่าน )ซึ่งเมตตาต่อข้าพเจ้าเสมอในทุกโอกาส ข้าพเจ้ายกย่องให้เกียรติท่านอย่างสูง ท่านได้ใช้เหตุผลและความอ่อนโยนปลอบประโลมต่อข้าพเจ้า ทำให้ข้าพเจ้าต้องไปติววิชาอย่างจริงจังอีกครั้งและเข้าสมัครเรียนที่ดารุลอุลูม  ท่านให้เหตุผลแก่ข้าพเจ้าว่า  ตอนนี้เธอกำลังไกล้ที่สอบประกาศนียบัตรความพร้อมที่จะเป็นครูประถมศึกษาแล้ว การติวจึงมีประโยชน์ต่อการสอบดังกล่าวด้วย และความรู้ก็เป็นสิ่งมีประโยชน์ในตัวของมันเอง  และโอกาสเช่นนี้เป็นโอกาสเดียวที่ไม่มีอีกแล้ว  เธอจงรักษาสิทธิให้ตัวของเธอ  จงสอบไปก่อน หลังจากนั้นยังมีเวลาอีกมากที่จะตัดสินใจว่าจะเอาหรือไม่

ท่านสามารถโน้มน้าวให้ข้าพเจ้าไปสมัครสอบ  ซึ่งการสอบเข้าดารุลอุลูมสอบก่อนการสอบประกาศนียบัตรความพร้อมที่จะเป็นครูประถมศึกษาเพียงไม่กี่วัน                

อินชาอัลลอฮฺ ตอนต่อไป “ 2 แนวทางที่ควรค่าต่อความทรงจำ ”

หมายเลขบันทึก: 124594เขียนเมื่อ 3 กันยายน 2007 12:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 20:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท