ต้นอ้อ
อารีรัตน์ นิรันต์สิทธิรัชต์

สะท้อน...การสะท้อน ตอน สะท้อนเข้าไปถึงข้างใน


การสอนด้วยวิธีบรรยาย.....ที่เนื้อาหาดูจะแห้งแล้ง น่าเบื่อหน่าย กลับทำให้มีชีวิตชีวาได้ด้วย Reflection

สะท้อน...การสะท้อน 

ตอน สะท้อนเข้าไปถึงข้างใน

  คราวนี้ อยากจะลองเสนอตัวอย่าง การประเมินผลการเรียนรู้ โดยให้นักศึกษาได้ Reflect ตัวเอง   ตัวอย่างที่นำมานี้เป็นการประเมินนักศึกษาทันตแพทย์ชั้นปีที่ 4 ที่เรียนในหัวข้อ  communication for Health โดยส่วนตัวคิดว่า การสอนด้วยวิธีการบรรยาย เกี่ยวกับองค์ประกอบของการสื่อสาร  วิธีการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพ ที่เนื้อหาดูจะแห้งแล้ง น่าเบื่อหน่าย กลับทำให้มีชีวิตชีวาได้ ด้วย Reflection  

วิธีการประเมินเป็นการให้โจทย์การบ้าน ที่ว่า

  1. ให้นักศึกษาเล่าประสบการณ์ของตัวเอง ในการสื่อสารกับคนไข้ (ย้ำว่า กับคนไข้) ที่ท่านคิดว่าเกิดจากความผิดพลาดในการสื่อสาร
  2. วิเคราะห์สาเหตุ (ตามองค์ประกอบของการสื่อสาร ตามที่เรียนมา) และเสนอการแก้ไขให้การสื่อสารนั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้อย่างไร

 ...และนี่ก็เป็นการบ้านของ ลูกศิษย์คนหนึ่ง... 

ตั้งแต่ขึ้นปีสี่ ดิฉันมีคนไข้ในความดูแลเป็นจำนวนหลายคน ที่เรียกว่าเป็นคนไข้ในความดูแลก็เพราะดิฉันถือว่าพยาธิสภาพในปากของเขาเป็นอุปกรณ์การเรียนแขนงหนึ่งที่ดิฉันต้องทะนุถนอมอย่างดี แยกไม่ออกหรอกว่าที่รักษาไปนั้นเพื่อใคร เอาเป็นว่าทำเพื่อเขาและเพื่อเราด้วยละกัน ดิฉันก็พยายามสื่อสารอย่างดี เอาใจเขาใส่ใจเรา ตั้งใจว่าต้องเป็นหมอที่ดีให้ได้

กระทั่งเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ซึ่งดิฉันได้รับโทนศัพท์จากอดีตคนไข้ในความดูแลคนหนึ่ง ดิฉันได้รู้สึกว่าเห็นทีดิฉันจะไม่ใช่หมอเสียแล้ว  เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า คุณลุงวินเซ้นท์ (ชื่อฝรั่งแต่เป็นคนเมืองแต้ๆเจ้า) เป็นอดีตข้าราชการครู ผู้มีปัญหาฟันสึกและสูญเสียฟันหน้าจึงต้องมารับการรักษาฟันกับดิฉัน เพื่อเตรียมความพร้อมในการทำสะพานฟัน ดิฉันก็ต้องรักษาฟันคุณลุงเป็นจำนวนสองซี่  เป็นการทำรักษาราฟันคุณลุงแกมีความหวังอย่างคนไข้ฟันหน้าหลอทั่วไป ก็คืออยากจะมีสะพานฟันสวมใส่เพื่อเสริมสร้างบุคลิก แน่นอนว่า คนไข้ไม่ได้อยากรักษารากฟันเลย  แต่ก็ต้องทำการรักษาที่จะได้รับจากดิฉัน ซึ่งเป็นเพียงการเตรียมความพร้อมเท่านั้นเอง ดิฉันต้องอธิบายให้คุณลุงฟังว่า การรักษาที่จะได้รับจากดิฉัน เป็นเพียงการเตรียมความพร้อมเท่านั้น ลุงแกก็พร่ำถามว่า หมอจะรักษาอย่างไร ขั้นตอนแบบไหน ตามประสาคุณครูที่รักการเรียนรู้ ดิฉันก็อธิบายแกไปตามขั้นตอนเป๊ะๆ ไม่มีผิดเพี้ยน แกก็ช่างแสนดี มาตามนัดตลอด นับแล้วเป็นสิบหน กระทั่งการรักษาเสร็จสิ้น ดิฉันภูมิใจมาก ยังอวดกับแกเลยว่าหมออุดสวยมากๆเลยค่ะ แกก็ดูยินดียิ่ง ดิฉันก็สัญญาว่าจะเอาแฟ้มคนไข้ของแกไปเข้าคิวทำสะพานฟันต่อให้ 

 แล้วเราก็จากกัน.....

เมื่อฉันเอาแฟ้มไปเข้าคิวโน่นล่ะ จึงได้รู้ว่า อีกสองปีโน่น ลุงแกถึงจะได้ทำครอบฟันและหล่อสมใจ คราวนี้ทำไงดีหว่า เพราะทุกครั้งที่จะหลอกล่อให้ลุงแกมารักษา ดิฉันก็จะคอยพูดให้กำลังใจว่า อดทนหน่อยนะคะคุณลุง เดี๋ยวรักษานี่เสร็จแล้วก็ได้ทำครอบฟันแล้วก็หล่อแล้วเนาะ บ้างก็บอกว่า เสร็จจากหมอ จะให้ห้องเบอร์ห้าเขารักษาทำครอบฟันให้นะคะ เป็นรุ่นพี่ค่ะ บอกแกไปแค่นี้ ตอนแกถามว่านานไหมก็บอกว่าคงไม่นานขนาดนั้นทั้งที่รู้ทั้งรู้ว่าคิวที่คณะยาวเป็นห่างว่าว แต่ดิฉันก็ยังไม่อยากบอกให้แกผิดหวัง กลัวแกเสียกำลังใจ กลัวแกไม่มารักษา กลัวแกย้ายไปรักษาที่อื่น..ที่ที่เร็วกว่านี้ แต่นี่แกต้องรอตั้งสองปี ดิฉันจะบอกแกอย่างไรได้!! ดิฉันเลยอุบเงียบมาตั้งแต่วันพฤหัส คิดว่าทำให้เงียบเสียดีกว่าเป็นคนต้องแจ้งข่าวร้าย ทว่าในวันเสาร์ลุงแกก็โทรมาทวงคำตอบ ทำเอาดิฉันหน้าซีดต้องตอบแกไปอย่างรู้สึกผิด แม้จะเป็นการตอบความจริง และไม่ใช่ความผิดของดิฉันที่แกต้องรอนานขนาดนั้น แต่ดิฉันก็ยังรู้สึกไม่ดีอยู่จนถึงทุกวันนี้  ไม่รู้ว่าลุงแกจะรู้สึกเหมือนถูกหลอกให้มาซ้ำแล้วซ้ำเล่า หรือคิดว่าดิฉันก็เหมือนหมอทั่วๆไปที่ไม่เคยสนใจว่าคนไข้จะลำบากแค่ไหน สัก แต่ว่ารักษาไป รอได้ก็รอไป รอไม่ได้ก็ไม่ต้องทำ เป็นไปตามคิวเสมอถ้าเป็นดิฉันก็คงรู้สึกไม่พอใจ ผิดหวังอย่างรุนแรงเช่นกัน ทั้งที่ดิฉันไม่เคยคิดที่จะหลอกคนไข้ แต่การที่ดิฉันไม่ยอมสื่อสิ่งที่ควรสื่อออกไปแต่เนิ่นๆ เพียงเพราะทนความผิดหวังจากสีหน้าของแกไม่ได้ ก็กลายเป็นว่าดิฉันเป็นต้นเหตุให้แกต้องผิดหวังอย่างรุนแรงภายหลัง อาจจะรุนแรงกว่าการแจ้งให้ทราบเสียแต่แรก แน่นอนว่าดิฉันย่อมผิดหวังในตัวเองเช่นกัน ถ้าดิฉันสื่อสารได้ดีกว่านี้ เรื่องนี้คงไม่เกิดขึ้น อย่างน้อยดิฉันคงไม่ต้องรู้สึกละอายใจในความสัมพันธ์ และคงจะนับถือตัวเองได้มากว่านี้แน่  

ดิฉันคิดว่า การสื่อสารที่ไร้ประสิทธิภาพระหว่างดิฉันและคุณลุงอาจมีสาเหตุมาจากตัวแปรทางการสื่อสารหลายอย่าง                หนึ่งตัวแปรที่ขาดไปจากการสื่อสารของเราคือ Empathy ในการสนทนา เป็นไปได้ว่า ดิฉันได้พยายามคิดแทนคุณลุง และคิดแล้วว่า เข้าอกเข้าใจในปัญหา แต่ดิฉันก็เข้าใจสถานการณ์ของลุงเพียงว่าเป็นผู้ป่วยที่ต้องรับการรักษารากฟันก่อนทำการครอบฟัน โดยไม่ได้พยายามเอาตัวเองเข้าไปเป็นคุณลุง และมองโลกผ่านสายตาของแก หากดิฉัน stand in his shoe and look to the world from his eyes ดิฉันก็คงพอจะฉุกคิดได้ว่า ลุงแกอาจจะยังไม่จำเป็นต้องรับการรักษารากฟันในขณะนั้น หากดิฉันมีความเห็นอกเห็นใจในมุมคิดว่า หากเราเป็นเขาดูบ้าง...ดิฉันอาจไม่ด่วนทำลายฟันที่มีชีวิตของแกให้กลายเป็นฟันที่รักษารากฟัน หรืออย่างน้อย หากในการสื่อสารของเรามีสิ่งที่เรียกว่า empathy อย่างแท้จริง แกก็อาจจะรับรู้ทางเลือกที่แกพึงมี อาจได้รับรู้หรือได้เลือกว่าแกจะมาหรือไม่มารักษาเสียตั้งแต่ต้น..บางทีถ้าแกได้รู้และได้เลือก แกก็อาจจะยังคงมารับการรักษาอยู่ดี ผลลัพธ์อาจไม่ต่างกัน แต่ความรู้สึกที่ว่าดิฉันด่วนให้การรักษาโดยไม่ถามความเห็นแกนั้นคงไม่เกิดขึ้น               

ดิฉันคิดว่า ไม่ได้ Respect คุณลุงเท่าที่ควรด้วย อย่างน้อยๆดิฉันก็เคารพความรู้สึกของคุณลุงเพียงประเดี๋ยวประด๋าว ความสุภาพขณะเราสนทนากันอาจไม่ใช่สิ่งแสดงความเคารพอีกต่อไป แต่การที่ดิฉันไม่ยอมบอกแกว่าต้องรอนานแค่ไหนเป็นการไม่เคารพสิทธิและด่วนตัดสินใจเอาเองว่าแกจะตอบสนองอย่างไร               

อีกปัจจัยที่ทำให้การสื่อสารของเราไม่ดีเท่าที่ควรคือ ความบกพร่องในการฟัง ดิฉันคิดว่าดิฉันได้ยิน แต่ไม่ได้ฟัง หรือ ไม่ก็ฟังแต่ไม่ได้รับรู้ถึงความตั้งใจของผู้พูด ไม่เช่นนั้นดิฉันคงได้ทราบแต่เนิ่นๆถึงความต้องการที่จะใส่ครอบฟันให้เร็วที่สุดเพื่อจะแจ้งความจริงเกี่ยวกับการเข้าคิวให้คุณลุงทราบ แม้ว่าไม่ใช่ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการรักษาของดิฉันก็ตาม หากดิฉันฟังและรับรู้ได้ดีแต่แรก ดิฉันอาจจะรู้ว่าสิ่งที่คุณลุงต้องทราบเป็นอันดับแรกคือ เรื่องของการใส่ครอบฟัน ไม่ใช่รายละเอียดของการรักษารากฟัน               

และปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การสื่อสารของดิฉันมี Strategy คือ มีวาระซ่อนเร้นแฝงอยู่ ด้วยความอยากที่ให้คุณลุงมารับการรักษาเป็นประจำ หรืออะไรก็ตามแต่ ดิฉันจึงเลือกสื่อสารในแบบที่คิดว่าตัวเองจะปลอดภัยที่สุดนั่นเอง  

ดิฉันคิดว่า ปัญหาทางการสื่อสารที่เกิดขึ้นนี้สามารถแก้ไขได้ดังนี้

Empathy ดิฉันควรคิดอย่างที่คนไข้น่าจะคิด ดิฉันควรพยายามเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ของคนไข้ แม้ว่าอาจจะไม่เข้าใจได้ทั้งหมด แต่หากพยายามฝึกคิดเข้าใจ เห็นใจคนอื่น การสื่อสารกับคนไข้และคนอื่นๆรอบข้างคงจะดีขึ้นมาก สมมติว่าดิฉันลองมาเป็นคนที่ไม่มีฟันหน้าอย่างคุณลุงรายนี้ ดิฉันก็จะรู้ได้แทบจะทันทีเลยว่าคนไข้เฝ้ารอวันที่จะใส่ครอบฟันอย่างใจจดใจจ่อเพียงใด 

Respect ในระหว่างการสนทนาระหว่างหมอกับคนไข้ ดิฉันควรเคารพในความรู้สึก ในการตัดสินใจ และในสิทธิผู้ป่วยควรจะได้รับรู้โดยไม่ปิดบังหรือมีวาระซ่อนเร้น  

Strategy การพูดกับคนที่สามารถให้ประโยชน์แก่เรา อาทิเช่น ในสถานการณ์การเรียนที่ หาคนไข้ทำได้ยากแสนยาก เป็นการยากมากจริงๆที่จะสนทนากันโดยไร้วาระซ่อนเร้น เนื่องจากหมอไม่อาจแนะนำสิ่งที่ทำให้หมอต้องลำบากได้อย่างเต็มปาก ไม่อย่างนั้นหมอก็คงบอกคนไข้ให้ไปรักษาที่อื่นซึ่งเหมาะสมกว่าส่วนตัวหมอนั้นซ้ำชั้นต่อไป  

โจทย์คำถามสองข้อ ที่ใช้ในการประเมินผลการเรียนรู้ในหัวข้อ การสื่อสารเพื่อสุขภาพ โดยนำวิธี reflection มาใช้ทำให้ได้เห็นว่า การเรียนรู้ของนักศึกษาที่ออกมา เกินคาด!!  และสิ่งที่ทำให้อาจารย์ยิ้มไม่หุบก็คือ การทำให้นักศึกษาได้รูจักตัวเองมากขึ้นอีกด้วย  

ถึงลูกศิษย์

ขอบคุณที่ทำให้หัวข้อนี้ มีชีวิตชีวานะคะ                                                                

จากอาจารย์

หมายเลขบันทึก: 123829เขียนเมื่อ 31 สิงหาคม 2007 16:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 20:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สุดยอดครับอาจารย์

เห็นด้วยว่าลูกศิษย์เธอได้อะไรมากมายจากกิจกรรม reflection นี้ครับ

อยากให้ลูกศิษย์ของอาจารย์เล่าต่อว่า พอชี้แจงคุณลุงไปเสร็จ แล้วคุณลุงแกว่าอย่างไรบ้าง

บางครั้งคนไข้อาจจะแสดง "empathy หมอ" มาได้บ่อยกว่าที่เรา empathy คนไข้เสียอีก พอเมื่อไรก็ตามที่คนไข้รู้สึกว่าหมอเริ่ม distress เขาก็จะพยายามอะลุ่มอะล่วย หาทางออก หาวิธีที่ทำให้หมอสบายใจขึ้น

วิธีที่จะเรียน empathy คนไข้ได้ effective ที่สุดวิธีหนึ่ง ก็คือการเรียนจากคนไข้เราเองนั่นเอง

 เป็นกำลังใจครับ

ขอบคุณ อ.สกล และ อ.ธนพันธ์ มากค่ะ ที่แวะมาเยี่ยม blog นี้

โดยเฉพาะ อ.สกล เป็นเกียรติอย่างยิ่งค่ะที่อาจารย์ ได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นและให้กำลังใจ 

ข้าน้อยขอคำชี้แนะด้วยนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท