ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครูศิลปะ เมืองกาญจน์ เขต 2


หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน กำหนดสาระและมาตรฐานการเรียนรู้

 

ได้รับเชิญไปแลกเปลี่ยน 

เรียนรู้ศิลปะกับครูเมืองกาญจน์ 

สพท.กจ. เขต 2 (ตอนที่ 1)

 

           ผมได้รับหนังสือเชิญ จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากาญ จนบุรี เขต 2 อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2550  ในเอกสารเป็นการเชิญให้ผมไปเป็นวิทยากร เรื่องการจัดทำผลงานทางวิชาการ กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ ในวันที่ 17 สิงหาคม 2550 ระหว่างเวลา 13.00-17.00 น. แต่ว่าก่อนหน้านั้นผมได้พบกับท่านผู้อำนวย การอดิศร ถวิลประวัติ ผอ.โรงเรียนพนมทวนชนูปถัมภ์ ท่านสละ เวลามาพบผมเพื่อประสาน งานในเรื่องนี้โดยเฉพาะ (ขอบคุณท่านเป็นอย่างมาก) ในฐานะเป็นศิษย์เพาะช่าง รุ่นเก่ามาก  ผมตอบตกลง ไม่มีปัญหาใด ๆ ไปได้ตามที่ท่านต้องการ แต่ว่าผมไม่มีผลงานทางวิชาการที่ผ่านการประเมินเป็นผู้เชี่ยวชาญนะ (เพราะไม่ผ่าน 2 ครั้งแล้ว) 

         ครั้งที่ 1 ผมส่งผลงาน ชุดสื่อผสม ชื่อ คิดทำนำไปใช้ เป็นสื่อการสอน ที่ได้รับรางวัลที่ 1 ครูริเริ่มสร้างสรรค์ จาก สำนักงานครุสภา กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อ ปี พ.ศ. 2539 พร้อมทั้งได้รับโล่รางวัล เกียรติบัตรและเงิน 10,000 บาท (ผมได้รับรางวัลครูริเริ่มสร้างสรรค์สื่อจากครูสภา 5 ครั้ง จากกรมสามัญศึกษา 1 ครั้ง) ปรากฏว่าผ่านเพียง 2 ใน 3 ของคณะกรรมการ ก็คือ ไม่ผ่านนั่นแหละ  

         ครั้งที่ 2 ผมจัดทำผลงานประเภทจัดกิจกรรมการแสดงเพลงอีแซว (เพลงพื้นบ้านเอกลักษณ์ของจังหวัดสุพรรณฯ) โดยที่ผลงานของผมได้รับการคัดเลือกให้ไปนำเสนอต่อที่ประชุมเป็นขั้น ๆ ดังนี้ครับ 

         วันที่ 9 เมษายน 2542 ผมได้รับเชิญให้นำผลงานการฝึกทักษะเพลงอีแซวไปเสนอที่เขตการศึกษา 5 จังหวัดราชบุรี โรงเรียนดรุณาราชบุรี 

         วันที่  6  กันยายน 2542 ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้นำเสนอผลงานชุดฝึกทักษะเพลงอีแซว ในการประชุมวิชาการระดับชาติ การปฏิรูปการเรียนรู้ณห้องประชุม10 อาคารสารนิเทศ  มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์  กรุงเทพฯ 

         วันที่  13-16 ธันวาคม  .. 2542 ได้รับการคัดเลือก  ให้นำเสนอผลงานเพลงอีแซว (ชุดฝึกทักษะเพลงอีแซว 9 ขั้น) ในการประชุมนานาชาติ (กว่า 100 ประเทศจำนวนผู้เข้าสัมมนา 900 คนเศษ) ณ โรงแรมอิมพีเรียล ควีนส์ปาร์ค   สุขุมวิท 22  กรุงเทพฯ 

           ผลงานที่ผ่านการใช้จริงในการฝึกนักเรียนจนมีความสามารถในทางการแสดงจนโดดเด่น รับใช้สังคม กรมสามัญ กระทรวงศึกษาธิการ จนถึงการแสดงในสถานที่สูงส่งได้ โดยการจัดกิจกรรมการแสดงเพลงอีแซว โดยวิธีการที่ผมคิดสร้างสรรค์ขึ้นมา ด้วยกระบวนการฝึก 9 ขั้น เด็ก ๆ ที่ผมสอนมีความสามารถแสดงเพลงพื้นบ้านเป็นอาชีพ และมีงานแสดงมากกว่า 300  ครั้ง (ในขณะนั้น)

           แต่ผลงานทางวิชาการที่คิดจัดทำกลับไม่มีคุณภาพ ครับ ไม่ใช่เรื่องตลก ไม่ใช่ความผิดพลาด แต่ข้อคิดเห็นที่ตอบกลับมายังผม ท่านผู้ตรวจแจ้งว่า ให้ผมสอนเพลงอีแซว และการให้จังหวะตะโพน ฉิ่ง กรับ ตามตัวโน๊ตเท่านั้น  (ผมประกาศหาคนที่ทำได้ สอนเพลงพื้นบ้านจนเป็นอาชีพ โดยใช้ตัวโน๊ตฝึกหัดนักแสดง) จนถึงวันนี้ยังไม่พบว่ามีหรือทำได้เลยครับ  ไม่แน่ใจว่า ใครคนใดหลงประเด็นการจัดการความรู้กันแน่ (ช่างมัน) ภูมิปัญญาอาจมาก่อนนักวิชาการ แต่ภูมิปัญญาคือ รากเหง้าของความรู้ตามวิถีชีวิตชาวบ้าน

           ผมเล่าเรื่องส่วนตัวให้ท่าน ผอ.อดิศร ถวิลประวัติฟังในวันที่ท่านมาพบผม ท่านบอกว่า ให้พี่เล่าประสบการณ์ในการสอนศิลปะ กลุ่มสาระศิลปะที่พี่ปฏิบัติจริงอยู่ที่โรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1 นี่แหละ และกระตุ้นให้ครู สพท.กจ. เขต 2 เขาได้คิด วิเคราะห์จัดกิจกรรมการเรียนรู้จนมีผลงานทางวิชาการส่งขอเลื่อนตำแหน่ง จาก ครู คศ.2 เป็น ครู คศ. 3"  ผมบอกท่านว่า ถ้าอย่างนั้นได้ ครับ    

          ก่อนหน้านั้น 1 วัน คือวันที่ 16 สิงหาคม 2550 ผมและเด็ก ๆ นักแสดง ไปทำหน้าที่เล่นเพลงพื้นบ้าน ที่ หอประชุมราชพล มหา วิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี เป็นงานอนุรักษ์ศิลปะพื้นบ้านกาญจนบุรี-สุพรรณบุรี ของ ท่านอาจารย์ไมตรี เกตุขาว ผู้อำนวยการสำนักศิลปะ วัฒนธรรมมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี จึงทำให้ผมได้ไปใช้ชีวิตที่เมืองกาญจน์ 2 วันติด ๆ กันเลย  ในวันที่ผมไปเป็นวิทยากร ผมขออนุญาตท่าผู้อำนวยการโรงเรียน ขอนำเด็ก ๆ นักแสดงของผมไปด้วยเพื่อให้เขาช่วยอธิบายวิธีการเรียนรู้ และคอยช่วยผมตอบข้อซักถาม  

         ผมออกเดินทางจากดอนเจดีย์  วันที่ 17 สิงหาคม 2550 เวลา  09.00 น. พร้อมด้วยนักเรียน ที่เป็นนักแสดงเพลงพื้นบ้าน 3 คน (อยากได้สัก 5 คน) มี ธีระพงษ์ พูลเกิด ม.3/6 เป็นนักร้องรางวัลเหรียญทอง สพท.สพ. เขต 2 และเหรียญทอง จากการประกวดร้องเพลงลูกทุ่ง งานศิลปหัตถกรรมภาคกลางและภาคตะวันออก ครั้งที่ 56 ที่จังหวัดชลบุรี และแม่เพลงอีก 2 คน คือยุวดี มูลทองชุน กับ ยุพาภรณ์ สุขเกษม ม.4/1 และ 4/2 เราเดินทางไปถึงสถานที่จัดอบรม คือ โรงแรมริเวอร์แคว อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี เวลาประมาณ 11.10 น. ได้รับการต้อนรับจากคณะผู้จัดการอบรม มีอาจารย์จากโรงเรียนพนมทวนชนูปถัมภ์  มีท่าน ศน.เสนอ ชรบัณฑิต (สน.สาขาศิลปะ) มีท่าน ผอ.เสรี นาคนารี (จบมาทางสายศิลปะ) และท่านรอง ผอ.สพท. กจ. เขต 2 คือ ท่านรองปกรณ์ ม่วงเจริญ ก็ เชื้อสายมาจากครูศิลปะอีกเช่นกัน  เป็นอันว่าผมไปถูกที่มาก ได้ไปอยู่ในกลิ่นไอของความเป็นศิลปะ พบศิลปินเมืองกาญจน์มากมาย น่าจะประมาณ 300 คน หรือมากกว่า 

          การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนามาตรฐานที่ 4 การคิดวิเคราะห์ โดยใช้กระบวนการทางศิลปะ มีกำหนด  2 วัน

          วันแรกของการประชุม   วันที่ 16 สิงหาคม 250

          -       ช่วงเช้า เป็นการบรรยาย เรื่องความสำคัญของการสอนกลุ่มสาระศิลปะ

          -              ช่วงหลังเบรก เวลา 10.30-16.30 น.เป็นการเข้าฝึกปฏิบัติตามฐานการเรียนรู้ มี 5 ฐาน    (โดยการหมุนเวียน)

               o       ฐานที่ 1   เรื่องทัศนธาตุ

               o       ฐานที่ 2   เรื่องการจัดองค์ประกอบศิลปะ

               o       ฐานที่ 3   วิจารณ์ศิลปะ

               o       ฐานที่ 4   การบูรณาการกลุ่มสาระศิลปะ

               o       ฐานที่ 5   การใช่ ICT กับงานศิลปะ

          วันที่สองของการประชุม   วันที่ 17 สิงหาคม 2550

          -     ช่วงเช้า 08.30-10.30 น.  เป็นการเข้าฝึกปฏิบัติตามฐานการเรียนรู้ (ต่อ)

          -          ช่วงหลังเบรก 1030-12.00 น. ออกแบบนวัตกรรมเขียนใบงานจัดกิจกรรมเรียนรู้ศิลปะ

            -          ช่วงบ่ายหลังจากพักรับประทานอาหารกลางวันไปจนปิดการประชุม 17.00 น. โดยประมาณ เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรูเรื่องการจัดทำผลงานทางวิชาการกลุ่มสาระศิลปะ  โดยมีผมเป็นวิทยากร ร่วมกับนักเพลงที่ผมนำไปช่วย ท่าน ศน.เสนอ ชรบัณฑิต พูดกับผมว่า พี่ เอาฮา ๆ บ้างนะ  ให้ได้ความรู้ด้วย สนุกด้วย และไม่เครียด  ผมตอบว่า เอาอย่างนั้นนะ  หลังจากที่พิธีกรในการประชุมเกริ่นนำในเรื่องทั่ว ๆ ไปเกี่ยวกับวิทยากร เป็นใครมาจากไหน มีผลงานดีเด่น จบการศึกษาระดับใด พอสมควร ท่านก็เชิญผมขึ้นทำหน้าที่บนเวทีวิชาการโรงแรมริเวอร์แควทันที 

            เรื่องที่ 1 ที่ผมเล่าให้ครูศิลปะ สพท.กจ. เขต 2 ได้รับรู้  คือ  บทบาทและหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการศึกษา พ.ศ. 2542 หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดสาระและมาตรฐานการเรียนรู้เป็นเกณฑ์ในการกำหนดคุณภาพของผู้เรียนเมื่อจบการศึกษาขันพื้นฐาน กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ กำหนดเอาไว้  3 สาระ

            สาระที่ 1  ทัศนศิลป์  มี 2 มาตรฐาน คือ  มาตรฐาน ศ 1.1 และ มาตรฐาน 1.2

            สาระที่ 2   ดนตรี       มี 2 มาตรฐาน คือ มาตรฐาน ศ 2.1 และ มาตรฐาน 2.2

            สาระที่ 3   นาฏศิลป์  มี 2 มาตรฐาน คือ มาตรฐาน ศ 3.1 และ มาตรฐาน 3.2

            โดยภาพรวมของกลุ่มสาระศิลปะ  ในมาตรฐานที่ 1 จะเป็นการสร้างสรรค์งาน วิเคราะห์วิจารณ์ คุณค่า ถ่ายทอด ชื่นชม ประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน  ส่วนในมาตรฐานที่ 2 เป็นการเข้าใจความสัมพันธ์ของศิลปะกับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และ สากล

             ผมเล่าความรู้ ความเข้าใจของผมในการจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระศิลปะว่า มี  2 รูปแบบ คือ  

           1. จัดการเรียนรู้ในรายวิชาพื้นฐาน เป็นการจัดตามกลุ่มทีมี  3 สาระที่มี และมี 6 มาตรฐาน ซึ่งในประเด็นนี้ จะเห็นได้ว่าครูเมืองกาญจน์ เขต 2 เขาเดินมาถูกทางแล้ว ครูมีความเข้าใจการสอนวิชาพื้นฐาน เป็นการจัดการเรียนรู้ที่นักเรียนทุกคนเรียนได้ กิจกรรมเป็นการแสดงความคิด วิเคราะห์วิจารณ์ คุณค่า สร้างสรรค์งานอย่างอิสระตามความสามารถ และประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำ วันได้  เรียนรู้ความเป็นมาที่สัมพันธ์กับศิลปะทั้ง 3 สาระ  วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และสากล  โดยการเรียนรู้  ฝึกปฏิบัติ จนถึงเห็นคุณค่า ทำได้อย่างอัตโนมัติ

            2. จัดการเรียนรู้ในรายวิชาเพิ่มเติม  เป็นการจัดทำหลักสูตรที่แตกออกไปจาก 3 กลุ่มสาระ เพื่อสนองความต้องการ หรือรองรับความสามารถ ความสนใจ ความถนัดของนักเรียนซึ่งมีความแตกต่างกัน  วิชาเพิ่มเติม เป็นรายวิชาเลือกที่ครูจะต้องรับนักเรียนโดยสมัครใจเข้ามาเรียนด้วยการตัดสินใจของนักเรียนเอง (ไม่มีใครชักจูง หรือคิดให้ กำหนดให้) เช่น วิชา ดนตรีสากล วิชาเขียนสีลวดลายบนผลิตภัณฑ์  วิชาการแสดงพื้นบ้าน ฯลฯ ล้วนแต่จะต้องใช้ความสามารถ ความรู้พื้นฐานมาก่อน และ เป็นการเรียนลงลึกไปสู่การปฏิบัติ นำไปสู่งาอาชีพต่อไป

              ถึงตรงนี้ผมเปิดบทความในเว็บ Gotoknow เรื่อง อาชีพทางศิลปะ ให้คุณครูดู และเปิดโอกาสให้คุณครูแสดงความเห็น ถามนักเรียนที่มากับผมได้  ผมนำเสนอภาพการเรียนรู้ในวิชาพื้นฐานที่ผมสอนเมื่อปี พ.ศ. 2546-2547 ชั้น ม.5/4 และภาพการจัดการเรียนรู้วิชาเพิ่มเติม ม.2 การเขียนสีลวดลายฯ ให้ครูดู มาถึงการสอนที่มุ่งไปสู่อาชีพ คือ  การจัดการเรียนรู้กิจกรรมการแสดงเพลงพื้นบ้าน  ผมพักการสนทนา ให้นักเรียนผู้แสดง 3 คน  นำเสนอเพลงอีแซว โดยใช้ซาวด์จังหวะจากคอมพิวเตอร์ (โน้ตบุ๊ก) ประมาณ 10 นาที ได้รับเสียงปรบมือดังแน่นห้องประชุม ผมเลยถือโอกาสแนะนำ ด.ช.ธีระพงษ์ พูลเกิด  นักร้องเหรียญทอง และให้โชว์เพลงที่เขาถนัด คือ เพลงมนต์รักลูกทุ่ง พอเสียงดนตรีขึ้นจบ Intro เสียงของนักร้องคนเก่งก็ขึ้นมาว่า หอม...เอย หอมดอกกระถิน..รวยระรินเคล้ากลิ่น...กองฟาง (มีเสียงปรบมือให้กำลังใจดังขึ้นมา) คุณครูตั้งใจฟัง ธีระพงษ์-ท็อป ร้องจนจบเพลง และพร้อมใจกันปรบมือให้  และในช่วงนี้มีความเห็นจากคุณครูที่นั่งประชุม ท่านถามธีระพงษ์ว่า ทำอย่างไรจึงร้องเพลงได้ดี มีความไพเราะ  ผมให้เด็ก ๆ เป็นผู้ตอบ ทั้ง 3 คน

            ด.ช.ธีระพงษ์ ตอบว่า ฝึกหัดร้องกับคุณครู ฝึกร้องตาม  ร้องกับคอมพิว เตอร์ ปรับปรุงข้อบกพร้อง และเข้าประกวด แข่งขันร้องเพลงลูกทุ่งบ่อย ๆ 

            ยุวดี มูลทองชุน ม.4/1 พูดถึงการฝึกหัดเพลงอีแซว และเพลงพื้นบ้านอีก 3-4 ชนิดที่ร้องได้ว่า ฝึกหัดกันเกือบทุกวัน อย่างน้อย สัปดาห์ละ 3 วัน ตั้ง แต่ 16.00-17.30 น. 

            ยุพาภรณ์ สุขเกษม  ม.4/2 กล่าวทำนองเดียวกันกับยุวดี ว่า เราต้องฝึก ปรับปรุง และกล้าแสดงออกมาก ๆ ทำบ่อย ๆ ก็จะมีการพัฒนา และดูรุ่นพี่ๆ เขาแสดงด้วยค่ะ  

            ในช่วงเวลานี้ ผมให้เด็ก ๆ ทั้ง 3 คน นำเสนอการแสดงเพลงอีแซวบทสั้น ๆ ท็อป ร้องออกตัว 1 บท ยุวดีกับยุพาภรณ์ร้องเพลงออกตัวแบบโต้คารมไม่เต็มบท (บทร้องนี้ยาวหน่อย) เมื่อเพลง จบลง ผมร้องด้นสด ๆต่ออีกนิดให้เกี่ยวกับบรรยากาศในห้องประชุม (เรียกเสียงฮา ได้ตรึมเลย)

 เรื่องที่ 2 ที่ผมเล่าให้ครูศิลปะ สพท.กจ.เขต 2 ได้รับรู้  คือ  (ติดตามบทความในตอนที่ 2)

 

หมายเลขบันทึก: 124484เขียนเมื่อ 2 กันยายน 2007 21:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:18 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)
  • มาทักทาย
  • ดีใจที่ไปบุกถึงถิ่น
  • แต่ผมดันอยู่ที่มหาวิทยาลัย
  • ท่านนี้ ท่านผู้อำนวย การอดิศร ถวิลประวัติ ผอ.โรงเรียนพนมทวนชนูปถัมภ์ 
  • ผมเคยไปช่วยทำ English แต่ท่านจำผมไม่ได้
  • ฮ่าๆๆๆ
  • เคยคิดอยากช่วย สพทเขต 2 อบรมแต่เขาไม่สนใจ ขนาดอบรมให้ฟรีด้วยครับ
  • ยังไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นกับ KM จึงไม่เกิดที่เมืองกาญจน์ ของ สพท. 2
  • ดีใจที่ได้ฟังเรื่องจากเมืองกาญจน์ครับผม
  • ขอบคุณมากครับผม

ขอบคุณมาก อาจารย์ขจิต (ว่าที่ ดร.)

  • นึกว่าลืมพี่ไปเสียแล้ว ไม่เข้ามาเสียนาน คงจะมีภาระในการเรียน ขั้นสูงอยู่นะ
  • ในวันที่ผมไปพบครูเขา เป็นการเสนอความรู้หรือเล่าเรื่องเพื่อสร้างพลังให้ครูเขามีความมุ่งมั่นในการทำงาน
  • ถ้าในโอกาสต่อไป ครูเขาเข้ามาร่วมกับพวกเราใน gotoknow มากขึ้น คงจะมีความเข้าใจในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่เป็นเสมือนโลกกว้างแห่งนี้
  • มีครู อาจารย์หลายท่านมาก ที่รู้จัก ว่าที่ดร.ขจิต ฝอยทอง (คนเก่ง เมืองกาญจน์)
  • สุดท้าย อย่าลืม เสียงเน่อ (เหน่อ)
  • ขอบคุณมากครับ
  • รออ่านตอนสอง
  • ไม่ลืมเสียงเหน่อๆๆ
สวัสดีค่ะภูมิใจที่อาจารย์กล่าวถึงประโยคนี้ค่ะ ภูมิปัญญาอาจมาก่อนนักวิชาการ แต่ภูมิปัญญาคือ รากเหง้าของความรู้ตามวิถีชีวิตชาวบ้านเห็นด้วย  100%ค่ะ และมีตัวอย่างที่ได้กับตัวด้วยค่ะทั้งเมืองกาญจน์และสุพรรณ นี่ถิ่นศิลปิน นักปราชญ์ทั้งนั้นค่ะแหล่งท่องเที่ยวที่กาญจน์ก็น่าเที่ยวมากค่ะ

สวัสดีครับ คุณศศินันท์

  • ผมขอคารวะด้วยความจริงใจ และเต็มใจสำหรับผู้ที่ยกย่องภูมิปัญญา
  • คงจะต้องใช้เวลาอีกนาน หรืออาจนานมาก กว่าที่จะมีผู้คนเก่ง ๆ คิดได้ว่า ความรู้มิได้อยู่ที่ตำรา แต่ยังมีอยู่ในตัวคน ในหัวคนโบราณที่ยังหลงเหลืออีกหลายแสน หลายล้านคน (ถูกลืม)
  • ผู้ที่นับถือภูมิปัญญานั่นแหละ น่าจะเรียกว่า นักปราชญ์ ตัวจริง
  • แหล่งท่องเที่ยวของสุพรรณฯ เป็นสถานที่ปรับปรุงใหม่ แต่ก็มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น  ขอขอบคุณมาก ครับ

 

ขอย้อนขึ้นไปขอบคุณ P อ.ขจิต ฝอยทอง

  • ที่รออ่านตอนที่ 2 (พบครูศิลปะเมืองกาญจน์)
  • ช่วงเดือนสิงหาคม ผมมีงานแสดงติด ๆ กันหลายงานตลอดทั้งเดือน พอถึงเดือนกันยายน ยังพอมีเวลาบ้าง
  • ได้เข้าไปเห็นแผ่นสีเหลือง ๆ ที่ติดอยู่ตรงแขนของเด็กฮ่องกงแล้ว (ง่ายน้อยนะนั่น)
  • แล้วถ้ามีคน 2 คน (ชายกับหญิง) เดินมา
  • คนหนึ่งไม่สวมเสื้อ อีกคนหนึ่งไม่สวมกางเกง จะเป็นอย่างไร (เด็ก ๆ ทายผมมาให้คิดจริง ๆ )

   

  

สวัสดีปีใหม่ครับ

อ่านเรื่องราวของอาจารย์ได้ความรู้ดีครับ..

เคยคุยกับอาจารย์ครั้งนึงสมัยประกวดโครงงานที่กรุงเทพ สัก5-6ปีมาแล้ว ตอนนั้นอาจารย์นำน้องที่แสดงเพลงแหล่จากคุณพระช่วยไปโชว์ครับ....

สวัสดี คุณครูจากพระแท่น

  • ขอบคุณมากครับ ที่ย้อนความหลังครั้งเมื่อเราได้พบกัน
  • เด็ก ๆ กลุ่มนั้นของผมเขาไปดีกันทั้งหมด ไปเรียนพยาบาล นิเทศ และบริหารจัดการ
  • พร้อมทั้งเป็นนักแสดงของสถาบันไปด้วย (เขาใช้ทักษะที่มีและประยุกต์ใช้ได้จริง) และใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการรับใช้สังคม มีรายได้อย่างต่อเนื่อง
  • เด็ก ๆ ของอาจาย์ได้มีการพัฒนาผลงานไปแค่ไหนอย่างไร เล่าให้ฟังบ้างนะ

หนูเป็นครูเทศบาล...จบศิลปะเป็นศิษย์เก่าเพาะช่างค่ะอาจารย์ สอนศิลปะชั้นมัธยมต้นเข้ามาดูการสอนโครงงานศิลปะของอาจารย์ แล้วก็อ่านไปเรื่อย ๆสนุกค่ะ และมีแนวความคิดคล้าย ๆกัน ชื่นชมอาจารย์ที่ใช้ชีวิตความเป็นครูที่คุ้มค่า...เป็นครูผู้ให้แก่ศิษย์จากใจจริง เป็นผู้มีอุดมการณ์ และมีน้ำใจแบ่งปันให้ครูทั่วประเทศอีกด้วย

เสียดายที่อาจารย์ใกล้เกษียณ แต่อย่าทิ้งการถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์...สิ่งดี ๆที่ไม่ได้มีกันในทุก ๆคนนะค่ะ เป็นอีกหนึ่งกำลังใจให้อาจารย์ค่ะ เพราะเมื่ออ่านงานต่าง ๆก็...รู้ว่าไม่ได้มีแค่เราคนเดียวที่ตั้งใจทำหน้าที่รับใช้แผ่นดินอย่างดีที่สุด

อาจารย์ก้าวนำทางดี ๆไว้ ถือว่าหนูเป็นศิษย์อีกคนหนึ่งนะค่ะ ถึงไม่รู้จักแต่...เหมือนคุ้นเคย "หัวใจของครูศิลปะ" ทำให้หนูมีแรง มีพลังมากขึ้นทั้ง ๆที่เกือบจะมอดเพราะระบบนักการเมือง เหนื่อยค่ะ..ทำให้เราท้อ หลงลืมความตั้งใจที่จะมาเป็นครู

ขอขอบพระคุณอาจารย์นะค่ะ จะรออ่านงานของอาจารย์คราวต่อไปค่ะ ช่วยดูแลสุขภาพของอาจารย์...เพื่อคนอีกหลาย ๆคนบนโลกนี้ด้วยนะค่ะ^_^

สวัสดีครับ ครูมะลิ

  • ยินดี ครับคุณครูที่ได้รู้จักศิษย์เก่าเพาะช่าง ผมสอบผ่านวาดเขียนเอก (พ.ศ.2520 วุฒิใหม่ พ.ม.ช.) และเรียนระยะสั่น 6 เดือนจากโรงเรียนเพาะช่างเมื่อปี พ.ศ. 2521
  • ผมอยู่กับเด็ก ๆ ที่สนใจในงานจิตรกรรมและศิลปะการแสดงพื้รบ้านมานานเกือบจะเท่า ๆ กัน สอนเขียนรูปและร้องเพลงไปด้วย ครับ
  • ขอให้คุณครูมีความสุขกับการทำงานในหน้าที่ของเรา เวลาที่เราเหนื่อยให้หันไปดูนักเรียนที่ยังพัฒนาไม่ได้ เขากำลังรอให้มีคนไปช่วยเหลือ
  • แม่แต่เด็ก ๆ ที่ไม่สนใจเรียนก็น่าเห็นใจ หากพวกเขามีครูที่เข้าใจ คนพวกนั้นก็พร้อมที่จะพัฒนาอย่างช้า ๆ และสามารถเรียนรู้ ปฏิบัติได้
  • ผมขอเป็นกำลังใจให้ครูมะลิ สานงานศิลป์ของเราต่อไปอย่างมีความสุข นะครับ

- หนูเพิ่งเข้ามาค่ะอาจารย์  อาทิตย์หน้านักเรียนสอบยุ่งมากค่ะ แต่ได้รับกำลังใจจากอาจารย์ รู้สึกดีใจมีพลัง จะตั้งใจทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุดค่ะ โครงงานของอาจารย์หนูไปขยายผลได้ในระดับพอใช้ ปีหน้าคงดีขึ้นค่ะ เอาแนวทางของอาจารย์นำทางค่ะโอกาสหน้าจะเข้ามาใหม่นะค่ะ  ขอบพระคุณอีกครั้งค่ะ

ครูดนตรีพระแท่นดงรังวิทยาคาร

สวัสดีครับอาจารย์...

วันนี้ตื่นเช้ามาเลยมีโอกาสเข้ามาเยี่ยมชมอีก..

ชอบเข้ามาอ่านครับ ได้ความรู้ดีมาเลยครับ.....

*เด็กรุ่นนั้นตอนที่ไปประกวดโครงงานที่แอมบาสเดอร์ จบไปทำงานตามที่ตัวเองสนใจ แต่ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อในวิชาที่ตนเองชื่นชอบเพราะปัจจัยหลักคือฐานะทางบ้านที่ไม่ค่อยเอื้ออำนวยสักเท่าไร...

*ครูสอนอังกฤษน้องที่ร.ร.ท่านึงก็จบมาจากร.ร.บรรหารแจ่มใส เป็นลูกศิษย์ของอาจารย์เหมือนกันน้องเขาเล่าถึงความสามารถของอาจารย์ให้ฟังบ่อยๆ...

*ตอนนี้ท่านผู้อำนวยการอดิศร ถวิลประวัติ ก็ย้ายมาเป็นผู้บริหาร ที่ร.ร.พระแท่นดงรังวิทยาคารแห่งนี้ได้ปีกว่าแล้วครับ ท่านสนใจเรื่องของศิลปะ-ดนตรีมากครับ.....

แล้วผมจะเข้ามาเยี่ยมชมบล็อกของอาจารย์บ่อยๆครับ.....

ขอบคุณมากครับ

ตอบความเห็นที่ 11 ครูมะลิ

  • ขอบคุณ ครูมะลิที่เข้ามาแสดงความเห็น
  • ครูมีความสามารถ ถ้าบวกกับความตั้งใจ ประโยชน์ก็จะตกอยู่กับผู้เรียน ครับ
  • รางวัลใด ๆ เป็นเพียงเครื่องล่อใจและเป็นกำลังใจ แต่อนาคตที่ดีของเด็ก ๆ เป็นรางวัลชีวิตที่ยิ่งใหญ่ตลอดไป

ตอบความเห็นที่ 12 ครูดนตรีพระแท่นดงรังวิทยาคาร

  • สำหรับเด็กโครงงานเพลงอีแซวของผม แกไปเรียนตามที่ตนสนใจ คนหนึ่งเรียนพยาบาล อีกคนไปเรียนการจัดการและเป็นนักร้องของมหาวิทยาลัยไปด้วย อีกคนเรียนสายอาชีพ ก็มีชีวิตที่ไปได้ดี
  • แต่ว่าทั้ง 3 คนยังคงมาช่วยแสดงเพลงอีแซว เพลงฉ่อย ลำตัด ทำจฃขวัญนาค ฯลฯ ให้กับโรงเรียนในบางโอกาสที่ตรงกันวันว่าง
  • ท่าน ผอ.อดิศร สถิลประวัติ ท่านจบมาทางศิลปะด้วยจึงทำให้ท่านมีมุมมองที่สร้างสรรค์ (ผู้บริหารอย่างนี้มาน้อยมาก) ฝากความคิดถึงท่านด้วย
  • ส่วนผมยังคงอยู่บนถนนเพลงพื้นบ้าน เพราะเป็นงานที่ทำมานานตลอดชีวิตที่ผ่านมา 59 ปีแล้ว คงเลิกไม่ได้ เพราะสังคมยังต้องการของเก่าอีกมาก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท